อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ 'กากกาแฟ'

อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ 'กากกาแฟ'

'กากกาแฟ' กลายมาเป็นขยะมหาศาลในแต่ละปี การนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทิ้งลงถังขยะแล้วฝังกลบหรือเผาทำลาย

ว่ากันว่าในโลกใบนี้มีนักดื่มกาแฟประมาณ 1,000 ล้านคน รวมแล้วบริโภคกาแฟเฉลี่ยวันละ 2,000 แก้ว ที่หลงเหลือหลังจิบเครื่องดื่มแก้วโปรดก็คือ 'กากกาแฟ'  ที่ส่วนใหญ่มักทิ้งลงถังขยะ จากนั้นก็ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีกลบฝังดินหรือไม่ก็ทำลาย ลองจินตนาการกันครับว่าขยะกากกาแฟจะมีปริมาณมากน้อยขนาดไหน เมื่อพิจารณาจากยอดบริโภคกาแฟทั่วโลกในปี 2020 ที่มีตัวเลขมากกว่า 10 ล้านตัน!

กากกาแฟ (used coffee grounds) ก็คือ ผงกาแฟคั่วบดที่สัมผัสน้ำร้อนหรีอน้ำเย็นผ่านทางอุปกรณ์เครื่องชงต่าง ๆ เกิดเป็นกาแฟสำหรับดื่มกัน ส่วนผงกาแฟที่ผ่านการใช้งานแล้วหรือกากกาแฟ ก็จะถูกนำไปทิ้งเพราะมีสภาพเป็นขยะ

แม้จะมีคนนำกากกาแฟไป 'รีไซเคิล' ต่อเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในหลายๆด้าน แต่ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการดื่มกาแฟทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นแรง ๆ มาตลอดระยะ 10 ปีหลังมานี้ แล้วประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศวิตกกังวลในขณะนี้ก็คือ แม้กากกาแฟส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำเพราะย่อยสลายได้ แต่เมื่อนำไปฝังกลบ กากกาแฟที่มักจะถูกมองข้ามกันไป กลับมีอัตราปล่อย 'ก๊าซมีเทน' ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก แรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 34 เท่า

อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ \'กากกาแฟ\' การนำกากกาแฟไปใช้ประโยชน์ต่อแทนการทิ้งลงขยะทั่วไป เป็นอีกวิธีช่วยลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  (ภาพ : Athena Lam on Unsplash)

เอาเข้าจริง ๆ  กากกาแฟมีประโยชน์หลายด้านมากกว่าที่คาดคิดกันไว้ตั้งแต่บำรุงรักษาดินไปจนถึงดูแลผิวพรรณ อย่างผู้เขียนจัดว่าอยู่ในกลุ่ม 'โฮมบรูว์' ดริปกาแฟเองทุกวันที่บ้าน กากกาแฟก็ไม่เคยทิ้งให้เสียเปล่า เอาไปใช้ใส่ทำปุ๋ยบ้าง ย้อมผ้าบ้าง ถ้าไม่พอก็ไปขอเอาจากร้านกาแฟใกล้บ้าน นี่เป็นระดับครัวเรือน  แต่ในต่างประเทศพวกบริษัทสตาร์ทอัพเอาไปใช้แปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ ทำขายเป็นธุรกิจใหญ่โตทีเดียว

 มาดูกันครับว่ากากกาแฟเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง จริง ๆ มีมากกว่านี้ แต่ผู้เขียนคัดสรรมาเฉพาะที่คิดว่าเหมาะกับสภาพแวดล้อมและบริบทของสังคมไทยเรา

1. ใช้เป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้

กากกาแฟมีธาตุไนโตรเจน, โพแทสเซียม, ฟอสฟอรัส และธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงใช้แทน 'ปุ๋ย' ได้เช่นกัน วิธีการก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่นำกากกาแฟไปผสมกับดินปลูกต้นไม้หรือพืชผัก เท่านี้ก็ใช้ได้แล้ว หากเป็นแปลงผักหรือต้นไม้ที่ลงดินและลงกระถางไปแล้ว ก็ให้นำกากกาแฟโรยรอบ ๆกระถางหรือโคนต้น จากนั้นก็พรวนดินเพื่อให้ร่วนซุย รากพืชจะดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น

