Prime Video ส่งคอนเทนต์ไทยออกสู่โลก ผ่านแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’
Prime Video ตอกย้ำจุดยืน มุ่งมั่นการลงทุนท้องถิ่น ผ่านแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’ ที่คัดสรรหนังดี ซีรีส์เด็ด คอนเสิร์ตสุดประทับใจของไทยเรามาให้ดูกัน 13 รายการ ต่อเนื่องกัน 13 สัปดาห์ สร้างโอกาสให้คอนเทนต์ไทยออกสู่สายตาชาวโลกในกว่า 240 ประเทศ
-
สัมภาษณ์พิเศษคุณไจตันยะ ดิวาน (Chaitanya Divan) ผู้จัดการอาวุโสฝ่าย Content acquisition ของ Prime Video ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-
ประกาศจุดยืน มุ่งมั่นการลงทุนกับผู้ผลิตท้องถิ่น ซึ่งของไทยคือแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’
-
เป็นการสร้างโอกาสให้คอนเทนต์ไทยออกสู่สายตาชาวโลกในกว่า 240 ประเทศ
-
เพิ่มการพากย์ไทยมากกว่า 70 รายการในไตรมาสแรกปี 2024
หนึ่งในกลยุทธ์ของผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งระดับโลกในการขยับขยายพื้นที่ให้บริการ เพิ่มจำนวนผู้ใช้ในแต่ละประเทศให้ได้มากขึ้นก็คือการจับมือกับ content provider ท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการฉายแบบ exclusive หรือร่วมลงทุนผลิต original content ที่น่าจะถูกจริต ต้องตามรสนิยมคนดูในประเทศนั้น ๆ ออกมา
แต่ด้วยความที่คอนเทนต์จากประเทศไทยเรายังไม่สามารถขายได้ทั่วโลกแบบเดียวกับภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลี ในแต่ละปีเราจึงเห็น original Thai content ที่ได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลกถูกผลิตออกมาในจำนวนไม่มากนัก
ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งระดับโลกรายล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยได้เพียงหนึ่งปีอย่าง Prime Video ประกาศเปิดตัวแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’ ที่มีการมัดรวมคอนเทนต์ไทยเอาไว้ถึง 13 เรื่อง เพื่อออกฉายเป็นเวลา 13 สัปดาห์ ระหว่างวันที่พฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม ยาวไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 จึงถือเป็นเรื่องที่ฮือฮา และน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่เนื้อหาจากประเทศไทยจะได้รับการเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลกในกว่า 240 ประเทศที่ Prime Video ให้บริการ
แต่ความยินดีดังกล่าวมาพร้อมกับข้อสงสัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’, ทำไม Prime Video ถึงทุ่มลงทุนกับคอนเทนต์ไทยในสเกลใหญ่ระดับนี้ เรื่อยไปจนถึงเรื่องความกล้าที่จะแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากแคมเปญนี้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดการณ์เอาไว้
‘กรุงเทพธุรกิจ’ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษคุณไจตันยะ ดิวาน (Chaitanya Divan) ผู้จัดการอาวุโสฝ่าย Content acquisition ของ Prime Video ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถให้คำตอบกับเราได้กระจ่างแจ้งดังต่อไปนี้
หนึ่งปีในประเทศไทย & ที่มาของ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’
“Prime Video เป็นบริษัทที่ customer obsess หมายถึง เราคลั่งไคล้ในผู้บริโภค เราไม่สนใจว่าคู่แข่งทำอะไร แต่เราสนใจว่าผู้บริโภคชอบอะไร เราใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคมีรสนิยมแบบไหน มีจริตอย่างไร ดังนั้น เราจึงเฟ้นหา และคัดสรรคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความชอบของผู้บริโภคไทยที่มีความหลากหลาย ซึ่งความหลากหลายในที่นี้คือ คนไทยมีหลายกลุ่ม มีความชอบแตกต่างกัน
