‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

กว่าจะมาเป็นนักเขียนนวนิยายโด่งดังนามว่า 'โบตั๋น' ผู้ซึ่งมีผลงานระดับนานาชาติ ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ มีชีวิตแทบไม่ต่างอะไรจากนวนิยายเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

โบตั๋น หรือ สุภา สิริสิงห ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2542 นักเขียนนวนิยายที่มีผลงานนับร้อยเรื่อง ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2512 จากองค์การ ส.ป.อ. (องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด, ตะวันชิงพลบ, บัวแล้งน้ำ, ทองเนื้อเก้า, สุดแต่ใจจะไขว่คว้า, กว่าจะรู้เดียงสา, สัมปทานหัวใจ, ทิพย์ดุริยางค์, ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก, ไผ่ต้องลม, เกิดแต่ตม, ตราไว้ในดวงจิต, นวลนางข้างเขียง, บ้านสอยดาว, เหยื่อ, เพรงกรรม, ปลายฝนต้นหนาว ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 

หลายเรื่องถูกนำไปผลิตเป็นละครและภาพยนตร์ หลายเรื่องเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ล่าสุด ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะประจำปี 2566 จากมูลนิธิอมตะ

ได้มาพบปะกับนักอ่านในงานเสวนา โบตั๋น กับเส้นทางสู่นักเขียนอมตะ วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ณ โถงนิทรรศการ ชั้น 1 หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ดำเนินรายการโดย ไม้-นวกรณ์ พูลพร (mye bluedock) 

 

  • ชีวิตของเด็กบ้านสวน 

ฝั่งธนบุรี ในอดีตเต็มไปด้วยสวนต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ บ้านของโบตั๋น

"ดิฉันเป็นคนธนบุรี ต.บางจาก อ.ภาษีเจริญ สมัยก่อนถ้าจะไปบางแวก ไปพาณิชยการธนบุรี ต้องนั่งเรือหางยาวไปลงที่ตลาดพลูหรือบางไผ่ 

จ.ธนบุรี เพิ่งมารวมกับกรุงเทพฯปีพ.ศ. 2515 ดิฉันช็อคและโกรธมาก เมืองหลวงเก่าของพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่ ๆ มากลายเป็นอำเภออะไรก็ไม่รู้ ฝั่งกรุงเทพฯกับฝั่งธนบุรีไม่เหมือนกัน การทำสวนก็ไม่เหมือนกัน คนฝั่งธนบุรีทำสวนต้องยกร่อง

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

Cr. Kanok Shokjaratkul

เป็นคนมีพี่น้องเยอะ แต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ชีวิตวัยเด็กอยู่ในสวน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีทีวี จักรยานก็ใช้ไม่ได้เพราะว่าซอยโบราณ เขาเอาหินแผ่นวางเฉย ๆ ขี่ไปก็ตกร่องระหว่างหินที่กว้างหนึ่งคืบ เด็กเล็กยังก้าวข้ามไม่ได้

พ่อแม่ตื่นตี 1-2 ไปส่งพลูส่งมะพร้าวที่ตลาดพลู ตอน 5 ขวบแม่พาไปฝากให้ครูรับเข้าเรียนชั้นมูล สมัยนั้นเขารับเด็ก 6 ขวบ แต่เราไม่มีใครพาไปโรงเรียนก็ต้องไปฝากไว้ก่อน

สมัยก่อน มีประถมแค่ 4 ปี มีหนังสือให้อ่านเยอะมาก อุดมเด็กดี, นิทานร้อยบรรทัด, การ์ตูนตุ๊กตา, นิทานประชาช่าง เราเรียนหนังสือ ตกวิทยาศาสตร์ทุกวิชา ดาราศาสตร์ แสง สี เสียง ได้ไม่เกิน 20 คะแนน

สมัยนั้นเขารวมหมวด เอามารวมกันถ้าเกิน 50 ถือว่าผ่าน เราได้ 53 วิชาอื่นได้ 95 ทั้งหมด จากนั้นไปสอบเข้าอักษรศาสตร์ จุฬาฯได้ อาจารย์ก็มองหน้า เธอได้แน่เหรอ

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

เริ่มเขียนหนังสือตอนเรียนอยู่ปี 3 พ.ศ.2507 เริ่มด้วยเรื่องสั้น เรื่องแปล เราฟังละครวิทยุ แล้วโมโห ทำไมพระเอกโง่จัง นางเอกก็แสนดี เพียบพร้อม ยอมไปหมด เข้าใจผิดตลอดเวลา ไม่มีปัญญาแก้ปัญหา