นอกจากนั้น กากกาแฟยังนำไปผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ใช้เป็นปุ๋ยได้กับต้นไม้ทุกชนิด หรือจะทำปุ๋ยหมักหมักกากกาแฟก็ได้ วิธีทำก็คือนำกากกาแฟไปผสมกับน้ำหมักชีวภาพ ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์

อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ \'กากกาแฟ\' กากกาแฟมีธาตุอาหารหลายประเภทที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช  (ภาพ : Daniel Öberg on Unsplash)

2. ผสมเป็นวัสดุเพาะเห็ดได้

กากกาแฟนำมาเป็นวัสดุเพาะเห็ดได้ ไม่ว่าจะเป็น 'เห็ดนางฟ้า' หรือ 'เห็ดนางรม' ซึ่งแนวคิดนำกากกาแฟมาผสมวัสดุเพาะเห็ดมีมานานแล้ว สาเหตุก็มาจากกากกาแฟที่เริ่มกลายเป็นขยะจำนวนมากนั่นแหละ อย่างกรมวิทยาศาสตร์บริการของไทยก็เคยเผยแพร่วิธีเพาะเห็ดด้วยกากกาแฟ  แทบไม่มีต้นทุนเลย แล้วเห็ดที่ได้ก็ให้โปรตีนสูงและแคลอรีต่ำ

สูตรของกรมวิทยาศาสตร์บริการที่แนะนำก็คือ ให้นำกากกาแฟมาผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพาราในอัตราส่วน 50:50 จะให้ผลผลิตเห็ดนางรมดีที่สุด ใกล้เคียงกับการเพาะด้วยขี้เลื่อยยางพารา และพบว่าเห็ดที่เพาะในกากกาแฟผสมขี้เลื่อยยางพารา มีโปรตีนสูงกว่าเพาะในขี้เลื่อยล้วน ๆ ถึง 2 เท่า และมีค่าแคลอรีต่ำกว่าสูตรที่ใช้ขี้เลื่อยเพียว ๆ 30%

แบบนี้...ผู้บริโภคอาหารแนวสุขภาพถูกใจแน่นอนครับ

3. ทำถ่านกากกาแฟอัดแท่ง

ในประเทศอังกฤษ สองบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง 'คอฟฟี่ รีไซเคิล' (Coffee Recycling) และ 'ไบโอ-บีน' (Bio-Bean) ผุดไอเดียลดปริมาณกากกาแฟด้วยการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว โดยรวบรวมกากกาแฟจากคาเฟ่ทั่วอังกฤษมาผลิตใหม่ให้เป็น 'ถ่านกากกาแฟอัดแท่ง' (Coffee Logs) แล้วนำออกจำหน่ายในรูปเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม พร้อมกับโฆษณาว่า เป็นถ่านที่ให้พลังเหนือกว่าถ่านไม้ใน 3 ด้านคือ ติดไฟเร็วกว่า, สว่างกว่า และใช้งานได้นานกว่า

ถ่านกากกาแฟของบริษัทไบโอ-บีน บรรจุอยู่ในถุงกระดาษคราฟท์ มีหลายขนาดหลายไซส์ อย่างขนาดบรรจุ 16 ก้อน น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม ขายในราคาประมาณ 9 ปอนด์ (385 บาท) ธุรกิจผลิตถ่านกากกาแฟอัดแท่งถือว่าไปได้สวยทีเดียวในอังกฤษ อาจเพราะเป็นเมืองหนาว แต่ละบ้านติดตั้งเตาผิงไฟสำหรับสร้างความอบอุ่น นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไบโอ-บีน รับกากกาแฟส่วนหนึ่งมาจาก 'คอสต้า คอฟฟี่' เชนกาแฟรายใหญ่ด้วย แต่ละปีรีไซเคิลกากกาแฟได้ประมาณ 7,000 ตัน

อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ \'กากกาแฟ\' ถ่านกากกาแฟอัดแท่ง แปรรูปจากกากกาแฟ วางจำหน่ายในเว็บค้าปลีกดัง  (ภาพ : www.amazon.co.uk)

