“หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” 45 ปีแห่งการรักษาคุณภาพ สืบทอดความอร่อยตำรับขนมไทย
ประวัติร้านขนมไทยชื่อดัง “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” จากหาบเร่สู่ห้องแถว เปิดเคล็ดลับความอร่อยขนมไทยโบราณสูตรคุณย่า กว่า 45 ปีแล้ว ทำไมหน้าร้านมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีสาขา ไม่ขึ้นห้างฯ เหมือนเป็นร้านลับๆ แต่คนก็ตามไปกิน
หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย เป็นชื่อร้านขนมไทยเจ้าอร่อยร้านดังของกรุงเทพฯ อีกหนึ่งร้านที่นักชิมขนมไทยรุ่นใหญ่รู้จักในความอร่อยเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา ใครได้ชิมมักติดใจในความกลมกล่อมของรสชาติ เนื้อสัมผัสและกลิ่นหอมของขนม กล่าวได้ว่า ถ้าอยากกินขนมไทยรสชาติคลาสสิกแบบไทยดั้งเดิม ขนมไทยร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” ไม่ทำให้ผิดหวัง
เบื้องหลังความอร่อยของขนมไทยแต่ละประเภทแต่ละชิ้นของ “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” ไม่เพียงแต่เกิดจากความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบ ซึ่งเป็น “วัตถุดิบธรรมชาติ” แต่ยากขึ้นไปอีกตรงที่ต้องรู้จักและสังเกตความต่างของวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ได้มาในแต่ละช่วงเวลาและฤดูกาล เป็น “สูตรเด็ด” และ “เคล็ดลับ” ที่ผู้ก่อตั้งร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” ส่งต่อถึงคุณ “อ๋อ” สุธาสินี บุญสมบัติ ทายาทรุ่น 3 ผู้สืบทอดร้านในขณะนี้
เจ้าของสูตรขนมไทยร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” คือคุณ “บุญช่วย บุญสมบัติ” มีศักดิ์เป็น “ย่าเล็ก” ของคุณ อ๋อ สุธาสินี บุญสมบัติ
“เจ้าของสูตรขนมไทยของที่ร้านคือคุณย่าบุญช่วยค่ะ คุณย่าชอบทำอาหารชอบทำขนม คิดค้นหัดทำ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จนทำขนมได้อร่อย พื้นเพคุณย่าเป็นชาวสมุทรปราการ เมื่อก่อนอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ พี่น้องก็ช่วยกันทำขนม มีคุณย่าใหญ่คุณย่าเล็กช่วยกันทำ แต่ไม่มีร้าน คุณย่าเล็กซึ่งก็คือคุณย่าบุญช่วยจึงรับหน้าที่หาบขนมไปขายข้างนอก” คุณอ๋อ สุธาสินี ให้สัมภาษณ์กับ “@TASTE กรุงเทพธุรกิจ”
“อ๋อ” สุธาสินี บุญสมบัติ ทายาทรุ่น 3 กับป้ายชื่อร้านดั้งเดิม
ผู้สืบทอดร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” รุ่นที่สองคือคุณ “สิริลักษณ์ บุญสมบัติ” บุตรสาวของคุณย่าบุญช่วย หรือคุณป้าของคุณอ๋อ
