‘The Fall Guy’ เบื้องหลังชีวิต สตันท์แมน แสดงบทเสี่ยงตาย แต่แทบไม่ได้เครดิต?
“สตันท์แมน” ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อภาพยนตร์แอกชันอย่างมาก เพราะผู้ชมจะได้เห็นความโลดโผนสมจริง แต่พวกเขาหลายคนกลับแทบไม่ถูกพูดถึง “The Fall Guy” จะพาไปดูว่าเบื้องหลังการทำงานของพวกเขาเป็นอย่างไรต้องเสี่ยงตายแค่ไหน
KEY
POINTS
- “The Fall Guy” ภาพยนตร์แอกชัน โรแมนติก คอมเมดี ที่เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานแบบเสี่ยงตายของ “สตันท์แมน” ในหลายรูปแบบ ผ่านกองถ่ายภาพยนตร์
- แม้สตันท์แมนจะมีความสำคัญในการสร้างความสมจริงให้ “หนังแอกชัน” แต่ที่ผ่านมาพวกเขาถือว่าได้รับการพูดถึงน้อยและแทบไม่มีใครรู้จัก
- การแสดงฉากผาดโผนแม้ว่าจะได้เห็นบนจอแค่ไม่กี่นาที แต่ต้องใช้เวลาวางแผนนานหลายเดือน ตั้งแต่การออกแบบคิวบู๊ ไปจนถึงวางแผนความปลอดภัย
แม้จะเข้าโรงไปแล้วแถมทำเงินได้ไม่ดีนักในช่วงแรกจนเกือบกลายเป็นหนังขาดทุน แต่ล่าสุด “The Fall Guy” หรือ สตันท์แมนคนจริง ภาพยนตร์แอกชันที่มาพร้อมความโรแมนติก-คอมเมดี และเทคนิคพิเศษสุดอลังการระดับดาวล้านดวงก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง และเชื่อว่าหากใครเป็นคอหนังแอกชันประเภท ระเบิดภูเขา เผากระท่อม ก็น่าจะถูกใจโปรดักชันของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่น้อย แต่เนื้อหาของภาพยนตร์ก็ไม่ได้มีแต่ฉากบู๊ล้างผลาญเท่านั้น เพราะยังมีเนื้อเรื่องความสัมพันธ์ของพระนางที่แสดงนำโดยดาราระดับเอลิสต์ของฮอลลีวูด ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) รับบท โคลท์ สตันท์แมนมืออาชีพที่เคยมีความสัมพันธ์ที่จะเรียกว่าแฟนก็ไม่ใช่เป็นเพื่อนก็ไม่เชิงกับ โจดี้ ตากล้องสาวที่ต่อมาผันตัวมาเป็นผู้กำกับรับบทโดย เอมิลี่ บลันท์ (Emily Blunt)
หากดูจากตัวอย่างภาพยนตร์แล้วเรื่องราวก็อาจดูเหมือนสูตรสำเร็จของหนังรอมคอมทั่วไป (แต่เรื่องนี้มีฉากแอกชันให้เห็นอยู่ตลอด) ที่ดูแล้วเหมือนไม่ได้มีปมอะไรมากนักและสามารถเดาเรื่องราวโดยรวมได้ไม่ยากเท่าไรสำหรับใครที่เป็นคอหนังอยู่แล้ว แม้จะมีเรื่องราวการหายตัวไปอย่างปริศนาของ ทอม ไรเดอร์ นักแสดงนำของเรื่องที่ โคลท์ ต้องเป็นสตันท์แมนให้เขามานานหลายปีเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่หากสังเกตให้ดี เรื่องราวระหว่าง ทอม และ โคลท์ ต่างหากที่อาจจะเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอมากที่สุดประเด็นหนึ่ง โดย เดวิด ลิตช์ (David Leitch) ผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเคยเป็น “สตันท์แมน” มายาวนานกว่า 20 ปี และยังเคยเล่นฉากแอกชันให้กับนักแสดงดัง แบรด พิตต์ (Brad Pitt) อยู่หลายเรื่อง
