‘คำศัพท์’ ฮิตติดปากชาวโซเชียล รับ ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ 2567’
“วันภาษาไทยแห่งชาติ” ถือเป็นฤกษ์ยามงามดีที่ กรุงเทพธุรกิจ” จะรวบรวม ศัพท์ฮิต 15 คำ ที่นิยมใช้ในโลกออนไลน์ประจำปี 2567 มาให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความหมาย
“วันภาษาไทยแห่งชาติ 2567” ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นฤกษ์ยามงามดีที่ กรุงเทพธุรกิจ” จะรวบรวม คำศัพท์ฮิต 15 คำ ที่นิยมใช้ในโลกออนไลน์ประจำปี 2567 มาให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความหมาย และลองนำไปใช้ตามจะได้ไม่ตกเทรนด์ โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรได้ดังนี้
แก้วมังกร
ก่อนหน้านี้มีคำว่า “เม็ดเยอะ” ใช้กับคนที่เรื่องมาก สันนิษฐานว่าจากคำว่าหมกเม็ด และได้วิวัฒนาการมาเป็นคำว่า “แก้วมังกร” ซึ่งเป็นขั้นกว่าของเม็ดเยอะ เพราะแก้วมังกรเป็นผลไม้ที่เต็มไปด้วยเมล็ดนั่นเอง เหมาะสำหรับใช้กับคนที่เรื่องมาก โน่นก็ไม่เอา นี่ก็ไม่ได้ มีดีเทลมากมายไปหมด
อีกกรณีหนึ่ง ทั้งแก้วมังกรและเม็ดเยอะ จะหมายถึงคนที่มีเรื่องอยากจะเล่าให้ฟังมากมาย แต่ก็ไม่เล่าสักที ทำเป็นลีลา ท่ามาก ขออุบเอาไว้ก่อน เดี๋ยวไม่ตื่นเต้น
จริงหรือเค้ก
ในช่วงหนึ่งที่คลิปวิดีโอประเภทให้ทางว่าของต่าง ๆ ที่เห็นในคลิปนั้นเป็นของจริงหรือเค้ก โดยใช้ชื่อว่า “Real or Cake” (จริงหรือเค้ก) ได้รับความนิยมอย่างมาก จน “Netflix” เอาไปทำรายการ “Is It Cake?” เกมโชว์ที่ให้ทายว่าชิ้นไหนคือของจริง ชิ้นไหนเป็นเค้กกันแน่ และเทรนด์นี้ก็เข้ามาในประเทศไทยโดย babyjolystar เบบี้โจลี่สตาร์ ติ๊กต็อกเกอร์ชื่อดังนำมาทำเป็นคอนเทนต์แนวพาโรดี้ในชื่อ “จริงหรือเค้ก” ซึ่งภายหลังคำนี้ก็กลายเป็นคำฮิต โดยใช้ในความหมายว่า นี่คือเรื่องจริงหรือล้อเล่น
ใจฟู
“ใจฟู” เป็นคำพูดดิดปากของ “คัลแลน” และ “พี่จอง” ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีใต้ จากช่อง “컬렌 Cullen HateBerry” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากแฟน ๆ ชาวไทย ล้านแตกทุกคลิปภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากวล็อกท่องเที่ยวประเทศไทยของพวกเขา ทำให้เห็นเสน่ห์ ความน่ารัก เป็นกันเอง ของคัลแลน พี่จอง และผองเพื่อนจากการท่องเที่ยว
