ย้อนรอย ‘แดจังกึม’ ซีรีส์ยุคบุกเบิก K-POP ก่อนเตรียมสร้างภาคต่อ
“แดจังกึม” ซีรีส์เกาหลีที่กลายเป็นตำนานจากการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีใต้จนเกิดกระแสฟีเวอร์ไปทั่วโลก กำลังจะกลับมาอีกครั้งหลังมีประกาศสร้างภาคต่อ แต่เราขอพาย้อนไปดูว่ากระแส “K-POP” ได้รับอิทธิพลจากเรื่องนี้อย่างไร
Key Points:
- “แดจังกึม” ซีรีส์ที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกวัฒนธรรม K-POP โดยเฉพาะ “อาหารเกาหลี” ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกกำลังจะกลับมาอีกครั้งในภาคต่อที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์
- กระแสของแดจังกึมถือว่าเป็นการเบิกทางให้ “K-POP” เริ่มเติบโตมากขึ้นจนกลายเป็นรายได้หลักของประเทศ และส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ออกไปเป็นวงกว้างในหลายเรื่อง เช่น วงการบันเทิง ความงาม แฟชั่น และการท่องเที่ยว
- ส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ “อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้” มีความสำคัญและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเวทีโลกก็คือ การสนับสนุนหลักจากรัฐบาลที่นอกจากจะมีนโยบายแล้วยังทุ่มเงินให้มากกว่า 7.90 แสนล้านวอน
แน่นอนว่าทุกวันนี้วัฒนธรรมเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเรียกว่า Korean Wave หรือ K-POP ถือว่าโด่งดังสุดๆ ตั้งแต่ฝั่งเอเชีย อเมริกา หรือยุโรป ทั้งในเรื่องของซีรีส์ นักแสดง อาหาร แฟชั่น สถานที่ท่องเที่ยว และศิลปินที่เรียกกันว่า “ไอดอล” ต่างล้วนมีแฟนคลับอยู่มากมายในหลายประเทศ จนทำให้ “อุตสาหกรรมบันเทิง” กลายเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลและยังได้ส่งออกวัฒนธรรมของตัวเองออกไปสู่สายตาชาวโลกในเวลาเดียวกัน
แต่กว่าเกาหลีใต้จะพาวัฒนธรรมตัวเองก้าวขึ้นมาอยู่ลำดับต้นๆ ได้นั้น ก็ใช้เวลาพอสมควรเช่นกัน กรุงเทพธุรกิจจะพาย้อนไปถึงช่วงเริ่มต้นของกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในประเทศไทย ที่หลายคนคงรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับซีรีส์ย้อนยุคฟอร์มยักษ์ที่เข้ามากวาดเรตติ้งไปเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือ “แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง” หรือ Jewel in the Palace ก่อนจะทำรายได้ไปทั่วโลก จนทำให้ทั้งโลกได้รู้จักกับ “เกาหลีใต้” ประเทศที่กำลังจะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านวัฒนธรรมในเวลาต่อมา
อี ยองแอ ในบทบาทของ แดจังกึม (KRUA)
- “แดจังกึม” ปฐมบทเกาหลีฟีเวอร์ ส่งออกวัฒนธรรมไปทั่วโลก
ทุกวันนี้คงแทบไม่มีใครไม่รู้จักซีรีส์เกาหลีในตำนานอย่าง “แดจังกึม” ที่แม้เวลาจะผ่านมาถึง 20 ปี แต่ยังคงได้รับการพูดถึงในฐานะซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้ที่สุดเรื่องหนึ่ง และในปัจจุบันก็กำลังจะสร้างภาคต่อโดยมี “อี ยองแอ” กลับมารับบทแดจังกึมอีกครั้ง
แดจังกึมคือซีรีส์เกาหลีย้อนยุคไปถึงสมัยราชวงศ์โชซอน ในรัชสมัยของพระเจ้าจุงจง แห่งเกาหลี (ค.ศ. 1488-1544) เล่าเรื่องราวโดยการอ้างอิงชีวิตของบุคคลที่หลายคนเชื่อว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ “ซอจังกึม”
สำหรับ “แดจังกึม” เป็นหญิงสาวที่สูญเสียพ่อแม่ไปตั้งแต่ยังเด็ก และได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารภายในราชสำนัก ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งไปตลอดกาล