คุณอ๋อ สุธาสินี ย้อนประวัติร้านช่วงนี้ให้ฟังว่า คุณป้าสิริลักษณ์ช่วยคุณย่าบุญช่วยทำขนมมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นคุณป้าเห็นว่าขนมขายดีและขายได้เรื่อยๆ ไม่อยากให้คุณย่าออกไปตระเวนหาบขนมขาย ดังนั้น พอเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงไปเซ้งร้านเล็กๆ ที่ตึกแถวย่าน “ตลาดเจริญผล” ลงหลักปักฐานเปิดร้านขายขนมไทยเป็นหลักแหล่ง เป็นร้านแรกของ “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” ที่ทำทุกคนรู้จักจนทุกวันนี้
“ชื่อร้าน คุณปู่ตั้งให้ค่ะ มีความหมายว่า ความหวานของขนมเราจะได้ดำรงค์อยู่สืบต่อไปนานๆ คุณปู่คิดให้ตอนเปิดร้านแรกที่ตลาดเจริญผล นี่คือป้ายชื่อร้านป้ายแรกของเรา” คุณอ๋อกล่าวพร้อมกับหันหน้าไปยังป้ายที่ติดตั้งไว้เหนือประตูด้านในภายในร้านปัจจุบัน ซึ่งย้ายจากตลาดเจริญผลมาเปิดใหม่ที่อาคารพาณิชย์กึ่งทาวน์โฮมในซอยรามคำแหง 39 (ซอยย่อย 27) ตั้งแต่ปี 2540
เนื่องจากที่ดินเดิมของ “ตลาดเจริญผล” ซึ่งเป็นตลาดกลางขายไข่ของย่านปทุมวัน มีร้านของกินอร่อยมากมาย ถูกเวนคืนไปพัฒนาเป็น “โลตัส”
ร้าน "หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย" ในซอยรามคำแหง 39
คุณอ๋อกล่าวว่า 25 ปีที่แล้วที่คุณป้าสิริลักษณ์ย้ายร้านมาทำเลใหม่ ทั้งห่างไกลใจกลางเมืองและอยู่ในซอย คุณป้าเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ลูกค้าก็ตามหาร้านกัน คุณป้าใช้วิธีให้ลูกมือในร้านช่วยกันออกไปแจกใบปลิวแถวสนามศุภชลาศัย สามย่าน ปทุมวัน รวมทั้งโทรศัพท์เข้าไปตามรายการวิทยุช่วยโปรโมตให้หน่อยว่าร้านหวานดำรงค์ฯ ย้ายแล้ว
ก่อนเข้ามาสืบทอดดูแลร้านเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูลร่วมกับคุณป้าสิริลักษณ์ซึ่งทำขนมมาทั้งชีวิตและเริ่มมีอายุแล้ว คุณอ๋อสำเร็จการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ วิชาโทภาษาญี่ปุ่น ทำงานให้กับบริษัทน้ำมันระยะหนึ่ง จนกระทั่งถึงเวลาที่ต้องลาออกจากงานประจำเพื่อมาร่วมสืบทอดสูตรขนมไทยโบราณที่คุณย่าอุตส่าห์ลองสูตรจนอร่อยถูกปากนักชิม
ขนมชั้นใบเตยร้าน "หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย”
"วัตถุดิบธรรมชาติ" ต่างฤดูต่างรสชาติ
“ขนมไทยความยากอยู่ที่วัตถุดิบ ซึ่งเป็น วัตถุดิบธรรมชาติ น้ำตาลมะพร้าว ใบเตย น้ำดอกมะลิ มะพร้าว หรือไข่เองก็ดี ซึ่งพวกนี้เราคุมไม่ได้” คุณอ๋อ เกริ่นให้ฟังและอธิบายเพิ่มเติมถึง วัตถุดิบธรรมชาติแต่ละชนิด แม้แต่รายละเอียดเพียงเล็กน้อย ก็มีผลต่อความอร่อยของขนม
ใบเตย นอกจากความอ่อนและความแก่ของใบ ถิ่นที่ปลูกของใบเตย ก็ทำให้กลิ่น รสชาติ ความข้นใสของ “น้ำใบเตย” ไม่เหมือนกัน
