‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก?

‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก?

'กาแฟแคปซูล' กำเนิดขึ้นมาเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับนักดื่มกาแฟ แต่ทว่า คำครหาเรื่องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ตามมาด้วยเช่นกัน แล้วความจริงของเรื่องนี้คืออะไร

ในโลกใบนี้เต็มไปด้วยวิธีการชงกาแฟรูปแบบต่าง ๆ มากมาย แต่ ‘กาแฟแคปซูล’ (coffee capsule) กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการคิดค้นขึ้นเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ทว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาในแบบคู่ขนานก็คือชื่อเสียงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

‘เนสเพรสโซ’ (Nespresso) ถือเป็นบริษัทที่ปฏิวัติวิธีการชงกาแฟครั้งใหญ่ของโลกเลยก็ว่าได้ หลังจากเปิดตัวกาแฟแคปซูลพร้อมเครื่องชงเมื่อทศวรรษที่ 1990 และไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม นับจากเปิดตัวครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เจ้าวิธีการชงกาแฟแบบซิงเกิลยูสประเภทนี้ก็ยิ่งโตวันโตคืน ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากคอกาแฟทั่วโลก โดยเฉพาะตามตามออฟฟิศและครัวเรือน

ตัวเลขยอดขายทั่วโลกของเซกเมนต์นี้ในปีค.ศ. 2021  มีมูลค่าถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเนสเพรสโซ กับ ‘เคอริก’ (Keurig) เป็นผู้นำตลาดแถวหน้า

กาแฟแคปซูลผลิตออกมาเป็นครั้งแรกโดยเนสท์เล่ในปีค.ศ. 1986  มีเนสเพรสโซเป็นผู้ทำการตลาดและจัดจำหน่าย หลังจากนั้นในปีค.ศ.1998  เคอริก ก็เปิดตัวกาแฟพ็อดภายใต้แบรนด์ K-Cup ขึ้นมาทำตลาดในอเมริกาเหนือ ซึ่งกระแสความแรงของตลาดกาแฟแคปซูลนี้เอง ส่งผลให้ระดับบิ๊ก ๆ ของวงการธุรกิจกาแฟกระโดดเข้าร่วมวงไพบูลย์กันหลายเจ้า ขอมีส่วนแบ่งชิ้นเค้กในตลาดเครื่องชงและกาแฟแคปซูลไม่ทางใดอย่างก็ทางหนึ่งอย่าง อิลลี่, ลาวาซซา, สตาร์บัคส์ และคอสต้า คอฟฟี่ ฯลฯ

‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก? งานวิจัยชิ้นใหม่จากแคนาดาระบุว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกาแฟแต่ละแก้วขึ้นอยู่กับรูปแบบการชง (ภาพ : el_duderino123 จาก Pixabay)

แม้นำมาซึ่งความสะดวกสบายในการชงกาแฟ เพียงหย่อนแคปซูลที่บรรจุกาแฟคั่วบดใส่ลงในเครื่องชงที่ถูกออกแบบมาเป็นการเฉพาะ แล้วกดปุ่มเบา ๆ ระบบก็จะจัดการชงกาแฟให้เองโดยอัตโนัติ ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็มีกาแฟหอมกรุ่นดื่มกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายนี้ก็แลกมาด้วยผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับเพอร์เฟ็กต์สตรอม เนื่องจากแคปซูลกาแฟกลับกลายเป็น ‘ขยะพลาสติก’ จำนวนมหาศาล จนตกเป็น ‘จำเลยสังคม’ 

ผู้ผลิตเองก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด ในท่วงทำนองว่า สร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้(ณ ตอนนั้น) เป็นอันตรายต่อโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาขยะมลพิษ ตามมาด้วยงานวิจัย,ข้อมูล และข่าวเป็นชุด ๆ ที่ระบุถึงผลกระทบของแคปซูลพลาสติกที่มีต่อโลกใบนี้ ลองเสิร์ชหาจากกูเกิ้ลก็จะพบว่าเรื่องนี้มีอยู่เยอะจริง ๆ

‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก? แคปซูลกาแฟ ตกเป็นเป้าโจมตีเรื่องสร้างขยะพลาสติกมาโดยตลอด (ภาพ : Jisu Han on Unsplash)

เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ของสื่อยักษ์ในสหรัฐอเมริกาอย่างวอชิงตัน โพสต์ ได้นำเสนอข่าวเมื่อปีค.ศ. 2015 เป็นบทสัมภาษณ์ จอห์น ซิลแวน ผู้คิดค้นแคปซูลกาแฟ K-Cup ก่อนขายให้เคอริกในเวลาต่อมา พร้อมพาดหัวข่าวโดยโค้ดคำพูดตอนหนึ่งของซิลแวนที่เปิดใจว่า "บางครั้งผมก็รู้สึกแย่เอามาก ๆ ที่ทำมันขึ้นมา"

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกาแฟแคปซูลได้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากงานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยควิเบก (University of Quebec) ในแคนาดา ชี้ให้เห็นว่า วิธีการชงกาแฟแบบใช้แคปซูลอาจจะไม่ ‘สิ้นเปลือง’ และ ‘ปล่อยก๊าซเสีย’ ออกมามากเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการชงแบบอื่น ๆ อาทิ  ‘กาแฟฟิลเตอร์’ และ ‘เฟรนช์เพรส’ ประมาณว่าไม่ได้เป็น ‘ผู้ร้าย’ อะไรมากมายอย่างที่หลายคนคิดและเข้าใจก่อนหน้านี้ กลับเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าวิธีการชงกาแฟบางประเภทเสียอีก จนได้รับฟีคแบ็คเชิงบวกจากผู้นิยมชมชอบกาแฟสไตล์ซิงเกิลยูสนี้

งานวิจัยใหม่ได้จัดอันดับวิธีการชงกาแฟตามผลกระทบต่อสภาพอากาศ ประเมินกันตั้งแต่การผลิตเมล็ดกาแฟไปจนถึงการชงกาแฟในแต่ละแก้ว เรียกว่าครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โฟกัสไปที่การชงกาแฟยอดนิยม 4 ประเภทได้แก่ กาแฟอินสแตนท์, กาแฟฟิลเตอร์, กาแฟเฟรนช์เพรส และกาแฟแคปซูล กำหนดเกณฑ์การชงต่อปริมาณกาแฟในแต่ละครั้ง ดังนี้ กาแฟฟิลเตอร์ 25 กรัม, เฟรนช์เพรส 17 กรัม, กาแฟแคปซูล 14 กรัม และกาแฟอินสแตนท์ 12 กรัม ต่อปริมาณ 280 มิลลิลิตรในอัตราเท่า ๆ กัน จากนั้นนักวิจัยได้คำนวณหาค่าความต่างของการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ (GHG) ที่วิธีการชงกาแฟแต่ละชนิดผลิตออกมาทั้งหมด

‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก?

กาแฟฟิลเตอร์หรือกาแฟดริปปล่อยก๊าซ CO2 มากที่สุดเมื่อเทียบกับการชงกาแฟอีก 3 แบบ (ภาพ : Tyler Nix on Unsplash)

ผลการจัดอันดับปรากฎว่า กาแฟฟิลเตอร์หรือกาแฟดริป ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเยอะสุด เนื่องจากเป็นวิธีการชงที่ใช้ปริมาณเมล็ดกาแฟมากสุด นอกจากนั้นยังมีการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อต้มน้ำและเพื่อควบคุมอุณหภูมิของน้ำกาแฟ ถือว่ามีคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากกว่าอีก 3 ประเภท

ขณะที่ เฟรนช์เพรส ปล่อยก๊าซ CO2 ตามมาเป็นอันดับ 2 ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ใช้ปริมาณกาแฟมากทีเดียวในการชงกาแฟต่อแก้ว

ส่วน กาแฟแคปซูล รั้งอันดับ 3 เพราะปริมาณกาแฟในแคปซูลถูกควบคุมให้อยู่ระหว่าง 11-13 กรัม ช่วยไม่ให้บริโภคมากเกินไป 

