ดราม่าร้อน!สะเทือนเกาะอังกฤษ โวยแพทย์จบใหม่ 'ค่าแรง'ถูกกว่าบาริสต้า
สมาคมการแพทย์อังกฤษลงโฆษณาเต็มหน้านสพ.เดอะการ์เดี้ยน เผยแพทย์จบใหม่ได้ค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่า 'บาริสต้า' ร้านเพรท ตะ มองเช
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจภาคบริการในตลาดอังกฤษ รวมไปถึงเซกเมนต์ร้านกาแฟ ได้ประสบปัญหาเหมือนกันประการหนึ่งนั่นคือ เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากคนงานต่างประเทศจำนวนมากได้เดินทางกลับบ้านเกิด ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศได้พุ่งขึ้นสูงในรอบ 40 ปี จนส่งผลให้ค่าครองชีพของมนุษย์เงินเดือนพุ่งขึ้น
เพื่อเซฟพนักงานเอาไว้ไม่ให้ถูกซื้อตัว เชนกาแฟยักษ์ใหญ่อย่างน้อย 2 แห่งในเมืองผู้ดี ต่างมีการปรับเพิ่มค่าแรงรายชั่วโมงถึง 3 ระลอกติดต่อกันในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี
เคสที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดก็เห็นจะเป็นกรณีของ 'เพรท ตะ มองเช' (Pret A Manger) ที่ได้ขึ้นค่าแรงรายชั่วโมงเป็นครั้งที่ 3 เข้าไปแล้วภายในปีเดียว ครอบคลุมตำแหน่งงานบาริสต้า, ผู้จัดการร้าน และพนักงานร้าน
โดยเฉพาะในส่วนของบาริสต้านั้น เชนกาแฟควบแซนด์วิชบวกเบเกอรี่รายนี้ เคลมว่า 'บาริสต้า' ของบริษัทได้รับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงมากที่สุดแล้วในอุตสาหกรรม คือ ชั่วโมงละ 14.10 ปอนด์ คิดเป็นเงินบาทไทยตัวเลขกลม ๆ ก็ตกราว 625 บาท ใช่ครับ... ชั่วโมงละ 625 บาท!
'เพรท ตะ มองเช' เชนกาแฟและอาหารว่างสัญชาติอังกฤษ ประกาศขึ้นค่าแรงไปแล้ว 3 ครั้งในรอบหนึ่งปี (ภาพ : commons.wikimedia.org/wiki/Zhangyang)
ตัวเลขค่าจ้างต่อชั่วโมงของบาริสต้าประจำร้านเพรท ตะ มองเช นี่แหละครับได้เกิดเป็นประเด็นดราม่าร้อน ๆ ขึ้นมาในเมืองผู้ดี หลังจาก 'สมาคมการแพทย์แห่งอังกฤษ' (บีเอ็มเอ) ที่ทำหน้าที่คล้าย ๆ สหภาพแรงงาน สมาชิกมีทั้งนายแพทย์และนิสิตแพทย์ ได้หยิบยกเอาค่าแรง 14.10 ปอนด์ต่อชั่วโมง มาเปรียบเทียบกับค่าแรงของ 'แพทย์จบใหม่' ที่ได้ค่าจ้าง 14.09 ปอนด์ต่อชั่วโมง เป็นอัตราต่ำกว่าบาริสต้าเสียอีก
บีเอ็มเอได้ลง 'โฆษณา' เต็มหน้าหนังสือพิมพ์ชื่อดังในช่วงกลางเดือนมีนาคม ให้ข้อมูลประมาณว่า เจ้าหน้าที่ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ อาจทำเงินได้มากกว่านี้ หากไปทำงานเป็นบาริสต้าในร้านเพรท ตะ มองเช
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา 'บีเอ็มเอ' ร่วมกับเครือข่าย 'จูเนียร์ ด็อกเตอร์' เป็นโต้โผใหญ่จัดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลหลายครั้งในกรุงลอนดอน เรียกร้องขอปรับเพิ่มค่าจ้างและยกระดับมาตรฐานการทำงาน เพราะค่าครองชีพนั้นสูงขึ้นมาตลอดโดย ซึ่งการชุมนุมประท้วงแต่ละครั้งมีสมาชิกเครือข่ายไปร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก สื่อมวลชนก็รายงานความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทั้งติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดียและรายงานสดจากสถานที่ชุมนุม
