ส่องความปัง ‘Barbie’ ผลงาน ‘Greta Gerwig’ ผู้กำกับตัวแม่แห่งยุค
ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ “Barbie” ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ แต่ชื่อของ “Greta Gerwig” ผู้กำกับหญิงสุดปัง ก็ได้รับการพูดถึงไปด้วย ทั้งผลงานในอดีต และทัศนคติในการทำงาน
Key Points:
- ภาพยนตร์เรื่อง “Barbie” เป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับฝีมือดี “Greta Gerwig” หญิงสาวมากความสามารถที่เริ่มเข้าสู่วงการด้วยงานแสดง
- ก่อนหน้านี้เธอฝากผลงานการกำกับมาแล้วกับภาพยนตร์เรื่อง Lady Bird และ Little Women ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีโลกทั้ง 2 เรื่อง
- จากผลงานที่ผ่านมาทำให้หลายคนจับตามองผลงานล่าสุดของเธอว่า จะนำเสนอภาพลักษณ์และบทบาทของผู้หญิงผ่านตุ๊กตา Barbie อย่างไร
กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงคอหนัง สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “Barbie” ของผู้กำกับหญิงมาแรงแห่งวงการฮอลลีวูด “Greta Gerwig” หรือ เกรต้า เกอร์วิก ซึ่งการที่เธอจะเนรมิตตุ๊กตาขวัญใจเด็กหญิงทั่วโลกมานานกว่า 6 ทศวรรษ ให้มามีชีวิตโลดแล่นบนจอเงินในฐานะภาพยนตร์เวอร์ชันคนแสดง (Live Action) ครั้งแรก ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่จับตามองทั้งจากคนในแวดวงบันเทิง และจากบรรดาแฟนคลับของตุ๊กตาบาร์บี้ไปพร้อมกัน
ที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูชื่อของ Greta Gerwig ในฐานะ “ผู้กำกับภาพยนตร์” เท่าไรนัก แต่อาจจะเคยได้ยินชื่อของเธอในฐานะนักเขียนบทและนักแสดง เพราะเธอเริ่มต้นเส้นทางในวงการบันเทิงจากการเป็นนักแสดง ก่อนจะผันตัวมาสู่งานเบื้องหลัง โดยเริ่มจากการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกที่เป็นแนว “Coming of age” หรือการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ในภาพยนตร์เรื่อง “Lady Bird” ในปี 2017
แม้จะเป็นผลงานในฐานะผู้กำกับครั้งแรกของเธอ แต่ก็เป็นภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลใหญ่ระดับโลกมากมาย ได้แก่ รางวัล Academy Award (ออสการ์) ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม, สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลจากเวที Golden Globes Award (ลูกโลกทองคำ) ถึงสองรางวัล คือ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
- Greta Gerwig ผู้กำกับหญิงมากความสามารถ ดาวดวงใหม่วงการฮอลลีวูด
“Greta Gerwig” เป็นนักแสดง นักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ 4 ส.ค. 1983 จบการศึกษาจาก Barnard College เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิงจากการแสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Greenberg (2010), No Strings Attached (2011), Arthur (2011) และ To Rome With Love (2012) เป็นต้น ก่อนจะกระโดดเข้ามาสู่วงการกำกับภาพยนตร์ และเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในวงการที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล “Academy Award”
สำหรับผลงานการกำกับส่วนมากของเธอจะเป็นการมองผ่านมุมของผู้หญิงเป็นหลัก (Female Gaze) ทำให้บางคนมองว่าเธอจัดอยู่ในกลุ่มผู้หญิงที่มีความคิดแบบ เฟมินิสต์ หรือ สตรีนิยม ซึ่งเธอเองก็เคยให้สัมภาษณ์ผ่าน The Financial Times ว่า “I’m interested in young women. I’m interested in middle-aged women, I’m interested in women, period. Maybe not forever, but for now.” มีความหมายโดยรวมว่าเธอสนใจในเรื่องราวของผู้หญิงทุกช่วงวัย แม้จะไม่ใช่ตลอดไป แต่ก็สำหรับในตอนนี้
- ส่องผลงานการกำกับสุดปัง ก่อน Barbie เข้าโรงภาพยนตร์