อันดับ 1 ตกเป็นของ กาแฟอินสแตนท์ เพราะใช้ปริมาณกาแฟน้อยกว่า และใช้พลังงานจากการต้มน้ำน้อยกว่ากาแฟฟิลเตอร์

‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก? เฟรนช์เพรส ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 2 รองจากกาแฟฟิลเตอร์ (ภาพ : Rachel Brenner on Unsplash)

ไฮไลต์ของงานวิจัยใหม่นั้นอยู่ตรงที่ ใช้ปริมาณกาแฟและปริมาณพลังงานในการชงกาแฟแต่ละรูปแบบ เป็นตัวกำหนดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา ถ้าการชงวิธีไหนใช้กาแฟและพลังงานมาก ค่า GHG ก็จะเพิ่มตามไปด้วย

ดูเหมือนว่าประเด็นเกี่ยวกับ ‘ปริมาณกาแฟ’ นั้น งานวิจัยนี้จะเน้นความสำคัญมากทีเดียว เพราะได้บอกเอาไว้ว่า ผู้ดื่มกาแฟส่วนใหญ่ไม่ได้ชั่งกาแฟก่อนชง จึงมักใช้เกินปริมาณไปในราว 20% นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกาแฟแคปซูลที่มีปริมาณกาแฟถูกควบคุมไว้คงที่ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสภาวะอากาศมากเท่ารูปแบบการชงอื่น ๆ  ทั้ง ๆ ที่มีความเข้าใจกันว่าแคปซูลใส่กาแฟเป็นตัวสร้างปัญหาขยะ

ลูเซียโน โรดิเกวซ เวียน่า หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยบอกว่า การทำไร่ เป็นขั้นตอนที่สร้างมลภาวะมากที่สุด การเก็บเกี่ยวและการผลิตเมล็ดกาแฟทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 40% ถึง 80% เนื่องจากการปลูกกาแฟมีการใช้น้ำจำนวนมาก รวมไปถึงการใส่ปุ๋ย และการใช้ยาฆ่าแมลง

"ผมไม่ได้คิดว่ากาแฟแคปซูลเป็นการแก้ปัญหาที่วิเศษ แต่ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความมีอคติทางปัญญา" ลูเซียโน ว่าไว้อย่างนี้   

‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก? กาแฟอินสแตนท์ ใช้ปริมาณกาแฟและพลังงานน้อยในการชงต่อแก้ว (ภาพ : Amr Taha™ on Unsplash)

ลูเซียโน ยังแนะนำให้นักดื่มเลือกกาแฟที่มีปริมาณกาแฟน้อยต่อแก้ว เช่น เอสเพรสโซ 50 -100 มิลลิลิตร หรือไม่ก็ควรใช้ปริมาณกาแฟและน้ำเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ กระทั่งกาแฟแคปซูลก็ไม่ควรบริโภคเกินความจำเป็น แม้จะมีความสะดวกสบาย ส่วนตัวแคปซูล ถ้าใช้แบบรียูสในระยะยาว ก็จะช่วยลดปริมาณขยะลงได้

หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยควิเบก ยังบอกว่า เราไม่ได้ทำงานวิจัยขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการใช้กาแฟแคปซูล/กาแฟพ็อด (ที่เรายังแนะให้ใช้แคปซูลรียูส) หรือให้เลิกดื่มกาแฟกันไปเลย แต่เป้าหมายคือต้องการโฟกัสไปที่ปัญหาสำคัญด้านการบริโภคกาแฟใน ‘ระดับผู้บริโภค’

ในเวลาอันรวดเร็ว งานวิจัยชิ้นนี้ถูกนำมาเสนอเป็นข่าวลงตามเว็บไซต์ต่าง ๆ หลายแห่ง รวมไปถึงวอชิงตันโพสต์, บีบีซี และบิสซิเนสอินไซเดอร์ ฯลฯ  ที่มีการพาดข่าวรวม ๆ ประมาณว่า กาแฟแคปซูลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ‘น้อยกว่า’ วิธีชงรูปแบบอื่น ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด จนหลายคนอาจเกิดความรู้สึกคล้อยตามพลางคิดขึ้นมาว่า เอ...หรือหลังจากรับบท ‘ผู้ร้าย’ เรื่องสร้างขยะพลาสติกมานานนม กาแฟแคปซูลจะกลับกลายมาเป็น ‘พระเอก’ ในเรื่องที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการชงสายสโลว์บาร์อย่างกาแฟฟิลเตอร์และเฟรนช์เพรส

ว่ากันตรง ๆ ผู้เขียนชอบใจข่าวของ ‘เดอะ การ์เดี้ยน’ ที่นอกจากนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยควิเบกมาลงเป็นข่าวแล้ว ยังเสนอ ‘ความเห็นแย้ง’ ที่พูดถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากเจ้าแคปซูลกาแฟ เรียงร้อยเป็นภาพโดยรวมของประเด็นสิ่งแวดล้อม ๆ ไม่ใช่หยิบมาเล่นเป็นข่าวเพียงช่วงบางตอนแล้วสรุปว่าเป็นของดีมีประโยชน์  นี่จึงเรียกว่าเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลครบถ้วนและรอบด้าน  

‘กาแฟแคปซูล’ จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอก? งานวิจัยชิ้นใหม่จากแคนาดายังระบุว่า กระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 40% ถึง 80% (ภาพ : Leonel Barreto จาก Pixabay)

แมทธิว อิเกลเซียส คอลัมนิสต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก โพสต์ทวิตเตอร์สั้น ๆ หลังอ่านงานวิจัยดังกล่าวว่า "เป็นคำแก้ตัว"

เว็บไซต์ข่าวบางแห่งตั้งข้อสังเกตเอาแรง ๆ ว่า ปัญหาคือ มุมมองเชิงบวกต่อกาแฟแคปซูลและสภาพอากาศในงานวิจัย อาจไม่เป็น ‘ความจริง’ ส่วนหนึ่งเพราะงานวิจัยที่ถูกนำมาลงเป็นบทความในเว็บไซต์ข่าวต่าง ๆ ยังไม่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ ในสาขานี้ นอกจากนั้นแล้วเคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ออกมาในปีค.ศ. 2021 ให้ข้อมูลย้อนแย้งกันเลยทีเดียว เพราะพบว่า กาแฟแคปซูลปล่อยมลภาวะมากกว่าวิธีชงกาแฟอื่น ๆ จากผลของการผลิตแพคเกจจิ้งใส่แคปซูลและการจัดการกับขยะพลาสติก 

ศาสตราจารย์แม็กซ์ บอยค็อฟฟ์ แห่งคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์  (University of Colorado Boulder) ให้สัมภาษณ์เดอะ การ์เดี้ยน ตอนหนึ่งว่า พาดหัวข่าวที่ระบุว่ากาแฟแคปซูลแบบใช้ครั้งเดียวอาจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น มีเสน่ห์จูงใจมากทีเดียว ประเด็นคือ เรื่องราวในสื่อประเภทนี้อาจทำให้เรา “หลงทาง” จากภาพใหญ่ของปัญหาสภาวะโลกร้อน และแหล่งสร้างมลพิษที่มีขนาดใหญ่กว่าถ้วยกาแฟของคุณ

ตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจจากคราฟต์ คอฟฟี่ สป็อท บริษัทให้บริการข้อมูลด้านกาแฟในรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีการใช้แคปซูลกาแฟกันราว 60,000 ล้านชิ้นทุก ๆ ปีในยุโรปและอเมริกาเหนือ เป็นแคปซูลที่นำกลับมารีไซเคิลเพียง 27% นั่นหมายความว่า มีแคปซูลที่กลายเป็นขยะถึง 44,000 ล้านชิ้น

จากผู้ร้ายหรือจะกลายเป็นพระเอกเพียงชั่วข้ามคืน?....หากว่าไม่มี ‘อคติทางปัญญา’ จนเกินไป ถึงตอนนี้สำหรับผู้เขียนเองก็ยังจะขอพูดแบบเต็มปากเต็มคำต่อไปว่า กาแฟแคปซูลก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงนับตั้งแต่เข้าสู่ตลาดในช่วงทศวรรษที่ 1990  เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการชงกาแฟรูปแบบอื่น ๆ