ก้าวออกจากเซฟโซนหนังไทย ‘M 39’ พร้อมฉายหนังจากโครงการ ‘MAJOR WRITER CONTEST’
ค่าย 'M 39' พร้อมฉายหนังไทย 2 เรื่องที่กล้าประกาศตัวว่าก้าวออกจากเซฟโซน นั่นคือ ‘POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก’ และ ‘อีสานซอมบี้’ ที่สร้างจากพล็อตของผู้ชนะการประกวดโครงการ ‘MAJOR WRITER CONTEST คุณเขียนเราสร้าง’ โครงการดี ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาบุคคลากรในวงการหนังไทย
ทำไมหนังไทยมีแต่พล็อตซ้ำ ๆ คนทำหนังไทยไม่มีไอเดียใหม่ ๆ นอกจากหนังผี หนังตลกแล้วจริงหรือ?
‘POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก’ และ ‘อีสานซอมบี้’ ภาพยนตร์ไทย 2 เรื่องจากค่ายเอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ (M39)ที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานที่ชนะเลิศการประกวด ‘MAJOR WRITER CONTEST คุณเขียนเราสร้าง’ อาจตอบโจทย์เรื่องนี้ได้
‘MAJOR WRITER CONTEST คุณเขียนเราสร้าง’ เป็นโครงการที่ ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป’ เปิดพื้นที่ให้เหล่านักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรงได้โชว์ศักยภาพในการเขียนพล็อตเรื่องที่สร้างสรรค์ ไอเดียของผู้ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะถูกนำมาพัฒนาเป็นบทและสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อไป
หลังจากผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลากว่า 2 ปี บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด (M39)โดย คุณปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์ Executive Producer บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด ได้นำพล็อตที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการดังกล่าวเพียง 2 เรื่อง จากทั้งหมดกว่า 3,000 พล็อต นำมาพัฒนาและสร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีกำหนดเข้าฉายในปี 2566 นี้ คือ
1. “POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก” กำกับโดย ตุ๋ย - พฤกษ์ เอมะรุจิ ซึ่งผ่านงานกำกับภาพยนตร์ระดับร้อยล้าน อาทิ ไบค์แมนฯ, อีเรียมซิ่ง, ใจฟู...สตอรี่, บัวผัน ฟันยับ ฯลฯ
2. “อีสานซอมบี้” กำกับโดย คิม - ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา ซึ่งเคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง และผลงานการกำกับภาพยนตร์โฆษณาอีกมากมาย
จากซ้าย : ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา ผู้กำกับภาพยนตร์ 'อีสานซอมบี้', ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์ Executive Producer บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด, พฤกษ์ เอมะรุจิ ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก’
บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนเขียนบทหนังไทย
การจัดประกวดคิดพล็อต เขียนบทภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โครงการ ‘MAJOR WRITER CONTEST คุณเขียนเราสร้าง’ มีความแตกต่างตรงที่มีการหยิบยกเอาผลงานของผู้ชนะมาพัฒนาต่อยอด สร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายจริง ขณะเดียวกันก็ยังคงมีการส่งเสริมนักเขียนที่ผลงานอาจจะไม่ได้ชนะในโปรเจคต์นี้ แต่พวกเขามีศักยภาพที่จะเติบโตไปเป็นคนเขียนบทที่ดีต่อไปในอนาคต
