ทำไมเราควรเลือกดื่มกาแฟดี ๆ แบบนี้ ‘Shade-Grown Coffee’
กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่เป็นที่ถวิลหาของตลาดกาแฟพิเศษ เนื่องจากรสชาติมีคุณภาพสูง กระนั้น รสชาติก็ไม่ใช่เหตุผลข้อเดียวในการตัดสินใจเลือกดื่ม
แม้เครื่องดื่มยอดนิยมของโลกอย่างกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรยามเช้าของหลาย ๆ คน แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากทีเดียวที่ยังไม่ทราบว่าเกษตรกรชาวไร่กาแฟทั้งรายเล็กรายใหญ่ปลูกกาแฟในสภาพแวดล้อมแบบไหนกันบ้าง แล้วแต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง ประเด็นนี้ถือเป็นอีกปัจจัยที่นำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจเลือกดื่มกาแฟในแบบฉบับของ 'ผู้บริโภคสายกรีน' ที่เข้าใจถึงความจำเป็นในการช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติ
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยถูกเพื่อนซึ่งไม่ใช่คอกาแฟ ตั้งคำถามเอาระหว่างขับรถไปดูนกบนดอยทางภาคเหนือว่า ต้นกาแฟแต่ละต้น 'สิ้นเปลืองน้ำ' ในการดูแลหล่อเลี้ยงมากน้อยขนาดไหน?
ถ้าพูดถึงปริมาณการใช้น้ำของต้นกาแฟ บอกได้เลยว่าต้นกาแฟที่เติบโตใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในสภาพป่าตามธรรมชาติ แทบไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำเลย เพราะกาแฟแต่ละต้นมีธรรมชาติเป็นผู้ดูแลหล่อเลี้ยง จะใช้น้ำจากระบบท่อประปาบ้างก็ตอนแปรรูปเท่านั้น
เมื่อเจอคำถามชวน 'สะกิดใจ' แบบนี้เข้า จึงต้องงัดเอาความรู้(น้อย)เท่าที่มีอยู่มาเคลียร์ข้อสงสัยกัน เพื่อเพื่อนคนนี้จะหันมาสนใจดื่มกาแฟจากฝีมือดริปของผู้เขียนขึ้นมาบ้าง ก็หวังว่าเพื่อนจะเข้าใจในความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชื่อบทความกาแฟประจำสัปดาห์นี้ เราเลือกดื่มกาแฟได้... ถ้าใจอยากช่วยธรรมชาติ
ปัจจุบันปัจจัยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพิจารณาเลือกซื้อกาแฟ (ภาพ : Chloe Leis on Unsplash)
ต้นกาแฟก็ไม่ต่างไปจากพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่บริโภคกันทั่วโลก ที่ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตและให้ผลผลิต แต่จะใช้น้ำมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น ชนิดพันธุ์, ความทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูก อย่างการทำไร่กาแฟนั้นเท่าที่ผู้เขียนทราบมา แบ่งรูปแบบการปลูกออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะของพื้นที่ปลูก ได้แก่ การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ (shade-grown coffee), การปลูกกาแฟกลางแจ้ง (sun-grown coffee) และ การปลูกกาแฟในร่มเงาบางส่วน (partial shade-grown coffee)
อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้วจะถือกันว่ารูปแบบการปลูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือ การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ กับการปลูกกาแฟกลางแจ้ง แน่นอนว่า ทั้ง 2 ประเภทมี 'ข้อดี-ข้อเสีย' ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าพิจารณาจากประโยชน์ด้านใดมากกว่ากัน มองในแง่การผลิตเชิงพาณิชย์ หรือในมุมสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
การปลูกกาแฟในสภาพแวดล้อมที่มีร่มเงาไม้พร้อมกับพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่น ๆ เป็นวิธีดั้งเดิมของการทำไร่กาแฟ แต่จากความต้องการบริโภคกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี ประมาณปีค.ศ.1972 จึงมีการพัฒนา 'พันธุ์กาแฟลูกผสม' ที่มีคุณสมบัติทนแดดและให้ผลผลิตมากกว่ากาแฟแบบปลูกใต้ร่มเงาไม้ถึง 2-3 เท่าตัว นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในรูปแบบการปลูกกาแฟบนที่โล่ง ๆ กลางแจ้ง รับแสงอาทิตย์เต็ม ๆ เพื่อเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตให้พอเพียงต่อการบริโภค
'Sun-grown coffee' หรือการปลูกกาแฟกลางแจ้งนั้น ต้นกาแฟจะโดนแสงแดดเต็ม ๆ โดยไม่มีร่มเงาบดบังอยู่เลย ปกติจะปลูกบนพื้นที่โล่งเตียนขนาดใหญ่ เรียงเป็นแถวเป็นแนวอย่างมีระเบียบ เช่น การทำไร่กาแฟเชิงพาณิชย์ (commercial coffee) ในบราซิลและเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โรบัสต้า เนื่องจากได้รับแสงอาทิตย์ ต้นกาแฟจึงเติบโตอย่างรวดเร็วและให้ผลผลิตมาก กาแฟที่ปลูกกลางแจ้งเป็นกาแฟที่ดื่มกันส่วนใหญ่ในท้องตลาด มักนำไปทำเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปหรือที่บ้านเราเรียกกันติดปากว่า 'กาแฟอินสแตนท์'
ภาพนี้เป็นไร่กาแฟแห่งหนึ่งในบราซิลปลูกบนพื้นที่โล่งแจ้ง รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อเร่งผลผลิต (ภาพ : commons.wikimedia.org/Knase)
น่าเศร้าใจที่การทำไร่กาแฟกลางแจ้ง มักมีส่วนทำให้เกิดปัญหา 'หักร้างถางพง' พื้นที่ป่าจำนวนมากในบางโซนของโลก เนื่องจากชาวไร่ต้องการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อรองรับปริมาณการบริโภค นอกเหนือจากทำให้สูญเสียทรัพยากรป่าไม้แล้ว ไร่กาแฟกลางแจ้งบางแห่งยังสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนโดยรอบ จากปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปเพื่อเร่งการเติบโตไหลลงสู่แม่น้ำลำธาร
มีงานวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (College of Natural Sciences) ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ลงในวารสารไบโอไซเอนซ์ ระบุว่า แม้การผลิตกาแฟทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่พื้นที่ปลูกกาแฟแบบกลางแจ้งมีอัตราเติบโตเร็วกว่าพื้นที่ปลูกกาแฟแบบใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ความต่างนี้ส่งผลให้กาแฟที่ปลูกใต้ร่มมีพื้นที่ลดลงจาก 43% ในปีค.ศ.1996 มาเหลือเพียง 24% ในปีค.ศ. 2014
ส่วนสาเหตุนั้น สถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติบอกว่า ถึงแม้กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้จะมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ แต่ความต้องการกาแฟสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้เกษตรกรเริ่มหันไปทำ 'ฟาร์มแบบเร่งรัด' เพื่อเพิ่มผลผลิต
ต้นปีค.ศ. 2021 เว็บไซต์ออนไลน์ของฟอร์บส์ แม็กกาซีนด้านธุรกิจการเงินชื่อดังของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า เฉพาะในอเมริกากลางภูมิภาคเดียว การปลูกกาแฟนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ 'ป่าฝน' ไปถึง 6.32 ล้านไร่
การทำไร่กาแฟเชิงพาณิชย์ในเวียดนาม ตามรูปแบบการปลูกต้นกาแฟกลางแจ้ง (ภาพ : Quang Nguyen Vinh)
สรุปได้ประมาณว่า ต้นกาแฟที่ปลูกกลางแจ้งนั้น เติบโตเร็วกว่า เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วและมากกว่า แต่ก็ต้องการน้ำ, ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งความเป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีน้อย
เขียนมาถึงตรงนี้ อาจมีคำถามโยนโครมเข้ามาว่า โอ้โห...แค่กินกาแฟจำเป็นด้วยหรือที่ต้องสนใจอะไรมากมายขนาดนั้น?