“ไม่มีสูตรตายตัว ว่าใส่น้ำใบเตยสองถ้วยจะทำขนมได้อร่อยออกมาเป๊ะๆ ถ้าเราเจอใบเตยอ่อนก็เรื่องหนึ่ง ใบเตยแก่ก็อีกเรื่องหนึ่ง อันนี้ที่อ๋อว่ายาก ต้องอาศัยประสบการณ์ในการช่วยดู ถ้าใบเตยมาลักษณะนี้ เราต้องใส่น้ำใบเตยเท่าใด เราจะลดหรือเราจะเพิ่ม จึงจะได้ขนมที่อร่อยตามสูตรคุณย่า”
ใบเตยถ้าใบอ่อนเกินไป กลิ่นจะไม่หอม สีไม่สวย และมีแต่แป้ง (ในใบเตยมีแป้ง) แต่ถ้าใบเตยอ่อนแก่ได้ที่ ปลูกในถิ่นที่ดี กลิ่นจะหอมชัดมาก พอนำมาทำขนม สีจะไม่ดำ
คุณอ๋อกล่าวด้วยว่า ขนมชั้นใบเตย ของที่ร้าน ถ้าวางไว้ในรถ ก็จะหอมกลิ่นใบเตยไปทั้งคัน จนวันนี้คนจัดหาใบเตยให้ที่ร้าน ก็ยังปิดแหล่งที่มาของใบเตยเป็นความลับ
ขนมกล้วย มีส่วนผสมของกะทิ
มะพร้าว ร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” เลือกใช้มะพร้าวทับสะแกมาแต่ไหนแต่ไร และต้องดูมะพร้าวให้เหมาะกับการทำขนมแต่ละชนิดด้วย ขนมบางอย่างต้องการมะพร้าวทึนทึก ขนมบางอย่างต้องการมะพร้าวกะทิ เพราะฉะนั้นต้องดูวัตถุดิบให้เป็น ไม่ใช่มะพร้าวหนึ่งลูกทำขนมได้ทุกอย่าง
“ที่สำคัญ มะพร้าวทับสะแกที่ได้มาแต่ละรอบ มีความอ่อน-แก่ไม่เท่ากัน จึงต้องดูด้วยว่าจะปรับหัวกะทิอย่างไรให้พอดีกับสูตรขนมของเรา ไม่มีใส่(หัวกะทิ)สองถ้วยจบ” คุณอ๋อ ยกตัวอย่าง
น้ำตาลมะพร้าว “ถ้าใช้ราคาถูกลงมาหน่อย มักจะผสมน้ำตาลทราย รสชาติออกหวานแหลม ไม่หวานนวล” คุณอ๋อกล่าวและว่า น้ำตาลมะพร้าวที่ดีจะมีรสหวานแล้วออกเค็มปะแล่ม กลมกล่อม
“น้ำตาลมะพร้าวแต่ละล็อตมาไม่เหมือนกัน น้ำตาลมะพร้าวคือน้ำตาลที่มาจากธรรมชาติ ถ้าเราได้ล็อตที่น้ำทะเลหนุน น้ำตาลมะพร้าวล็อตนั้นจะเค็ม ถ้าเราใส่เยอะ ขนมเราจะเค็ม ต้องลดเกลือลง ต้องรู้จักวัตถุดิบที่มาในแต่ละครั้งว่าเป็นยังไง ต้องรู้ว่าจะลด-เพิ่มสัดส่วนตามสูตรของเรายังไง”
คุณอ๋อกล่าวด้วยว่า สูตรขนมไทยของหวานดำรงค์ฯ เป็นภูมิปัญญาของคุณย่าซึ่งเป็นหญิงไทยสมัยก่อนที่ไม่ได้เรียนสูง อาศัยทำตามผู้ใหญ่ ลองผิดลองถูก ทำขนมจนอร่อย ขณะที่คุณป้าสิริลักษณ์มีโอกาสเรียนหนังสือมากกว่า รู้หลักวิทยาศาสตร์ เรียนรู้จากการสังเกตจนเข้าใจ แล้วรวบรวมเป็นเคล็ดลับว่าต้องระวังองค์ประกอบตรงไหนบ้าง ขนมถึงจะอร่อย
ขนมหม้อแกงโบราณ
ขนมไทยโบราณ ทำตามวิธีโบราณ
ขนมบางตัวที่บ้านทำมาอยู่แล้ว แต่มีขนมบางอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน คุณย่าบุญช่วยก็ลองทำ เช่น ขนมหม้อแกง, สังขยา และ เครื่องทอง (ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน) ก็ปรับสูตรเอง