แม้ว่าจุดเริ่มต้นในวงการฮอลลีวูดของ Greta จะมาจากงานเบื้องหน้าเป็นหลัก แต่เธอเองก็ทำงานเบื้องหลังควบคู่ไปด้วยในฐานะมือเขียนบทภาพยนตร์ เช่น Frances Ha (2012) ที่เธอเองร่วมแสดง และพากย์เสียงในภาพยนตร์เรื่อง Isle of Dogs (2018) โดยผลงานที่ทำให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็คือ บทบาทนักแสดงสมทบหญิงในภาพยนตร์แนวเพื่อนหญิงพลังหญิงเรื่อง 20th Century Women (2016) ของผู้กำกับ “Mike Mills” ที่เธอรับบทเป็นช่างภาพสาวที่กำลังต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและความสับสนยุ่งเหยิงในชีวิต และหลังจากนั้นเธอก็ได้เปิดตัวในฐานะ “ผู้กำกับภาพยนตร์” กรุงเทพธุรกิจจะพาไปรู้จักกับผลงานของเธอกันก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง Barbie จะเข้าฉายในวันที่ 20 ก.ค. นี้
ภาพนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง 20th Century Women (Greta ใส่เสื้อสีแดงคนที่สองจากด้านขวา) จาก VOX
Lady Bird ภาพยนตร์แนว Coming of age ที่แม้เนื้อเรื่องจะดูธรรมดา แต่มีการเล่าเรื่องแบบไม่ซ้ำซากจำเจ และเป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ Greta โดยเธอเล่าเรื่องของเด็กสาวบ้านนอกวัยมัธยมปลายธรรมดา ที่ใฝ่ฝันอยากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง แต่แม่ของเธออยากให้เธอเรียนในมหาวิทยาลัยใกล้บ้านเนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ค่อยดีนัก
ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้นดำเนินไปด้วยความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความสัมพันธ์ของแม่และลูกสาวที่มีทั้งความสุข ความเศร้า ความหวัง ปัญหาที่ยากจะหาจุดร่วมในการทำความเข้าใจ รวมถึงความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนรักที่ผ่านมาเข้ามาและอาจจะหล่นหายไประหว่างทาง ประกอบกับเรื่องราวช่วงชีวิตวัยรุ่นที่ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่บางครั้งอาจมีการตัดสินใจผิดพลาดไปบ้าง แต่ตัวละครก็ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และยังทำให้ผู้ชมอยากรู้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับแม่จะเป็นไปในทิศทางใด รวมถึงความฝันในการเรียนต่อของเธอจะเป็นจริงหรือไม่
ภาพ Saoirse Una Ronan นักแสดงนำหญิงจาก Lady Bird และ Greta จาก ET Online
แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เธอทำหน้าที่กำกับ แต่เธอก็พิสูจน์ให้โลกภาพยนตร์เห็นถึงความสำเร็จของเธอในบทบาทใหม่ ที่ได้รับการการันตีจากการเข้าชิง รางวัล Academy Award ถึง 5 สาขา และได้รับรางวัล Golden Globes Award อีก 2 สาขา
ภาพ Greta และนักแสดงจาก Lady Bird ในงานประกาศรางวัล Golden Globes Award จาก NME
Little Women หรือ สี่ดารุณี ในเวอร์ชันปี 2019 แม้เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากนวนิยายชื่อดังของนักเขียนชาวอเมริกัน Louisa May Alcott (ลุยซา เมย์ อัลคอตต์) ที่เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อปี 1933 และ 1994 แต่ก็มีความโดดเด่นแตกต่างไปคนละด้านตามความถนัดของผู้กำกับและยุคสมัย ดังนั้นเมื่อ Greta หยิบเรื่องราวสุดคลาสสิกเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ แน่นอนว่าต้องมีหลายคนจับตามอง
สำหรับ Little Women เป็นเรื่องราวในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ของพี่น้องสี่สาวตระกูล March ที่อาศัยอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์กับแม่ เพราะพ่อของพวกเธอไปสงคราม โดยตัวละครทั้งสี่สาว ได้แก่ Meg พี่สาวคนโต บุคลิกอ่อนหวาน รักสวยรักงาม มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละครเวที, Jo พี่สาวคนรอง สาวหัวสมัยใหม่ที่ฝันอยากเป็นนักเขียน, Beth ลูกสาวคนที่สาม มาพร้อมความน่ารัก แต่ชอบเก็บตัวอยู่ในบ้าน และ Amy น้องสาวคนสุดท้องที่ฝันอยากจะเป็นจิตรกร แต่ก็มีความแสบสันซ่อนอยู่