พระเอกลากไปทารุณ ถูกเขาใช้ยิ่งกว่าคนใช้ อย่างเรื่อง จำเลยรัก ไม่รู้รักเข้าไปได้ยังไง แล้วเราก็ไม่ได้เป็นคนผิดด้วย ขัดใจมาก

เราเขียนเรื่อง น้ำใจ, รุ้งสีชมพู เป็นสาวสวยน่ารัก มีผู้ใหญ่มาชอบ แต่สาวเจ้าดันชอบลูกชาย ไม่ได้ชอบพ่อ นางเอกของเราแตกต่างจากยุคนั้นมาก เป็นคนประเภทสู้ตาย สู้ไม่ไหวก็หนี

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

อย่างเรื่องบุญรอด ก็วิ่งเอามีดอีโต้ไล่ฟันผู้หญิงเมียเช่าที่มาจีบผู้ชายของตัว แล้วขู่สามีด้วย มีฉันห้ามมีคนอื่น ค่อนข้างแหวกแนวในยุคนั้น

พอเรียนจบไปทำงาน 7-8 อาชีพ อยู่ได้แห่งละไม่กี่เดือน เป็นครูร.ร.เอกชน สอนภาษาไทย ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง อาทิตย์หนึ่ง 35 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงยัน 5 โมงเย็น ไม่มีชั่วโมงว่าง เป็นครูอยู่เทอมหนึ่ง ก็ไปเป็นเลขาผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศสอยู่ที่การพลังงานแห่งชาติ อยู่ 2 ปี

ไปเป็นไกด์ลงเรือ เรือวิ่งผ่านหน้าบ้านยาย มีคนมาฟ้องเตี่ยว่า "ลูกสาวเองไปทำอะไรกับฝรั่ง" เขาตอบว่า "ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ไปทำงานบริษัททัวร์" ในเรือนั้นมีผู้หญิงตั้ง 3 คน ไม่ใช่เราคนเดียว มีไกด์ มีเราเป็นเด็กฝึกหัด ทำอยู่ครึ่งปี ไปทำงานแปลที่บริษัทฝรั่ง เป็นสำนักข่าว อยู่ครึ่งปี งานเขียนก็ยังเขียนอยู่"

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ชีวิตจริง ไม่มีเส้นทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ 

ความจำเป็นในชีวิตทำให้ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ  นอกจากแรงกายแรงใจและความอดทน

"เราตื่นตั้งแต่ยังไม่ 6 โมงเช้า หาอะไรกินเองทุกอย่าง ไม่มีใครทำให้ เขาไปตลาดกันหมด คนที่อยู่บ้าน คือ แม่ 3 วันดี 4 วันไข้ เราต้องทำให้เขา ไม่ใช่เขาทำให้เรา ทำอะไรเสร็จสรรพ 6 โมงออกจากบ้าน

ตอนเรียนชั้นมัธยม เช้าเดิน 3 กิโล เย็นเดิน 3 กิโล ตอนเป็นเลขาขึ้นรถเมล์ 2 ทอดไปลงคลองหก แล้วเดินข้ามพระรามหกเข้าไปในการไฟฟ้ายันฮี เดินต่อไปจนถึงสำนักช่างไฟฟ้าที่อยู่ท้ายสุด ริมรั้วอีกเกือบกิโล

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

ตอนเรียนที่จุฬาฯ นิสิตคนอื่นที่บ้านไกลจะย้ายไปอยู่หอกันหมด เราไม่มีตังค์ ใช้อาทิตย์ละ 8 บาท รถเมล์ 2 ทอด บางวันก็ไปกินข้าวแกงร้านประชาสงเคราะห์จานละบาท

โรงอาหารถูกสุดก็ 6 สลึง ข้าวผัดไส้ไก่ ไม่ใช่เครื่องในนะ จำได้ เพราะกินทุกวัน ถ้าเอากับข้าว 2 อย่างก็ 2 บาท ถามว่าอยู่ได้ไหม ได้ อดอยากหรือเปล่า ก็ไม่ได้อด เหนื่อยไหม เหนื่อย"

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ความเป็นมาของนามปากกาว่า โบตั๋น

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มเขียนหนังสือ เริ่มมีรายได้ ก็ต้องคิดชื่อนามปากกา

"เตี่ยเป็นคนจีน ถ้าอยู่บ้าน ต้องพูดภาษาจีน (แต้จิ๋ว) ไม่อย่างนั้นจะโดนด่าเป็นพวกลืมกำพืด เตี่ยเป็นคนโผวเล้ง ดอกโบตั๋นเดิมอยู่ที่โผวเล้ง 