“เท่าที่คุณป้าเคยเล่า ตอนนั้นขนมก็เสียเยอะ ทิ้งแล้วทำใหม่ คุณย่าเป็นนักสู้ ไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งได้สูตรที่ต้องการ อย่าง ขนมหม้อแกงโบราณ คนที่เคยกินหม้อแกงจังหวัดดังจะบอกว่าคนละเท็กซ์เจอร์กัน ตัวนี้จะนิ่ม ฉ่ำ คุณย่ากำชับหอมเจียวต้องซอยบางๆ ห้ามซอยหนา เจียวใหม่ทุกวัน เข้ากันมาก
เครื่องทอง ต้องระวัง ถ้าทำไม่ดี จะคาว เพราะมันคือไข่เป็ดและไข่ไก่ คือการเอาไข่มาเชื่อม อยู่ที่ว่าน้ำเชื่อมข้นหรือน้ำเชื่อมใส ได้ไข่สดหรือเปล่า ถ้าไม่สด ความอร่อยก็อีกเรื่อง”
ข้าวเหนียวสังขยา "หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย"
ที่ลูกค้าถามหากันมากและ หารับประทานยากอีกหนึ่งชนิดก็คือ ข้าวเหนียวหน้านวล กับ ข้าวเหนียวสังขยา ที่ร้านยังคงวิธีการนึ่งแบบโบราณ
“ส่วนใหญ่เราจะเห็นตักข้าวเหนียวมูนแล้วตักสังขยามาโปะหน้า แต่ของเรานึ่งไปพร้อมกันเลยในถาดเดียวกัน ข้างล่างเป็นข้าวเหนียวนึ่งไปสักพักก่อน แล้วค่อยใส่ตัวสังขยา แล้วนึ่งให้สุกพร้อมกัน ข้าวเหนียวสังขยาโบราณจะทำแบบนี้ แต่ด้วยความเร่งรีบสมัยนี้จึงอาจใช้วิธีนึ่งคนละส่วน”
ปัจจุบัน ร้านขนม “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” ทำขนมไทยมากกว่า 40 ชนิด เพียงแต่ไม่ได้ทำครบชนิดทุกวัน จะมีชนิดขนมที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
ขนมอินทนิล
ลูกค้าประจำยังทราบด้วยว่า ทุกวันพฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ จะมี เมนูขนมพิเศษ ซึ่งร้านจะแจ้งเมนูให้ทราบทางโซเชียลมีเดียของร้าน เนื่องจากเป็นขนมที่ใช้เวลาทำนาน ทำทุกวันไม่ไหว เช่น ทับทิมกรอบ ขนมโค ขนมเล็บมือนาง ถั่วแปบ บ้าบิ่นโบราณ หรือไม่ก็เป็นขนมที่กำลังได้รับความนิยม
“เช่นตอนนี้ที่ลูกค้านิยมมาก อยากรับประทาน เรียกร้องตลอด คือ อินทนิล เป็นขนมไทยโบราณที่หารับประทานยาก แต่ช่วงหลังๆ ฮิตในติ๊กต็อก ลูกค้ารู้จักกันเยอะขึ้น ก็มาถามหาที่ร้านเยอะมาก
อินทนิล ทำจากแป้งหลายชนิด กวนผสมกับน้ำใบเตยที่เราคั้นสดใหม่ทุกวัน กวนจนได้เท็กซ์เจอร์ที่พอเหมาะ กินคู่กับน้ำกะทิอบควันเทียน ใส่น้ำแข็ง กินแล้วสดชื่นมาก”
ขนมชั้น หวานดำรงค์ฯ
ขนมยอดนิยมที่ทำให้นักชิมรู้จัก “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย”
คุณอ๋อกล่าวว่า ขณะที่ขนมอร่อยที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ต้องทำขายทุกวันคือ ขนมชั้น ตะโก้ เปียกปูน วุ้นกะทิ ใครมาก็ต้องมีหนึ่งใน 4 ชนิดนี้ติดมือกลับไปแน่นอน
ขนมชั้น เป็นขนมขึ้นชื่อที่สุดที่ทำให้คนรู้จักชื่อ “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” การทำ “ขนมชั้น” ประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน เห็นชิ้นเล็กๆ กินแป๊บเดียวหมดชิ้น แต่ขั้นตอนเยอะมาก
