40 ปี ‘หอภาพยนตร์’ ต้นธารซอฟต์พาวเวอร์ภาพยนตร์ไทย
4 ทศวรรษ ‘หอภาพยนตร์’ กับการทำหน้าที่อนุรักษ์ต้นธาร ‘ซอฟท์พาวเวอร์’ ด้านภาพยนตร์ของไทย โดยเฉพาะสื่อภาพเคลื่อนไหวที่สร้างโดยคนไทยหรือเกี่ยวข้องกับประเทศไทย
เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี การก่อตั้งหอภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทางหอภาพยนตร์ได้เปิดบ้านโชว์การอนุรักษ์ฟิล์มและสื่อภาพเคลื่อนไหว งานหลักขององค์กรซึ่งถือเป็นรากฐานของซอฟต์พาวเวอร์และการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย
นางสาวชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า หอภาพยนตร์(องค์กรมหาชน) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีความเชื่อและความศรัทธา เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ไว้เป็นมรดกภาพยนตร์และบันทึกความทรงจำของประวัติศาสตร์ ได้ร่วมมือกันผ่านกระบวนการต่อสู้มากมายกว่าจะมาถึงวันนี้ จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศด้านประสบการณ์ มาตรฐาน และความสามารถ
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน และโดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์
โดยเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ของไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่สมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ FIAF Congress 2024 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และนับเป็นหมุดหมายสำคัญในวาระฉลอง 40 ปีของการต่อตั้งหอภาพยนตร์ฯ
การได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน FIAF Congress 2024 นับเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรฯ เพราะภายในงานมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลกที่หลังจากได้ร่วมงานแล้วต่างให้การยอมรับหอภาพยนตร์ ของไทยว่าทำงานด้านอนุรักษ์ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ
“คงไม่มีอะไรน่ายินดีไปกว่า การได้รับการยอมรับของคนในวงการเดียวกัน จากการทำงานที่เราให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านการอนุรักษ์มาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้เกิดผลงานที่ดี สามารถอนุรักษ์สิ่งต่าง ๆ ได้จำนวนมาก เมื่อเพื่อนในวงการที่มาจากยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา ฯลฯ มาเห็นด้วยตาตัวเอง เมื่อทุกคนกลับไปแล้วเกิดการพูดถึง บอกต่อ นี่คือซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งที่ไม่ต้องโปรโมท”
ต้นธารซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์
นางสาวชลิดากล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หลายคนมองที่ปลายทาง แต่งานของหอภาพยนตร์เป็นต้นธารของซอฟต์พาวเวอร์ เพราะงานของหอภาพยนตร์มีสาระอยู่ที่การอนุรักษ์ภาพยนตร์ และการนำภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่มาเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ เสริมสร้างความหลากหลายของจินตนาการและรสนิยม
โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งให้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ (audience development) โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน เช่น เด็กบางคนอาจมีประสบการณ์การดูหนังครั้งแรกที่นี่ ก่อนเข้าดูหนังจึงมีการสอนเรื่องมารยาทของการดูหนังร่วมกับคนอื่น
รวมไปถึงมีกิจกรรมชวนพูดคุยหลังดูหนัง เพื่อรับฟังสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากหนัง โดยไม่มุ่งเน้นการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้ชมรุ่นเยาว์รู้จักคิดไตร่ตรองกับสิ่งที่เห็นอันเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่แข็งแรง และเป็นกลไกลสำคัญซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถต่อยอดในเรื่องเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในมุมผู้สร้างและผู้ชมภาพยนตร์ ซึ่งสำหรับกิจกรรม “โรงหนังโรงเรียน” นี้ได้รับความนิยมและมีคิวเต็มและยาวไปถึงอีกสองเดือนข้างหน้าแล้ว
อนุรักษ์สื่อภาพเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
นอกจากนี้ บทบาทและหน้าที่หลักของหอภาพยนตร์ฯ ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา คือการทำหน้าที่อนุรักษ์สื่อภาพเคลื่อนไหว โดยให้ความสำคัญกับผลงานที่สร้างโดยคนไทยหรือเกี่ยวข้องกับประเทศไทย และไม่เฉพาะภาพยนตร์ที่ฉายในโรงเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาพยนตร์สารคดี หนังข่าวต่าง ๆ หนังที่สร้างจากหน่วยงาน หรือหนังบ้าน (หนังที่ถ่ายกันเองในครอบครัว เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ภาคประชาชน)
ในยุคแรก ๆ หอภาพยนตร์จะเก็บทุกอย่างที่เป็นฟิล์มเพราะเป็นวัตถุถ่ายทำดั้งเดิมและมีโอกาสเสื่อมสลายง่าย โดยเน้นการเก็บงานที่เป็นต้นฉบับ แต่เมื่อสื่อเปลี่ยนรูปแบบในยุคต่อมาเป็นเทป และเป็นไฟล์ดิจิตอล ฮาร์ดดิสก์ ฮาร์ดไดรฟ์ ต่าง ๆ หอภาพยนตร์ก็ยังคงเดินหน้าทำงานเก็บรักษาและใช้หนังเหล่านี้ในกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับประชาชน
“เราค่อนข้างปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอลได้เร็ว แม้ด้านหนึ่งจะเป็นนักอนุรักษ์ ดูโบราณ แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีการอนุรักษ์ด้านดิจิตอลมีกระแสมาสักระยะหนึ่งแล้วและเราก็ปรับตัวเข้ากับองค์ความรู้ในเชิงสากลมาก่อนแล้ว ประกอบกับเรามีเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้ทำงานด้านบูรณะและทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ด้วยตัวเอง เมื่อมาผนวกกับประสบการณ์และความสามารถที่มี จึงไม่มีปัญหาเรื่องการอนุรักษ์สื่อในยุคดิจิตอล หอภาพยนตร์ไม่ได้เพียงแค่เก็บหนังเก่าในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เก็บรักษาสื่อภาพเคลื่อนไหวที่สร้างขึ้นในปัจจุบัน เพราะประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ยังคงเดินต่อไปตลอดเวลา” นางสาวชลิดากล่าวทิ้งท้าย