ดูการศึกผ่านหนังเจ็ดเซียนซามูไรแบบนักข่าวกรอง 

ดูการศึกผ่านหนังเจ็ดเซียนซามูไรแบบนักข่าวกรอง 

การศึกทุกครั้งสิ่งที่สำคัญมากคือ การรู้ว่าเราจะต้องรบกับใครบนสภาพแวดล้อมอย่างไร  หากปราศจากซึ่งข้อมูลที่ว่านี้  ต่อให้จัดกำลังดีเพียงไร  ยุทโธปกรณ์พรั่งพร้อมทันสมัยขนาดไหน เสบียงท่วมท้น ก็มีโอกาสแพ้มากกว่าชนะ ดังเช่นภาพยนตร์โบราณ เจ็ดเซียนซามูไร

 ศึกใหญ่ในไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นและประชาชนกำลังจับตามองก็คือ การเลือกตั้งระหว่างพรรคการเมืองเกินกว่าสิบพรรคไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้  แน่นอนว่าก็ต้องใช้ข่าวกรองรู้ข้าศึกศัตรูเหมือนกับยุทธการอื่น ๆ  แต่ที่จะเขียนถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองไทย แต่ไพล่ไปวิเคราะห์ภาพยนตร์โบราณด้วยวิชาข่าวกรองเสียนี่ 

หนังคลาสสิค Seven Samurai หนังปี 1954 ของปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ Akira Kurosawa เป็นหนังที่แม้จะไม่ค่อยปรากฏในช่องทีวีธรรมดาหรือช่องบอกรับสมาชิก แต่ก็มีการจัดฉายบ่อยตามสมาคมวัฒนธรรมหรือสถาบันภาพยนตร์ ในอินเตอร์เน็ตก็สามารถดูฟรีได้ทางช่อง Internet Archive

งานของคูโรซาว่าชิ้นมาสเตอร์พีซนี้ถูกกล่าวขวัญและวิเคราะห์กันบ่อยในแง่ของฝีมือการกำกับภาพยนตร์  แต่ดูเหมือนยังไม่มีใครมองในแง่มุมการนำข่าวกรองมาใช้ในการดูหนัง  ซึ่งที่จริงก็คือมุมมองของฝ่ายตัวเอกที่จะนำความรู้ด้านการข่าวไปใช้รบกับผู้ร้ายนั่นเอง

ดูการศึกผ่านหนังเจ็ดเซียนซามูไรแบบนักข่าวกรอง 

หนังยาวสามชั่วโมงครึ่งเรื่องนี้ เต็มเปี่ยมด้วยความสนุกของเนื้อเรื่องฉากต่อสู้  น่าติดตามไม่มีเบื่อตั้งแต่นาทีแรกจนนาทีสุดท้าย  เรื่องย่อก็คือชาวนาที่ไร้ฝีมือสู้รบสืบทราบมาว่า กองโจรจำนวนหนึ่งจะมาบุกยึดข้าวที่หมู่บ้านของตนจะเก็บเกี่ยวเสร็จในอีกไม่กี่เดือนเอาไปเป็นเสบียง  

ตนก็เลยมีเวลาไปจ้างซามูไรซึ่งน่าจะมีฝีมือเชิงต่อสู้กับโจรได้ให้มาปกป้องหมู่บ้านของตน  ได้ซามูไรคนแรกแล้วคนต่อ ๆไปก็ตามมาเพราะซามูไรคนนี้เป็นคนไปเชิญชวนคนอื่นมาช่วยสู้รบรวม 7 นาย

 เมื่อกลุ่มซามูไรมาถึงหมู่บ้านในหุบเขาแล้ว เรื่องที่เหลือก่อนการสู้รบกับโจรก็คือ การเตรียมสนามรบให้พร้อมทำศึก และสิ่งแรกที่ต้องทำคือการเตรียมสนามรบด้านการข่าว (INTELLIGENCE PREPARATION OF THE BATTLEFIELD – IPB)

ดูการศึกผ่านหนังเจ็ดเซียนซามูไรแบบนักข่าวกรอง 

ก่อนรับงานปกป้องหมู่บ้านยากจน ซามูไรรู้เรื่องโจรไม่มากนัก จากข่าวสารชั้นต้นที่รู้จากชาวบ้าน คือจำนวนกำลังพลโจรราว 40 นาย น่าจะลงมาจากภูเขาที่อยู่ติดกับหมู่บ้านทางเหนือ เข้าโจมตีหมู่บ้านเพื่อชิงข้าวหลังเก็บเกี่ยว

 เป็นการทำความเข้าใจหลักนิยม  modus operandi ของข้าศึก  แต่ยังขาดข้อมูลอีกมาก  เมื่อลงพื้นที่จริง ซามูไรสอบถามชาวบ้านเรื่องระยะเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวและลมฟ้าอากาศ ก่อนจะกำหนดได้อย่างแม่นยำว่าเมื่อไหร่คือห้วงเวลาที่ข้าศึกน่าจะทำการรุก

