หาคำตอบ ทำอย่างไรให้ “คอนเทนต์ไทย” ไปได้ไกลในระดับสากล
เจาะคอนเทนต์ไทย สรุปไปให้ไกลได้แค่ไหน? เจาะประเด็นกับ 4 เบื้องหลังวงการบันเทิงที่มาผ่าแนวคิด สกัดวิธีดัน “คอนเทนต์ไทย” ให้ไปได้ไกลบนเวทีโลก ชี้ควรให้ความสำคัญกับเนื้อหาคอนเทนต์และพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะ “คนเขียนบท”
Key Points :
- ผู้ผลิตหลายรายส่งออก “คอนเทนต์ไทย” ไปทั่วโลกผ่านบริการวิดีโอสตรีมมิง แต่ยังไม่มีชื่อเสียงในวงกว้างนัก
- สิ่งสำคัญที่ช่วยพัฒนาคอนเทนต์ไทย คือ เนื้อหาของคอนเทนต์จะต้องเป็นสากล ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เพราะมีความเกี่ยวข้องและเป็นเรื่องใกล้ตัว
- รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีมาตรฐานตามสากล ทั้งความคิดสร้างสรรค์ บทที่เป็นหัวใจสำคัญ และคุณภาพของงาน
ปัจจุบัน ละครและซีรีส์ไทย รวมถึงภาพยนตร์ไทย ซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า “คอนเทนต์ไทย” กำลังได้รับความสนใจจากต่างประเทศ เห็นได้จากซีรีส์และละครของไทยที่ได้ฉายผ่านระบบวิดีโอสตรีมมิงหลากหลายแพลตฟอร์มในหลายประเทศ มีทั้งที่ฉายคู่ขนานพร้อมกับสถานีโทรทัศน์และฉายย้อนหลัง หรือซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในต่างประเทศ รวมถึงยังมีออริจินัล คอนเทนต์ ที่สร้างขึ้นมาสำหรับออกอากาศในวิดีโอสตรีมมิงนั้น ๆ อีกด้วย
เช่นเดียวกับภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จได้รับเลือกเข้าฉายและได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ รวมถึงได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ต่างประเทศทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงได้เข้าฉายในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วยเช่นกันนี่จึงเป็นทิศทางที่ดีสำหรับวงการคอนเทนต์ไทยที่มีโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีคอนเทนต์มากมายที่ได้ไปต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะประสบความสำเร็จ เพราะในแต่ละปีจะมีคอนเทนต์ไทยที่โด่งดังเป็นที่รู้จักเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ในหลายครั้งจึงเกิดคำถามต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยว่า หรือคอนเทนต์ไทยจะไปไกลกว่านี้ไม่ได้แล้ว ?
ภายในงาน “Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล”จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา 2566 หนึ่งในวงเสวนาที่น่าสนใจ คือ “คอนเทนต์ไทย ดันยังไงให้ถึงสากล” โดยผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิงไทยมาร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาครั้งนี้ อาทิ “ลี ชาตะเมธีกุล”, “ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์”, “ปณต อุดม” และ “วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์” ร่วมกัน และหาคำตอบของคำถามดังกล่าว
- เนื้อหาที่เป็นสากล คนเข้าถึงง่าย
หลายคนมักจะพูดว่า คอนเทนต์ของไทยมักจะวนอยู่ไม่กี่อย่าง ถ้าไม่ตลก หรือไม่ก็เป็นน้ำเน่าไปเลย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “เสน่ห์” ที่ทำให้หลายประเทศเลือกเสพคอนเทนต์ของไทย ถึงกระนั้นยังมีคอนเทนต์ของไทยที่เป็น “ทางเลือก” ให้ผู้ชมได้รับชมกันมากขึ้น โดย “ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์” ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตละคร ช่อง ONE31 กล่าวว่า ตอนนี้คนดูมีคอนเทนต์ให้เลือกรับชมมากขึ้น แม้เรตติ้งจะกระจายกันไป แต่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตได้ทำงานที่หลากหลายขึ้น และผู้ชมทั่วโลกเริ่มมีรสนิยมที่คล้ายกัน เห็นได้จากการที่ต่างประเทศติดต่อซื้อละครแบบไทยไปรีเมคเป็นของตนเอง หรือร่วมทุนสร้าง
