รำลึก 100 ปี ชาตกาล ‘รพีพร’ เปลวสุริยาในสังคมไทย
เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ‘รพีพร’ หรือ 'สุวัฒน์ วรดิลก' นักคิด นักเขียน คนสำคัญในสังคมไทย สามองค์กรจึงได้ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงผลงานและคุณงามความดีที่ท่านได้เคยทำไว้
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, กองทุนศรีบูรพา และ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานครบรอบ 100 ปี ชาตกาล รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566
ในช่วงเช้าที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ ‘รพีพร’ และนักเขียนผู้ล่วงลับ ช่วงบ่าย มีกิจกรรมเสวนา อ่านบทกวี และร้องเพลง ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรม
รพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลก เป็นนักคิด นักเขียน นักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่สร้างสรรค์วรรณกรรมทรงคุณค่าไว้มากมาย หลายรูปแบบ เช่น
นวนิยายเริงรมย์ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นวนิยายการเมือง นวนิยายแนวชีวิตครอบครัว เพื่อสื่อสารถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม และส่งเสริมสิทธิสตรี
เป็นผู้เขียนบทละครเวที ที่มีส่วนร่วมบุกเบิกวางรากฐานให้แก่วงการละครเวทีไทย ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และกองทุนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรในวิชาชีพด้านการประพันธ์
Cr. Kanok Shokjaratkul
เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 และได้รับรางวัลเกียรติคุณ 100 ปี ศรีบูรพา สาขานักคิด นักเขียน เนื่องในวาระที่องค์การยูเนสโกประกาศให้กุหลาบสายประดิษฐ์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ปี 2548
ผลงานที่โด่งดัง คือ เปลวสุริยา, ราชินีบอด, ลูกทาส, ภูติพิศวาส, นางสาวโพระดก, พิราปแดง, แผ่นดินของเรา, พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม ฯลฯ
Cr. Kanok Shokjaratkul
- พี่ผู้มีแต่ให้
ลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร เป็นศิลปินแห่งชาติที่มีคุณูปการต่อสังคมไทยในหลาย ๆ เรื่อง
"เคยเป็นที่ปรึกษาและจัดรายการแสดงเพื่อหาทุนมาให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมหลายครั้ง ในวาระครบรอบชาตกาล 100 ปี เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาร่วมกันรำลึกถึงคุณงามความดี ผลงาน การดำเนินชีวิตของท่านที่เป็นแบบอย่าง แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว 16 ปี แต่พวกเราก็ยังรำลึกถึงท่านเสมอ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557 ประธานกองทุนศรีบูรพา กล่าวว่า กองทุนศรีบูรพา เป็นกองทุนที่ สุวัฒน์ วรดิลก จัดตั้งขึ้น
ช่วงที่ศรีบูรพาลี้ภัยไปอยู่ที่สาธารณะรัฐประชาชนจีน หนังสือในห้องสมุดจะมีแต่ ข้างหลังภาพ กับ สงครามชีวิต ไม่มี แลไปข้างหน้า และ จนกว่าเราจะพบกันอีก เพราะเป็นหนังสือต้องห้าม
คุณสุวัฒน์เกรงว่าคนในสังคมไทยจะลืมศรีบูรพา จึงได้ตั้ง กองทุนศรีบูรพา ขึ้นมา แล้วมอบรางวัลศรีบูรพาแก่นักเขียน ทำให้จดจำรางวัลและนักเขียนได้
จนมาถึงปัจจุบันเราก็ยังดำเนินตามที่คุณสุวัฒน์วางไว้มาโดยตลอด ในปีนี้ครบรอบชาตกาล 100 ปี ‘รพีพร’ กองทุนศรีบูรพาจึงร่วมกับองค์กรต่าง ๆ จัดงานนี้ขึ้น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- เสวนารำลึก เปลวสุริยาในสังคมไทย