“เรามีการสร้างกลุ่มไลน์กับน้อง ๆ นักเขียน 10 คนที่เข้ารอบสุดท้ายไว้คุยกัน หลาย ๆ คนจากโครงการนี้พอรู้ว่าตัวเองเขียนแล้วมันไปต่อได้ เค้าก็ไปเรียนเขียนบทเพิ่ม เข้ามาเจอเราบ้าง นั่งคุยไอเดียพร้อมกัน หลายคนนำเอาเรื่องที่เขาเขียนไว้ 2 หน้าไปพัฒนาเป็นสิบหน้า ยี่สิบหน้า” คุณปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์ กล่าว
“มันต้องใช้เวลา เหมือนกับเราบ่มเมล็ดพืช ค่อย ๆ รอการเติบโต แต่ระหว่างที่เค้ากำลังเติบโตเรามีหน้าที่สนับสนุน รดน้ำพรวนดินให้เค้า แนะนำ พาเค้าไปเจอกับผู้กำกับที่สนใจไอเดียเดียวกันแล้วช่วยกันสร้าง มันเป็นงานทีม”
ทางด้าน คิม - ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา ผู้คลุกคลีอยู่กับโครงการ ‘คุณเขียน เราสร้าง’ มาตั้งแต่ต้นในฐานะคณะกรรมการ เรื่อยมาจนถึงการกำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘อีสานซอมบี้’ ที่ได้ไอเดียมาจากพล็อตของผู้ชนะเลิศ กล่าวว่า
“ของดีมีอยู่เสมอ แต่เวทีประกวดเขียนบทส่วนใหญ่จะจบลงแค่นั้น ต่างจากโครงการของเมเจอร์ฯ ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าของดี ๆ เหล่านั้นได้ไปต่อ ซึ่งสิ่งนี้คือแมสเสจที่สำคัญของโครงการนี้"
หนังไทยที่ก้าวออกจากเซฟโซน
‘พฤกษ์ เอมะรุจิ’ หนึ่งในผู้กำกับที่ได้แรงบันดาลใจจากพล็อตของผู้เข้าประกวด แล้วนำไอเดียดังกล่าวไปต่อยอดเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ‘POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก’ ออกมากล่าวว่า สิ่งที่เขาคิดว่ายอดเยี่ยมที่สุดคือการหยิบเรื่องใกล้ตัว แต่เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึง หรือลืมนึกถึงมันไปแล้วมาใช้อีกครั้ง
“สิ่งที่ผมติดใจและชอบคือ เราลืมเรื่องไปรษณีย์มานานมากแล้ว ไม่รู้ว่ามันผ่านเวลามาเนิ่นนาน หรือเราอยู่กับมันจนชินก็ไม่รู้ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก สนิทกับบ้านเราบางทีมากกว่าญาติอีก เพราะมาบ้านเราบ่อย ผมคิดว่าสารตั้งตนของความเป็นไปรษณีย์มันน่าสนใจดีก็เลยขออนุญาต ขอพี่นก (คุณปัญชลีย์) และน้องคนที่ส่งประกวดชนะเลิศ ว่าขอหยิบสารตั้งต้นนี้มาทำเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ไหม”
ในขณะที่คุณปัญชลีย์เสริมว่าผู้กำกับได้แรงบันดาลใจจากการเล่าเรื่องภารกิจของไปรษณีย์ในไอเดียที่ชนะเลิศมาทำเป็นหนัง ในขณะที่ทาง M39 มีหน้าที่บาลานซ์ความเป็น art, creative, commercial ให้ไปด้วยกันได้ ซึ่งหลังจากปล่อยตัวอย่างออกไปก็ได้รับคำชมกลับมาว่าเป็น “หนังไทยที่กล้าออกจากเซฟโซน”
“คนชอบบ่นว่าหนังไทยมีแต่พล็อตซ้ำ ๆ ไม่ผีก็ตลก ไม่มีอะไรใหม่ แต่สำหรับภาพยนตร์สองเรื่องนี้ POST MAN ไปรษณีย์ 4 โลก และอีสานซอมบี้ มันจะออกจากเซฟโซนในแบบที่เราไม่เคยเห็นจากหนังไทยมาก่อน มันเป็นโปรเจคท์ที่ไม่ได้มาจากไอเดียของคนที่อยู่ในวงการ พอนำมาทำ เราจึงรู้สึกท้าทายว่าจะทำยังไงให้เค้าเบ่งบานและสำเร็จให้ได้ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด บททำกันเกือบปีแก้แล้วแก้อีก หลายเวอร์ชั่นมาก”
แล้วการออกจากเซฟโซนของหนังไทยคืออะไร?