“เริ่มตั้งแต่การนวดแป้ง ต้องนวดจนกว่าจะได้ที่ แล้วแต่สูตรของแต่ละร้านว่าจะใช้สัดส่วนแป้งเท่าใด เราก็มีสูตรของเรา เพียงแต่สิ่งสำคัญต้องนวดแป้งจนได้ที่ แป้งเป็นเงามันเหนียวนุ่มแล้วเท่านั้นจึงจะใส่น้ำเชื่อม ถ้านวดเอาเร็วให้เสร็จ ขนมจะไม่เหนียว แต่จะแหยะๆ พอจะผสมกับกะทิก็ต้องมีช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าใส่เร็วเกินไป ขนมก็เละ ไม่สวยไม่เงา”
ขนมอาลัว
กลิ่นหอมและสีของขนม ส่วนใหญ่มาจาก “วัตถุดิบธรรมชาติ” เป็นอันดับแรกเช่นกัน เช่น อัญชัน และ มะลิ ที่คุณป้าสิริลักษณ์ปลูกไว้ด้วยตัวเองเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดสารเคมีและยาฆ่าแมลง
“เราไม่ได้ใส่กลิ่นสังเคราะห์เพิ่ม อาลัว ที่ผสมน้ำมะลิ เราไม่ได้ใส่กลิ่นมะลิสังเคราะห์ เป็นมะลิที่บ้านคุณป้าปลูกไว้เองเยอะมาก เพื่อเก็บมาทำน้ำลอยดอกมะลิ เอามาผสมในขนม อาลัว, ตะโก้ เวลาลูกค้ากินแล้วมีกลิ่นอะไรหอมๆ แล้วตอบไม่ได้ จริงๆ คือน้ำดอกมะลิ”
ตะโก้ เมื่อใส่กล่องขาย
ขนมยอดนิยมอย่าง ตะโก้ มีด้วยกัน 2 ไส้ คือไส้สาคูกวนผสมแห้ว และ ไส้เผือก โดยเฉพาะ “ไส้เผือก” ใช้เวลาทำนาน ทำได้วันละรอบเดียว เนื่องจากต้องใช้เวลาทั้งนึ่งเผือก บดแล้วกวนในเนื้อเนียนละเอียด
ตะโก้ไส้เผือก มักหมดก่อน ลูกค้าที่ไปซื้อถึงร้านแล้วไม่อยากเสียโอกาส มักใช้วิธีโทรศัพท์จองล่วงหน้า
ส่วน ตะโก้ไส้สาคูแห้ว ก็ไม่ธรรมดา สูตรของคุณย่าบุญช่วยคือนำแห้วไปเชื่อมก่อนแล้วซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แห้วจึงมีความเหนียวหนึบนุ่ม ไม่กรอบร่วนอยางเดียว ตัวสาคูก็ผสมทั้งน้ำใบเตยและน้ำมะลิ จึงมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กินคู่กับหน้ากะทิเค็มๆ หวานๆ เข้ากันมาก
“ถ้าได้ลองรับประทานตะโก้ที่ร้าน จะเห็นว่าหน้ากะทิที่ร้านจะเหลวกว่าหน้าตะโก้ที่อื่นๆ เพราะเราผสมแป้งน้อยมาก แต่หน้าตะโก้ต้องมีแป้งอยู่แล้วไม่งั้นเขาจะไม่สามารถเซ็ตตัว ลูกค้ารับประทานแล้วจึงได้ความเข้มข้นของหัวกะทิมาก” คุณอ๋อกล่าว
ขนมเปียกปูน แยกมะพร้าวโรยหน้าไว้ต่างหาก กันขนมเสีย
ขนมยอดนิยมประจำร้านอีกหนึ่งอย่างคือ เปียกปูน องค์ประกอบที่ทำให้เปียกปูนมีกลิ่นหอมคือน้ำปูนใส ส่วนสีดำของขนมไม่ใช่การใส่สีดำ แต่คือกากมะพร้าวที่นำไปเผาแล้วกรองเอาน้ำมาใช้ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นน้ำด่าง ดีต่อสุขภาพ เป็นภูมิปัญญาคนไทยสมัยก่อน
