แมคคาเดเมีย ถั่วเปลือกแข็งที่ช่วยลดไขมันเลว และดีต่อสุขภาพ
แมคคาเดเมีย ถั่วเปลือกแข็งที่ปลูกบนพื้นที่ราบสูงทางภาคเหนือ มีอายุยืนยาว ถั่วชนิดนี้ถ้าบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมช่วยลดไขมันเลวในร่างกายได้
จำได้ว่าเคยไปยืนอยู่ใต้ต้น แมคคาเดเมีย บนพื้นที่สูง โครงการดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาว และการจัดการตัวเองของชาวเขา เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน
การปลูกแมคคาเดเมีย พืชพื้นถิ่นที่มาจากออสเตรเลีย กว่าจะได้ผลผลิตใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี และต้องดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้พืชชนิดนี้ออกดอกออกผลเต็มที่ เพราะผลผลิตมีราคาสูง และมีประโยชน์ในการบริโภค
เรื่องเล่าใต้ต้นแมคคาเมีย
แมคคาเดเมีย เป็นพืชที่ตอบโจทย์คำว่า'ความยั่งยืน' มีอายุยืนยาวกว่า 80 ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ชั่วลูกชั่วหลาน
ผู้จัดการส่วนไร่แมคคาเดเมีย สำนักงานประสานงาน โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เคยเล่าถึงการพัฒนาแมคคาเดเมียว่า เมื่อผลผลิตแก่เต็มที่ มันจะค่อยๆ ร่วงจากต้น จึงต้องเดินเก็บลูกแมคคาเดเมีย และต้องเก็บทุกสัปดาห์ ถ้าทิ้งไว้นานเกินไป ลูกแมคคาเมียจะดำ และแต่ละปีจะเก็บผลได้ประมาณ 7 เดือน
เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ชุมชน จึงมีการปลูกจำนวนมากบนดอยสูงประมาณสองหมื่นกว่าต้น เพราะเมื่อใดที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จะขายได้ราคาสูงมาก
แม้จะขายได้ราคาดี แต่กระบวนการปลูก ผลิต แปรรูป ต้องใช้ทั้งความใส่ใจและความละเอียด ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การปลูกบนพื้นที่สูงจากน้ำทะเล 800 เมตร อุณหภูมิก็ต้องดูแลให้มีความหนาวเย็นไม่ต่ำกว่า 18 องศาเซนเซียส
ในอดีตบนดอยตุงจะปลูกทั้งแมคคาเดียและกาแฟในพื้นที่เดียวกัน แต่ในที่สุดพวกเขาพบว่า ต้นกาแฟไปบังแดดแมคคาเดเมีย ทำให้ออกผลไม่มากนัก จึงแยกต้นแมคคาเดเมียออกมาปลูกให้โดนแดดเต็มๆ จนได้ผลผลิตคงที่ เวลาเดินเก็บลูกแมคคาเดเมีย คนหนึ่งจะเก็บได้วันละ 120 กิโลกรัม
คุณประโยชน์แมคคาดีเมีย
แมคคาดีเมีย เป็นถั่วเปลือกแข็ง เหมือนมะม่วงหิมพานต์ วอลนัท อัลมอนด์ มีไขมันชั้นดีไม่อิ่มตัว โปรตีน ใยอาหาร วิตามินอี และแมกนีเซียม เป็นถั่วที่ให้พลังงานสูง แต่ข้อแนะนำว่า ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
ถั่วเปลือกแข็งชนิดนี้มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) ต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่ง มีการแบ่งผู้ทดลองที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงจำนวน 25 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มแรกบริโภคอาหารที่มีแมคคาเดเมีย และอีกกลุ่มบริโภคอาหารอเมริกันทั่วไปเป็นเวลา 5 สัปดาห์
ผลการทดลองพบว่า ปริมาณไขมันชนิดไม่ดีในกลุ่มผู้ที่บริโภคอาหารที่มีแมคคาเดเมียลดลงมากกว่ากลุ่มที่บริโภคอาหารอีกชนิด และอาจกล่าวได้ว่าแมคคาเดเมียอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยการลดระดับไขมันดังกล่าว
การบริโภคแมคคาเดเมีย
สำหรับคนส่วนใหญ่ที่บริโภคแมคคาเดเมียในรูปแบบอาหาร อาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และหากต้องการบริโภค เพื่อลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย ควรบริโภคในปริมาณเดียวกับในงานวิจัย คือ 40-90 กรัม/วัน แต่ปริมาณดังกล่าวก็อาจทำให้ร่างกายได้รับแคลอรี่สูงจากไขมันตามไปด้วย
อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันความปลอดภัยในการรับประทานแมคคาเดเมียในปริมาณมากได้อย่างชัดเจน ผู้บริโภคจึงควรรับประทานแมคคาเดเมียอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง ดังต่อไปนี้
ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะยังไม่มีการศึกษาใดยืนยันความปลอดภัยของแมคคาเดเมียต่อเด็กเกิดใหม่หรือทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจนในเรื่องการแพ้อาหาร แม้การแพ้แมคคาเดเมียจะพบได้น้อยมาก แต่ผู้บริโภคก็ควรระมัดระวัง และหากมีอาการผิดปกติหลังรับประทานแมคคาเดเมีย เช่น มีผื่นขึ้น ตาบวม หายใจดังหวีด ควรปรึกษาแพทย์
................
ภาพ : Pixabay.com
อ้างอิง : https://www.pobpad.com/