สำหรับเรื่องนี้ คุณปัญชลีย์ให้คำตอบเอาไว้ว่าคือ การกล้าที่จะคิดออกนอกกรอบไปเลย
“สองเรื่องนี้ไปไกลกว่าแค่ผีและตลก ตอนที่ตุ๋ย (พฤกษ์ เอมะรุจิ) เขียนบทแล้วมาปรึกษาว่ามันไปไกลมากเลยนะ เราก็ตอบว่าไปให้สุดทางเลย ในเมื่อวันนี้เซฟโซนไปต่อลำบาก เราก็ไปให้สุดทาง แต่สุดทางที่เราไปต้องอยู่บนโครงสร้างบทที่ดี และองค์ประกอบที่ดี ผู้กำกับ ทีมงานผลิต คนทำซีจี นักแสดงที่ดี พอได้ส่วนผสมที่ลงตัวมันก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลใจแล้ว ที่เหลือรอคนดูเข้ามาเสพมันแล้วพอใจกับมันไหม”
ความทะเยอทะยานที่จะปักธง ‘ซอมบี้ไทย’
สำหรับ ‘อีสานซอมบี้’ ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 จากโครงการ ‘MAJOR WRITER CONTEST คุณเขียนเราสร้าง’ ที่มีกำหนดเข้าฉายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ‘คิม - ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา’ ผู้กำกับ กล่าวว่า ซอมบี้กลายเป็นภาษาสากลของคนดูหนังไปแล้ว คนเข้าใจว่าซอมบี้คืออะไร แต่ ‘ซอมบี้ไทย’ ถึงแม้จะมีคนเคยทำมาบ้างแล้ว แต่มันยังไม่ได้ถูกปักธงว่านี่คือซอมบี้ไทย
“วันที่เราเห็นไอเดียนี้มันเด่นชัด มันแจ๋วมาก ตั้งแต่คนส่งมาแล้วว่า “นี่แหละ คือไอเดียของซอมบี้ไทย” ไอเดียของคนที่ชนะเรื่องซอมบี้นี้ดีมาก แต่การจะเดเวลอปให้เป็นผลสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้มันจะต้องใช้บุคลากรอีกหลายฝ่าย โชคดีที่ได้พี่อำ (อมราพร แผ่นดินทอง) เป็น Script Supervisor เค้าเอาอีกหลายเคมีลงมาหยอด รดน้ำจนมันสมบูรณ์ มันต้องมีการไล่ลำดับ จากจุดเริ่มต้นที่ดีมาก และระหว่างทาง”
ขณะที่คุณปัญชลีย์เสริมว่า ‘อีสานซอมบี้’ เป็นหนังที่เสพง่าย อยู่ในหมวดของหนังไทยทั่วไปที่ทุกเพศทุกวัยสามารถรับชมได้ และสิ่งที่ทีมผู้สร้างเพิ่มเติมเข้าไปคือความเป็นแก่นสาร ให้คุณค่ากับคนดูมากกว่าแค่ออกจากบ้านมานั่งหัวเราะ ดูเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่ดูแล้วจะรู้ว่าเราจะบอกอะไรบางอย่างกับสังคมผ่านการเล่าเรื่องด้วยความตลก
คุณปัญชลีย์กล่าวย้ำว่าภาพยนตร์ ‘อีสานซอมบี้’ และ ‘POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก’ เป็นโปรเจคต์ที่ทาง M39 ตั้งใจทำ และใส่ใจในทุกรายละเอียด แม้แต่นักแสดงสมทบก็ไม่มองข้าม
“มันเป็นหนังที่ได้รางวัลจากคนเป็นพัน ตัวแทนจากคนทั้งประเทศ เวลามาอยู่ในมือเราต้องใส่ใจรายละเอียดให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เวลาไปเสนอบทให้นักแสดง ไม่มีใครปฏิเสธเลย เพราะเค้าอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้”