ขณะที่ทางฝั่งของเน็ตฟลิกซ์นั้น “ลี ชาตะเมธีกุล” ผู้อำนวยการฝ่าย Post Production บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิธีทำงานของเน็ตฟลิกซ์คือ ทำคอนเทนต์คุณภาพสูงที่คนในประเทศชื่นชอบก่อน (Local for Local) แล้วคอนเทนต์ไทยสามารถแพร่ไปได้ทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มของเน็ตฟลิกซ์ ที่มีซับไตเติลหลายสิบภาษา ซึ่งทำให้คนทั่วโลกชอบได้ รวมถึงต้องทำคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวผู้ชม อย่างเช่นปีที่แล้วทำเรื่อง “ลอตเตอรี” เป็นเรื่องที่ทุกชาติสามารถเข้าถึงได้
สอดคล้องกับ “วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์” ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาบทภาพยนตร์ ทีมผู้บริหารบริษัท GDH 559 เล่าถึงหลักการทำหนังของ GDH ว่ามาจากต้องการทำคอนเทนต์ให้คนดูในประเทศชอบ เพราะเชื่อว่าไม่มีทางที่หนังไทยที่คนดูในประเทศไม่ชอบจะขายได้ในต่างประเทศ ในระยะแรกหนังที่ไปขายได้ในต่างประเทศจะเป็นหนังผี เพราะความกลัวเป็นเรื่องสากลที่ทุกคนเข้าใจได้ และยังไม่มีใครรู้จักผู้ผลิต แต่พอเริ่มสะสมชื่อเสียงของแบรนด์ไปเรื่อย ๆ เริ่มขยับไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
“คอนเทนต์ไทยไปถึงต่างประเทศแล้ว แต่ปัญหาคือขาดบุคลากรที่มีฝีมือ และทำให้คอนเทนต์มีความเป็นสากลให้มากพอ เราต้องแข่งกับคนทั้งโลก มาตรฐานของเราต้องสูงพอให้เขาหันมาสนใจ” วรรณฤดีกล่าวเสริม
ด้าน “ปณต อุดม” ตัวแทนสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่าเนื้อหาของคอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญ จะช่วยให้คอนเทนต์ระดับภูมิภาคไปสู่ระดับสากลได้ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นมนุษย์ ตัวตน และชนชั้นที่พบเห็นได้ในสังคม เพราะพื้นฐานแต่ละสังคมนั้นมีความใกล้เคียงกัน
- พัฒนา “บุคลากร” เป็นเรื่องสำคัญ
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ คือ “บท” แต่วงการบันเทิงไทยยังขาดแคลน “คนเขียนบท” ที่มีฝีมืออยู่มาก ซึ่งวรรณฤดีมองว่าเป็นเพราะค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ไม่สามารถใช้เลี้ยงชีพได้ รวมไปความต่อเนื่องที่จะให้แต่ละคนได้แสดงฝีมือ รักษาให้อยู่ในวงการนี้ต่อไป และโอกาสในการเติบโตในอาชีพและไปต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เกิดปัญหาสมองไหล หรือเลิกทำอาชีพนี้ไปในที่สุด
ดังนั้นการสร้างบุคลากรเข้ามาเสริมจึงเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมทั้งต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในวงการให้ดี ซึ่งภาคเอกชนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ รัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
“รัฐต้องการพาคอนเทนต์ของไทยออกสู่สากล แต่คนในชาติยังไม่ตระหนักเลยว่า การทำคอนเทนต์เป็นงานที่ยาก มองว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมของวงการไม่ดี และเอกชนไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง เราต้องสร้างทัศนคติพื้นฐานเหล่านี้ได้แล้ว ให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงรุก ถ้าเราอยากจะโตจริง ๆ” วรรณฤดีกล่าวสรุป
