กำหนดการบำเพ็ญกุศล "ชรินทร์ นันทนาคร" เปิดประวัติ ผลงานเพลงดังในตำนาน
เผยกำหนดการบำเพ็ญกุศล "ชรินทร์ นันทนาคร" ครูเพลงลูกกรุง และศิลปินแห่งชาติ เปิดประวัติ - ผลงานเพลงดังในตำนาน
สุดอาลัย นายชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541 ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2567 สิริอายุ 91 ปี ณ โรงพยาบาลตำรวจ เวลาประมาณ 02.23 น. หลังเข้ารับการรักษามานานหลายเดือนด้วยโรคชรา
กำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ "ชรินทร์ นันทนาคร" ศิลปินแห่งชาติ ณ ศาลา 9 และ 11 วัดธาตุทอง พระอารามหลวง แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567
- เวลา 15.00 น. พิธีรดน้ำศพ
- เวลา 17.00 น. พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
- เวลา 18.00 น. สวดพระอภิธรรม
วันพฤหัสบดีที่ 22 - วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567
- เวลา 18.30 น. สวดพระอภิธรรม
*โดยในส่วนของพิธีพระราชทานเพลิงศพจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร
ประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ คู่ชีวิตของ เพชรา เชาวราษฎร์ อดีตนางเอกชื่อดัง เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2476 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้เข้ามาศึกษาต่อที่อัสสัมชัญ คอมเมิร์ส กรุงเทพฯ เป็นนักกีฬาฟุตบอลและรักบี้ของโรงเรียน แต่ประสบอุบัติเหตุจนต้องเลิกเล่นกีฬาทุกชนิด
จากนั้น ชรินทร์จึงหันมาฝึกหัดการร้องเพลง กับ นายไศล ไกรเลิศ ครูเพลงไทยสากลคนสำคัญในยุคนั้น จนได้บันทึกแผ่นเสียงเพลง "ดวงใจในฝัน" เมื่อ พ.ศ. 2494 และจากนั้นก็ได้บันทึกแผ่นเสียงอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ เพลงนกเขาคู่รัก, สัญญารัก, ง้อรัก, เชื่อรัก, เรือนแพ, แสนแสบ, ท่าฉลอม, หยาดเพชร, ผู้ชนะสิบทิศ, ทาสเทวี, อาลัยรัก และ ข้าวประดับดิน ฯลฯ
เกียรติยศที่ได้รับ
สำหรับเกียรติยศที่ได้รับ อาทิ รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง "อาลัยรัก" ได้รับรางวัล กิติคุณสัมพันธ์ "สังข์เงิน" สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเป็นผู้ริเริ่มและร่วมสร้างสรรค์เพลง "สดุดีมหาราชา"
นายชรินทร์ เป็นนักร้องเพลงไทยสากล ที่มีเอกลักษณ์การขับร้องเพลงเป็นของตนเองในแบบฉบับของเพลงไทยเดิมผสมผสานกับเพลงไทยสากล ที่มีท่วงทำนองสูงต่ำ เอื้อนด้วยนำเสียงที่พลิ้วมีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน เป็นนักร้องที่ใช้น้ำเสียงสร้างศิลปะการขับร้องให้แก่ประชาชนมาอย่างยาวนาน ผลงานเป็นอมตะสืบสานมาจนปัจจุบัน
ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงไทยสากล) เมื่อปี พุทธศักราช 2541
สวธ. แจงสวัสดิการช่วยเหลือกรณีศิลปินแห่งชาติเสียชีวิต
ทั้งนี้ นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ในกรณีศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตจะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือตามกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ดังนี้
- มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท
- ค่าเครื่องเคารพศพ 3,000 บาท
- ค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท