ลุย "กาตาร์" จิบกาแฟอาหรับ ต้อนรับศึก "ฟุตบอลโลก 2022"
เล่าเรื่องการดื่มกาแฟของวัฒนธรรมอาหรับ หนึ่งในการต้อนรับของเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งมีประวัติความเป็นมาหลายร้อยปี และฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตและประเพณีที่สำคัญ
มหกรรมฟุตบอลโลก 2022 ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 18 ธันวาคม มีประเทศกาตาร์ ชาติเศรษฐีน้ำมัน เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน สร้างประวัติศาสตร์เป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดในโลกอาหรับ และเป็นครั้งที่สองแล้วที่จัดในทวีปเอเชีย งานนี้ชาติเจ้าภาพเปิดการ์ตูนสัญลักษณ์ หรือตัวนำโชค (mascot) ประจำทัวร์นาเมนต์นี้ ชื่อว่า “ลาอีบ” (La'eeb) ถือว่าน่ารักไม่น้อยทีเดียว แล้วเจ้าลาอีบที่มีการแชร์ภาพกันในโลกโซเชียลมากที่สุดก็เห็นจะเป็นตัวที่ตั้งโชว์อยู่ในลูเซล บูเลอวาร์ด ย่านธุรกิจสมัยใหม่ของกาต้า
เจ้าลาอีบที่ตั้งเด่นอยู่ใจกลางย่านลูเซล บูเลอวาร์ด ไม่ใช่ตัวมาสคอตที่อยู่ในท่าทางหรือลีลาเตะฟุตบอลเหมือนตัวอื่นๆ แต่ถูกออกแบบใหม่ให้ถือชุดกาแฟของโลกอาหรับ อันประกอบด้วยกากาแฟและถ้วยกาแฟแบบดั้งเดิม เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นนี่คืออุปกรณ์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการชง “กาแฟอาหรับ” หรือ อาราบิก คอฟฟี่ (Arabic coffee) มีประวัติความเป็นมาหลายร้อยปี ทำให้การดื่มกาแฟฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอาหรับ กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมและประเพณีที่สำคัญ
หลายคนแซวว่าเจ้าลาอีบ ออกจะคลับคล้ายกับ ผีน้อยแคสเปอร์ หรือผีน้อยผู้น่ารัก จากภาพยนต์เรื่อง Casper แต่หลายคนก็แย้งว่าต่างมากกันอยู่นะ เอาเข้าจริงๆ เจ้าลาอีบ มีแคแรคเตอร์เป็นเด็กผู้ชายที่ดูสดใส, น่ารัก, สนุกสนาน และรักการผจญภัย อยู่ในชุดผ้าสีขาวเช่นเดียวกับชุดประจำชาติกาตาร์ ชื่อของลาอีบมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า "ผู้เล่นที่มีทักษะยอดเยี่ยม"
"ลาอีบ" มาสคอตฟุตบอลโลก 2020 กับชุดกาแฟอาหรับ (ภาพ : Fitria Ramli/shutterstock)
มาสคอตขนาดใหญ่ตั้งโชว์ในเมืองธุรกิจยุคใหม่ของกาตาร์ มือซ้ายจับกากาแฟปากโค้งแหลมสไตล์อาหรับที่เรียกว่า “ดัลลาห์” (dallah) ส่วนมือขวาถือถ้วยกาแฟขนาดเล็กไม่มีหูจับ เรียกว่า “เฟนนอน” (fenjan) สะท้อนถึงวิถีการดื่มกาแฟดั้งเดิมที่มีมา เป็นวัฒนธรรมกาแฟร่วมของโลกอาหรับที่ใช้กาแฟเป็นเครื่องดื่มต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนด้วยมิตรภาพ
นี่คือ ความหมายที่ชาติเจ้าภาพต้องการบอกไปถึงทุกๆคนที่เดินทางมาเข้าร่วมในศึกฟุตบอลโลกครั้งแรกของโลกอาหรับ