ขณะที่ ลี กล่าวเสริมว่า การให้โอกาสคอนเทนต์ของไทยออกไปสู่สายตาของชาวโลกจะช่วยให้ ผู้ผลิตมีความตื่นตัว พยายามคิดงานให้ใหญ่กว่าตลาดไทย ขณะเดียวกันเน็ตฟลิกซ์ได้ร่วมพัฒนาบุคลากรในวงการ ด้วยการจัดงานเวิร์คชอป และเทรนนิงคนเบื้องหลัง เพื่อให้เขาอยู่ในอาชีพต่อไป รวมถึงผลักดันให้คนเบื้องหลังได้ทำงานตามมาตรฐานสากล มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ
แม้ว่าในปัจจุบัน “ละครโทรทัศน์” ทำเรตติงลดลงแต่ก่อน แต่สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ยังคงแข่งขันกันอยู่ในสนามนี้อย่างดุเดือด เพราะต้องแข่งกับคอนเทนต์ต่างแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เข้ามาแย่งฐานผู้ชมไปด้วย ทำให้ ไม่มีพื้นที่ให้ “มือใหม่” ได้ลองงานหรือให้พลาดได้เลย ส่วนมากจึงใช้งานแต่นักเขียนบทที่มีประสบการณ์แล้ว ศิริลักษณ์ ในฐานะตัวแทนของสถานีโทรทัศน์จึงกล่าวว่าทางช่องได้มีโครงการให้เวิร์กชอปและเปิดพื้นที่ให้นักเขียนนิยาย และ นักเขียนบท เข้ามาทำงานในวงการ
“ช่อง ONE31 จึงพยายามเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้ลองเขียนบทในช่วงเวลาที่ไม่ได้แข่งขันสูง เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรขึ้นมาในวงการ รวมถึงมีโครงการแนะนำวิธีเขียนนิยายให้เหมาะสมกับการดัดแปลงมาทำเป็นละครหรือซีรีส์ เนื่องจากนิยายรุ่นใหม่มีวัตถุดิบไม่เพียงพอจะทำละคร เพราะนักเขียนไม่รู้ว่าละครต้องมีองค์ประกอบอะไร ครั้นจะใช้แต่นิยายรุ่นเก่า ก็ล้าสมัยเกินไป ค่านิยมของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว”
ทางด้านปณต กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ขาดในวงการคอนเทนต์ คือ ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างพล็อตเรื่องที่ชวนให้คนดูติดตาม การหักมุมที่คนดูไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งควรพัฒนาพร้อมกับการเขียนบท ซึ่งคนในวงการต้องช่วยกันขัดเกลาแนะนำเด็กรุ่นใหม่
ดังนั้น อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าคอนเทนต์ไทยยังไปไม่ถึงสากลได้ เพราะภาพยนตร์และซีรีส์มากมายสามารถตีตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะซีรีส์วายที่ตีตลาดในเอเชียตะวันออก ยุโรป และอเมริกาใต้ แต่ถ้าอยากให้คอนเทนต์ของไทยเข้าไปสู่สื่อกระแสหลักได้มากกว่านี้ จะต้องทำให้ เนื้อหาของคอนเทนต์นั้นสามารถยึดโยงกับคนทั่วโลกได้ อีกทั้งต้องมีคุณภาพมาตรฐานสากล ที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ และรักษาบุคลากรเหล่านั้นให้อยู่คู่กับวงการบันเทิงไทยให้ได้ ด้วยค่าแรงที่เป็นธรรม และรัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมให้มากกว่านี้
สำหรับโครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล เป็นโครงการส่งเสริมและผลักดันบุคลากรสร้างสรรค์ให้มีความพร้อม ต่อยอดการทำงานที่ปรับใช้ได้จริง จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นั้นมีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ
1. ภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ (Film & Series) - สร้างสกิลโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักเขียนบทในระดับมาตรฐานสากล
2. ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) - คอนเทนต์สื่อใหม่สร้างประสบการณ์ทางดิจิทัล สำหรับผู้เริ่มต้น
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการทั้ง 2 กลุ่มได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 9 มี.ค. 2566 สำหรับกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ ส่วนกลุ่มภาพยนตร์ หรือ ซีรีส์ สามารถสมัครได้จนถึงวันที่ 20 มี.ค. 2566 ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจของ Creative Economy Agency และ Content Lab