จุดเริ่มต้น “สตันท์แมน” ในโลกภาพยนตร์
ก่อนที่จะไปพูดถึงความสำคัญของสตันท์แมน ต้องเล่าถึงเรื่องราวในภาพยนตร์คร่าวๆ ก่อนว่า ในช่วงแรกเราจะได้เห็น “โคลท์” ที่ต้องแสดงฉากผาดโผดเสี่ยงตายมากมายหลายรูปแบบแทน “ทอม” พระเอกของภาพยนตร์ (ที่อยู่ในภาพยนตร์อีกที) แต่แม้ว่าคิวบู๊จะออกมาดูดีโดนใจผู้กำกับและทีมงาน แต่กลับมีหลายมุมที่ “มองเห็นหน้าของสตันท์มากเกินไป” ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดี เพราะแม้ว่าทั้งคู่จะหน้าตาคล้ายกันจนเกือบจะเป็นแฝด แต่ทอมคือพระเอกของเรื่องดังนั้นจะให้เห็นหน้าโคลท์มากเกินไปย่อมไม่เป็นผลดี และทำให้ต้องถ่ายใหม่อีกหลายครั้ง
หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นเทคนิคการแสดงสุดโลดโผนในฐานะ “สตันท์แมน” มากมาย แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง โคลท์ กลับได้รับอุบัติเหตุจากฉากดิ่งลงจากตึกสูงที่มีเพียงลวดสลิงยึดเอาไว้ ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บอย่างหนักและหายหน้าจากวงการไปในที่สุด แต่หลังจากผ่านไป 18 เดือน เขาก็ได้รับการติดต่อให้กลับไปแสดงฉากแอกชันให้ทอมอีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะทอมหายตัวไปอย่างลึกลับ และที่สำคัญเป็นภาพยนตร์ที่โจดี้รับหน้าที่กำกับเรื่องแรก แม้ว่าเขาจะไม่ได้อยากกลับไปในวงการ แต่ท้ายที่สุดก็กลับไปทำอยู่ดี ในจุดนี้เองที่หลายคนเริ่มมองเห็นว่าสตันท์แมนคือหนึ่งในบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์แอกชัน เพราะไม่ใช่แค่พวกเขาต้องแสดงฉากบู๊แล้ว เขายังรู้จักนักแสดงที่เขาต้องสวมบทบาทเป็นอย่างดีจนสามารถเล่นเป็นคนคนเดียวกันได้
ดรูว์ เพียร์ซ (Drew Pearce) ผู้เขียนบทภาพยนตร์ให้กับ The Fall Guy ให้สัมภาษณ์ผ่าน BBC ว่า ก่อนที่เขาจะลงมือเขียนบทขึ้นมา เขาได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการแสดงผาดโผนที่มีความยิ่งใหญ่ในโลกภาพยนตร์มามากมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ได้พบว่าที่ผ่านมา “สตันท์แมน” มีความสำคัญต่อหนังแอกชันเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การตกจากตึกสูง 220 ฟุต (ประมาณ 67 เมตร) ของนักแสดงผาดโผน ดาร์ โรบินสัน (Dar