‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ แอนิเมชันประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรดู
แอนิเมชันเรื่อง ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ คืออะไร ทำไมถึงกลายเป็น talk of the town ที่ทุกคนต่างพูดถึง มันคือภาพยนตร์ที่คนไทยทุกคนควรดูจริงหรือ หาคำตอบได้ที่นี่
"ประเทศเรามาไกลเกินกว่าจะโทษสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะเราย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้ เราจึงต้องเข้าใจข้อผิดพลาดในอดีต แล้วนำมาเป็นบทเรียนที่จะก้าวต่อไปยังอนาคต”
คำพูดของ ‘ลุงดอน’ หนึ่งในตัวละครเอกจาก '๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หรือ '2475 Dawn of Revolution' น่าจะเป็นคำอธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ออกมาให้คนไทยรับชมกันได้อย่างชัดเจนที่สุด
'๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' คืออะไร?
'๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' หรือ '2475 Dawn of Revolution' ที่กำลังเป็นกระแสพูดถึงกันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแนวประวัติศาสตร์ ดรามา ผลงานการสร้างของNakra Studio (นาคราสตูดิโอ) กำกับโดย วิวัธน์ จิโรจน์กุล เขียนบทโดย ปัณฑา สิริกุล และวิวัธน์ จิโรจน์กุล
มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในปีพุทธศักราช 2475
‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เปิดเรื่องด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทยถึงมีการปฏิวัติ รัฐประหาร ตลอดจนการประท้วงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาตลอดระยะเวลากว่า 90 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา
ก่อนจะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปทบทวนจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2475 ที่ถือว่าเป็น ‘รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’
ดำเนินเรื่องโดยนักศึกษา 3 คนที่เดินทางมา ‘หอสมุดพระวชิรญาน’ เพื่อค้นคว้าหาข้อมูลไปทำรายงานเรื่อง “ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญไทย” พร้อมกับตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่า ทำไมประเทศเราถึงมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับนัก
จนกระทั่งไปพบกับ ‘ลุงดอน’ ที่นอกจากจะให้ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ แล้ว ยังตั้งคำถามชวนสะกิดใจ เกิดการถกเถียงกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ จนทำให้กลุ่มนักศึกษาที่จากเดิมจะนำหนังสือเพียง 3 เล่มกลับไปทำรายงาน (รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ และชีวิต5แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยพลโท ประยูร ภมรมนตรี) เกิดเปลี่ยนใจ ขอรับฟังเรื่องราวในแง่มุมที่พวกเขาไม่เคยได้รับรู้มาก่อน
ผู้ริเริ่มให้มีรัฐธรรมนูญในประเทศไทย
‘ลุงดอน’ จึงนำเด็ก ๆ เข้าไปยัง ‘ห้องสมุดกาลเวลา’ พร้อมตั้งคำถามว่า “รู้หรือไม่ว่าใครคือผู้ริเริ่มที่จะให้มีรัฐธรรมนูญในประเทศไทย”
ก่อนจะพาไปย้อนดูที่มาของรัฐธรรมนูญที่เริ่มตั้งแต่ 'สงครามล่าอาณานิคม' เพื่อช่วงชิงทรัพยากรได้คืบคลานเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ไทยทรงพระปรีชาสามารถ ดำเนินกุศโลบายต่าง ๆ ให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นมาได้
รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมอบ Parliament และ Constitution ให้กับประชาชน แต่ทรงกระทำยังไม่สำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงสานต่อพระปณิธาน แต่ระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นเสียก่อนทำให้การมอบรัฐธรรมนูญต้องเลื่อนออกไป
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทรงโปรดเกล้าให้ ฟรานซีส บี. แซร์ ที่ปรึกษาซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตชาวอเมริกัน ร่างต้นแบบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าถวาย แต่คณะที่ปรึกษามองว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในทันที
ถึงจะถูกคัดค้าน ร.7 ก็ยังทรงมอบหมายให้พระยาศรีวิสารวาจา และนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองเพื่อเตรียมมอบให้กับประชาชนในรัชกาลของพระองค์ขึ้นมา แต่ก็ยังได้รับการคัดค้านจากทั้งสองคนอีกเช่นเดิมว่าสมควรรอให้พ้นวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกไปก่อน
แต่ก่อนที่พระองค์จะทรงมอบรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนชาวสยามก็บังเกิดความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การปฏิวัติ 2475 ขึ้นเสียก่อน
ข้อสังเกตุ : เหตุการณ์ในช่วงนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของภาพ stained glass หรือ กระจกสี ที่งดงามเป็นยิ่งนัก
หลังจากนั้น ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้นำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยละเอียด ตั้งแต่การถือกำเนิดของคณะราษฎร การวางแผนปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เรื่อยมาจนถึงความวุ่นวายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปจนถึงการประกาศสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ณ พระตำหนักโนล อังกฤษ
ประวัติศาสตร์ต้องศึกษาจากข้อมูลรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เกิดการชี้นำ หรือเป็นการนำเสนอมุมมองทางประวัติศาสตร์การเมืองแต่เพียงด้านเดียว ดังเช่นที่ ‘ลุงดอน’ ได้กล่าวกับเด็ก ๆ เอาไว้ในภาพยนตร์ว่า
“การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ได้ตายตัวเหมือนสูตรคูณ มันคือทางเลือกของคนเขียน เลือกข้อมูลที่จะใส่ เลือกทิศทางที่จะตีความ มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึง และค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา เราจึงต้องใช้หนังสือหลายเล่ม จากหลายมุมมองของผู้เขียน เพื่อเชื่อมโยงหาสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้”
ทางผู้สร้างภาพยนตร์ได้ใส่ ‘ข้อมูลอ้างอิง’ ไว้ในเครดิตท้ายเรื่อง ซึ่งผู้ที่รับชมภาพยนตร์แล้วเกิดข้อกังขา หรือต้องการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาถกเถียงหาข้อเท็จจริงกันต่อไป สามารถศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ได้ในรูปที่ปรากฎข้างล่างนี้
ภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ มีความยาว 2 ชั่วโมง 5 นาที สามารถรับชมได้ทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ 2475 Animation ดังนี้
Facebook https://www.facebook.com/2475animation
YouTube https://www.youtube.com/@2475Animation
TikTok https://www.tiktok.com/@2475animation