ด้วยความที่จังกึมเป็นคนฉลาด มีไหวพริบดี และสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว บวกกับความตั้งใจ ความพยายาม และความขยันขันแข็ง ฝีมือการทำอาหารของเธอจึงพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนไปถึงจุดสูงสุดของการทำงานในครัวของวังหลวงนั่นก็คือ “ซังกุงสูงสุดแห่งห้องเครื่อง” ที่ได้รับความไว้วางใจจากเหล่าราชวงศ์และคนในราชสำนักเป็นอย่างมาก และแม้ว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้เธอต้องออกจากวังไป แต่หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาวิธีปรุงยาจนแตกฉานและกลับมาทำงานในวังอีกครั้งในฐานะแพทย์ประจำตัวกษัตริย์
ภาพจาก starupdate
หากมองเพียงผิวเผินก็เหมือนกับเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ทั่วไป แต่ “เกาหลีใต้” ซ่อนอะไรไว้มากกว่าแค่ “ความบันเทิง”
เมื่อสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าแดจังกึมมีนัยทางวัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องของ “อาหารเกาหลี” ที่เป็นจุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของซีรีส์ เพราะในช่วงนั้นอาหารเกาหลียังไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมากนัก เพราะวัฒนธรรมจากญี่ปุ่นกำลังเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยเป็นส่วนใหญ่
หลังจากที่หลายคนได้ชมซีรีส์เรื่องนี้แล้ว อาหารเกาหลีก็เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ใช่แค่นั้นแต่สถานที่ท่องก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะใครๆ ก็อยากไปเห็น “วังหลวง” ที่ “แดจังกึม” เคยใช้ชีวิตอยู่
สถานที่ถ่ายทำ แดจังกึม ในเมืองซูวอน (creatrip)
ต่อมาเมื่อแดจังกึมก็ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกจนทำให้ “เกาหลีใต้” เป็นที่รู้จักและเป็นหมุดหมายใหม่ในการท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้หันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้นจนกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในด้านนี้ในเวลาต่อมา
- จาก แดจังกึม สู่ผู้นำด้าน “อุตสาหกรรมบันเทิง”
“แดจังกึม” เริ่มออกอากาศครั้งแรกที่เกาหลีใต้ในวันที่ 15 ก.ย. 2546 และสามารถกวาดเรตติ้งสูงสุดถึง 57% คิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อตอนอยู่ที่ 46.3%
อีก 2 ปีต่อมา แดจังกึมก็ได้เดินทางมาถึง “ประเทศไทย” เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2548 โดยออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 อสมท. (เลข 33 ในปัจจุบัน) ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 18.00-20.00 น. ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด มีคุณภาพที่สุดสำหรับรายการโทรทัศน์ในสมัยนั้น เพราะมีผู้ชมมากที่สุด (Prime Time) ก่อนที่จะได้กลับมาฉายซ้ำอีกรวมทั้งหมด 4 ครั้ง
ไม่ใช่แค่นั้นแต่ “แดจังกึม” ยังถูกนำไปออกอากาศอีก 91 ประเทศ ในทุกทวีปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, อินเดีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, รัสเซีย, สิงคโปร์, สเปน, และเวียดนาม เป็นต้น สร้างรายได้รวมกันประมาณ 103.4 ล้านดอลลาร์ในขณะนั้น