สำหรับ “ใจฟู” มีความหมายว่า ดีต่อใจ ได้ดังใจ รู้สึกว่าใจมันพองฟูขึ้นมา เป็นคำที่มีมานานแล้ว แต่ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งเพราะคัลแลนและพี่จองนั่นเอง และขณะเดียวกันแฟน ๆ ก็ใจฟูทุกครั้งที่ได้ดูคลิปของพวกเขา
ชั้น G
เวลาไปห้างสรรพสินค้า เรามักจะเห็นว่าชั้นล่างสุดอยู่ระดับเดียวกับถนนจะถูกเรียกว่า “ชั้น G” ซึ่งมาจากคำว่า Ground Floor ส่วนชั้นถัดมาจะเรียกว่า Mezzanine Floor หรือ ชั้น M ซึ่งแปลว่า ชั้นลอย หรือชั้นทางเขาหลัก เนื่องจากเป็นทางเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้มีผู้เข้าใช้งานมากที่สุด ส่วนชั้น 1 จะเริ่มนับตั้งแต่ชั้นที่สูงกว่าชั้น M เป็นต้นไป (แต่เพราะเมืองไทยแปลว่าอิสระ ห้างหรืออาคารบางแห่งอาจจะมีวิธีการเรียกที่แตกต่างออกไปจากนี้)
ด้วยชั้น G เป็นชั้นที่อยู่ล่างสุด (ไม่นับชั้นใต้ดิน) เมื่อนำมารวมกับครีเอทของคนไทย ชั้น G จึงมีความหมายเพิ่มเติม กลายเป็นคำด่าว่า ชั้นต่ำ นั่นเอง
เดี๋ยวมันจะไอ้นั่น
รอบปีที่ผ่านมาคงไม่มีใครไม่รู้จัก “ป้าติ๋มตักแกง” เจ้าของร้านข้าวแกงแถวย่านบางลำพู ที่กลายเป็นไวรัล นอกจากอาหารที่ขายจะน่ากินแล้ว ป้าติ๋มมีลีลาการขายอาหารที่ไม่เหมือนใคร พร้อมการเจรจาโอภาปราศรัยกับลูกค้า ไม้เด็ดที่ทำให้ลูกค้าติดใจ
หนึ่งในคำพูดติดปากของป้าติ๋ม คือ “เดี๋ยวมันจะไอ้นั่น” ซึ่งก็ไม่เหมือนจะไม่มีใครเข้าใจว่า ไอ้นั่นของป้าติ๋มแปลว่าอะไร แต่ชาวเน็ตก็ซื้อวลีนี้ของป้า จนนำมาใช้ทั่วโซเชียล กลายเป็นประโยคพูดเพื่อละไว้ในฐานที่เข้าใจ (แต่ไม่มีใครเข้าใจ)
ติดแกลม
อีกหนึ่งคำที่เห็นได้บ่อยในโซเชียลตอนนี้ คือ “ติดแกลม” ซึ่งแกลมในที่นี้มาจากคำว่า glamorous (แกลมเมอรัส) ที่แปลว่า ดึงดูดใจ, มีเสน่ห์ ดังนั้นติดแกลมจึงถูกใช้อธิบายรูปแบบการใช้ชีวิตแบบหรูหรา มีระดับ ดูลักชูรี ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าหน้าผม ไลฟ์สไตล์ การทานอาหาร การท่องเที่ยว
ปัจจุบัน มักมีคนพิมพ์ติดแกลมผิดเป็น “ติดแกรม” ด้วยเช่นกัน ซึ่งผิดความหมาย เพราะ “แกรม” คือหน่วยหน่วยที่ใช้วัดมวลกระดาษ
แต่ละมื้อแต่ละ day
TikTok เข้ามามีบทบาทกับสังคมในหลายด้าน รวมไปถึงอิทธิพลด้านคำศัพท์ด้วย ซึ่ง “แต่ละมื้อแต่ละ day” ก็เป็นอีกคำที่เกิดขึ้นจาก TikTok ด้วยเช่นกัน โดยคำนี้มีที่มาจากผู้ใช้ TikTok ที่ใช้ชื่อว่า Psychopitchy ผู้บ่าวลอนดอน ที่พูดว่า “แต่ละมื้อ แต่ละ day (แต่ละวัน) have แนวมาให้ think (มีแต่เรื่องมาให้คิด) 1 วันนี่ 1000 situation (หนึ่งวันพันเหตุการณ์) ฉันละปวด head กลุ้ม Heart (ฉันละปวดหัวกลุ้มใจ)”
