‘ฆาตกรรมอิหยังวะ’ หนังสุดแสบฝีมือ ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ หลังวางมือไป 5 ปี
สไตล์การทำหนังที่ฉูดฉาด เหนือจริง และแอบจิกกัดสังคมเบาๆ คือ ภาพจำของผู้กำกับไทยมากฝีมือ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ที่ล่าสุดพาภาพยนตร์เรื่องใหม่ “ฆาตกรรมอิหยังวะ” คัมแบ็กวงการผ่าน “Netflix”
Key Points:
- การกลับมากำกับภาพยนตร์ในรอบ 5 ปี ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ผ่านหนังตลกสืบสวน “ฆาตกรรมอิหยังวะ” ติดอันดับ Top 5 ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้าฉาย (24-30 ก.ค. 2566) ความนิยมใน Netflix ทำให้ชื่อของเขาได้รับการพูดถึงอีกครั้ง
- แม้ว่าวิศิษฏ์จะมาจากวงการโฆษณา แต่เขาได้เริ่มต้นงานภาพยนตร์ด้วยการเขียนบท “2499 อันธพาลครองเมือง” และ “นางนาก” ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดี
- ภาพยนตร์เรื่องแรกที่วิศิษฏ์กำกับเองคือ “ฟ้าทะลายโจร” ตามมาด้วยเรื่อง “หมานคร” ซึ่งคว้ารางวัลระดับนานาชาติได้ทั้งสองเรื่อง ด้วยความแปลกใหม่ในการเล่าเรื่องแนวจิกกัดสังคมและโปรดักชันสุดฉูดฉาดเหนือจริง
หากเอ่ยถึงชื่อของ “ผู้กำกับภาพยนตร์” ชาวไทยมากความสามารถที่เคยคว้ารางวัลในระดับนานาชาติมาแล้ว แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” เจ้าของผลงานภาพยนตร์สุดจี๊ดที่โดดเด่นทั้งเส้นเรื่องและโปรดักชัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานการเปิดตัวในฐานะผู้กำกับเต็มตัวครั้งแรกอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” ภาพยนตร์ไทยสไตล์ย้อนยุคที่ใช้สีฉูดฉาดแปลกตา ตามมาด้วย “หมานคร” กับพลอตเรื่องจิกกัดสังคมคนเมืองตามยุคตามสมัย หรือภาพยนตร์สุดหลอนอย่าง “เปนชู้กับผี” ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังสยองขวัญขึ้นหิ้งของไทย
ล่าสุด วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง กลับมากำกับภาพยนตร์อีกครั้งหลังห่างหายจากการกำกับไปถึง 5 ปี กับภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อเรื่องแนวตลก-สืบสวน แบบแหวกแนวชวนหัว ที่ยังไม่วายแอบเสียดสีสังคม “เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ” ออกฉายผ่านทาง “Netflix” และแม้จะเข้าฉายมากว่า 3 สัปดาห์แล้ว แต่ยังคงอยู่อันดับที่ 3 (8 ส.ค. 2566) ของภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทย (เข้าฉายทางการเมื่อ 27 ก.ค. 2566)
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง (หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน)
- ก่อน “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” จะก้าวขึ้นเป็นผู้กำกับแถวหน้า
ปัจจุบันชื่อของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เรียกว่าได้รับการยอมรับในฐานะผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ มากความสามารถ แต่ก่อนที่เขาจะเข้าสู่แวดวงภาพยนตร์นั้น เขาเคยทำงานด้านโฆษณามาก่อน หลังจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
จุดเริ่มต้นในวงการภาพยนตร์ของเขาคือการเขียนบทให้ภาพยนตร์แนวแอคชัน-ดราม่าย้อนยุค “2499 อันธพาลครองเมือง” ของผู้กำกับ “นนทรีย์ นิมิบุตร” เป็นเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นมีอิทธิพลรวมตัวกันทะเลาะวิวาทกับกลุ่มต่างๆ แบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย พร้อมสอดแทรกเนื้อหาการเมืองช่วงรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2501 ในเรื่องความเด็ดขาดของการปราบปรามกลุ่มวัยรุ่นนักเลงแบบจริงจัง ภาพยนตร์ออกฉายครั้งแรกใน พ.ศ. 2540 และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะได้พระเอกตลอดกาล ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี มารับบทหลักแล้วก็มีเนื้อหาและการเล่าเรื่องที่เข้มข้นถูกใจใครหลายคน