วุ้นกะทิ ตัวขนมส่วนล่างป็นกะทิ ออกรสเค็มนิดๆ ข้างบนเป็นวุ้นรสชาติออกหวานหน่อยๆ มีรสใบเตย กาแฟ อัญชัน น้ำแดง น้ำส้ม ซาหริ่ม สังขยา รับประทานแล้วรสชาติกลมกล่อม เค็มๆ หวานๆ ยิ่งแช่เย็นยิ่งอร่อย จุดเด่นอยู่ตรงตัวกะทิที่มีความนิ่มและนุ่ม วุ้นด้านบนมีความกรอบ เป็นเท็กซ์เจอร์ที่ผสมผสานกำลังดี เด็กๆ ชอบมาก
สุธาสินี บุญสมบัติ แนะนำชุดขนมมงคล
ชุดขนมมงคล ชุดของขวัญ งานจัดเลี้ยง
นอกจากนี้ยังมี ชุดขนมมงคล และ ชุดของขวัญ ที่ลูกค้านิยมสั่งสำหรับนำไปมอบในงานทำบุญ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานปีใหม่ และเทศกาลต่างๆ ซึ่งทางร้านจัดเป็นชุดให้อย่างสวยงามพร้อมภาชนะ
ขนมใน “ชุดขนมมงคล” เลือกจากขนมที่ชื่อมีความหมายดีตามความเชื่อคนไทยโบราณ เช่น ขนมชั้น เครื่องทอง เสน่ห์จันทร์ ทองเอก อาลัว กลีบลำดวน เน้นเก็บง่าย ค้างคืนได้ ความหมายดี เหมือนผู้รับได้รับการอวยพร
ขนมชั้น เสน่ห์จันทร์ ทองเอก อาลัว สัมปันนี เครื่องทอง
ชุดของขวัญ "วันสงกรานต์" ที่ผ่านมา
ขนมชั้น เครื่องทอง เปียกปูน ตะโก้
ตัวอย่างชุดขนมไทยสำหรับจัดเลี้ยง
“เรามีจัดเซตไว้ให้เรียบร้อยประมาณ 20 กว่าเซต แต่ถ้าลูกค้าต้องการอะไรเป็นพิเศษอยากเปลี่ยนขนม คุยกันได้ค่ะ ในเงื่อนไขที่ขนมต่างชนิดกันเมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วขนมจะไม่เสีย บางอย่างแป๊บเดียวต้องเอาเข้าตู้เย็นก็ไม่อยากให้ลูกเอาไป ส่วนใหญ่ลูกค้าก็เข้าใจ”
ชุดขนมมงคล และ ชุดของขวัญ สามารถสั่งทำล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน สารทจีน สงกรานต์ รบกวนสั่งล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน
ร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย”
หน้าร้านเพียงหนึ่งเดียว ไม่มีสาขา ไม่ขึ้นห้างฯ
ร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” มีหน้าร้านเพียงแห่งเดียว ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งชวนไปเปิดร้าน แต่คุณอ๋อบอกว่าจำเป็นต้องปฏิเสธไปก่อน เนื่องจากตัวขนมเน้นทำมือ ลูกมือมีจำกัด
ที่สำคัญคือ คุณภาพ “วัตถุดิบธรรมชาติ” ที่ทางร้านใช้ ก็ได้มาจำกัด และยังมีความต่างของวัตถุดิบแต่ละช่วงเวลา ที่ร้านต้องปรับสัดส่วนให้เข้ากับสูตรขนม ก็เป็นคุณภาพขนมที่ร้านควบคุมได้ในกำลังผลิตขณะนี้ต่อวัน จึงยังไม่คิดเพิ่มสาขา เนื่องจากไม่อยากทำให้ลูกค้าผิดหวังกับคุณภาพขนม แม้กระทั่งออกร้านตามงานเทศกาลอาหารอร่อย หวานดำรงค์ฯ ก็ไปน้อยมาก
คุณย่าบุญช่วย บุญสมบัติ เจ้าของสูตรและผู้ก่อตั้งร้าน "หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย"