4. ดูดซับกลิ่นไม่พึงปรารถนา

กากกาแฟมีสรรพคุณ 'ดูดซับกลิ่น' อันไม่พึงประสงค์มากพอสมควร เช่น ถ้าแช่อาหารที่มีกลิ่นแรง ๆไว้ในตู้เย็น ก็ให้นำกากกาแฟใส่แก้ววางไว้ในตู้เย็น จากนั้นกากกาแฟจะทำหน้าที่ดูดซับกลิ่นไม่พึงปรารถนา จะบอกว่าดูดซับกลิ่นจนหมดสิ้นก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เอาเป็นว่าช่วยลดกลิ่นได้ดีระดับหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังช่วยลดกลิ่นเหม็นอับในไมโครเวฟ, ตู้เสื้อผ้า และรองเท้าได้อีกด้วย

สำหรับท่านที่ไม่ถูกใจกลิ่นกาแฟ  ก็ให้เติมกลิ่นวานิลาหรือกลิ่นที่ชอบ ๆ ลงไปในกากกาแฟ จะช่วยให้กลิ่นหอมละมุนถูกใจยิ่งขึ้น

แม่บ้านหลายรายรู้เทคนิคนี้เป็นอย่างดี ใช้กากกาแฟดับกลิ่นหัวหอมหรือกระเทียมที่ติดมือเวลาทำอาหาร โดยนำกากกาแฟมาขัดถูมือ กลิ่นก็จะจางลงไป

อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ \'กากกาแฟ\'

กากกาแฟช่วยดูดซับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้ดี โดยเฉพาะกลิ่นในตู้เย็น  (ภาพ : Pexels จาก Pixabay)

5. ช่วยไล่ยุงและแมลงต่าง ๆ

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า คาเฟอีนและไดเทอร์พีนส์ 2 สารประกอบที่พบในกาแฟ มีคุณสมบัติเป็น 'พิษสูงต่อแมลง' แต่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ กากกาแฟจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุง, แมลงหวี่, แมลงปีกแข็ง และแมลงชนิดอื่น ๆ ไม่ให้มารบกวน เพียงวางกากกาแฟแห้งในชามหรือโรยรอบ ๆ บริเวณที่ต้องการ

สูตรกำจัดเพลี้ยหรือไล่มดแมลงมารบกวนพืชผักสวนครัวนั้น ก็มีเกษตรกรไทยหลายรายใช้กากกาแฟมาผสมกับน้ำส้มสายชู, น้ำยาล้างจาน และน้ำเปล่า แล้วผสมให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จึงนำมากรองกากกาแฟออก แล้วเทใส่ฟ็อกซี่ นำไปฉีดพ่นพืชผัก ๆ เหมือนพืชสมุนไพรไล่แมลง ทดแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์

อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ \'กากกาแฟ\' กากกาแฟเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่ใช้ทำ"สครับ" ช่วยทำความสะอาดผิวพรรณ  (ภาพ : saponifier จาก Pixabay)

6. สครับผิวด้วยกากกาแฟ

'สครับ' (scrub) หมายถึง การขัดหรือการถู เพื่อทำความสะอาดผิวด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ ช่วยในการขจัดสิ่งสกปรกที่อุดตันตามรูขุมขน รวมทั้งเซลล์ผิวเก่าเสื่อมสภาพที่เกาะอยู่บนบริเวณผิวหนังชั้นนอก ให้หลุดออกได้เร็วขึ้น เนื่องจากกากกาแฟมีฤทธิ์กัดกร่อนและช่วยขจัดคราบสกปรกบนพื้นผิวที่ทำความสะอาดยากได้

สูตรที่เผยแพร่โดยทั่วไปของการทำสครับขัดผิวจากกากกาแฟ ก็คือ ใช้กากกาแฟ 2-3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ จากนั้นจึงนำมาขัดผิวหน้าและผิวกาย ข้อระวังคือควรใช้กากกาแฟที่บดละเอียด เพราะถ้า 'บดหยาบ' เจ้ากากกาแฟอาจมีเหลี่ยมคม ทำให้ระคายเคืองผิวได้