ยกตัวอย่าง คอนเทนต์จากฮอลลีวู้ดที่คนไทยชอบ กระแสดีมาก ได้แก่ Red, White & Royal Blue, The Boys, The Ring of Power ล่าสุดคือ Gen V ที่เป็นสปินออฟ (ภาคขยาย) ของ The Boys ในขณะที่คอนเทนต์เกาหลี และแอนิเมะก็ได้รับความนิยมเช่นกัน”
คือคำตอบที่เราได้รับจากคุณไจตันยะ ดิวาน จากคำถามที่ว่า หลังจากให้บริการในประเทศไทยมาครบหนึ่งปี Prime Video พอจะจับแนวทาง และรสนิยมของผู้บริโภคชาวไทยได้มากน้อยแค่ไหน
ในส่วนของคอนเทนต์ท้องถิ่นนั้น คุณไจตันยะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน คนไทยชอบเสพคอนเทนต์ไทย ดังนั้น Prime Video จึงทำงานควบคู่กับผู้ผลิตคอนเทนต์ท้องถิ่นเพื่อสรรหารายการที่สามารถตอบโจทย์ความหลากหลายของกลุ่มผู้บริโภคไทยให้กว้างที่สุด มีทั้งคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ ซีรีส์ ละครไทย และนี่แหละคือที่มาที่ไปของแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’
“ถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่สามารถผลิตอะไรใหม่ ๆ ได้”
การลงทุนทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยง...แน่นอนว่าย่อมรวมถึงการลงทุนในคอนเทนต์ไทยของ Prime Video ด้วย
สำหรับเรื่องนี้นั้น คุณไจตันยะกล่าวว่า “เราอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดังนั้น เรื่องของการผลิตคอนเทนต์มันต้องมีความเสี่ยงอยู่แล้วว่าวิสัยทัศน์ของผู้ผลิตจะสอดคล้องหรือตรงกับที่คนดูต้องการหรือไม่ ดังนั้น เราต้องเสี่ยง เพราะถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่สามารถผลิตอะไรใหม่ ๆ ได้
แต่เวลาใช้กลยุทธ์แบบนี้ เราจะมองคนดูในประเทศนั้น ๆ ก่อน ซึ่งถ้าคอนเทนต์ท้องถิ่นสามารถไปดังในต่างประเทศได้ด้วยก็ถือเป็นผลพลอยได้ แต่เราจะมุ่งเน้นในเรื่องของความชอบของคนดูในประเทศนั้น ๆ ก่อน”
บรรยากาศงานเปิดตัวแคมเปญ 'แกะกล่องไทยบันเทิง'
เพิ่มการพากย์เสียงภาษาไทยกว่า 70 เรื่อง
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยคือการเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ที่มีการพากย์เสียงภาษาไทยให้มากขึ้น โดยคุณไจตันยะกล่าวว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา Prime Video สังเกตเห็นว่า “การ localize คอนเทนต์ต่างประเทศ” ด้วยการมีซับไทย และพากย์เสียงภาษาไทยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และสำคัญสุด ๆ
“ตอนที่เราเข้ามาใหม่ ๆ เรามีคอนเทนต์พากย์ไทยค่อนข้างน้อย แต่เราสังเกตเห็นว่าคอนเทนต์ต่างประเทศที่มีพากย์ไทยจะได้รับความนิยมอย่างสูง ดังนั้น สำหรับปีหน้า 2024 มั่นใจได้ว่าเมื่อไรที่เราปล่อยคอนเทนต์ต่างประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมจากคนไทย ก็จะต้องมีพากย์ไทยด้วยอย่างแน่นอน ตอนนี้ถ้าดูตัวเลขจะมีมากกว่า 70 เรื่องที่เราพร้อมพากย์ไทยในไตรมาสแรกปีหน้า”
พร้อมส่งคอนเทนต์ไทยตีตลาดต่างประเทศ
สำหรับแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’ นั้นด้วยความที่รสนิยมของผู้บริโภคชาวไทยค่อนข้างหลากหลาย ทำให้ทาง Prime Video ใช้เวลานานมากกว่าจะคัดเลือกได้ 13 เรื่อง และที่น่าสนใจคือมีการมองเผื่อไปด้วยว่า คอนเทนต์ไทยที่อยู่ในโครงการนี้มีศักยภาพที่จะไปตีตลาดต่างประเทศได้ด้วยหรือไม่
“Prime Video ดำเนินธุรกิจในกว่า 240 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นโอกาสอันดีมากที่จะส่งคอนเทนต์ไทยไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก ตัวอย่างเช่น Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า ภาพยนตร์ไทยที่มีบริบทเรื่องของแฟนเก่า ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มคน ทุกชนชาติ ทุกศาสนา ทุกวรรณะทั่วโลก แต่ว่ามันเป็นเรื่องราวไทย ๆ ที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย เช่น การแต่งงาน ประเพณี การเต้น ดังนั้นจึงมีศักยภาพที่จะเข้าถึงคนอินเดียอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศอินเดีย หรือกลุ่มคนอินเดียโพ้นทะเลที่มีอยู่ทั่วโลก”
Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า นำแสดงโดย เบลล่า-ราณี, ไบร์ท-วชิรวิชญ์
โดยคุณไจตันยะ ดิวาน (Chaitanya Divan) ผู้จัดการอาวุโสฝ่าย Content acquisition ของ Prime Video ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวปิดท้ายว่าพร้อมที่จะทำงานกับเครือข่าย Prime Video ในต่างประเทศเพื่อช่วยโปรโมทคอนเทนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่ง press release หรือถ้าเกิดเล็งเห็นว่าเรื่องไหนสมควรได้รับการสนับสนุนผ่านทางการตลาดก็จะผลักดันอย่างแน่นอน
‘แกะกล่องไทยบันเทิง’ 13 เรื่อง 13 สัปดาห์
แคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’ เป็นการรวบรวมภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ และคอนเสิร์ตสุดประทับใจของไทยจำนวน 13 รายการ มามอบความบันเทิงให้สมาชิกชาวไทยรับชมกันต่อเนื่องทั้ง 13 สัปดาห์ โดยจะสตรีมเนื้อหาใหม่ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคมยาวไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566
ประกอบด้วยภาพยนตร์ 6 เรื่อง ได้แก่ Ghost Rookie ผีมือใหม่, Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า, 3 Idiot Heroes ฮีโร่ต้มแซ่บ, The Adventure of Rung, Kitty the Killer (อีหนูอันตราย), The X-Treme Riders ปล้นทะลุไมล์
ซีรีส์ 2 เรื่อง ได้แก่ Coin Digger เกม สูญ เหรียญ และ Curse Code แช่งชักหักกระดูก
ละครจาก BEC Studios จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ The Office Games ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ และ My Undercover Chef มือปราบกระทะรั่ว
บันทึกการแสดงคอนเสิร์ต 2 รายการ ได้แก่ PP KRIT LIT & GLITTER และ Grammy x RS: 2K Celebration และ Grammy x RS: HIT 100
เรียงเนื้อหาตามลำดับการฉาย
-
Kitty the Killer (อีหนูอันตราย) รับชมได้วันที่ 5 ตุลาคม
-
PP KRIT LIT & GLITTER รับชมได้วันที่ 12 ตุลาคม
-
Ghost Rookie ผีมือใหม่ รับชมได้วันที่ 19 ตุลาคม
-
Grammy x RS: 2K Celebration รับชมได้วันที่ 26 ตุลาคม
-
Coin Digger เกม สูญ เหรียญ รับชมได้วันที่ 2 พฤศจิกายน
-
The X-Treme Riders ปล้นทะลุไมล์ รับชมได้วันที่ 9 พฤศจิกายน
-
The Office Games ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ รับชมได้วันที่ 16 พฤศจิกายน
-
Congrats My Ex! ลุ้นรักป่วน ก๊วนแฟนเก่า รับชมได้วันที่ 23 พฤศจิกายน
-
3 Idiot Heroes ฮีโร่ต้มแซ่บ รับชมได้วันที่ 30 พฤศจิกายน
-
Curse Code แช่งชักหักกระดูก รับชมได้วันที่ 7 ธันวาคม
-
คอนเสิร์ต Grammy x RS: HIT 100 รับชมได้วันที่ 14 ธันวาคม
-
My Undercover Chef มือปราบกระทะรั่ว รับชมได้วันที่ 21 ธันวาคม
-
The Adventure of Rung รับชมได้วันที่ 28 ธันวาคม
เต้ย - จรินทร์พร และ เต๋อ ฉันทวิชช์ จาก My Undercover Chef มือปราบกระทะรั่ว
ญดา – นริลญา, แบงค์ – ธิติ และ กัปตัน – ชลธร จาก Coin Digger เกม สูญ เหรียญ
ช่วงพูดคุยกับพันธมิตร Session 3_คอนเสิร์ตและ ภาพยนตร์
พีช - พชร จาก Curse Code แช่งชักหักกระดูก และ ราชวิน นฤหล้า ผู้บริหาร บริษัท Benetone Films จำกัด
พีพี กฤษฏ์ จาก PP KRIT LIT _ GLITTER ส่งคลิปพิเศษมาทักทายสื่อมวลชนและแขกผู้ร่วมงาน
มิ้น - ชาลิดา จาก The Office Games ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ และ เต้ย - จรินทร์พร จาก My Undercover Chef มือปราบกระทะรั่ว