สิ่งที่ข่าวกรองต้องรู้คือ สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ปฏิบัติการ (Terrain)  ทันทีที่ไปถึงหมู่บ้านซามูไรสำรวจเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านเพื่อวางแนวป้องกัน  สภาพแวดล้อมบ่งชี้ได้ว่าข้าศึกสามารถใช้ถนนสามทิศทางเข้าโจมตี

จึงดำเนินการทางยุทธการควบคู่ไปกับข่าวกรองด้วย คือ ทางตะวันตกที่เป็นที่โล่ง ฝ่ายบุกจะสามารถปฏิบัติการสะดวก จึงจะเปิดกว้างไว้เพื่อบีบให้โจรใช้แต่เส้นนี้เป็นหลัก  ทางตะวันออกนั้นเป็นที่ต่ำจึงชักน้ำให้ท่วมเข้าถึงยาก

ทางใต้ที่มีลำธารเป็นพรมแดนเข้าถึงหมู่บ้านได้ก็ทำลายสะพานข้ามเสีย เพื่อไม่ให้โจรมาทางนี้ ยอมเสียบ้านสองสามหลังด้านนอกสะพานที่ยากแก่การป้องกัน  ส่วนทางเหนือเป็นป่าเขาพรมแดนธรรมชาติที่โจรไม่น่าจะควบม้ามา ก็จัดวางกำลังเฝ้าดู

การติดตามหาข่าวข้อมูลข้าศึกเป็นสิ่งที่ซามูไรกระทำทั้งแต่ก่อนเริ่มสู้รบ  มีทั้งปฏิบัติการเชิงลึกส่งหน่วยเฉพาะกิจรบพิเศษ (Special Forces) เข้าไปนับจำนวนข้าศึกถึงในค่ายโจร   มีทั้งการนับยุทโธปกรณ์ข้าศึก ม้าน่ะมีครบ ธนูกับดาบก็มี

แต่ที่น่ากลัวคืออาวุธปืนไฟที่นับได้ 3 กระบอก อันนี้สำคัญเพราะศักย์อาวุธที่โจรมีสูงกว่าซามูไรทำให้ยากต่อการสกัดกั้น (ต่อมาพิสูจน์แล้วว่าจริง เพราะซามูไรโดนปืนไฟยิงด่าวดิ้นถึงสามคน)  

ดูการศึกผ่านหนังเจ็ดเซียนซามูไรแบบนักข่าวกรอง 

มีการจัดกำลังไปลาดตระเวนจนพบกองสอดแนมข้าศึก จึงทราบสิ่งบอกเหตุว่าข้าศึกจะบุกมาในเร็ววัน    ตลอดการรบมีการประเมินความสูญเสียของข้าศึก (Battle Damage Assessment)  ตลอดเวลา จนพบว่าท้ายที่สุดแล้วโจรเหลือเพียง 13 นาย

จึงวิเคราะห์ได้ว่าโจรน่าจะสามารถบุกได้อีกรอบเดียว และการที่โจรผ่านการต่อสู้บาดเจ็บล้มตายทั้งวันจึงไม่น่าที่จะโจมตีตอนกลางคืน  ฝ่ายตั้งรับจึงพอจะมีเวลาผลัดเปลี่ยนกันพักผ่อนก่อนถึงศึกนัดสุดท้ายเช้ามืดวันรุ่งขึ้น

ที่เล่ามานี่เป็นมุมมองสายข่าวกรองเท่านั้น หากมองภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยสายตาของสายอื่นก็จะสนุกเช่นกัน  เช่น ถ้ามองในมุมมองของสายกำลังพล ก็จะพิจารณาในเรื่องของการจัดหากำลังพล  การรักษาพยาบาล พิธีศพ เป็นต้น  

ถ้ามองในมุมมองสายยุทธการ ก็จะดูเรื่อง การวางแนวป้องกัน การฝึกและยุทธวิธีการต่อสู้  ถ้ามองในมุมมองสายส่งกำลังบำรุง ก็อาจสนใจการจัดหาเสบียง พาหนะและอาวุธ เป็นต้น

 ปล. ด้วยความจำเป็นบางประการ คุณเรือรบ เมืองมั่นที่เขียนให้กับกรุงเทพธุรกิจมาถึง 19 ปีต้องขอพักนามปากกานี้ชั่วคราว  นามปากกา สิชล ยืนยัง จึงรับหน้าที่เขียนคอลัมน์มองมุมยุทธศาสตร์นี้แทน จนกว่าบรรยากาศของสังคมและการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เหมาะสม.