ล่าสุด ก็เพิ่งจัดการประท้วงครั้งที่ 3 ไปสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง
การนัดหมายชุมนุมประท้วงล่าสุดของสมาคมการแพทย์อังกฤษ เมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา (ภาพ : twitter.com/BMA_JuniorDocs)
แคมเปญโฆษณาที่ลงเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ของบีเอ็มเอ ตกเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วเกาะอังกฤษเลยทีเดียว กลายเป็น 'กระแสดราม่า' ร้อนแรงที่มีการพูดถึงกันมากในโซเชียลมีเดียของเมืองผู้ดี อย่างบางทวิตเตอร์มีการแชร์ต่อเนื่องเป็นคลื่นไวรัลซัดกระหน่ำใส่รัฐบาล พร้อมคำถามใหญ่ ๆ ที่ติดตามมาว่า ใช้เวลาเรียนแพทย์ 6-7 ปี ค่าเรียนก็สูงมากกว่า แต่ทำไมจบมาเป็นแพทย์ฝึกใหม่ กลับได้ค่าแรงรายชั่วโมงต่ำกว่าบาริสต้าที่ใช้เวลาเรียนไม่กี่เดือนเอง แถมค่าเรียนก็ถูกกว่ากันเห็น ๆ
โฆษณาในหนังสือพิมพ์ 'เดอะการ์เดียน' มีข้อความไฮไลท์ในประโยคแรกว่า "เพรท ตะ มองเช ประกาศจะเพิ่มค่าแรงรายชั่วโมงเป็น 14.10 ปอนด์ ขณะที่แพทย์จบใหม่ทำได้เพียง 14.09 ปอนด์เท่านั้น" ตามด้วยประโยคที่สอง "ขอขอบคุณรัฐบาลชุดนี้, คุณสามารถทำเงินจากการเสิร์ฟกาแฟได้มากกว่าช่วยชีวิตผู้ป่วย"
เป็นแคมเปญที่ปล่อยออกมาก่อนหน้าการชุมนุมประท้วงเพียงไม่กี่วัน ซึ่งก็ถือว่าประสบผลสำเร็จไม่น้อยทีเดียว เมื่อประเมินกระแสตอบรับทั้งจากสื่อโซเชียลและสื่อกระแสหลัก ขณะที่การใช้ถ้อยคำก็เรียกว่าประชดประชันกันแบบสุด ๆ ตามสไตล์ของคนอังกฤษ โดยเฉพาะประโยคที่บอกว่า ...ทำเงินจากการเสิร์ฟกาแฟได้มากกว่าช่วยชีวิตผู้ป่วย
แคมเปญโฆษณาในเดอะการ์เดี้ยน เปรียบเทียบค่าแรงของแพทย์จบใหม่กับบาริสต้าของร้านเพรท ตะ มองเช (ภาพ : twitter.com/TheBMA)
อย่างไรก็ตาม โฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์นี้ ถูกหน่วยงานราชการอย่างกรมอนามัยและบริการสังคมออกมาวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดความ 'เข้าใจผิด' ด้วยมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกรณีแพทย์จบใหม่ได้ค่าแรงต่ำกว่าบาริสต้า เนื่องจากทั้งสองสาขาอาชีพ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ มีความแตกต่างกันในหลายด้าน เช่น การทำงานล่วงเวลา, วันหยุดสุดสัปดาห์ และชั่วโมงการทำงานแต่ละวัน
ข้อโต้แย้งอีกประการของหน่วยงานรัฐแห่งนี้ก็คือ ค่าแรงรายชั่วโมงในอัตรา 14.09 ปอนด์ ถือเป็นเรตขั้นต่ำสุดในการฝึกงานปีแรกของแพทย์จบใหม่ โดยทั่วไปจะมีอัตราสูงกว่านี้ มากกว่า 'คนเสิร์ฟกาแฟ' ระหว่าง 8-20% ทีเดียว