Robinson) ในภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่อง Sharkey's Machine เมื่อปี 1981 และการแสดงผาดโผนลากรถม้าอันโด่งดังในภาพยนตร์เรื่อง Stagecoach ในปี 1939 ที่แสดงฉากแอกชันโดย ยากิมา คานุตต์ (Yakima Canutt) ซึ่งเราเห็นเขาตกลงมาระหว่างม้า 6 ตัวที่กำลังวิ่งอยู่เพื่อดึงเกวียนให้เข้าที่ จากนั้นเขาก็คว้าสายรัดเพื่อให้ม้าสองตัวหน้าชิดกัน (มีแถบโลหะติดอยู่กับสายรัดเพื่อช่วยในเรื่องนี้) และลากเท้าไปบนพื้นดินไม่กี่วินาทีก่อนปล่อยตัวนอนราบ ก่อนที่เกวียนถูกดึง (เหมือนจะ) ทับเขาโดยที่ไม่ได้โดนตัวเขาเลย
ทั้ง ดาร์ และ ยากิมา ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกการแสดงฉากแอกชันผาดโผน โดย ดาร์ ได้คิดค้น “ตัวชะลอความเร็ว” เวอร์ชันแรกๆ มีลักษณะเป็นสายเคเบิลหรือลวดแบบลากที่ติดอยู่กับนักแสดงเมื่อพวกเขากระโดดจากที่สูง และชะลอความเร็วลงรวมถึงมีถุงลมนิรภัยติดอยู่ ขณะเดียวกัน ยากิมา ก็ได้พัฒนาเสื้อผ้าและสายรัดพิเศษเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขี่ม้าและอุบัติเหตุจากเกวียน
ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังแอกชันที่มีการใช้ระเบียบความปลอดภัยและการวางแผนล่วงหน้าของคิวบู๊ได้เป็นอย่างดีก็คือ Safety Last! ในปี 1923 ที่มีนักแสดงตลกแต่ก็มีความสามารถในการแสดงผาดโผน ฮาร์โรลด์ ลอยด์ (Harold Lloyd) เป็นผู้แสดง และฉากที่เป็นตำนานก็คือภาพที่เขาห้อยโหนอยู่ที่นาฬิกาบนตึกสูง ต่อมาเมื่อเริ่มมีคนให้ความสนใจภาพยนตร์แอกชันมากขึ้น ความยิ่งใหญ่อลังการในการออกแบบฉากก็ต้องเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน และฉากที่กลายเป็นส่วนประกอบหลักของหนังแอกชันจนถึงปัจจุบันก็คือ การขับรถไล่ล่ากันบนท้องถนนกลางเมืองใหญ่ (บางเรื่องเข้าป่าไปเลย) ก็ต้องขอบคุณละครแนวอาชญากรรมเรื่อง Thunder Road ในปี 1958 ที่สร้างฉากการไล่ล่าบนถนนได้อย่างสมจริงและน่าลุ้นระทึกจากการประสานงานของ แครี ลอฟติน (Carey Loftin) และทีมงาน
ฮาร์โรลด์ ลอยด์ (BBC)
ด้วยความที่ภาพยนตร์หลายเรื่องหลังจากนั้นต้องการเพิ่มฉากแอกชันที่ดูมีความเสี่ยงเข้าไปมากขึ้น ทำให้ในปี 1961 ได้มีการก่อตั้ง Stuntmen's Association of Motion Pictures ขึ้น เพื่อลดจำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตของสตันท์แมน ด้วยการจัดการฝึกอบรมให้ทุกคนมีความเป็นมืออาชีพและแสดงฉากแอกชันได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ทิ้งความสมจริง
แม้ต้องแสดงฉากเสี่ยงตาย แต่สุดท้ายกลับถูกลืม ?
