‘พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ’ คนไทยผู้ออกแบบงานสร้างหนังระดับโลก Monkey Man
บทสัมภาษณ์พิเศษ ‘พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ’ คนไทยผู้โลดแล่นอยู่ในวงการหนังระดับโลก กับการทำหน้าที่ Production Designer ภาพยนตร์ Monkey Man ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ ‘เดฟ พาเทล’ ที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ท่วมท้น
รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายผลักดัน ‘หนังไทย’ ให้เป็น Soft Power ในขณะเดียวกันนั้น คนไทยที่มีความสามารถเอกอุ ก็กำลังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศผ่านการทำงานเบื้องหลังให้กับภาพยนตร์ระดับโลกอยู่ด้วยเช่นกัน
หนึ่งในนั้นคือ ‘พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ’ ผู้ออกแบบงานสร้าง เจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ ที่กรุงเทพธุรกิจชวนคุณไปอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับผลงานล่าสุดของเขากับ Monkey Man (มังกี้แมน) ที่ ‘เดฟ พาเทล’ โดดลงมากำกับภาพยนตร์เป็นครั้งแรก รวมไปถึงเขียนบทและนำแสดงด้วยตัวเอง
- จุดเริ่มต้นที่มาเป็น Production Designer ให้กับ Monkey Man
ผมได้รับการติดต่อจาก Infinite Studio ในบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสตูดิโอที่ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศอยู่แล้ว และผมก็เคยทำงานกับที่นี่มาก่อน 4-5 ปีแล้ว นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นครับ
- ได้ใช้ไอเดียตัวเองในการออกแบบอย่างเต็มที่แค่ไหน มีข้อกำหนดอะไรบางจากผู้สร้าง และส่วนไหนคือสิ่งที่เรานำเสนอไป
Design Concept หลักที่อยู่ในภาพยนตร์ อยู่ใน look book ที่ผมนำเสนอตั้งแต่แรกที่ได้อ่านบทภาพยนตร์ ผมได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับการเลื่อนฐานะจากชนชั้นล่างสู่ชนชั้นบนของ ‘คิด’ ที่แฝงตัวเข้ามาในอาณาจักรของผู้มีอิทธิพล จากการทำทุกวิถีทางที่จะถีบตัวเองเพื่อเลื่อนสถานะ
ลิฟต์ที่ใช้ในการเดินทางในตึก จึงเป็นทั้งพาหนะขนส่งและเปรียบเปรยถึงการเลื่อนชั้นของตัวเอกในการมาล้างแค้น การออกแบบภายในของลิฟต์จากชั้นสู่ชั้นจึงมีการตกแต่งภายในแตกต่างกันด้วย
- คุณตีความตัวละครเอกที่ได้แรงบันดาลใจจาก ‘หนุมาน’ ออกมาอย่างไร
การตีความ “หนุมาน” ถือเป็นหัวใจหลักของภาพยนตร์ที่ เดฟ ในฐานะผู้เขียนบท ได้ซึมซับ Mythology (เทวตำนาน) นี้มาเป็นอย่างดี และปรากฏอยู่ในการนำเสนอแล้วตั้งแต่ขั้นตอนของบท เช่น นักมวยปล้ำใน Underground Fight Club ที่สวมหน้ากากลิง ทาสีบนร่างกายด้วยสีขาวเพื่อเป็นตัวแทนของ White Monkey
ผม ทีมงานอินเดียและทีมอินโดนีเซียเองมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องรามเกียรติ์คล้ายคลึงกันมาก งานค้นคว้าหลักผมเลยขอให้ทางทีมอินเดียที่มีหน้าที่ตกแต่งฉาก ใช้ภาพอ้างอิงจากประเทศอินเดียเป็นต้นแบบ ส่วนศิลปินที่วาดภาพประกอบในหนังสือ Graphic Novel book และภาพ Mural painting ขนาดใหญ่บนชั้นบนของ King Club เป็น Illustrator กับ Painter ชาวอินโดนีเซีย
- ทีมผู้สร้างพูดถึง Monkey Man ว่าเป็น ‘หนังบู๊แนวอาร์ท’ สิ่งนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านงานของคุณอย่างไร
จากวัฒนธรรมอินเดียที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน ถือเป็นข้อได้เปรียบของผมที่มีระยะห่างพอที่จะเข้าใจศิลปะอินเดีย แต่มีอิสระและกล้าพอที่จะปรับบางอย่างให้เข้ากับแนวทางของภาพยนตร์
สำหรับผมสำคัญตรง Design Concept ที่สามารถแยกฐานันดรของตัวละครหลัก ๆ ในเรื่องได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การเลือกใช้กลุ่มสี (Color Palette) แทนคนแต่ละกลุ่ม กลุ่มสี Monochromatic ของคนมีอำนาจและมีฐานะ บวกด้วยสีน้ำตาลโอ๊คดำ ขับเน้นด้วยสีแดงและทอง ในขณะที่คนชั้นล่างจะอยู่กับสี natural base เช่นสีน้ำตาลแดง สีเขียวของธรรมชาติ และอาภรณ์สีสดแบบคนในเขตร้อนเป็นต้น