7. คือสีย้อมผ้าจากพืชธรรมชาติ

กากกาแฟเป็นอีกทางเลือกของการ 'ย้อมผ้า' จากธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเจือปน ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสีย้อมเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเช่นเดียวกับสีธรรมชาติจากพืชประเภทอื่น ๆ

วิธีการทำก็ไม่ซับซ้อนอะไรมากเลย เพียงนำกากกาแฟ 1 ถ้วย ผสมกับน้ำ 4 ถ้วย นำไปต้มให้เดือด พักทิ้งไว้จนน้ำเย็นลง จากนั้นจึงนำผ้าลงไปแช่นาน 60 นาที เมื่อครบเวลา ก็บิดให้หมาด ตากแดดให้แห้ง สีได้ที่จากการย้อมจะออกเฉดสีน้ำตาล ส่วนจะอ่อนหรือเข้มก็ขึ้นอยู่ปริมาณกากกาแฟที่ใช้

ผ้าที่แนะนำให้ใช้ย้อมด้วยกากกาแฟ ควรเป็นผ้าไหม, ผ้าฝ้าย และไนล่อน หรือจะนำไปทำผ้ามัดย้อมก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน

อย่าเพิ่งทิ้งกันได้ไหม? ชงไอเดียสารพัดประโยชน์ \'กากกาแฟ\' กากกาแฟใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสีย้อมเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้เช่นกัน  (ภาพ : monica dahiya on Unsplash)

8. ซ่อมรอยขีดข่วนเฟอร์นิเจอร์ 

น้ำเฉดสีน้ำตาลของกากกาแฟ มีหลายๆคนนำไปทาเฟอร์นิเจอร์หรืองานไม้ต่าง ๆ เพื่อ 'ลดรอย' ขูด-ขีด-ข่วน ทำให้เนื้อไม้เฟอร์นิเจอร์ดูมีความกลมกลืนมากขึ้น บางสูตรให้ใช้สำลีก้อนชุบน้ำกาแฟแล้วนำไปทาตรงบริเวณที่มีรอยขีดข่วน ปล่อยทิ้งไว้ 5-10 นาที หรือทาซ้ำจนกว่าจะได้ระดับสีที่ต้องการ บางสูตรก็ให้เอาน้ำมันมะกอกมาผสมกับกากกาแฟ แล้วทาทับรอย ทิ้งไว้สักพัก จากนั้นให้เช็ดออก

ในแวดวงธุรกิจกาแฟพิเศษหลายประเทศถือว่าให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อขายกาแฟก็ต้องหาวิธีกำจัดขยะจากกาแฟเพื่อให้ผลกระทบเหลือน้อยที่สุด เว็บไซต์ร้านกาแฟบางแห่งอย่าง javapresse.com และ thebarista.co.uk  จึงมีบทความเกี่ยวกับการรีไซเคิลกากกาแฟมานำเสนอด้วย เห็นแล้วได้ใจผู้บริโภคจริง ๆ

สำหรับตัวอย่างของขยะเหลือใช้จากอุตสาหกรรมกาแฟที่ถูกรีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้อีกครั้งในร้านกาแฟหรือตามบ้าน ก็มีให้เห็นเหมือนกัน เช่น บริษัท 'คัฟฟีฟอร์ม' (Kaffeeform) จากเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี นำกากกาแฟไปแปรรูปเป็นถ้วยกาแฟและจานรองแก้ว ไม่ใช่เพิ่งทำ แต่ดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015

เรื่องการนำกากกาแฟที่ส่วนใหญ่ทิ้งเป็นขยะแล้วนำกลับมารีไซเคิลอีกครั้ง มีประเด็นและแง่มุมให้พูดถึงมากทีเดียวทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสากรรม ในบทความครั้งต่อ ๆ ไป ผู้เขียนคิดว่าจะลองหยิบเอาประเภทของธุรกิจที่เติบโตจากการแปรรูปกากกาแฟเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆแล้วใช้หมุนเวียนกันต่อในสเกลที่ใหญ่ขึ้นมานำเสนอกันบ้าง...น่าสนใจใช่ไหมครับ

เขียนโดย : ชาลี วาระดี

-------------

หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก www.healthline.com/nutrition, https://thebarista.co.uk และ https://home.howstuffworks.com