โบตั๋น เป็นดอกไม้ประจำเมืองลั่วหยาง ดอกไม้ประจำองค์บูเช็กเทียน เราชอบบูเช็กเทียน ปรับปรุงบ้านเมืองและเก่งทุกอย่าง  

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

ประวัติความเป็นมาของดอกโบตั๋น มีว่า เทพธิดา 2องค์ถูกไล่ให้มาจุติในโลกมนุษย์ ลงมาเป็นดอกไม้แปลงร่างเป็นผู้หญิงได้ พอมีสามีก็ไปอยู่ที่เมืองลั่วหยาง สามีสงสัยเมียเรามาจากไหน พ่อแม่ไม่มีบ้านช่องไม่มี

ก็ตอบว่า "เธอเคลือบแคลงฉันแล้ว ฉันจะไปแล้ว" ทั้งสองมีลูกคนละคน ก็โยนลูกตัวเองลงพื้นดิน กลายเป็นดอกโบตั๋น เป็นดอกไม้ประจำเมือง แล้วบูเช็กเทียนก็เลือกเมืองนี้เป็นเมืองหลวง กลายเป็นดอกไม้ที่มีชื่อเสียง"

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ชีวิตนักเขียน ต้องมีหลายนามปากกา 

ความบันเทิงในอดีต มีน้อยกว่าในปัจจุบัน สิ่งนั้นคือ การอ่านหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ

"เรามี 3 นามปากกา ปิยตา, ปิยตา วนนันทน์, ส. ลือสิริ สำนักพิมพ์บางแห่งเขาหวงนามปากกา ถ้าดังที่เขาแล้วห้ามไปใช้ที่อื่น เราก็ต้องตั้งใหม่ ตอนทำหนังสือเด็ก สำนวนภาษาก็ต่างกัน

ช่วงหลัง ทำหนังสือเด็ก ทำสำนักพิมพ์ มันเหนื่อย แล้วยังต้องมานั่งเขียนนิยายอีก ไม่เคยมีวันหยุด เพิ่งจะรู้จักมีวันหยุดก็ตอนที่เป็นอัมพฤกษ์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เมื่อก่อนเราทำงานหนัก ตื่นแต่เช้าไปทำงานให้ทัน 8 โมง เย็นยังไปนั่งทำภาคเด็กที่สตรีสารต่อ"

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • จุดเริ่มต้นของนวนิยายเรื่องแรก เพราะอยากดัง

หลังจากเลิกอาชีพไกด์ ไปทำงานแปล การสอนหนังสือ หรือทำงานต่าง ๆ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น 

"สอนหนังสือ 6 ห้อง ต้องร้องกาพย์เห่เรือ ห้องแรกพอทน ห้องที่สองชักเบื่อละ ห้องที่ 3-4 กว่าจะหมดอาทิตย์ตั้ง 6 ห้อง ฉันเห่เรือจนเห่ไม่มีแล้ว ก็เลยมาเขียนหนังสือเรื่องแรก น้ำใจ

แต่เรื่องที่ทำให้คนรู้จักมาจาก จดหมายจากเมืองไทย ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นด้วย ล่าสุดเป็นภาษาฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นเป็นภาษารัสเซีย

เราใช้กลวิธีดำเนินเรื่องรูปแบบจดหมาย เพราะตัวละครต้องแสดงความในใจออกมาให้มากที่สุด ไม่สามารถไว้ใจลูก เมีย น้องเมีย คนใช้ ได้เลย เพราะคนเหล่านี้เกิดเมืองไทย

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

ความรู้สึกเกี่ยวกับประเพณีของคนจีนมันน้อยลงมากแล้ว ตอนทะเลาะกับลูกชายคนโต เพราะช่องว่างระหว่างวัย แต่เขากับแม่ไม่มี เป็นจีนแท้ ๆ ร้อยเปอร์เซนต์ทั้งตำบล ความรู้สึกที่จะระบายสิ่งที่คับข้องใจให้คนอื่นฟังมันเป็นไปไม่ได้ ต้องเขียนถึงแม่

ปกติจะเขียนแบบร้อยแก้ว สรรพนามบุรุษที่สาม นาน ๆ จะเห็นนิยายที่ใช้ตัวเองเล่า สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ซึ่งอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเราคิดเหมือนตัวละครในเรื่อง ซึ่งมันไม่ใช่

บุคลิกเรากับพระเอกเรื่องจดหมายจากเมืองไทยมันต่างกันฟ้ากับเหวเลย มีคนว่าเรามีบุคลิกเหมือนลูกสาวคนเล็กของตันส่วงอู๋ ก็ไม่ใช่อีก

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

ฉันไม่พูดมากอย่างนั้น ฉันปิดเงียบ เป็นคนเก็บกด พ่อแม่ไม่เข้าใจเพราะเป็นชาวสวน เราไปผจญอยู่ข้างนอก อยู่กับนักศึกษาที่เป็นลูกพระยา ลูกผู้ว่าแบงค์ชาติ หม่อมเจ้า

ใช้จดหมายมันระบายได้ร้อยเปอร์เซนต์ กลวิธีนี้ดี นินทาพ่อแม่ พ่อแม่ยังไม่รู้เลย แล้วในเรื่องนี้ผู้รับไม่ตอบด้วย เขาก็ยิ่งไปเรื่อย ๆ

เคยมีคนสงสัยว่าตาแป๊ะเยาวราชที่ไหนมาเขียนให้ เขาคิดว่าผู้ชายเขียนทั้งนั้น ไม่คิดว่าจะเป็นผู้หญิง ปากร้ายใจกล้าขนาดนี้ เพราะผู้หญิงต้องเรียบร้อยสุภาพอ่อนหวาน

เสียงสะท้อนมีทั้งชม มีทั้งด่า บางคนทำเอาเราอึ้งเลย เขาไล่เราเลย เราเลยหยุดอ่านวิจารณ์ทั้งหมด เพราะทำให้ฟุ้งซ่าน แล้วเรื่องเราเขวด้วย

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

มีคนทักมากับบก.ว่าเรื่องเราเพลาลงหลังจากถูกด่าเยอะใช่ไหม ไม่จริง เพราะทุกคนต้องส่งเรื่องล่วงหน้า แล้วต้องมีเรื่องย่อให้ว่าเราจะเขียนเรื่องทำนองนี้นะ ไม่ไปซ้ำกับใครเข้านะ ให้บก.กรองก่อน

ส่วนเรื่องสำนวนภาษาไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ถ้าผ่านคุณนิลวรรณ ปิ่นทองได้ ก็คือผ่าน ซึ่งไม่ได้ผ่านเฉพาะสตรีสาร แต่ผ่านสังคมนักอ่านด้วย เพราะคนเชื่อถือบก.คนนี้มาก

มีโดนบก.ด่าบ้าง โดยมากท่านจะบอกแต่เพียงว่าตรงนี้ ๆ ไม่สมควร อย่างเรื่อง เหยื่อ เด็กปิดเทอม ดูหนังโป๊ แล้วมาทำกับคนใช้ เอาไปฝังในบ่อน้ำ เขาก็ไม่อยากให้เขียนแนวนี้ คนอ่านบอกว่ามันโหด

เราเป็นคนเขียนเรื่องดาร์ค จะว่าเศร้าก็ไม่ใช่ เพราะตัวเอกสู้แล้วก็ชนะ แต่ก็มีบางเรื่องที่แพ้ เราเป็นนักเขียนหญิงคนเดียวที่มีผู้ชายต่อแถวให้เซ็นชื่อมากที่สุด"

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีผลงานที่นักอ่านชื่นชอบ 

นวนิยายหลายเรื่องได้รับความนิยมมาก มีการนำไปผลิตเป็นละครและภาพยนตร์

"เรื่องแรกที่ทำละคร ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด เราไปเห็นผู้หญิงคนหนึ่งมีสามีฝรั่ง เขาช่วยญาติด้วยวิธีให้งานทำ ตั้งโรงกลึงให้ แต่ไม่ยอมให้เงิน ก็ถูกบ่นว่า ผัวรวย เป็นช่างซ่อมเรือบิน คงมีตังค์เยอะ เธออยู่กับฝรั่งมาตั้งแต่อายุ15-16 ก็ไม่อุปถัมภ์เอื้อเฟื้อในเรื่องที่เหลวไหล เช่น แต่งงานต้องโก้ โห่ฮิ้วให้สนุก

การเอานิยายไปทำละครแล้วเปลี่ยนโครงสร้าง เส้นเรื่อง ก็ไม่ค่อยชอบ แต่ขี้เกียจไปทะเลาะกับเขา ถ้าเปลี่ยนนิด ๆ หน่อย ๆ เราไม่รู้สึกอะไรหรอก ขอให้หัวใจของเรื่องยังอยู่