การต้อนรับแขกเหรื่อผู้มาเยือนด้วยกาแฟรสเลิศ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในสังคมชาวอาหรับผู้มีถิ่นฐานอยู่ในดินแดนทะเลทราย แสดงถึงมิตรไมตรีและความมีน้ำใจระหว่างคนกับคนด้วยกัน ส่งผลให้กาแฟอาหรับได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่ง “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก” โดยยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 2015 จากแนวความคิดริเริ่มของซาอุดิอาระเบีย,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ,โอมาน และกาตาร์
กาแฟในภาษาอาหรับ คือ คาห์วะ (qahwa) น่าจะเป็นคำเรียกกาแฟคำแรกๆของโลก นับจากกาแฟป่าจากเอธิโอเปียแพร่เข้าสู่เยเมนเมื่อ 500-600 ปีก่อน ก่อนผ่านเข้านครเมกกะ, เมดินา, ไคโร, แบกแดด และดามัสกัส คำว่า qahwa นี้เดิมทีหมายถึงไวน์ ต่อมาถูกตุรกีหยิบยืมไปใช้เป็น kahve ตามด้วย koffie ในภาษาดัตช์ และ caffe ในภาษาอิตาเลียน จนในที่สุดกลายมาเป็นภาษาอังกฤษว่า coffee หรือ กาแฟ ในภาษาไทย
ไฮไลท์ของกาแฟอาหรับอยู่ที่การเติม “เครื่องเทศ” เข้าไปเพื่อเพิ่มกลิ่นรส เช่น กระวานและหญ้าฝรั่น ดั้งเดิมนั้นนิยมใช้กาแฟคั่วเข้มมากๆ โดยก่อนเริ่มขั้นตอนการชง ก็จะนำสารกาแฟหรือกรีนบีนไปคั่วในกระทะจนได้ความเข้มของเมล็ดกาแฟในระดับที่ต้องการ จากนั้นนำไปบดให้ละเอียดใกล้เคียงกับระดับเอสเพรสโซ แล้วนำไปต้มในหม้อ รอจนน้ำเดือดก็เติมเครื่องเทศลงไป สักครู่ก็ยกเทใส่กาปากแหลมดัลลาห์ เสร็จสรรพก็รินใส่ถ้วยเฟนนอนประมาณ 1 ส่วน 3 ของถ้วย อันนี้เป็นธรรมเนียมเลย นัยว่าป้องกันไม่ให้มือผู้ดื่มสัมผัสถูกน้ำกาแฟร้อนๆ
การดื่มกาแฟสไตล์อาหรับนั้น หากว่าใช้กาแฟคั่วเข้มมากๆ รสชาติจะออกขมเข้มสุดๆ ดังนั้น กาแฟจึงมักเสิร์ฟมาพร้อมกับผลไม้หรือของหวานต่างๆ โดยเฉพาะ”อินทผาลัมอบแห้ง” กลายเป็นเครื่องเคียงคู่กับกาแฟอาหรับไป ผู้เขียนก็สงสัยว่าทำไมต้องเป็นผลไม้ชนิดนี้ นอกจากหาง่ายปลูกได้ทั่วไปในดินแดนทะเลทราย มีความพิเศษตรงไหนอีกไหม สุดท้ายจึงไปพบข้อมูลว่า เพื่อลดความขมเข้มของกาแฟ ก็ให้กินอินทผาลัมเข้าไปก่อน ในปากจะเกิดความหวานขึ้น เมื่อจิบกาแฟลงไปแล้วก็จะสร้างความสมดุลให้กับรสชาติกาแฟ... เข้าท่าทีเดียวครับ
กาแฟอาหรับ เสิร์ฟพร้อมอินทผาลัมอบแห้ง ใช้ความหวานผลไม้ตัดความขมกาแฟ (ภาพ : M Salem/shutterstock)
เนื่องจากเป็นการชงกาแฟแบบไร้ตัวกรอง ทำให้เกิดมีเศษผงกาแฟติดไปกับถ้วยระหว่างริน ในอดีตจึงมีการใส่ฟิลเตอร์ที่ทำจากต้นปาล์มใส่ลงไปในกาดัลลาห์เพื่อกรองผงกาแฟ ปัจจุบันเห็นว่าร้านขายอุปกรณ์กาแฟก็ทำฟิลเตอร์ที่สามารถใช้ได้กับกาแฟสไตล์อาหรับจำหน่ายอยู่เหมือนกัน
โดยหลักการแล้ว กาแฟในโลกอาหรับ แบ่งออกเป็น 2 สไตล์ตามภูมิศาสตร์ คือ กาแฟอาหรับแถบคาบสมทุรอาระเบีย (Peninsular Arabic Coffee) และ กาแฟอาหรับในดินแดนเลอแวนต์ (Levantine Arabic coffee)