“คุณป้าบอกเสมอว่า เราต้องเอาของที่มีคุณภาพ มีความอร่อยจริงๆ ให้ลูกค้า ไม่ใช่ซื้อมะพร้าวจากที่นี่ราคาถูกหน่อยก็เอามาเพื่อลดต้นทุน ต้นทุนที่ร้านแพงมาก เพราะคัดแต่วัตถุดิบดีๆ ให้ลูกค้า ร้านถึงอยู่มาได้ขนาดนี้”
ปัจจุบัน เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงขนมมากขึ้น นอกจากเปิดขายหน้าร้าน ร้าน “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” ยังมีบริการขายขนมผ่านแอปพลิเคชั่นส่งอาหาร ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า โรบินฮู้ด ไลน์แอดของร้าน เฟซบุ๊กและ อินสตาแกรมของร้าน
ร้านเปิดวางขนมขายตั้งแต่ 07.00-17.30 น. ตัวร้านตั้งอยู่ในซอยที่จัดจราจรแบบวันเวย์ ที่จอดรถจำกัด มีช่องจอดเฉพาะของร้านอยู่ 2 คันฝั่งตรงข้ามร้าน
“กรุงเทพธุรกิจ” ไปสัมภาษณ์คุณอ๋อประมาณสิบโมงเช้า มีลูกค้าขาประจำแวะเวียนขับรถมาจอดรถหน้าร้าน เดินเข้ามาเลือกซื้อขนมแล้วขึ้นรถขับกลับไปในระยะเวลารวดเร็ว บ้างก็โทร.สั่งไว้ก่อน พอมาถึงก็จ่ายเงินรับขนมแล้วกลับทันที สลับกับ “ไรเดอร์” ที่เข้ามารับออร์เดอร์ ตลอดระยะเวลาของการสัมภาษณ์ ประมาณสิบเอ็ดโมงก็ได้ยินเสียงคนขายขนมบอกลูกค้าว่า ตะโก้ไส้เผือก หมดแล้ว
ขนมไทยนานาชนิดที่คัดสรรความอร่อยและคุณภาพมาวางขายในร้าน
คุณอ๋อบอกว่า หลังเที่ยงขนมสดก็ทยอยหมดเป็นอย่างๆ เหลือแต่ของแห้ง เช่น ปั้นขลิบ คุกกี้สิงคโปร์ ที่รับขนมจากคนทำเจ้าอร่อยมาวางขายที่ร้าน ทำให้เฉพาะหวานดำรงค์ฯ เท่านั้น รู้จักกันมาเป็นสิบปี จนบัดนี้คนทำก็เป็นรุ่นลูก วางขนมไม่เกินสามวันก็หมดเหมือนกัน
“ถ้าจะเข้ามาที่ร้านช่วงเย็น โทร.จองขนมไว้ก่อนได้ค่ะ เราไม่ทำขนมรอไว้เยอะๆ ขายไม่หมดแล้วเอามาขายต่ออีกวัน เราไม่ทำแบบนั้น เราทำแค่ขายหมดวันต่อวัน หรือเข้าไปสั่งขนมในแอปก็ได้ ราคาเดียวกับหน้าร้านเลยค่ะ ลูกค้าผู้ใหญ่ที่ไม่ถนัดใช้แอป โทร.มาสั่งขนมก็ได้ เราดีลิเวอรี่ให้”
นี่คือเรื่องราวที่ผ่านกาลเวลามาเกือบห้าสิบปีของ “หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย” ร้านขนมเจ้าอร่อยของกรุงเทพฯ
ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต, หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย
“หวานดำรงค์ แม่บุญช่วย”
- ที่ตั้ง : เลขที่ 573/115 ซอยรามคำแหง 39 (ซอยย่อย 27) ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โทร.0 2559 0677 มือถือโทร.08 1818 4476
- เปิดบริการ : ทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 07.00-17.30 น. ปิดวันอาทิตย์
- โซเชียลมีเดีย : Facebook: Wandamrong (Maeboonchuay)
- ดีลิเวอรี่ : ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า โรบินฮู้ด