ชาวเน็ตจึงนำเอาคำว่า แต่ละมื้อแต่ละ day มาใช้บ่นแบบขำ ๆ กับชีวิตที่เจอแต่ความวุ่นวาย แต่ละวันมีเรื่องราวชวนปวดหัว ถาโถมเข้ามาแบบไม่จบไม่สิ้น
ตำรวจ
“ตำรวจ” ในความหมายของชาวโซเชียล โดยเฉพาะชาวทวิตเตี้ยน (ที่ปัจจุบันกลายเป็น X ไปแล้ว) ไม่ได้หมายถึงผู้พิพักษ์สันติราษฎร์ จะหมายถึง คนที่คอยจับผิด สั่งสอนคนอื่น ซึ่งเป็นคำในแง่ลบ เชิงแซะ ส่วนมากตำรวจมักจะลงในกรณี มีการสวนโพคู่ชิป ตรวจการร้องสดของศิลปิน ตรวจการใช้ภาษา เช่น พิมพ์สระเอ 2 ตัวแทนสระแอ ตรวจของแจก (giveaway) ตามคอนเสิร์ต
เดิมทีคำว่าตำรวจนี้ มาจาก “ตำรวจด้อม” ที่คอยควบคุมไม่ให้สาววายชงจิ้น หรือฟินกับโมเมนต์คู่ชิปศิลปินมากเกิน ซึ่งหลายครั้งตำรวจที่ว่านี้ ก็คือ ตัวศิลปินเอง ที่จับได้ (หรือเห็นคอนเทนต์) ของแฟนคลับที่ชงจิ้น
มองให้ลึก
“แก๊งหิ้วหวี” ถือเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดคำศัพท์ฮิตหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น “นอยด์” “จะเครซี่” “โฮ่ง” และล่าสุด “มองให้ลึก” ซึ่ง “มิกซ์ เฉลิมศรี” ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่าเป็นการพยายามมองหาข้อดี ทั้งที่ไม่มีอยู่เลย โดยคำนี้กลายเป็นคำติดปากของ “เอแคลร์ จือปาก” จนลุกลามไปทั่วโลกโซเชียล
ทั้งนี้มองให้ลึกก็มีความหมายว่า ดูให้ละเอียดถี่ถ้วน อย่างรอบคอบได้เช่นเดียวกัน
มาดื่มมาดริงค์
วันที่ 4 มีนาคม 2567 กลายเป็นวันสำคัญที่จ้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของกลุ่ม LGBTQ+ ชาวไทย ที่เกิดเหตุการณ์ “วันกะเทยผ่านศึก” ที่ “ซอยสุขุมวิท 11” หลังจากที่มีการนัดหมายจากเครือข่ายกะเทยไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้มารวมตัวกันที่ด้านหน้าโรงแรมที่พักของกะเทยฟิลิปปินส์ ที่เข้าทำร้าย ชิงทรัพย์และโพสต์เชิงดูถูกเหยียดหยามกะเทยไทย
จนทำให้เกิดการรวมตัวกันของกะเทยและกลุ่ม LGBTQ+ ชาวไทยนับหมื่นคน และทำให้ #สุขุมวิท11 ติดเทรนด์ข้ามวันข้ามคืน เกิดคำศัพท์ฮิตขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “มาดื่มมาดริงค์” ที่แปลว่า มาเที่ยวสังสรรค์ ซึ่งมาจากการให้สัมภาษณ์ของพี่กะเทยไทยคนหนึ่ง ว่า
“พวกหนูมาเดินเล่น เที่ยวสเปซ เที่ยวนู่นเที่ยวนี่ ละมามีปัญหาอะไร พวกฉันเนี่ยมาดื่มมาดริงค์ พวกหนูมาดื่มมาดริ๊งก์ ทำไมต้องทำอย่างนี้กับพวกเราด้วย ไม่ใช่บ้านแก!”