จีรวรรณ พนมยงค์ น้องสาวของสุวัฒน์ วรดิลก กล่าวว่า ครอบครัวเรามีพี่น้อง 9 คน หญิง 5 ชาย 4
"พี่อู๊ด (สุวัฒน์ วรดิลก) เป็นคนที่สอง ดิฉันเป็นคนที่ 9 คนสุดท้อง อายุห่างกัน 14-15 ปี พออายุ 3-4 ขวบ สงครามโลกก็เกิด บ้านที่สวนอ้อยถูกระเบิด ต้องไปอาศัยอยู่กับคุณยาย เวลาไปไหน 9 คนก็เดือดร้อน ที่นอนที่กินไม่พอ ก็เลยส่งคนที่ 5-9 ไปอยู่กับคุณพ่อที่หลังสวน
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตอนนี้พี่น้อง 9 คนเหลือดิฉันเป็นทายาทคนเดียว ตอนเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ ก็ข้ามสนามหลวงไปศาลฝั่งตรงข้าม เอาหนังสือไปฝากไว้ที่ลูกกรงใต้ถุนศาล พี่อู๊ดก็ให้ต้นฉบับมาเอาไปแจกจ่าย
เขาต้องการอะไรก็ซื้อไปให้ ตอนหลังย้ายไปที่บางเขน ดิฉันไปเยี่ยมพี่อู๊ดวันที่ 12 เมษายน ก็ไม่คิดว่าเป็นวันสุดท้าย พี่อู๊ดก็ไล่ให้รีบกลับบ้าน เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวรถติด
ภูมิใจค่ะ ที่ได้เกิดเป็นน้องพี่ พี่อู๊ดเลี้ยงดูพวกเรามา เคยถามว่าทำไมไม่เอาเงินที่เขาให้มาทำกินอยู่ให้สบาย พี่อู๊ดบอกว่า ของเขาให้มา ก็ให้พอสมควร ที่เหลือก็ต้องเผื่อแผ่ให้คนอื่น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- รักน้องรุ่นหลังมาก
ชมัยภร แสงกระจ่าง ประธานกองทุนศรีบูรพา กล่าวว่า พี่อู๊ดเทใจให้คนในแวดวงเสมอ มีความพยายามช่วยเหลือคนอื่น
"ได้ยินว่าน้องคนนั้นไปคุยกันเดี๋ยวเดียวพี่อู๊ดก็ถอดนาฬิกาให้ ขนาดไม่สบายก็ยังเขียนหนังสือ เวลาที่นักเขียนไม่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วย ยากลำบากมาก ไม่มีใครดูแล พี่อู๊ดก็เลยจัดงานระดมทุนช่วยเพื่อนนักเขียนที่ไม่สบาย และทำมาเรื่อย ๆ
มีปีหนึ่งจัดงานระดมทุนเป็นสวัสดิการเพื่อนักเขียน ได้เงินมาเจ็ดแสน ก็จดทะเบียนเป็นมูลนิธิรพีพร แล้วให้รางวัลรพีพรอยู่ 10 ปี จนกองทุนหมดเงิน
พี่อู๊ดเป็นคนที่ให้เงินแบบให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไข ไม่เคยอยากได้อะไรตอบแทน เป็นตัวอย่างชีวิตที่ขึ้นที่ลงอย่างที่มนุษย์จะพึงมี ตอนไปบ้านที่ศรีราชา เราจะเห็นถึงความสามัญ นี่หรือสุวัฒน์ วรดิลก มีเตียงคนไข้แล้วก็ถังออกซิเย่น ห้องก็เล็กนิดเดียว พี่อู๊ดมีหัวใจที่พิเศษที่สุดค่ะ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ผู้ช่วยชีวิต
ชเล วุทธานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสิ่งทอซาติน จำกัด เจ้าของแบรนด์ PASAYA กล่าวว่า เขามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพราะ รพีพร
"ตอนที่ออกมาจากป่า ปี 2524 ผมกำลังจิตตก อยากฆ่าตัวตาย รู้สึกว่าชีวิตไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดไว้ คุณพินิจ จารุสมบัติ ก็พาผมไปหาพี่อู๊ด นักต่อสู้เพื่อความเสมอภาค มีคุณธรรม
ผมกำลังอยู่ในอาการซึมเศร้า ไม่พร้อมจะคุยอะไรกับใคร พี่อู๊ดก็ชวนให้มาอยู่ด้วยที่บ้านสำโรง ผมเองก็แปลกใจแต่รับด้วยความซาบซึ้งใจ เพราะท่านต้องการช่วยเหลือ
ตลอดเวลาเดือนเศษ ๆ ผมได้เห็นชีวิตของท่าน ที่ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือตอนตีสี่ทุกวัน มีจิตใจกว้างขวาง เห็นอกเห็นใจทุกคน มีคนหาบขนมมาขายหน้าบ้าน ท่านซื้อเสร็จ 60-70 บาท ก็ให้ไป 100 แล้วไม่เอาเงินทอน
เวลามีช่างมาซ่อมแอร์ ซ่อมรถ พอซ่อมเสร็จท่านก็ทิปให้ทุกครั้ง ผมเคยถามว่าทำไมต้องให้ทิปเยอะขนาดนั้น ตั้ง 100 สมัยนั้นค่าแรงขั้นต่ำ 20 กว่าบาทเอง