ในความเห็นของผม Monkey Man เป็นภาพยนตร์แอคชันที่มีการใช้ศิลปะเอเชียของอินเดียจึงสร้างความตื่นตาตื่นใจได้มากจากคนดูภาพยนตร์ในส่วนอื่นของโลก และอาจมีลักษณะทางภาพที่คล้ายหนังอาร์ท หรือหนังคัลท์
- เอกลักษณ์ในงาน Production Design ของคุณคืออะไร
งานของผมจะเน้นสนับสนุนการเล่าเรื่อง (Story telling) เป็นอันดับแรก, รูปแบบ (Forms) จะถูกออกแบบเพื่อรับใช้ สนับสนุนการเล่าเรื่องนั้น ๆ, งานออกแบบมีความสอดคล้องกับตระกูลของภาพยนตร์ (Films Genre), ออกแบบฉากโดยคำนึงถึงแสงที่จะตกกระทบในฉาก และเมื่อมีโอกาสในบท ผมจะพยายามใช้งานทัศนศิลป์อื่น เช่น ภาพเขียนจิตรกรรม ประติมากรรม ให้ถูกต้องและประณีตที่สุด
- ความภาคภูมิใจ และสิ่งที่คิดว่าเจ๋งในผลงานของเราจากหนังเรื่องนี้
ผมพยายามสร้างโลกของ Monkey Man ให้อยู่ในขนบของศิลปะอินเดียโดยพื้นฐาน และมีคุณค่าในการรับชมแบบภาพยนตร์ (Cinematic Values), งานที่เดฟพึงพอใจมากที่สุดฉากหนึ่งคือฉากในวัดฮินดูร้างที่ ‘คิด’ ใช้ซ้อมชกกระสอบทรายผสานกับการให้จังหวะของกลอง
ฉากนี้เราตกแต่งสร้างวัดขึ้นมาจากตึกร้างแห่งหนึ่งบนเกาะที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่บนพื้นที่ภายในอาคาร การออกแบบที่ทำได้คุ้มกับงบประมาณและได้ผลลัพธ์ที่ทุกคนพอใจ ทั้งนี้ผมและทีมงานจากไทย อินเดีย มาเลเซียและอินโดนีเซีย มารวมตัวกันเป็นทีมศิลปกรรมของทีมงานชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงควรได้รับเครดิตร่วมกัน
- ประสบการณ์การทำงานกับ ‘เดฟ พาเทล’ และทีมงาน Monkey Man
เดฟเป็นคนหนุ่มที่พลังเกินร้อย แล้วพอเขาต้องเข้าฉากแอ็คชั่นเยอะเขาก็ฟิตออกกำลังกายเหมือนนักกีฬาเลย ซึ่งส่งผลให้บางวันเราเดินกันเป็นสิบกิโลเพื่อหาโลเคชั่นในการถ่ายหนัง ก็หนักหน่วงพอสมควร ใช้แรงกายกับการหาสถานที่ที่จะดัดแปลงเป็นอินเดียได้
เขาให้ความร่วมมือดีมาก ช่วงหลังๆ เขาจะยุ่งมากเพราะทำงานหลายบทบาทมาก แต่ทุกครั้งที่นัดหมายก็จะให้ความร่วมมือดีมาก เพราะยังไงงานก็ต้องเดินหน้า แล้วก็เป็นโชคดีด้วยที่พวกเราอยู่รวมกันหมด การเดินทางต่างๆ ก็จะสะดวกรวดเร็ว วันนึงทำได้หลายอย่าง
- สถานะของคนทำงานเบื้องหลังจากประเทศไทยในตลาดโลก เราได้รับความยอมรับนับถือในฝีมือ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับไหน
ทีมงานไทยได้รับการยอมรับเรื่องฝีมือมากขึ้นมานับสิบ ๆ ปีแล้ว จากภาพยนตร์ในหลากหลายประเทศที่เข้ามาผลิต ส่วนคนที่ทำงานในระดับ Head of Department (H.O.D.) อาจจะยังไม่มากนัก แต่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังสร้างผลงานได้มากขึ้นโดยเฉพาะผ่านทาง Streaming และอื่น ๆ น่าจะเป็นเครดิตที่ดีที่จะทำให้เรซูเม่มีความแข็งแรงขึ้นตามลำดับ รวมทั้งพัฒนาทักษะเรื่องการสื่อสารในภาษากลาง
- เส้นทางของคนวงการหนังไทยกับการทำงานในระดับสากล ปัจจุบันยากง่ายแค่ไหน ต้องอาศัยคุณสมบัติอะไรบ้าง
พอนึกเปรียบเทียบก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับวงการกีฬา ถ้าอุตสาหกรรมในประเทศแข็งแรง มีงานทำต่อเนื่อง เราก็จะมีคนทำงานที่มีชั่วโมงบินมากขึ้น ในปริมาณคนทำงานที่มากขึ้น มากรุ่นขึ้น
ต้องยอมรับว่ามีคนเก่งอยู่ทั่วโลก เหมือนการไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในสายงานภาพยนตร์คนทำงานมีความจำเป็นต้องสะสมผลงานที่ดีไว้เพิ่มความน่าเชื่อถือ เพื่อแข่งขันกับชาติอื่น ควรมีความรู้ความเข้าใจในระบบกองถ่ายแบบสากล เพิ่มพูนสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์จากงานภาพยนตร์ให้หลากหลายประเทศเป็นต้น
การทำงานของเอกชนขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ (อันนี้พูดกันมาอย่างยาวนานแล้ว), การฝึกอบรมวิชาชีพให้กับบุคคากรในสายอาชีพขาดเจ้าภาพทำให้ทีมงานภายในประเทศเติบโตได้ในสปีดที่ช้ากว่าในต่างประเทศ
ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ภาพยนตร์เรื่อง Monkey Man (มังกี้ แมน) ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ เดฟ พาเทล มีกำหนดเข้าฉาย 16 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
#MonkeyManMovie #MonkeyManMovieTH #มังกี้แมน