รับจบ
“รับจบ” หมายถึง การที่ยอมรับผิด หรือรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ เช่น งาน ปัญหา มาไว้ที่ตัวเอง เพื่อทำให้เรื่องจบ ไม่มีปัญหาบานปลาย แม้ว่าความจริงแล้วไม่ได้เป็นคนผิด หรือไม่ใช่หน้าที่ของตนเองก็ตาม แต่ไม่เป็นไรเรื่องเหล่านี้ พร้อมรับไว้เองคนเดียว
แล้วเต่าทะเลล่ะ?
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน การลดใช้พลาสติกจึงเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยในรายการ “ไกลบ้าน” ทางช่อง “FAROSE” ได้เสนอวิธีการรณรงค์ให้คนเลิกใช้พลาสติก ด้วยการพูดประโยคว่า “แล้วเต่าทะเลล่ะ?” เพื่อเป็นการเตือนสติให้คิดถึงสิ่งแวดล้อม เวลาจะใช้หลอดพลาสติก เพราะว่าเต่าทะเล มักจะถูกหลอดพลาสติกไชเข้าจมูก และทำให้พวกมันใช้ชีวิตลำบาก
แม้ว่าประโยคนี้จะพูดมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง และถือว่าเป็นหนึ่งในวลีฮิตจากจักรวาลฟาโรส
สมองไหล
เดิมทีคำว่า “สมองไหล” ถูกใช้เป็นคำแปลของ “brain drain” ซึ่งเป็นภาวะที่คนมีความรู้และทักษะเฉพาะทางแห่ย้ายออกจากประเทศ เนื่องจากความขัดแย้ง การขาดโอกาส ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง หรือความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้อพยพมักจะนำบางส่วนของการฝึกซึ่งได้รับการสนับสนุนของรัฐบาลไปด้วย โดยมักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา
แต่ปัจจุบัน สมองไหล ถูกนำมาใช้ในความหมายอื่น ๆ โดยมักใช้คู่กับคำว่า “สาววาย” เป็น “สาววายสมองไหล” หมายถึง อาการฟินจากการเสพโมเมนต์คู่ชิปของตนเอง และจินตนาการต่อไปต่าง ๆ นานา จนไม่เหลือสมองไว้ควบคุมความคิด เหมือนไม่มีสมองเหลืออยู่
อีกกรณีหนึ่งใช้ในกรณีที่สาววายจิ้นไปเรื่อย ชงโมเมนต์ทุกอย่าง สร้างแกทเชื่อมโยง คิดค้นความสัมพันธ์ขึ้นมาเอง บ้างก็ว่าเพ้อเจ้อจนสมองไหลออกมา
อย่าล้อเล่นกับระบบ
“อย่าล้อเล่นกับระบบ” หมายถึง อย่าท้าทาย อย่าลองดี เพราะทุกอย่างบนโลกใบนี้ต่างมีการทำงานที่เป็นระบบของมันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเข้าไปทำลาย หรืออยากจะทดสอบระบบต่าง ๆ จึงอาจจะสร้างผลเสียให้แก่ตัวเราได้ ในหลายครั้งการอยากลองดีอาจจะไม่ได้ผลดีกับเราเลย
อุ
หากเลื่อนไปดูคอมเมนต์ของข่าวหลาย ๆ ข่าว จะเห็นคอมเมนต์ว่า “อุ” กันเป็นแถบ ซึ่งอุในที่นี้เป็น คำย่อของ คำว่า “อุบาทว์” นั่นเอง พอย่อแล้วก็ดูซอฟต์ลง แต่ให้ความหมายเหมือนเดิม บางคนก็ขยันเปลี่ยนเป็น “อุ฿” ก็พอมีให้เห็นอยู่เช่นกัน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจรวบรวม (28 ก.ค. 2567)
กราฟิก: รัตนากร หัวเวียง