อย่างเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ถ้าไปปรับตอนพ่อขัดแย้งกับลูกสาวลูกเขย หรือ เอาออกไป เรื่องก็หมดความหมายเลย มันเป็นช่องว่างระหว่างวัยกับประเพณี 

การตั้งชื่อเรื่อง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ต้องสอบถามคนรู้จัก หาข้อมูลขนาดนั้นก็ยังเคยพลาด เพรงกรรม ที่แปลว่ากรรมเก่า ชื่อไปซ้ำกับเรื่องแปลของนักแปลชื่อดัง"

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ความประทับใจส่วนตัว ที่อยากเปิดเผย

เขียนนิยายมาตั้งหลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป 

"เรื่องที่รักที่สุด ความสมหวังของแก้ว เป็นเรื่องสั้นนิดเดียว แต่เรารู้สึกสะใจ ส่วนใหญ่คนจะอ่านเพราะมันเป็นหนังสือนอกเวลาของมัธยมต้น

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

เรื่องที่ท้าทายที่สุด อยากเขียนมาก ยากที่สุด คือ รอยอดีต ทำเป็นละครด้วย ผู้ร้ายเป็นเด็กอายุ 12 พิการ แต่มีสมองอัจฉริยะ เราไม่เป็นคอมพิวเตอร์เลย แต่เราเขียนให้เขาเป็นนักเขียนโปรแกรม

เรื่องแรกที่ใช้นามปากกาว่าโบตั๋น คือ น้ำใจ

เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองมากที่สุด คือ แวววัน 

เป็นนักเขียนนิยายในยุคนั้นที่มีคนกล่าวว่าทันสมัยที่สุดเพราะใช้เครื่องพิมพ์ดีด ขณะที่นักเขียนคนอื่นเขียนเป็นลายมือ วิธีการคือ เข้าห้อง ปิดประตู แล้วก็พิมพ์เลย ถ้าผิดก็ฉีกทิ้งไปเลย ไม่มีการร่าง 

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

พิมพ์จนเจ็บหน้าอก ตัวอักษรบางตัวอยู่ชั้นบน บางตัวอยู่ชั้นล่าง ต้องกดตลอดเวลา ทำให้เป็นโรคเอ็นข้อมืออักเสบ ต้องไปผ่าตัด แซะเอ็นออกไม่ให้มันปวด

เรื่องสุดท้ายที่เขียนคือ เดนมนุษย์ ปี พ.ศ. 2563 เป็นพวกที่หลงตัวเองว่ามีเชื้อเจ้าแล้วพยายามจะกู้ชาติกู้แผ่นดิน เราไม่เอ่ยเรื่องเชื้อชาติเลย เพราะถ้าเอ่ยขึ้นมาเดี๋ยวเป็นเรื่อง

เราจะเขียนเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว เกี่ยวกับประเพณีจีน แต่มีบางเล่มเขียนผิดด้วย อย่าง จดหมายจากเมืองไทย ผิดตั้งแต่หน้าแรกเลย บอกว่าไปเจอสุสานที่เซียงไฮ้ มันคนละทิศเลย ต้องซัวเถา

‘โบตั๋น’ ชีวิตนักเขียน ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ Cr. Kanok Shokjaratkul

มารู้ตอนแปลเป็นภาษาอังกฤษ คนแปลเป็นฝรั่งอเมริกัน ถามมาว่าทำไมไปลงเซียงไฮ้ ๆ อยู่เหนือกว่าซัวเถาตั้งเยอะแยะ ก็ไม่แก้ ใครบอกว่าผิดก็ยอมรับ จะแก้ทำไมฉันเขียนตอนอายุ 22 ผิดก็คือผิด

แล้วมีเรื่อง รุ้งสีชมพู พระอาทิตย์ตกผิดทิศ พระเอกไปนั่งวาดรูปตอนค่ำอยู่ที่หัวหิน มันต้องตอนเช้า ก็ผิดจริง ๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร เขียนตอนอายุ 19 ยังไม่เคยไปหัวหินเลย

สำหรับใครที่อยากเป็น นักเขียน คุณสมบัติอย่างแรก ต้องอ่านก่อน อ่านจากอะไรก็ได้ไม่ว่า ที่สำคัญคือ ถ้าอยากเขียนก็เขียนเลย ไม่ต้องไปรอ เขียนไปก่อน แล้วก็เอาไปลงเว็บ ถ้าเรากล้าสักอย่าง ก็เขียนได้"