ในส่วนผู้เขียน ขออวยพรให้ข้อเรียกร้องของคุณหมอสมหวังดังจิตเจตนา แต่อยากจะบอกว่า 'บาริสต้า' ไม่ใช่มีหน้าที่เสิร์ฟกาแฟเท่านั้น ยังมีงานภายใต้ความรับผิดชอบอีกหลายด้าน เช่น เตรียมเครื่องดื่มกาแฟ, ทำเครื่องดื่มเมนูต่าง ๆ, อธิบายเมนูให้กับลูกค้า และแนะนำเครื่องดื่ม ถือเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังรสชาติ และสร้างสรรค์มนต์เสน่ห์ให้กับกาแฟ ต้องอาศัยทักษะความสามารถและประสบการณ์ จึงจะทำงานประเภทนี้ได้
นี่ยังไม่นับรวมหน้าที่อื่น ๆ ที่ถูกจัดให้เพิ่มเติมสำหรับบางร้านกาแฟ เช่น ทำความสะอาดร้าน, ล้างเก็บภาชนะ, จัดโต๊ะเก้าอี้, เป็นแคชเชียร์, ต้อนรับลูกค้า, จัดเตรียมของเปิดร้าน, ปิดร้าน และอื่น ๆ
ถ้าเสิร์ฟกาแฟอย่างเดียว ใคร ๆ ก็ทำได้ ไม่ใช่งานยุ่งยากอะไร ไม่ต้องให้ถึงมือบาริสต้าหรอกครับ
'เพรท ตะ มองเช' ไม่ได้เน้นขายเฉพาะกาแฟเท่านั้น แต่ยังมีอาหารว่างจำหน่ายอีกหลายอย่าง หลัก ๆ ก็เป็นแซนด์วิชกับสลัด (ภาพ : facebook.com/pretamanger)
สำหรับ 'เพรท ตะ มองเช' นั้น เป็นเชนร้านกาแฟและอาหารว่างยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ มีบริษัทเพื่อการลงทุนเจเอบีแห่งเยอรมนี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ได้เน้นขายเฉพาะกาแฟเท่านั้น แต่ยังมีอาหารว่างจำหน่ายหลายอย่างทีเดียว เช่น แซนด์วิช, สลัด, ขนมปัง, ครัวซองต์, คุกกี้, น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มร้อนชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารสุขภาพเบา ๆ ด้วย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1983 โดยซินแคลร์ บีแชม และจูเลียน เม็ตคาลเฟ
เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษแท้ ๆ แต่กลับใช้ชื่อบริษัทเป็นภาษาฝรั่งเศส 'Pret A Manger' แปลเป็นไทยประมาณว่า 'พร้อมกิน' ตอนนี้มีสาขาทั่วเกาะอังกฤษราว 430 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสาขาในลอนดอนราว 270 แห่ง บวกกับสาขาในต่างประเทศอีกกว่า 120 แห่ง ทั้งในยุโรป, สหรัฐ และเอเชีย
ราวต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพรท ตะ มองเช ประกาศขึ้นค่าแรงรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น 3% ให้พนักงานทั่วประเทศจำนวน 7,870 คน ประกอบด้วยบาริสต้า, ผู้จัดการร้าน และพนักงานร้าน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน หลังจากเคยปรับขึ้นค่าแรงไป 5% ในเดือนธันวาคม 2022 ถือเป็นการปรับรอบที่ 3 ในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี รวมอัตราเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นก็ 19% ไม่ใช่น้อย ๆ เลยทีเดียว