ท่านบอกว่าน้อง ๆ พวกนี้รายได้ไม่เยอะ ให้ด้วยความชื่นชมในผลงาน สอง.เป็นกำลังใจให้เขาทำงานได้ดียิ่งขึ้น สาม.เป็นเรื่องของการจุนเจือ
ช่วงที่ผมอยู่กับท่านก็ช่วยขับรถ ช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ตกเย็นท่านจะมีกิจวัตร ดื่มแบล็อกแอนด์ไวท์ เศษ1ใน3ของขวด ไม่เกินกว่านี้ และไม่เคยเมา
ท่านเสียสละทุกอย่างเพื่อคนรุ่นต่อไป ทั้งนักเขียน คนในวงการการเมือง ใครมีปัญหาไปหาท่านหมด
ผมชอบเรื่องภาษาศาสตร์ วรรณคดี วรรณกรรม กำลังหาทางออกให้ชีวิต ก็ถามท่านว่าจะเป็นนักเขียนดีไหม พี่อู๊ดตอบว่า อย่า เพราะว่าชีวิตนักเขียนเป็นชีวิตลำบาก ไปเรียนหนังสือต่อเถอะ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ผมก็ไปเรียนวิศวกรรมด้านสิ่งทอที่ต่างประเทศ นอกจากพี่อู๊ดจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้แล้ว ท่านยังช่วยชีวิตผมไว้ ไม่อย่างนั้นวันนี้ผมคงไม่มีโอกาสได้มาทำอาชีพนี้ มานั่งพูดอย่างนี้แน่นอน
ผมยังไม่ได้ตอบแทนบุณคุณท่านเลยที่ได้ให้ชีวิตผมอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นไปได้ผมจะพยายามหาทางมาช่วยสมาคมนักเขียนให้มีความเติบโต
ท่านสู้มาตลอดชีวิต เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ได้สู้ด้วยความอคติ หรือความรู้สึกที่ต้องการทำลาย ท่านสู้ด้วยความจรรโลง ผลักดันให้มันดีขึ้น
มาถึงวันนี้ เรายังไม่รู้ว่าจะต้องสู้ต่อไปอีกกี่รุ่น สังคมเราทุกวันนี้ถอยหลังลง ในฐานะนักธุรกิจมองว่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในอาเซียน ถ้ายังอยู่ในสภาพเช่นนี้
เราต่อสู้กับอะไรก็ไม่รู้ เรากำลังเป็นประเทศที่ล้าหลัง เราด้อยกว่ามาเลเซีย จีนซึ่งเคยยากจนกว่าเรา ทุกวันนี้ก็เป็นสองเท่าของประเทศไทยแล้ว"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ผู้มีชั้นเชิงในการต่อสู้
โตมร ศุขปรีชา นักเขียน นักแปล ผู้อำนวยการ สำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD กล่าวว่า ตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และอ่านของ รพีพร มาเยอะมาก
"คุณแม่ผมเปิดร้านเช่าหนังสือ และเป็นแฟนหนังสือของรพีพร เป็นนิยายที่ให้ความสนุก ตอนเรียนวิศวะเคมีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมเอาแต่อ่านนิยาย อ่านพิราปแดง อ่านทุกอย่างเยอะมาก
ตอนหลัง มาทำงานเป็นบรรณาธิการแล้วพบว่า การเป็นนักเขียนมันยากลำบากจริง ๆ ต้องหาอย่างอื่นมาเลี้ยงชีพด้วย
ในยุคของท่านเป็นยุคที่น่าตื่นเต้นมาก จอมพลป.ไม่ให้อ่านตอลสตอย แต่คุณสุวัฒน์กลับเขียนถึงไชคอฟสกี้ ในนิยายเรื่องม่านไทรย้อย จะมีเพลงที่มาจากไวโอลินคอนแชร์โต ของไชคอฟสกี้
Cr. Kanok Shokjaratkul
นี่คือวิธีต่อสู้กับเผด็จการที่เนียนมาก พอร้องเป็นเพลงแล้วเพราะมาก ตอนเด็ก ๆ พ่อกับแม่เคยพาผมไปฟังป้าโจ๊ว (เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ภรรยาของสุวัฒน์ วรดิลก) ร้องเพลง แล้วได้ไปขอลายเซ็นมา
ชีวิตและงานของคุณรพีพร เป็นแบบอย่างหลายชั้นมาก ทำอย่างไรให้รักษาการเป็นนักเขียนแล้วประคองชีวิตของตัวเองได้ด้วย ทั้งการเขียนบทละคร การเป็นนักเขียน การเป็นนักต่อสู้ เพื่ออุดมการณ์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อให้สังคมมันเดินหน้าไป
แต่วิธีที่สู้ ไม่ได้ไปในแง่ทำลายล้าง แต่สู้แบบม่านไทรย้อย ผ่านนวนิยาย แฝงไว้ อย่าง ลูกทาส พอเป็นละครทุกคนได้ดู มันก็ไปหาคนได้ อยากให้คนรุ่นใหม่ไปศึกษาทั้งชีวิตและงานของคุณสุวัฒน์และคุณเพ็ญศรีด้วย"