จำเป็นหรือไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับการรับรู้และทัศนคติของแต่ละคน ตอบแทนกันไม่ได้หรอกครับ แต่ถ้าเป็นผู้บริโภคสายกรีนหรือเป็นประชากรที่ใส่ใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมแล้วล่ะก็ น่าจะหันมาสนใจกาแฟที่ปลูกตามวิธีข้างล่างนี้
'Shade-grown coffee' หรือการทำไร่กาแฟโดยที่ปลูกต้นกาแฟไว้ใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ ไม่โดนแสงแดดเต็ม ๆ เหมือนวิธีปลูกแบบกลางแจ้ง ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อาราบิก้า ให้ผลผลิตช้า แต่มีคุณภาพสูง เนื่องจากดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารในสภาพอากาศเย็น ทำให้ผลกาแฟสุกช้า เพราะมีช่วงเวลาในการสะสมธาตุอาหารนานขึ้น เมื่อนำผลเชอรี่ไปแปรรูปจึงให้กาแฟที่มีกลิ่นรสซับซ้อน นอกจากนั้น ยังมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ยาวนานกว่าต้นที่ปลูกแบบกลางแจ้ง
ไร่กาแฟในกัวเตมาลาที่ปล่อยให้ต้นกาแฟเติบโตภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องตัดไม้ทำลายป่า (ภาพ : commons.wikimedia.org/John Blake)
การทำไร่กาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เป็นที่ต้องการอย่างสูงของ 'ตลาดกาแฟพิเศษ' (specialty coffee) แล้วเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับคอกาแฟทั่วโลก พร้อมควักเงินจ่ายเพื่อรสชาติที่มีคุณภาพ กระนั้น รสชาติไม่ใช่เหตุผลเพียงประการเดียวในการพิจารณาตัดสินใจ
ในหลาย ๆ ประเทศ รวมไปถึงไทยเราด้วย เกษตรกรที่ปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่า มักปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้เลี้ยงดูต้นกาแฟโดยไม่ใช้สารเคมี นิยมใช้วัชพืชปกคลุมโคนต้นช่วยเก็บความชื้นให้กับดิน รากที่ซับซ้อนใต้พื้นดินช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน หากเป็นพื้นที่ปลูกในป่าต้นน้ำด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ช่วยให้มีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัยในชุมชนปลายน้ำ
ผลที่ได้ตามมาคือ กาแฟเป็นมิตรกับธรรมชาติและอร่อยอย่างน่าทึ่ง กลายเป็น 'กาแฟออร์แกนิค 100%' ที่มีมูลค่าสูงและมีตลาดใหญ่รองรับทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ประโยชน์อีกข้อซึ่งสำคัญมาก ๆ ของการปลูกกาแฟไว้ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ก็คือ การปลูกกาแฟวิธีนี้เป็นการทำเกษตรกรรมระยะยาว ช่วยลดปัญหาเผาต้นไม้หรือวัชพืชในระบบเกษตรกรรม อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิด 'มลพิษทางอากาศ' ที่เห็นจะมีอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภัยร้ายใกล้ตัวที่คนไทยต้องเผชิญทุกปียามหน้าแล้งเวียนมาถึง
เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงแบรนด์ เสียงสกุณา (Song Bird Coffee) จากไร่ในนิคารากัวและกัวเตมาลา ปริมาณถุงละ 340 กรัม จำหน่ายในราคา 17.50 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 600 บาท (ภาพ : www.aba.org)