- Peninsular Arabic coffee เป็นกาแฟคั่วอ่อน ดื่มกันในซาอุดิอาระเบีย, เยเมน, อิรัก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิยมใส่เครื่องเทศ เช่น กระวาน, หญ้าฝรั่น (ที่ทำให้น้ำกาแฟเป็นสีทอง), กานพลู และอบเชย
- Levantine Arabic coffee รู้จักกันโดยทั่วไปในภาษาอาหรับว่า อัชชาม เป็นสไตล์กาแฟที่ดื่มกันในแถบซีเรีย, จอร์แดน, ปาเลสไตน์ และเลบานอน ระดับการคั่วก็ออกไปทางคั่วเข้ม นิยมใส่เฉพาะกระวาน หรือไม่ใส่อะไรเลย ดื่มกันเพียวๆ น้ำตาลก็ไม่ใส่ น้ำกาแฟสีออกโทนสีดำเข้มข้น
ว่ากันว่ากาแฟอาหรับนั้นอบอวลไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี พร้อมพิธีกรรมอันประณีตในการชง, การเสิร์ฟ และการดื่ม ดังนั้นการเตรียมกาแฟเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือนจึงเป็นเรื่องจริงจังมากๆ แต่ละครอบครัวและในแต่ละเผ่ามักจะสร้าง “สูตรลับเฉพาะ” เป็นของตนเอง แตกต่างกันไปบ้างแต่ไม่มากนัก
ตามธรรมเนียมแล้ว หน้าที่ของคนชงและเสิร์ฟกาแฟจะเป็นของลูกคนเล็กสุดของครอบครัว แล้วการเสิร์ฟก็จะเริ่มด้วยคนที่มีอาวุโสสูงสุดของกลุ่มแขกเหรื่อก่อน โดยวนจากขวาไปซ้าย ในมือซ้ายของผู้เสิร์ฟจะถือกากาแฟ รินใส่ถ้วยในมือขวา แล้วมอบให้ผู้มาเยือน ตอนเสิร์ฟให้แขกก็เป็นเรื่องปกติที่เจ้าภาพจะต้องลองชิมกาแฟก่อนเพื่อทดสอบรสชาติ ส่วนผู้มาเยือนนั้นให้ถือถ้วยกาแฟด้วยมือขวา กาแฟจะถูกเสิร์ฟมาเรื่อย ๆ จนกว่าแขกจะโบกถ้วยเพื่อส่งสัญญาณว่า อิ่มแล้ว พอแล้ว!
ธรรมเนียมกาแฟอาหรับ มือซ้ายจับกาดัลลาห์ มือขวาถือถ้วยกาแฟ (ภาพ : Sidhik Keerantakath จาก Pixabay)
นอกจากใช้สำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือนแล้ว กาแฟยังนิยมดื่มกันใน “มาจลิส” (majlis) สถานที่ผู้ชายใช้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์และสนทนาแทบทุกเรื่อง รวมไปถึงตัดสินข้อพิพาทต่างๆ คล้ายคลึงกับ สภากาแฟ ของบ้านเราเหมือนกัน
วิถีเช่นนี้ยังคงสืบทอดมาถึงประเทศต่างๆในโลกอาหรับจนถึงปัจจุบัน ผ่านทางรูปแบบของการเปิดร้านกาแฟท้องถิ่นเล็กๆ ที่แพร่หลายไปในเกือบทุกมุมเมือง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการสังสรรค์ เช่นเดียวกับมาจลิส
ผลจากการที่อาณาจักรออตโตมันเติร์กมีอิทธิพลเหนือบางส่วนของคาบสมุทรอาระเบียประมาณ 300-400 ปี ทำให้ “กาแฟตุรกี” แพร่เข้าสู่โลกอาหรับ หลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงอียิปต์ จึงเสิร์ฟกาแฟตุรกีด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กาแฟอาหรับกับกาแฟตุรกีที่แม้จะใช้วิธีการต้มเหมือนกันแต่ก็มีความแตกต่างกันไม่น้อย ที่เห็นชัดๆก็คืออุปกรณ์เสิร์ฟนั่นแหละ ของตุรกีเป็นต้มใบเล็กด้ามจับยาว เรียกว่า "เชสเว" (Cezve) ใช้ทั้งต้มและเสิร์ฟตัวเดียวจบ ส่วนของอาหรับ นำกาแฟไปต้มในหม้อก่อนเทใส่กาปากเรียว”ดัลลาห์” เพื่อเสิร์ฟให้ผู้ดื่มอีกที ส่วนถ้วยกาแฟก็ไม่เหมือนกัน
