TRIANGLE OF SADNESS เทศกาลภาพยนตร์นอร์ดิก 2024 l หนังเล่าโลก
โบราณท่านว่า “คู่กันแล้วไม่แคล้วกัน” คำกล่าวนี้ปรับใช้กับการดูภาพยนตร์ได้เช่นเดียวกันเดือน พ.ย.2565 หนังเล่าโลกตั้งใจจะไปดูภาพยนตร์สวีเดนเรื่อง Triangle of Sadness ตอนลงโรงในกรุงเทพฯ แต่ก็พลาดไป สุดท้ายได้มาดูในงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์นอร์ดิก 2024 เมื่อวันก่อน แม้อาจจะช้าแต่ยังไม่สายหากจะนำมาพูดถึง
Triangle of Sadness ผลงานการกำกับของ รูเบน ออสต์ลุนด์ (Ruben Östlund) ผู้กำกับชาวสวีเดน คว้ารางวัลปาล์มทองคำในปี 2022 จำได้ว่าตอนเห็นใบปิดและโพสต์โปรโมตตามโซเชียลมีเดียเป็นภาพเรือสำราญและชีวิตหรูหราของเหล่าอภิมหาเศรษฐี แต่พอไปดูจริงตอนแรกออกจะงง เมื่อหนังเปิดเรื่องที่ฉากการคัดเลือกนายแบบห่างไกลจากเรือสำราญหลายขุม เอ๊ะ! หรือเราจำเรื่องผิด นั่งดูไปสักพักจึงเข้าใจว่านั่นเป็นการปูพื้นตัวละครเพื่อนำไปสู่เรื่องราวเข้มข้นในลำดับต่อมา เมื่อคาร์ลกับยาย่า คู่รักหนุ่มหล่อสาวสวยระดับนายแบบนางแบบได้ไปล่องเรือสำราญแบบฟรีๆ แลกกับการรีวิวสไตล์การพักผ่อนเลิศหรูของเหล่าอภิมหาเศรษฐี
เรือสำราญประกอบด้วยคนสามชนชั้น ถ้าเปรียบเป็นปิระมิดชั้นบนสุดที่มีจำนวนคนน้อยที่สุดคือลูกค้าผู้มั่งคั่งชนิดชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ รองลงมาคือเหล่าลูกเรือที่ทำหน้าที่บริการอย่างสุดฝีมือ เพื่อความประทับใจของลูกค้าอันจะนำมาซึ่งทิปงามๆ และชนชั้นล่างคือพนักงานผู้ใช้แรงงานบนเรือ เช่น แม่บ้านทำความสะอาด พนักงานครัว ช่างยนต์ คนทั้งสามชนชั้นล้วนมีเครื่องแบบของพวกเขาเอง ลูกค้าแต่งกายน้อยชิ้นเพราะมาพักผ่อน พนักงานบริการแต่งเครื่องแบบสวมเสื้อขาวสะอาดสะอ้าน ส่วนชนชั้นล่างสุดใส่เครื่องแบบสีเข้มเพื่อไม่ให้สกปรกง่าย น่าสังเกตว่า เศรษฐีมีเครื่องแบบโดยไม่จำเป็นต้องสวมเครื่องแบบ ไลฟ์สไตล์เป็นตัวบ่งบอกว่าพวกเขาเป็นใคร
จุดหักเหเกิดขึ้นเมื่อเรือเผชิญพายุและถูกโจรสลัดปล้นปาระเบิดเข้าใส่ ผู้คนบางส่วนเสียชีวิตรวมทั้งกัปตัน ที่เหลือนั่งแพยางไปติดเกาะร้าง ณ ที่แห่งนี้โครงสร้างชนชั้นถูกเขย่าอย่างรุนแรงเปรียบได้กับการปฏิวัติ อำนาจนำจากเงินตราใช้ไม่ได้อีกต่อไป ความสามารถในการเอาตัวรอดต่างหากที่สำคัญ และถ้าความสามารถนั้นนำไปดูแลชีวิตผู้อื่นได้ด้วยคุณจึงจะกลายเป็นผู้มีอำนาจ ในสถานการณ์นี้เหล่าลูกค้าผู้ดีมีเงินได้แต่นั่งตาปริบๆ ทำอะไรไม่เป็นเลยสักอย่าง แม่บ้านหัวหน้าฝ่ายดูแลห้องสุขากลายเป็นผู้มีอำนาจที่ทุกคนต้องเชื่อฟัง จะไม่เชื่อได้อย่างไรในเมื่อเธอหาปลาได้ ก่อไฟเป็น แถมยังมีเสบียงกรังตุนไว้เพียบ ทุกคนต้องคุกเข่าเข้าหา แม้แต่คาร์ล หนุ่มหล่อสุดบนเรือยังต้องยอมพลีกายให้กับพนักงานล้างห้องน้ำสาวใหญ่รายนี้