“มันแปลกเมื่อคุณเข้าฉาก และพวกเขาก็ตกอยู่ในอันตรายเพื่อคุณ พวกเขาเล่นเป็นตัวละครของคุณ เป็นนักแสดงและสมาชิกของ SAG (Screen Actors Guild) ด้วย แต่ในกรณีของพวกเขา พวกเขาต้องหายตัวไปในเงามืด” ไรอัน กล่าวกับ BBC ก่อนที่จะอธิบายเพิ่มเติมพร้อมกับตั้งคำถามว่า
“สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้ดี ไม่ใช่แค่การตีความถึงความเสี่ยงทางร่างกายที่สตันท์แมนบางคนได้รับ แต่เป็นการนำเสนอถึงการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจหรืออารมณ์ด้วย และนักแสดงเหล่านั้นจะต้องเป็นอย่างไรในเมื่องานของพวกเขาคือรับความเสี่ยงทั้งหมดของนักแสดงที่พวกเขาเข้ามาแสดงในฉากผาดโผนให้ แต่กลับต้องปิดบังตัวตนและไม่ได้รับเครดิตเลยเหรอ”
ในภาพยนตร์ทำให้เห็นว่าช่วงที่โคลท์กลับมารับงานสตันท์ในรอบ 18 เดือน เขาได้รับบทบาทที่ท้าทายและมีเดิมพันสูงเป็นอย่างมาก ซึ่ง เดวิด ได้เล่าว่า “โคลท์ที่คุณได้เห็นในช่วงที่เขากลับมาทำงานตอนแรกนั้น นอกจากจะมีสภาพโทรมเล็กน้อยแล้ว ยังมีความวิตกกังวลอีกด้วย ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพจิตใจของเขาด้วย”
ด้าน โลแกน ฮอลลาเดย์ (Logan Holladay) หนึ่งในสตันท์ของไรอันที่มีด้วยกันทั้งหมด 4 คน บอกกับ BBC ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “นี่คือจดหมายรักถึงกลุ่มเพื่อนนักแสดงผาดโผน” ส่วน เบน เจนเกน (Ben Jenkin) สตันท์แมนอีกคนกล่าวเสริมว่า “เราต้องการรวมเอาทุกแง่มุมของการแสดงผาดโผนไว้ในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรถขับรถตีลังกา การตกจากที่สูง การต่อสู้ การถูกไฟไหม้ และอื่นๆ” ซึ่งทุกอย่างที่เบนกล่าวมา เราจะได้เห็นมันอยู่ใน “The Fall Guy” ทั้งหมด เราจะได้เห็นโคลท์ต้องโหนสลิงที่มีความสูง ปีนตึก กระโดดข้ามตึก ขับรถวิบาก รวมถึงการต่อสู้แบบตัวต่อตัว
ที่สำคัญสิ่งที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับ ทีม The Fall Guy ก็คือการได้รับสถิติใหม่จากกินเนสส์เวิลด์ เรคคอร์ดส์ ในโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยฉากที่โคลท์ขับรถตีลังกาได้ถึง 8 ครั้งครึ่ง จากการขับเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการพลิกตัวขึ้นไปบนอากาศได้ 8 ครั้งครึ่ง โดย โลแกน เป็นสตันท์ที่ขับรถในฉากนี้ และถือเป็นเกียรติที่โคลท์ได้รับจากภาพยนตร์ที่เขากำลังถ่ายอยู่เช่นกัน
แต่ในช่วงของการฝึกซ้อม โลแกน สามารถสร้างสถิติได้ที่ 7 ครั้ง ซึ่งเขาอธิบายว่าจำเป็นจะต้องเลือกรถที่มีความสูงและมีความกว้างมากพอสำหรับการพลิกตัว และเมื่อพบจุดสมดุลของรถแล้วก็จะต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเข้าไป แต่หลังจากนั้นทั้งหมดก็จะขึ้นอยู่กับเทคนิคการขับรถของสตันท์แมน ที่ต้องคำนวณความกดอากาศ แรงเหวี่ยง รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่จะกำหนดให้รถลอยขึ้นจากพื้น
แม้ว่าการแสดงผาดโผนเหล่านี้อาจมีให้เห็นเพียงไม่กี่นาทีหรือไม่กี่วินาทีต่อฉาก แต่ก็ใช้เวลาวางแผนนาน 5 เดือน และโลแกนยังมองว่าแม้ว่ามันจะอันตรายแต่มันก็เป็นศิลปะ ในส่วนของการแสดงฉากที่ต้องตกจากที่สูงนั้น เบน เล่าว่า เขาต้องฝึกซ้อมอยู่หลายครั้งในระดับความสูงที่ต่างกัน ความเร็วที่ต่างกัน เพื่อให้แน่ใจว่าระบบทำงานได้ดี “ทุกอย่างที่คุณเห็นในภาพยนตร์ เป็นผลมาจากการคำนวณ การฝึกซ้อม และการวางแผนความปลอดภัย” เบนกล่าว