ต่อมา “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ได้เขียนบทให้ภาพยนตร์ที่มีเค้าโครงจากตำนานสยองขวัญของแม่นาคพระโขนงในเรื่อง “นางนาก” ของนนทรีย์ นิมิบุตร อีกครั้ง นำแสดงโดยนางเอกดังของยุค ทราย อินทิรา เจริญปุระ หลังออกฉายในปี พ.ศ. 2542 ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน เนื่องจากภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอความน่ากลัวของผีอย่างเดียว แต่ยังมีมุมของความรัก ความคิดถึง ความหวัง และความเศร้าอีกด้วย
- ภาพยนตร์แหวกแนว เหนือจริง ล้ำจินตนาการ แบบวิศิษฏ์สไตล์
หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2543 วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ได้เปิดตัวในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ครั้งแรกพร้อมทั้งเขียนบทเองในภาพยนตร์ “ฟ้าทะลายโจร” เรื่องราวของความรักต่างฐานันดรของนักเลงหนุ่มและสาวผู้ดีมีชาติตระกูล ที่สะท้อนเรื่องราวความแตกต่างของชนชั้นได้เป็นอย่างดี ผ่านฉากที่เหมือนหนังคาวบอย
ใบปิดภาพยนตร์ฟ้าทะลายโจร จาก Thai Film-Movie & Poster
ตามมาด้วย “หมานคร” ใน พ.ศ. 2547 เล่าถึงเหล่าคนที่พยายามดิ้นรนใช้ชีวิตในเมืองหลวง ที่ความจริงแล้วชีวิตไม่ได้สวยงามเหมือนที่ฝันไว้และอาจไหลไปตามกระแสสังคมได้ง่ายๆ จนตัวตนเลือนหายไป
ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องแม้จะมีเนื้อเรื่องไปคนละทาง แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ การใช้สีสันฉูดฉาด เครื่องแต่งกายโดดเด่น การเล่าเรื่องแบบเหนือจริงมีนัยให้คิดตาม และถูกนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายประเทศ และได้รับรางวัลติดมือกลับมาด้วย
โดยภาพยนตร์เรื่องฟ้าทะลายโจรได้รางวัล Dragons & Tigers award for young cinema จาก Vancouver Film Festival, Canada และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลในสาขาภาพยนตร์น่าจับตามองของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ส่วนภาพยนตร์เรื่องหมานครได้รางวัล “สุพรรณหงส์” จากสาขาการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม และรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์แฟนตาเซีย ประเทศแคนาดา ถึงสองรางวัล นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติให้ไปฉายยังเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เช่น Locarno International Film Festival, Toronto International Film Festival และ Vancouver International Film Festival เป็นต้น
ใบปิดภาพยนตร์ หมานคร จาก Five Star Production
ต่อมาเขาได้หันมากำกับภาพยนตร์ผีสุดหลอนย้อนยุคที่ตราตรึงผู้ชมมาจนถึงปัจจุบัน “เปนชู้กับผี” (พ.ศ. 2549) เรื่องราวของหญิงสาวที่เดินทางไปตามหาสามีที่หายไปในคฤหาสน์ลึกลับที่ทุกคนในนั้นดูเหมือนจะผิดปกติไปจากคนทั่วๆ ไป และเริ่มมีเหตุการณ์น่าสะพรึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนทุกอย่างเริ่มบิดเบี้ยวหักมุมไปมา ทำให้เป็นหนังผีที่ได้รับการกล่าวขวัญมาจนถึงปัจจุบันว่าหยิบมาดูเมื่อไรก็ยังขนลุกทุกครั้ง
อีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นก็คือ “Ten Years Thailand” เมื่อปี พ.ศ. 2561 ภาพยนตร์ไทยอิสระที่ร่วมทุนสร้างระหว่างไทย-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 4 เรื่องสั้น จาก 4 ผู้กำกับ เล่าถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า (หรือประมาณ พ.ศ. 2571) โดยวิศิษฏ์รับบทกำกับเรื่อง “CATOPIA” เรื่องราวของมนุษย์ที่ต้องหลบซ่อนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยแมวซึ่งถือเป็นชนชั้นปกครอง และมีหน้าที่กำจัดมนุษย์ออกไปให้พ้นทางแบบไม่สนวิธีการ เปรียบเสมือนวัฒนธรรมการล่าแม่มดที่ผู้เห็นต่างจากสังคมมักถูกไล่ล่าและโดนแขวนประจาน