เมื่อเทียบกับกาแฟที่ปลูกกลางแจ้งแล้ว กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้เติบโตช้ากว่า ให้ผลผลิตต่ำกว่า แต่รสชาติกาแฟดีกว่า ใช้น้ำและปุ๋ยจากธรรมชาติ สนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าบางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนก
ประเทศที่ปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่กันมาก ได้แก่ เอลซัลวาดอร์, เปรู, ปานามา, นิการากัว, กัวเตมาลา, เอกวาดอร์, เม็กซิโกตอนใต้, เอธิโอเปีย, อินเดีย, เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย, ติมอร์-เลสเต และแน่นอนประเทศไทย แล้วผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะรู้ได้อย่างไรว่ากาแฟตัวไหนหรือถุงใดมาจากวิธีปลูกแบบใต้ร่มเงาไม้ใหญ่
ในต่างประเทศ รู้ได้ง่ายกว่า ด้วยการมองหาตราสัญลักษณ์ที่ติดอยู่บนซองหรือภาชนะใส่กาแฟ เช่น เครื่องหมาย 'กาแฟปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่' (Shade Grown), 'สินค้าออร์แกนิค' (USDA Organic) ที่ผ่านการรับรองจากสหรัฐอเมริกา, 'พันธมิตรป่าฝน' (Rainforest Alliance) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ 'ไร่กาแฟที่เป็นมิตรกับนก' (Bird Friendly) แต่ละสัญลักษณ์ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคสายกรีนที่นิยมเลือกช้อปสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
ถ้าเป็นสายดูนกเหมือนผู้เขียน ก็ขอแนะนำกาแฟใต้ร่มเงาใม้แบรนด์ 'เสียงสกุณา' (Songbird Coffee) อันเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมการดูนกอเมริกันกับบริษัทกาแฟชื่อแธงค์สกิฟวิ่ง คอฟฟี่ คอมพานี ผ่านทางการนำเสนอเมล็ดกาแฟคั่วจากไร่ขนาดเล็กใน 3 ประเทศ คือ กัวเตมาลา, นิคารากัว และโคลอมเบีย โดยทุก ๆ ห่อที่ขายได้ จะหักไว้ 15 เซนต์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมการดูนกอเมริกัน
กาแฟที่เติบโตใต้ร่มเงาไม้ใหญ่จากแหล่งผลิตในประเทศไทย เป็นที่ต้องการของทั้งตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา (ภาพ : Charlie Wardee)
ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นกาแฟเติบโตใต้ร่มเงาไม้อยู่แล้ว มีไร่กาแฟไม่น้อยทีเดียวที่ติดตราสัญลักษณ์ดังกล่าว กาแฟก็มีจำหน่ายกันตามช่องทางออนไลน์ ไม่ต้องไปถึงไร่บนดอย แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่เป็นไร่กาแฟปลูกใต้ร่มเงาไม้ แต่ไม่มีเครื่องหมายหรือข้อมูลแสดงเอาไว้บนซองผลิตภัณฑ์ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรกัน
เรื่องนี้ ก็คงต้องไปสอดส่องดูข้อมูลเอาจากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่เกษตรกรเปิดเอาไว้ หรือหาข้อมูลจากโรงคั่วและร้านกาแฟที่คัดเลือกเมล็ดกาแฟมานำเสนอ อย่างตัวผู้เขียนชอบแวะเวียนไปสอดส่องตามเทศกาลกาแฟต่าง ๆ
การซื้อกาแฟเพื่อสนับสนุนความสมดุลของระบบนิเวศในมิติของการดูแลรักษาป่า บางท่านอาจมองว่าเป็นเรื่อง 'โรแมนซ์' หรือเข้าข่ายพวก 'โลกสวย' แต่เรื่องราวที่งดงามเช่นนี้ก็เป็นจริงในเชิงปฏิบัติมาแล้วทั่วโลก เราในฐานะผู้บริโภคมีศักยภาพสร้างความแตกต่างตรงนี้ได้ด้วยการเลือกซื้อเลือกดื่มกาแฟนั่นเอง
แม้จะต้องยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ามากทีเดียว มิใช่หรือครับ...