ใน “The Fall Guy” ไรอันมีสตันท์ถึง 4 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีทักษะเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไปเพื่อสร้างตัวละคร “โคลท์” สตันท์แมนที่มีความสามารถรอบด้านอันน่าทึ่งให้ออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด
ไรอัน กอสลิง, แอรอน เทย์เลอร์-จอห์นสัน, จัสติน อีตัน และ เบน เจนเกน (pinkvilla)
ที่ผ่านมาในงานประกาศรางวัลออสการ์แม้ว่าจะมีรางวัลเกี่ยวกับการบันทึกเสียง เทคนิคภาพ หรือเอฟเฟกต์พิเศษอื่นๆ แต่สำหรับ “สตันท์แมน” กลับยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการให้ถูกบรรจุเป็นรางวัลสาขาใดสาขาหนึ่ง แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีสตันท์แมนได้รับรางวัลออสการ์กิตติมศักดิ์จากผลงานที่โดดเด่นในอาชีพของพวกเขา ทำให้ในที่ผ่านมีการรณรงค์เพื่อให้มีการมอบรางวัลให้กับสตันท์แมนยอดเยี่ยมแห่งปีเทียบเท่ากับนักแสดงและทีมงานประเภทอื่นๆ
“ภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องที่ได้รับรางวัลจะมีผลงานของพวกเขาในทุกประเภท จากส่วนที่ยากจะมองเห็นได้ ในพื้นที่ของภาพยนตร์แอกชัน สตันท์แมนและฉากแอกชันที่พวกเขาออกแบบก็ยังคงสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์” ไรอันและเอมิลี่ ได้กล่าวไว้ในงานประกาศรางวัลออสการ์เมื่อเดือน มี.ค. 2024 ที่ผ่านมา
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าฮอลลีวูดจะยอมรับการมีตัวตนของเหล่าสตันท์แมนหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีถ่ายทำภาพยนตร์จะทำได้สมจริงมากแค่ไหน แต่ก็จะไม่มีอะไรที่เหมือนกับการแสดงที่เหมือนกับการเดิมพันชีวิตอันน่าทึ่งของเหล่าสตันท์แมนที่ต้องดึงเอาความสามารถของตัวเองออกมาเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความสมจริง นอกจากนี้ดรูว์ยังพูดในฐานะคนเขียนบทด้วยว่า งานของผู้กำกับ มือเขียนบท นักแสดง และทีมงานคนอื่นๆ คือการโน้มน้าวผู้ชมรู้สึกเหมือนว่าภาพยนตร์นั้นอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง และการแสดงผาดโผนคือจุดสุดยอดของภาพยนตร์เรื่องนั้น พร้อมทั้งอธิบายต่อว่า “ตราบใดที่เรายังเชื่อว่าอาจมีใครสักคนได้รับบาดเจ็บ มันก็จะยิ่งน่าตื่นเต้นมากขึ้นตามสัญชาตญาณบางอย่างของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่ามันเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงผาดโผนจริงๆ อยู่บนจอ”
สำหรับ “The Fall Guy” ภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวชีวิตที่ต้องเสี่ยงตายของ “สตันท์แมน” ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ลืมเล่าถึงเรื่องราวอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวไปด้วยพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังมีบางมุกที่อ้างอิงถึงเรื่องราวอื่นๆ ในวงการบันเทิงอีกด้วย ทั้งเพลง มุกตลก หรือแม้แต่หมาสายบู๊ที่ต้องออกไปสู้พร้อมกับโคลท์ที่มีชื่อเดียวกับนักแสดงชาวฝรั่งเศส “ฌอง-คล็อด” ดังนั้นสำหรับบางคนที่ไม่ใช่คอภาพยนตร์เมื่อดูจากตัวอย่างแล้วอาจจะมองว่าเนื้อหาคงไม่มีอะไรมากนัก แต่แท้จริงแล้วมีอะไรที่ซ่อนอยู่มากมาย และยังรอให้อีกหลายคนไปดูเพื่อเข้าใจชีวิตของสตันท์แมนมากขึ้น เพราะบางคนอาจมองว่าสตันท์แมนได้รับบาดเจ็บทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งพวกเขาก็บาดเจ็บทางจิตใจได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล : BBC