หลายคนอาจสงสัยว่าจุดแข็งของซีรีส์เรื่องนี้นอกจาก “อาหารเกาหลี” แล้ว ยังมีอะไรอีก ทำไมหลายคนจึงชื่นชอบจนกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ ? ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องราวอันเข้มข้น ซับซ้อนซ่อนเงื่อน และความดุเดือดในการแข่งขันกันของราชสำนักฝ่ายในเมื่อสมัยที่เกาหลียังปกครองในระบอบกษัตริย์ที่ไม่ได้หาชมกันง่ายๆ ในช่วงเวลานั้น และแม้ว่าเรื่องราวจะตึงเครียดพอสมควรแต่ซีรีส์ก็ยังใส่ความน่ารักของคู่พระนางมาได้อย่างลงตัว
ภาพจาก KRUA
หลังจากปรากฏการณ์แดจังกึมที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลกในตอนนั้น เกาหลีใต้ก็ส่งซีรีส์ตามออกมาอีกมากมายและเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแทบจะทุกเรื่อง เช่น เพลงรักในสายลมหนาว (Winter Sonata), เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา (Princess Hours), สะดุดรักที่พักใจ (Full House), รักวุ่นวายของเจ้าชายกาแฟ (Coffee Prince) และ รักหมดใจยัยกะล่อน (My Girl)
ใบปิดซีรีส์ Princess Hours (Thai Travel Center)
ที่สำคัญซีรีส์เหล่านี้ยังส่งให้นักแสดงหลายคนแจ้งเกิดและมายืนอยู่แถวหน้าของวงการจนถึงปัจจุบัน เช่น กงยู ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “สามีแห่งชาติ”, ยุน อึนฮเย, เรน ซึ่งต่อมากลายเป็นนักร้อง K-POP ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของเกาหลีใต้ และ จาง กึนซอก เป็นต้น
ต่อมา “เกาหลีใต้” ก็ส่งออก “วัฒนธรรม” ผ่านวงการบันเทิงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปั้น “ไอดอล” ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่น BIGBANG, Girls’ Generation, 2NE1, TVXQ, KARA, Wonder Girl และ Super Junior เป็นต้น ซึ่งทุกวงที่ยกตัวอย่างมานั้นมีแฟนคลับเป็นจำนวนมากอยู่ทั่วทุกมุมโลก สามารถตีตลาดใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่นได้ ทำให้มีการทัวร์คอนเสิร์ตไปในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย
BIGBANG (Sanook)
ด้วยความที่ “K-POP” ได้รับความนิยมสุดขีด บรรดาค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ต่างก็ไม่รอช้าในการหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม นอกจากอัลบั้มแล้วก็มีการทำสินค้าที่ระลึกออกมาขายเป็นจำนวนมาก จนทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและทำให้เกาหลีใต้มีอิทธิพลในวงการบันเทิงเป็นอย่างมาก
อ่านข่าว :
"โฟโต้การ์ด" ไอดอลเกาหลี กลยุทธ์ที่ "K-POP" ใช้กระตุ้นยอดขาย
นอกจากนี้หลายค่ายเพลงดัง เช่น YG, SM Town หรือ JYP ต่างเดินสายรับสมัครเด็กที่มีความฝันอยากเป็น “ไอดอลเกาหลี” เข้ามาเป็นเด็กฝึกเพื่อเดบิวต์เป็นศิลปินในค่ายจากหลายประเทศไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ในทุกวันนี้หลายคนประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงเกาหลีและโด่งดังไปทั่วโลก เช่น นิชคุณ วง 2PM, ลิซ่า วง BLACKPINK, มินนี่ วง (G)I-DLE และ แบมแบม วง GOT 7 เป็นต้น
ลิซ่า BLACKPINK (Billboard)
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้วงการบันเทิงเกาหลีได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพมากขึ้นไปอีกก็คือ การที่ภาพยนตร์เรื่อง “Parasite ชนชั้นปรสิต” ของผู้กำกับ บง จุนโฮ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 6 ประเภท และชนะ 4 รางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์ครั้งที่ 92 จึงนับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จในหน้าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมบันเทิงแห่งเกาหลีใต้