“มันถึงเวลาที่เราจะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว อย่าไปด้อยค่าคนไม่มีประสบการณ์ เพราะบางครั้งไอเดียดี ๆ ได้มาจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ที่มองเห็นในสิ่งที่เรามองไม่เห็น ส่วนเราในฐานะทีมงานผู้มีประสบการณ์ก็มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้เค้าไปถึงตรงนั้นเพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปรู้สึกว่ามันมีทางไป มันมีทางเดิน ไม่งั้นวันหนึ่งหนังไทยจะไปตรงไหนถ้าไม่มีใครมาสานต่อสิ่งเหล่านี้
ถ้าไม่กล้า กลัวเจ๊ง ทำหนังอยู่ในเซฟโซนกันต่อไปแล้วมันไปไม่ถึงไหนพี่ว่าอย่าทำ อันนี้จากใจ แต่ถ้าทำแล้วก็ต้องมั่นใจในโปรเจคต์ที่ตัวเองทำ ต่อให้ผลลัพธ์ออกมามันจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้ากล้า ๆ กลัว ๆ ต้องทำแนวนี้แหละเดี๋ยวมันเจ๊ง ก็ไม่ต้องทำดีกว่า”
ปัญชลีย์ นิธิจิระโรจน์ Executive Producer บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด กล่าวปิดท้ายว่าภาพยนตร์สองเรื่องนี้เป็นการพิสูจน์เรื่องการทำหนังที่ออกนอกกรอบ ไม่ได้อยู่ในเซฟโซน ซึ่งต้องขอบคุณ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ผู้สนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ ‘อีสานซอมบี้’ และ ‘POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก’ ตลอดจนทุกฝ่ายที่ทุ่มเททำงาน ตั้งแต่นักเขียนที่ส่งพล็อตเข้าประกวด กรรมการที่คัดเลือกร่วมกัน ผู้กำกับ ผู้ร่วมพัฒนาบท ตลอดจนนักแสดงที่รับเล่นโดยไม่ลังเลใจ
“ถ้ามันสำเร็จ เราจะได้เห็นหนังไทยที่แปลกใหม่ สนุกสนานเพิ่มขึ้น ในมุมมองใหม่ ๆ ของการสร้างหนังไทย ฝากให้คนดูมาช่วยกันสนับสนุน อยากให้เปิดใจดู ในวันนี้มันเป็นเรื่องยากของหนังไทย แต่ต่อให้ยากแค่ไหน ไอเดียมันไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าเราจับมันถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา มันก็น่าจะไปต่อได้”
POSTMAN ไปรษณีย์ 4 โลก
จากแรงบันดาลใจที่ได้จากผลงานชนะเลิศการประกวด MAJOR’S WRITER CONTEST ครั้งที่ 2 “คุณเขียน เราสร้าง” สู่ภาพยนตร์ที่ก้าวออกจากเซฟโซนของหนังไทย
แนวภาพยนตร์ – ไซไฟ/ดราม่า
กำหนดฉาย – 31 สิงหาคม 2566
ผู้กำกับ - ตุ๋ย - พฤกษ์ เอมะรุจิ ผู้กำกับหนังร้อยล้าน เช่น ไบค์แมนฯ, อีเรียมซิ่ง, ใจฟู...สตอรี่, บัวผัน ฟันยับ ฯลฯ
นักแสดง – เป้ อารักษ์, เกรท สพล, ต้นหน ตันติเวชกุล, พลอยชมพู ญานนีน, มุก วรนิษฐ์, ญดา นริลญา, เบิร์ด บุญพงษ์ พานิช, เอี้ยง – สวนีย์ อุทุมมา
เรื่องย่อ – ชายคนหนึ่งมีชีวิตเวียนวนอยู่ใน 4 ยุคสมัย ทำให้เกิด 4 เรื่องเล่าที่ผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องราวของคนผู้ทำหน้าที่ส่งต่อ ส่งสาร ส่งความคิดถึง และส่งความสำคัญ ก่อเกิดความผูกพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีทั้งสุข เศร้า คลุกเคล้าความตลกร้าย แต่น่าประทับใจ