จุฬญาณนนท์ ศิริผล, วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง และ อาทิตย์ อัสสรัตน์ จาก BBC
- ฆาตกรรมอิหยังวะ และนัยที่ซ่อนอยู่
การกลับมากำกับภาพยนตร์อีกครั้งของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ถือเป็นครั้งแรกที่นำลงฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง “Netflix” เป็นที่แรก ไม่ใช่ในโรงภาพยนตร์เหมือนที่ผ่านมา ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ชม ภาพยนตร์ดังกล่าวมีชื่อว่า “เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ” หรือ “Murderer” เรื่องราวของหญิงสาวชาวอีสานที่พาเขยฝรั่งกลับไปพบครอบครัวในต่างจังหวัด แต่กลับมีเหตุฆาตกรรมสุดแปลกประหลาดเกิดขึ้นแบบที่ไม่เคยมีใครพบเจอมาก่อน
ทำให้นายตำรวจฝีมือดีขึ้นชื่อด้านทำคดีสืบสวนแห่ง สภ. ดอนกระโทก ที่มีชื่อว่า ณวัฒน์ กับฉายา มือปราบหัวร้อน รับบทโดยนักแสดงตลกชื่อดัง “หม่ำ จ๊กม๊ก” หรือ “เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา” ที่ต้องเข้ามาไขคดีสุดพิสดารทั้งจากพยานหลักฐานสุดแปลก และพยานบุคคลที่เหมือนจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งคนดูเองก็ต้องคอยลุ้นและไขปริศนาสุดพิลึกนี้ไปตลอดเรื่อง เรียกได้ว่าต้องใช้สมาธิดูเลยทีเดียว โดยคนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยก็คือเขยฝรั่งที่เดินทางมาเยือนหมู่บ้านนี้เป็นครั้งแรก
แม้ว่าฆาตกรรมอิหยังวะจะเป็นหนังตลกแนวสืบสวน แต่ก็ยังมีนัยชวนให้คิดตามตลอดทั้งเรื่อง ทั้งมายาคติที่บางคนเชื่อว่า สาวอีสานมักหาผัวฝรั่งมาหาเลี้ยง ซึ่งแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว
การใช้สีในฉากของภาพยนตร์ ฆาตกรรมอิหยังวะ จาก Netflix
โดยเรื่องราวเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดออกมาทั้งจากตัวนางเอก ครอบครัวของนางเอก และคนที่รู้จักกันในละแวกบ้าน ไปจนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งการที่พ่อแม่ของนางเอกต้องมาเลี้ยงลูกของลูกชายที่มีลูกในภาวะที่ไม่พร้อมจะเป็นพ่อ การเห็นผู้หญิงเป็นแค่สิ่งของหรือแม่บ้านที่รับเงินจากผู้ชายอย่างเดียว ความเชื่อเก่าๆ ที่ทำให้พ่อแม่ไม่ไว้ใจลูกและแฟนของลูก ไปจนถึงเรื่องราวความสนุกสนานของชีวิตชนบทแบบเรียบง่ายที่แฝงไปด้วยความขมขื่นบนการดำเนินชีวิตที่ยากลำบาก
หลังจากภาพยนตร์เปิดตัวก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีตามคาด ทั้งฉากสุดอลังการ สีสันแสบตา ที่เป็นเอกลักษณ์ เนื้อเรื่องที่ต้องคอยลุ้นและสืบสวนไปพร้อมกับตัวละคร โดยเฉพาะการเปรียบเปรยเชิงสัญลักษณ์ที่ยังคงไม่ทิ้งลายแอบเสียดสีสังคมตามแบบวิศิษฏ์สไตล์ แต่ก็ไม่ได้ย่อยยากจนเกินไป ทำให้ติดอันดับภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมในไทยของ Netflix อย่างรวดเร็ว ขึ้นสู่อันดับหนึ่งในสัปดาห์แรก (24-30 ก.ค. 2566) ถือว่าเป็นการกลับมาที่ไม่ทำให้แฟนคลับผิดหวัง
และขณะชมภาพยนตร์บางคนอาจหลุดอุทาน “อิหยังวะ..?” ออกมาเป็นระยะ
ใบปิดภาพยนตร์ เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ
เรียกได้ว่าผลงานส่วนมากของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ไม่ได้มีจุดแข็งในเรื่องความเหนือจริงอย่างเดียว แต่ยังมีการนำบริบทและเหตุการณ์ทางสังคมบางอย่างมาผูกโยงเข้ากับเรื่องราวเพื่อให้ผู้ชมได้แง่คิดตามไปด้วยแบบที่ไม่ยัดเยียดจนเกิดเหตุ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่ไปไกลระดับโลก
อ้างอิงข้อมูล : BBC, หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และ หอภาพยนตร์