- “K-POP” ความโด่งดังจากการผลักดันของ “รัฐบาล”
ต้องยอมรับว่าการประสบความสำเร็จของ “K-POP” จนกลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการสนับสนุนจากภาครัฐ หลังจากเล็งเห็นแล้วว่าจะใช้เป็นช่องทางส่งออกวัฒนธรรมไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล ระบุว่าในปี 2566 ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทุ่มเงินเพื่อสนับสนุน “Soft Power” ต่างๆ ของประเทศเป็นจำนวนมากใน 6 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. K-Content ที่อยู่ในตลาดโลก เช่น K-POP เกม ละคร ภาพยนตร์และเว็บตูน ด้วยงบประมาณ 7.90 แสนล้านวอน โดยภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีได้รับส่วนแบ่งจากงบประมาณก้อนนี้ไปประมาณ 4.54 หมื่นล้านวอน
2. ส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นไปที่โปรแกรมการท่องเที่ยวที่ใช้ K-Culture เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการตามรอยซีรีส์
3. เพิ่มมูลค่ามรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการทุ่มงบสำหรับเสริมสร้างศักยภาพของศิลปินรุ่นใหม่และนักศึกษาสายศิลปะถึง 8 พันล้านวอน แต่ก็ยังคงรักษามรดกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ให้กับคนในชาติไปจนถึงระดับสากล
4. ขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคโดยวัฒนธรรม สนับสนุนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
5. การเข้าถึงวัฒนธรรมสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่เชิงวัฒนธรรมและศิลปะที่เป็นมิตรต่อผู้พิการ หรือฝึกอบรมความสามารถทางวัฒนธรรมและศิลปะสำหรับผู้มีรายได้น้อย
6. K-Sports เป็นโครงการกระตุ้นให้ผู้คนออกกำลังกาย สนับสนุนเงินสูงสุดถึง 5 หมื่นวอนให้กับ 1 หมื่นคน
นอกจาก 6 นโยบายหลักที่เปิดโอกาสให้ประเทศส่งออกวัฒนธรรมออกไปได้ในวงกว้างแล้ว ยังมีนโยบายย่อยที่เป็นตัวช่วยในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงอีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอิทธิพลของ K-POP จึงแผ่ขยายไปได้ทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดวงการบันเทิงเกาหลีใต้กำลังเตรียมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง ด้วยการหยิบซีรีส์ในตำนานอย่าง “แดจังกึม” มาสร้างภาคต่อหลังเวลาผ่านไป 20 ปี โดยในครั้งนี้จะเป็นเรื่องราวของแดจังกึมในบทบาทของ “หมอหลวง” เล่าถึงการกลับมาใช้ชีวิตในวังของเธออีกครั้งในบทบาทที่ต่างไปจากเดิม
อี ยองแอ ในปัจจุบัน (N News)
แม้ว่าความเป็นจริงในแง่ของประวัติศาสตร์จะยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้วแดจังกึมคือหมอหญิงคนแรกในวังหรือไม่ แต่จากหลักฐานในเบื้องต้นระบุว่าเธอได้รับยกย่องให้เป็นผู้ที่คิดค้นวิธีการผ่าตัดคนแรกๆ ของโลก ทำให้เรื่องราวในภาคนี้เราอาจจะได้เห็นเทคนิคทางการแพทย์ในสมัยโบราณที่หาดูได้ยาก
โดยต้นสังกัด Fantagio ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ผู้ที่จะมารับบทแดจังกึมก็คือ “อี ยองแอ” ในวัย 53 ปี แม้ว่าซีรีส์เรื่องใหม่นี้จะยังไม่มีชื่อออกมาอย่างเป็นทางการแต่ก็คาดว่าจะเริ่มถ่ายทำในปีนี้ก่อนจะออกอากาศภายในปี 2568 แต่ก็ต้องมาติดตามกันว่าการกลับมาของ “แดจังกึม” ในครั้งนี้จะสะเทือน “วงการบันเทิงเกาหลีใต้” ได้มากน้อยเพียงใด
อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล, N News, KRUA, GQ, Korea Times และ korseries