หนังบอกเล่าเรื่องราวความเหลื่อมล้ำทางเพศและชนชั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ตั้งแต่อาชีพนายแบบได้ค่าจ้างน้อยกว่านางแบบ ผู้หญิงกับผู้ชายใครควรเป็นฝ่ายจ่ายค่าอาหาร เรื่องที่คาร์ลกับยาย่าถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือชนชั้นของผู้คนบนเรือก่อนและหลังโดนปล้น สวีเดนเป็นประเทศแชมเปี้ยนเรื่องความเสมอภาคอยู่แล้วจึงเข้าใจได้ว่าทำไมถึงเลือก Triangle of Sadness มาฉายเปิดเทศกาลภาพยนตร์นอร์ดิก 2024 ที่มุ่งหวังให้ผู้ชมได้เห็นถึงแก่นแท้ของชีวิต อารมณ์ขัน และประเพณีของชาวนอร์ดิกในแง่มุมต่างๆ
คนที่ชอบปรัชญาการเมือง เศรษฐศาสตร์ วาทะ คำคมทั้งหลายน่าจะชอบฉากที่กัปตันเรือชาวอเมริกันงัดปรัชญาคอมมิวนิสม์มาถกกับเศรษฐีชาวรัสเซียดังสนั่นลั่นเรือ ดูฉากนี้แล้วคิดถึงเพื่อนที่ประกาศตัวเป็น “ฝ่ายซ้าย” เอามากๆ หวังว่าเธอคงเข้าใจในสิ่งที่ตัวละครพูดคุยกัน ส่วนตัวหนังเล่าโลกชอบฉากในครัว แว่วเสียงเพลง L’Internationale แองเตอร์นาซิอองนาล (สามัคคีนานาชาติ) ลอยมาไม่กี่ประโยคแต่ก็ชวนให้คิดถึงการปฏิวัติของชนชั้นแรงงาน ขณะที่วัยรุ่นคอหนังใกล้ตัวตั้งข้อสังเกตว่า ฉากแม่บ้านทำความสะอาดในเรือตั้งใจให้เป็นชาวฟิลิปปินส์โดยเฉพาะ โดยปกติหนังยุโรปมักใช้ชาวละตินอเมริกาในบทบาทนี้มากกว่า แต่ก็ไม่แปลกในเมื่อฟิลิปปินส์ส่งออกผู้ช่วยทำงานบ้านเป็นล่ำเป็นสันอยู่แล้ว (ภาพจากเพจ Embassy of Sweden in Bangkok)
นอกจาก Triangle of Sadness เทศกาลภาพยนตร์นอร์ดิก 2024 ยังมีภาพยนตร์เรื่อง Amundsen จากนอร์เวย์, Riders of Justice จากเดนมาร์ก และ Super Furball Saves the Future จากฟินแลนด์ มาฉายให้ชมกันแบบเปิดโล่ง เรียกง่ายๆ ว่า “หนังกลางแปลง” ท่ามกลางตึกสูงกลางกรุงบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเองที่สวนหน้าทำเนียบเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก น่าเสียดายที่หนังเล่าโลกได้ไปชมแค่เรื่องเดียว เรื่องอื่นๆ บัตรชมภาพยนตร์ถูกจองเต็มหมดแล้ว สัญญาว่าคราวหน้าจะไม่พลาดไปดูให้ครบทุกเรื่อง ตามความตั้งใจในการเขียนคอลัมน์นี้ที่ว่า “ไม่ได้ไปเที่ยว ได้ดูหนังก็ยังดี!”
(ภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์ IMDB)