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมาจากนิยายที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1869 แต่ก็เป็นเรื่องที่เล่าถึง “ผู้หญิง” ในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเน้นไปที่ความหลากหลายของผู้หญิงที่แม้เป็นพี่น้องกันแต่ก็มีความคิดความฝันที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องราวของโจที่มุ่งมั่นตั้งใจจะเข้าไปอยู่ในแวดวงนักเขียนให้ได้ แม้รู้ว่าตรงนั้นเป็นที่ของ “ผู้ชาย” ขณะที่ เม็ก พี่สาวคนโต มองว่าการที่ได้มีคนรัก แต่งงาน มีลูก และได้เป็นแม่บ้าน ก็ถือว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งในฐานะลูกผู้หญิง เป็นต้น
สำหรับภาพยนตร์ Little Women ในเวอร์ชันของ Greta เล่าถึงความเป็นธรรมชาติและความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงธรรมดาที่มีเส้นทางชีวิต ความคิด และความฝันแตกต่างกันผ่านตัวละคร โจ ลูกสาวคนรองที่พยายามดิ้นรนเดินตามความฝันไปเป็นนักเขียนในนครนิวยอร์ก ตัดสลับกับภาพเธอที่อยู่บ้านพร้อมหน้ากับพี่น้อง รวมไปถึงความสัมพันธ์กับชายหนุ่มข้างบ้านฐานะดี Laurie (ลอว์รี) แม้ว่าบทสรุปของพวกเธอทั้ง 4 คน อาจจะแตกต่างกันไปคนละทิศละทาง แต่ไม่ว่าผู้หญิงจะมีความเชื่อแบบไหน จะออกไปทำงานหรือเป็นแม่บ้านแม่เรือน หากทำแล้วมีความสุขก็ถือว่าเป็นเส้นทางที่พวกเธอเลือก เพราะชีวิตจริงนั้นไม่ได้มีอะไรตายตัว
ภาพนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Little Women (2019) จาก Indie Wire
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Academy Award ในสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม จากการเข้าชิงถึง 6 สาขา รวมถึงรางวัลในสาขาเดียวกันจากเวที British Academy Film Award จากการเข้าชิง 5 รางวัล และเข้าชิงอีก 2 รางวัล ในเวที Golden Globes Award
- Barbie ภาพยนตร์เรื่องใหม่ ที่เน้นบทบาทของผู้หญิง?
“Barbie” ผลงานการกำกับล่าสุดของ Greta ก็กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เร็วๆ นี้ อีกทั้งเธอยังเป็นผู้อำนวยการสร้างเองด้วย และเป็นครั้งแรกที่เราทุกคนจะได้เห็นตุ๊กตาขวัญใจวัยเด็กของใครหลายคนปรากฏตัวในโลกภาพยนตร์ในฐานะคนแสดง แน่นอนว่าเรื่องของ Barbie ในแบบฉบับของเธออาจจะไม่ใช่ความน่ารักสดใสสไตล์เด็กน้อย ที่โลกนี้มีแต่สีชมพูเสียทีเดียว เพราะจากการปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกมา หลายคนเริ่มสังเกตว่า นอกจาก Barbie ทั้งหลายที่อยู่บนเกาะจะเป็นตัวละครหลักแล้ว พวกเธอยังเป็นเหมือนชนชั้นปกครองอีกด้วย เพราะพวกเธอทุกคนล้วนมีหน้าที่การงานที่ดี มีบ้าน มีรถ จัดปาร์ตี้กันได้ตลอด ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกวัน
แต่ขณะเดียวกันตัวละครชายอย่าง Ken หรือที่รู้จักในฐานะแฟนหนุ่มของเธอกลับกลายเป็นคนที่ไม่ได้มีความสำคัญหรือมีหน้ามีตาในสังคมเลยสักนิด คล้ายกับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องประดับของเธอเท่านั้น นอกจากนี้คำโปรยในโปสเตอร์ภาพยนตร์ก็เขียนว่า “She’s everthing, He’s just Ken” หรือ เธอคือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เขาก็แค่เคน
ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ Barbie จาก Deadline
ดังนั้นตุ๊กตาสาวในเวอร์ชันนี้อาจจะมีกลิ่นอายของโลกที่อยู่ภายใต้ระบอบมาตาธิปไตย (Matriarchy) หรือการปกครองสังคมโดยที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ มีบทบาทหลักทางสังคมมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นลัทธิความเชื่อ ทรัพย์สินเงินทอง หรือการเป็นผู้นำ แต่ผู้ชมก็ต้องเดินทางไปพร้อมกับ Barbie เพื่อหาคำตอบว่าท้ายที่สุดแล้วโลกที่พวกเธออยู่นั้นมีความเท่าเทียม ความสมดุล หรือความแตกต่างกับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไร และจะเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องของ Greta ที่ได้เข้าชิงรางวัลจากเวทีระดับโลกได้อีกครั้งหรือไม่ ผู้ชมคงต้องรอติดตามต่อไป
อ้างอิงข้อมูล : The Financial Times, The Conversation, The Guardian, ELLE, Britannica, Sony Pictures, Exoticquixotic และ สารคดี