คอสต้า คอฟฟี่ เชนกาแฟรายใหญ่อีกรายของอังกฤษ ที่ประกาศขึ้นค่าแรงรายชั่วโมงให้สต๊าฟเช่นกัน (ภาพ : facebook.com/CostaCoffee/)
เป้าหมายคือสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยู่ทำงานต่อ และซับพอร์ตพนักงานในช่วงที่ค่าครองชีพสูงขึ้น
เฉพาะในส่วนบาริสต้านั้น ได้ค่าแรงต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้นจากระหว่าง 10.85 ปอนด์ และ 12.50 ปอนด์ เป็น 11.20 ปอนด์ และ 12.85 ปอนด์ ทั้งนี้ทั้งนั้น การปรับค่าแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่, ประสบการณ์ และโลเคชั่นของร้านด้วยเป็นสำคัญ แล้วก็จะมีโบนัสพิเศษที่เรียกกันว่า 'โบนัสจากลูกค้าลึกลับ' (mystery shopper bonus) ให้เพิ่มเติมอีก 1.25 ปอนด์ต่อชั่วโมง
นั่นก็จะส่งผลให้บาริสต้าของเพรท ตะ มองเช มีค่าแรงบวกโบนัสเป็นเงินสูงสุด 14.10 ปอนด์ต่อชั่วโมง
โบนัสจากลูกค้าลึกลับหรือลูกค้านิรนามนั้น เป็นกลยุทธ์ที่หลายบริษัทนำมาใช้เพื่อสำรวจตรวจสอบมาตรฐานการบริการที่แท้จริงของพนักงาน รวมไปถึงคุณภาพสินค้า และความสะอาดร้านค้า โดยผู้บริหารจะจ้างบุุคคลภายนอกแบบพาร์ทไทม์ แล้ว 'แฝงตัว' เข้าไปเป็นลูกค้าในร้าน โดยไม่ให้พนักงานทราบล่วงหน้า
เชนธุรกิจกาแฟในอังกฤษปรับขึ้นค่าแรงให้บาริสต้า สร้างแรงจูงใจให้ทำงานต่อ ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ (ภาพ : Hulki Okan Tabak on Unsplash)
นอกจากเพรท ตะ มองเช แล้ว เชนร้านกาแฟชั้นนำอีกแห่งของอังกฤษอย่าง 'คอสต้า คอฟฟี่' (Costa Coffee) ก็ได้ปรับขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงให้กับพนักงานถึง 3 ครั้งในรอบหนึ่งปีเช่นกัน ครอบคลุมพนักงานกว่า 16,000 คน ใน 1,520 สาขาทั่วประเทศ ครั้งล่าสุดนี่ก็ดำเนินการภายหลังเพรท ตะ มองเช เพียงไม่กี่วัน โดยขึ้นค่าแรงให้สต๊าฟประจำร้านเป็น 10.70 ปอนด์ต่อชั่วโมง จากเดิม 10.0 ปอนด์ รวมปรับขึ้นไปแล้ว 14% ในรอบปี
บรรดาแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษก็มีการปรับขึ้นค่าแรงให้พนักงานในรอบปีที่ผ่านมาด้วย อย่าง 'เทสโก้' และ 'แอสด้า' รวมไปถึง 'มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์' บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ ขณะที่ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม พนักงานได้รวมตัวกันนัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงตามต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ข้อเรียกร้องบรรลุเป้าหมาย
กรณีเงินรายได้ของบาริสต้าประจำร้านเพรท ตะ มองเช จึงถูกโยงให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประท้วงของสมาคมการแพทย์อังกฤษได้อย่างมีนัยสำคัญ กลายเป็นดราม่าร้อน ๆ ที่สะเทือนไปทั่วเกาะอังกฤษ ด้วยประการฉะนี้เอง...
.........................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี