‘อ่อม-นอยด์-จะเครซี่-ทำถึง-โฮ่ง’ แปลว่าอะไร ใครเป็นคนคิด?
รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์! เปิดความหมาย “อ่อม” “นอยด์” “จะเครซี่” “ทำถึง” และ “โฮ่ง” คำศัพท์ใหม่สุดฮิตในโลกออนไลน์ รับปี 2567
“คำศัพท์” ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน เปิดมาปี 2567 มาไม่พ้นเดือน มีศัพท์ฮิตที่เห็นกันเต็มหน้าฟีดทั้ง “อ่อม” “นอยด์” “จะเครซี่” “ทำถึง” และ “โฮ่ง” มาให้เรียนรู้กันอีกแล้ว ให้สมกับความรุ่มรวยทางภาษา และ พูดไปเรื่อยของคนไทย ทำเอาหลายคนงงว่าแปลว่าอะไร มาจากไหน ทำไมอยู่ ๆ คนถึงเอามาพูดกันมากมาย กรุงเทพธุรกิจหาคำตอบมาให้แล้ว
- โฮ่ง หรือ เอาให้โฮ่ง
ในระยะหลังคำศัพท์ฮิตที่ใช้กันในโลกโซเชียล มักเป็นคำศัพท์จากที่คิดค้นและใช้กันในกลุ่ม LGBTQ+ หรือที่เรียกว่า “ศัพท์กะเทย” ก่อนจะแพร่กระจายสู่คนทั่วไป จากการเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะคำศัพท์จาก “แก๊งหิ้วหวี” กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์มีชื่อเสียงอย่างมากในปัจจุบัน
เนื่องด้วยคอนเทนต์ของแก๊งหิ้วหวีเป็นคอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์ทำให้มีการนำคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถ่ายทอดลงมาในคลิปด้วย ซึ่งหลายคำก็เป็นที่โดนใจของผู้ชม เนื่องจากใช้แสดงอารมณ์ได้อย่างถึงใจ จึงนำไปใช้ต่อบ้าง จนกลายเป็นที่แพร่หลายในที่สุด
หนึ่งในศัพท์ฮิตของคำที่ใช้อย่างมากในปี 2567 นี้คือ “เอาให้โฮ่ง” ซึ่ง “มิกซ์ เฉลิมศรี” สมาชิกแก๊งหิ้วหวีได้แปลความหมายของคำนี้ว่า ขอแบบเริ่ด ๆ โดยสามารถนำคำว่า “โฮ่ง” ไปใช้เป็นคำวิเศษณ์ขยายคำนาม กริยาได้ด้วย ซึ่งจะแปลว่า เริ่ด ดี จึ้ง เป็นความหมายบวก ไม่ได้แปลว่าเหมือนหมาแบบที่หลายคนเข้าใจ เมื่อได้ยินคำนี้ครั้งแรก
ทั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าคำนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมต้องเป็นโฮ่ง
- อ่อม หรือ แกงอ่อม
อย่างไรก็ตามหลายคำที่ถูกนำมาใช้ เพราะอย่าง “อ่อม” และ “นอยด์” ก็เป็นคำเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุค 2000 ด้วยซ้ำ โดยหลักฐานที่เก่าที่สุดที่พอจะหาได้จากอินเทอร์เน็ตคือกระทู้ ศัพท์ใหม่กะเทย ที่คุณอาจยังไม่รู้ ภาค 2 ที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีทั้งคำว่าอ่อมและนอยด์
ในกระทู้ดังกล่าวได้ให้ความหมายของคำว่าอ่อมไว้ว่า กร่อย ไม่เลิศ ไม่เพอร์เฟค โดยสันนิษฐานว่าเพี้ยนเสียงมาจากการพูดคำว่า “เอิ่ม” ซึ่งยังคงเป็นความหมายเดียวกันกับใช้ในปัจจุบัน แต่มีการพัฒนารูปแบบคำศัพท์เพิ่มเติมเป็น “แกงอ่อม” อาหารที่คนไทยคุ้นเคยด้วย
คำสำหรับคำว่าอ่อม มักพบเห็นได้บ่อยในการพูดถึงโชว์ เพลง หรือ มิวสิกวิดีโอของศิลปินต่าง ๆ
- นอยด์
“นอยด์” เป็นคำย่อมาจากคำว่า “พารานอยด์” (Paranoid) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติทางความคิด ถือเป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง โดยผู้ที่มีอาการนี้จะรู้สึกหวาดระแวงผู้อื่นโดยไม่มีสาเหตุ ไม่มีเหตุผล อาจจะรู้สึกว่ามีคนจะมาทำร้าย คิดไม่มี ทำให้รู้สึกกลัวจนใช้ชีวิตได้ยาก ซึ่งคำนี้เข้ามาในไทยครั้งแรกในช่วงกลางยุค 2000 โดยวง Nologo ของโดม ปกรณ์ ลัมได้นำคำนี้ไปแต่งเป็นเพลงใช้ชื่อว่า “Paranoid” เป็นช่วงเดียวกับที่คนนำคำว่า “นอยด์” มาใช้สื่อถึงความรู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ น้อยใจ
คำว่านอยด์ยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยกลับมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปี 2566 จากคลิปวล็อกวีคของ “ฟลุ๊คกะล่อน” กับวลีที่ว่า “นอยด์อะคุณน้า” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นคำลงท้าย คำติดปาก ไม่ได้รู้สึกนอยด์แต่อย่างใด
- จะเครซี่
ไม่เพียงแต่ นอยด์จะโด่งดังมาจากฟลุ๊คกะล่อนเท่านั้น แต่ฟลุ๊คกะล่อนยังได้ผลิตศัพท์ฮิตไว้อีกหลายคำ หนึ่งในนั้นคือ “กูจะเครซี่” ซึ่งหมายถึง จะบ้า เพราะเหนื่อยใจกับเพื่อน ปรากฏครั้งแรกในวล็อกวีคของฟลุ๊ค เป็นช่วงที่ ตูน หิ้วหวีกล่าวว่าตอนนี้โสดแล้ว ฟลุ๊คเลยตอบกลับพร้อมทำหน้าเหนื่อยใจเอือมระอาว่า “วีคหนึ่งโสด วีคหนึ่งรัก กูจะเครซี่” ซึ่งเป็นที่ถูกใจชาวเน็ตและนำมาใช้ต่อกันอย่างแพร่หลาย
ขณะที่ มิกซ์ เฉลิมศรี ก็มีการใช้คำว่า “กูจะบ้า” ซึ่งเป็นคำที่คล้ายกับกูจะเครซี่ โดยใช้เป็นประโยค ปิดการสนทนา เวลาที่เมาท์คนอื่น หรือพูดออกมาแล้วถูกใจ ปิดจบประโยคให้สวย ให้รู้ว่าเราอินเรื่องที่พูด หรือ เป็นอะไรที่มันเริ่ดเกินคาด
- ทำถึง
อีกหนึ่งคำที่มาแรงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 คือคำว่า “ทำถึง” แปลว่า ทำได้ดี ทำได้เหนือความคาดหมาย เปรียบได้กับคำว่าถึงเครื่อง ถึงแก่น อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคำนี้มีที่มาอย่างไร และใครเป็นคนเริ่มใช้
“คำศัพท์” อาจจะเปรียบได้กับ “แฟชั่น” ที่อาจจะนำของเก่ากลับมาใช้ในกระแสจนกลายเป็นเทรนด์อีกครั้ง แต่ก็ยังมีสิ่งใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้เสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากจะรู้สึกตามไม่ทันและไม่รู้ความหมาย เพราะคำศัพท์เหล่านี้ต่างถูกสร้างมาเพื่อใช้ในกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าภาษานั้นยังคงมีคนใช้งานอยู่