อาลัย 'กุศล กมลสิงห์' ราชาเพลงรำวง ตำนานเพลง 'รักกลางจันทร์' ด้วยวัย 90 ปี
สิ้นแล้ว "กุศล กมลสิงห์" ราชาเพลงรำวง ตำนานเพลง "รักกลางจันทร์" ด้วยวัย 90 ปี วันนี้ 13 เมษายน 2567 เวลา 09.30 น. ที่บ้านพัก จ.นนทบุรี พร้อมเปิดประวัติกุศล กมลสิงห์ หรือ บุญเหลือ ผดุงศิลป์ ศิษย์ครูเบญจมินทร์ รวมผลงานเพลง กำหนดการรดน้ำศพ อาลัยครั้งสุดท้าย
วันนี้ 13 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 09.30 น. แจ้งข่าวเศร้ารับ วันสงกรานต์ 2567 "กุศล กมลสิงห์" หรือ บุญเหลือ ผดุงศิลป์ ราชาเพลงรำวง ตำนานเพลง 'รักกลางจันทร์' เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 90 ปี ที่บ้านพัก หมู่บ้านพฤกษา 45 ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
กำหนดการรดน้ำศพ "กุศล กมลสิงห์" อาลัยครั้งสุดท้าย
- เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเต็มรักสามัคคี ศาลา 5 ใกล้บ้าน
- กำหนดรดน้ำศพวันที่ 13 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น.
- กำหนดสวดพระอภิธรรมบำเพ็ญกุศลศพ 3 คืน 13 - 15 เมษายน 2567 เวลา 19.00 น.
- ทำการฌาปนกิจในวันอังคารที่ 16 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น.
ประวัติ "กุศล กมลสิงห์" ราชาเพลงรำวง ตำนานเพลง "รักกลางจันทร์"
กุศล กมลสิงห์ เป็นศิษย์ครูเบญจมินทร์ และโด่งดังมาจากเพลง "รักกลางจันทร์" ปี 2505 ผลงานการแต่งของ นิยม มารยาท นอกจากนี้ กุศล ยังมีเพลงรำวงอีกหลายเพลง ซึ่งเป็นยุคก่อนสุรพล สมบัติเจริญ
กุศล กมลสิงห์ หรือ “บุญเหลือ ผดุงศิลป์” เกิดวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2477 ที่บ้านพักทหาร ร.พัน.9 หรือปัจจุบันคือ ร.1พัน.4 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯเป็นกระเป๋ารถเมล์เหลือง วิ่งระหว่างสะพานหัน-สะพานแดง
ก่อนเข้าทำงานที่กรมชลประทาน แถวศรีย่าน กุศลมีเพื่อนรักสมัยเรียนอยู่โรงเรียนนันทนศึกษา ชื่อ ประสพศักดิ์ พาทยะโกศล หรือศักดิ์ โกศล(เสียชีวิตแล้ว) ทั้งคู่ชอบร้องเพลงเหมือนกัน จึงชวนกันไปสมัครร้องเพลงประกวดตามงานวัดต่าง ๆ โดยประกวดสนุก ๆ ไม่ได้หวังผลอะไร
พออายุ 20 ปี ได้เข้ารับราชการเป็นทหารอากาศอยู่กรมอากาศโยธินรุ่นเดียวกับ สุเทพ วงศ์กำแหง ที่นี้เองทำให้กุศลได้ร้องเพลงตามงานต่าง ๆ มากขึ้น พอออกจากการเป็นทหารในปี 2500 ก็เข้าทำงานที่กรมชลประทานอีกครั้ง และครั้งนี้เขาเริ่มเอาจริงเอาจังกับการร้องเพลง
โดยเฉพาะการร้องเพลงประกวดตามงานวัดในนาม “ส. เสมาน้อย” คู่กับเพื่อนรัก “ส. อมรศิลป์” (ศักดิ์ โกศล) และชนะเลิศงานแรกที่วัดอินทร์บางขุนพรหม ได้รับถ้วยรางวัลสลักชื่อ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์
หลังจากนั้นประกวดร้องเพลงล่ารางวัลไปเรื่อย จนได้รับถ้วยรางวัลมากมาย จึงได้ตั้งวง“โชว์เฟอร์แบนด์” ขึ้น และในปี พ.ศ.2503 ก็ได้ร้องเพลงบันทึกเสียงครั้งแรกในชีวิต ในเพลง “นางในวรรณคดี” แต่งโดย “วัลลภ ชื่นใจชน” โดยใช้ชื่อ “รุ่ง ผดุงศิลป์”
ต้นปี 2504 ที่วัดอัมพวันมีงานประกวดร้องเพลง ก่อนถึงเวลาประกวดกุศลขอขึ้นเวทีร้องเพลง “กระต่ายเต้น” โชว์ ครูเบญจมินทร์ซึ่งเป็นกรรมการตัดสินในคืนนั้นได้ฟังเสียงรู้สึกชอบ ครูเบญจมินทร์เรียกไปถามว่า “เสียงดีอย่างนี้ทำไมไม่ร้องประกวด” กุศลบอกว่า “ผมไม่กล้าครับ” ครูเบญจมินทร์คะยั้นคะยอให้ลองประกวดเขาจึงยอม กุศลเลือกเพลง “ทูนหัวหลอกพี่” ของ ชาญ เย็นแข ขึ้นร้องประกวด และชนะเลิศ
หลังจากนั้นครูเบญจมินทร์ให้ “ชัยสิทธิ์ บุญฟัก”ตามตัวกุศลให้มาร้องบันทึกเสียงเพลง “ริษยา” และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “กุศล กมลสิงห์” ก่อนจะมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อได้ร้องเพลง “รักกลางจันทร์” แต่งโดย “นิยม มารยาท” ในปี2505
เมื่อครูเบญจมินทร์หันไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง“เสือเฒ่า” จึงให้กุศล กมลสิงห์ ดูแลวงแทน และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวง “กุศล กมลสิงห์” โดย มานพ แก้วมณี มาร่วมอยู่ด้วย แต่ใช้ชื่อ “เบญจพงษ์” อยู่ถึงปี พ.ศ.2512 ก็ยุบวง เนื่องจากต้องไปราชการที่เวียตนาม กลับมาเมื่อปี พ.ศ.2519 ก็เป็นนักร้องรับเชิญร้องตามงานทั่วไปจนถึงปัจจุบัน
รายชื่อผลงานเพลงของ "กุศล กมลสิงห์" หรือ บุญเหลือ ผดุงศิลป์
- เรซอนหาคู่
- ไข้ใจ
- คนสวยจ๋า
- เค็ม
- จะให้รอถึงไหน
- ชายไร้คู่
- ดังแน่ๆ
- แด่วีรชน
- เธอนะเธอ
- น้ำใจคนแก่
- ปากนิดจมูกหน่อย
- ไพรซื่อ
- มายิ้มกันหน่อย
- เมียรักพักรบ
- แม่ศรีไพร
- แม่หน้ารูปไข่
- รอคู่รำ
- รอยจูบ
- รักกระจุ๋มกระจิ๋ม
- รักกลางจันทร์
- ลืมสัญญา
- วาจาเศรษฐี
- เสน่ห์หา
- มายิ้มกันหน่อย
- ผมคลั่งเพราะคุณ
- ๑๔ ตุลา
- รอคู่รัก
- คนสวยจ๋า
- ชาวนา
- หนุ่มบ้านนอกบอกรัก