มีคนแนะนำว่า หากไปเที่ยวประเทศอาหรับ หรือไปดูฟุตบอลที่กาตาร์ แล้วอยากดื่มกาแฟอาหรับของแท้แบบดั้งเดิม ให้สั่งว่า "คาห์วะ" ที่มาจากคำอาหรับว่า qahwa นั่นแหละครับ
ปัจจุบัน ร้านกาแฟในกาตาร์มีจำนวนมากและก็หลากหลายรูปแบบ จะดื่มแบบดั้งเดิมหรือแบบยุคใหม่ที่เป็น “กาแฟพิเศษ” (specialty coffee) ก็มีบริการแบบครบครัน ไม่ว่าอยากดื่มเมนูไหนมีหมดเท่าที่โลกกาแฟพึงมี ตั้งแต่ลาเต้ไปจนถึงคอร์ตาโด้ หรืออย่างกาแฟอาหรับโฉมใหม่ที่เดิมเคยเสิร์ฟกันแต่ร้อนๆ เดี๋ยวนี้ก็มี “เมนูเย็น” ด้วย แล้วในโดฮา เมืองหลวงกาตาร์ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ถือเป็น “บ้านหลังใหญ่” ของธุรกิจกาแฟพิเศษ เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆของโลก แต่ละแห่งนำเสนอการชงและเบลนด์กาแฟที่แปลกใหม่ พรั่งพร้อมด้วยของว่างและของหวาน และบรรยากาศที่เชิญชวนให้ตั้งวงสนทนากันอย่างรื่นรมย์
เมนูอัฟโฟกาโต้ของร้านเลโต้ ที่โดฮา เมืองหลวงกาตาร์ (ภาพ : instagram.com/letocaffe.qa)
ธุรกิจกาแฟในเมืองโดฮา มีการแข่งขันกันรุนแรงทีเดียว และเป็นที่สุดของร้านกาแฟตกแต่งแบบหรูหราจริงๆ นอกจากแบรนด์กาแฟดังๆที่เข้าไปเปิดร้านสาขาในกาตาร์อย่าง สตาร์บัคส์ (Starbucks) และ ลาวาซซา (lavaza) ก็ยังมีร้านกาแฟพิเศษของชาวกาตาร์เองที่ได้รับความนิยมสูงไม่น้อย เช่น แฟล็ต ไวท์ (Flat White), อาร์ทิสต์ คาเฟ่ (Artist Café), ฮาโล คาเฟ่ (Halo Café) และ วอลุ่ม คาเฟ่ (Volume Café) โดยเฉพาะร้านแฟล็ต ไวท์นั้นถือเป็นร้านแรกในกาตาร์ที่ได้ใบรับรองจากสมาคมกาแฟพิเศษสหรัฐ
ลาเต้เย็น หนึ่งในเมนูซิกเนเจอร์ของร้านเอ็กซิตคอฟฟี่ (ภาพ : instagram.com/exitcoffee.qa)
ขณะที่ร้านกาแฟที่มักได้รับการรีวิวอยู่บ่อยๆ มีทั้งของท้องถิ่นและต่างประเทศ ได้แก่ รัส อาร์ติซานัล เบเกอรี่ (Rusk Artisanal Bakery), อาราบิก้า (Arabica), เดอะ มินิสทรี ออฟ คอฟฟี่ (The Ministry of Coffee) , คาเฟ่ ทะเว้นตีทู (Café 42) , คาวา คอฟฟี่ (Kava Koffee) , เลโต คาเฟ่ (L’eto Cafe และ วอลเตอร์ส คอฟฟี่ โรสเตอร์ (Walter's Coffee Roaster)
แต่หากอยากชิมกาแฟอาหรับเสิร์ฟเย็น มีคนแนะนำให้ไปที่ร้าน เอ็กซิตคอฟฟี่ (ExitCoffee) ร้านนี้อยู่ใกล้ๆมหาวิทยาลัยกาตาร์ มีเมนูกาแฟเย็นเป้นซิกเนเจอร์ของร้านอยู่หลายตัวทีเดียว
ร้านกาแฟคาวา คอฟฟี่ ในโดฮา เมืองหลวงกาตาร์ (ภาพ : instagram.com/kava.qa)
ถ้าใครเดินทางไปชมศึกเวิล์ดคัพ 2022 ที่โดฮา ไม่ว่าจะเป็นคอกาแฟแบบไหน รับรองมีกาแฟให้เลือกมากมายหลายแขนงทีเดียว เพราะกาตาร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการ “เบลนด์” กันอย่างลงตัวระหว่างวัฒนธรรมกาแฟท้องถิ่นที่เข้มขลัง กับวิถีกาแฟโลกยุคใหม่ที่เข้มข้น
อาจจะเริ่มต้นด้วยการลองจิบกาแฟอาหรับก่อน เป็นการต้อนรับมหกรรมฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกอาหรับก็ได้ครับ