เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’

เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’

‘เคอริกฯ’ นำกาแฟพิเศษจาก"ลา โคลอมบ์" มาจำหน่ายแบบแคปซูลกาแฟ K-cup ในปีหน้า ส่งสัญญาณชักธงรบชัดเจน เปิดศึก"สตาร์บัคส์"ที่เล่นอยู่ในตลาดนี้เช่นกัน

ในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฎการณ์ว่าด้วยการเทคโอเวอร์เกิดขึ้นหลายครั้งในอุตสาหกรรมกาแฟระหว่างประเทศ แทบทั้งหมดล้วนอยู่ในรูปแบบของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติในตลาดแมส (commercial coffee) ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเข้าซื้อกิจการแบรนด์อิสระที่เป็นดาวรุุ่งพุ่งแรงในตลาดกาแฟพิเศษ (specialty coffee) ตั้งแต่ เจเอบี โฮลดิ้งกับสตัมป์ทาวน์ และเนสท์เล่กับบลู บอทเทิ่ล คอฟฟี่ ไปจนถึงโคคา-โคล่ากับคอสต้า คอฟฟี่ 

แม้การควบรวมจะถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ปกติในโลกธุรกิจ และแทบทุกครั้งก็จะมีถ้อยแถลงจากผู้บริหารสองฝากฝ่ายว่าเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งกันและกัน เป็นกลยุทธแบบ 'วิน-วิน' ทว่าก็มักจะนำไปสู่การตั้งคำถามปลายเปิดขึ้นในท่วงทำนองว่าบริษัทที่ถูกเทคโอเวอร์จะสามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานพิเศษแบบเดิม ๆ เอาไว้ได้หรือไม่ ในเมื่อต้องผลิตสินค้าออกมาในปริมาณมาก ๆ

ตามมาด้วยข้อสังสัยว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพกว้างอย่างไรต่อไปบ้าง หากว่าคลื่นปลาใหญ่กลืนกินปลาเล็กยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 'ตลาดกาแฟพิเศษ' 

 แรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งสำหรับกลุ่มการค้าใหญ่ ๆ ทั้งนอกและในภาคธุรกิจกาแฟก็คือ 'กาแฟพร้อมดื่ม' หรือ Ready-to-drink (RTD) อันเป็นหนึ่งในเซ็กเม้นท์ของตลาดเครื่องดื่มกาแฟที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคทั่วโลกในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แบรนด์กาแฟพิเศษสัญชาติสหรัฐตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางที่มีสายการผลิตกาแฟพร้อมดื่มอยู่แล้ว จึงมักตกเป็น 'เป้าหมาย' การโดนเทคโอเวอร์จากบริษัทข้ามชาติอยู่เสมอมา

เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’ กาแฟพร้อมดื่มของ ลา โคลอมบ์ แบรนด์กาแฟพิเศษระดับไฮเอนด์ในสหรัฐ  (ภาพ : facebook.com/lacolombecoffee)

ก็ไม่น่าแปลกใจหากได้เห็นตัวเลขการเติบโตของตลาดกาแฟพร้อมดื่มทั่วโลกที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 42,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีค.ศ. 2030

ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง 'เคอริก ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์' (Keurig Dr Pepper) บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มและเครื่องชงกาแฟชั้นแนวหน้าในสหรัฐเหนือ อันเป็นบริษัทในเครือเจเอบี โฮลดิ้ง กลุ่มการค้ายักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวน 33% ในวงเงินกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ 'ลา โคลอมบ์' (La Colombe) ร้านและโรงคั่วกาแฟพิเศษระดับไฮเอนด์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย กลายเป็นพาร์ทเนอร์ชิพทางธุรกิจร่วมกัน โฟกัสไปที่การขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในลักษณะไขว้กันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

ภายใต้ข้อตกลง เคอริก ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์ จะเทคโอเวอร์การขายและช่องทางการจัดจำหน่ายกาแฟพร้อมดื่มแบรนด์ลา โคลอมบ์ ขณะเดียวกันก็จะเปิดสายการผลิตและจำหน่ายกาแฟแคปซูล 'K-cup' ภายใต้แบรนด์ลา โคลอมบ์ ในตลาดแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

คาดว่าการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การจัดจำหน่ายกาแฟพร้อมดื่มลา โคลอมบ์ จะมีขึ้นในภายปีนี้ ส่วนการผลิตกาแฟแคปซูล K-cup ภายใต้แบรนด์ลา โคลอมบ์ จะดำเนินการได้ในปีหน้า

เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’ เคอริก ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์  บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มและเครื่องชงกาแฟชั้นแนวหน้าในสหรัฐเหนือ เป็นธุรกิจในเครือเจเอบี โฮลดิ้ง  (ภาพ :  facebook.com/keurig)

ความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ ชัดเจนว่า ช่วยให้เคอริกฯ ขยายฐานสินค้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคกาแฟพร้อมดื่ม, กาแฟโคลด์บรูว์ และกาแฟพิเศษระดับซูเปอร์สเปเชียลตี้ที่มีอัตราการเติบโตสูง แม้ว่าปัจจุบันเคอริกฯจะมีแบรนด์กาแฟ 'กรีน เม้าเท่น คอฟฟี่ โรสเตอร์ส' (Green Mountain Coffee Roasters) เป็นของตนเองอยู่แต่ก็เป็นระดับพรีเมี่ยม ไม่ถือว่าเป็นซูเปอร์สเปเชียลตี้

ด้วยการลงทุนซื้อหุ้น 30% ในลา โคลอมบ์ ส่งผลให้เคอริกฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในเชนกาแฟพิเศษแห่งนี้ รองจาก 'ฮัมดี ฮูลูคายา' เศรษฐีเจ้าของธุรกิจโยเกิร์ตสำเร็จรูปสไตล์กรีกยี่ห้อชูโบนี ที่เข้าไปซื้อหุ้นใหญ่ในลา โคลอมบ์ มาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015

'La Colombe' เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า นกพิราบ ส่วนสาเหตุที่ผู้ก่อตั้งบริษัทเลือกนกพิราบมาเป็นโลโก้หรือตราผลิตภัณฑ์นั้น ก็เพราะเป็นนกที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของสันติภาพในวัฒนธรรมและภาษาทั่วโลก

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 ลา โคลอมบ์ ได้ออกเมนูกาแฟพิเศษผสมนมพร้อมดื่มบรรจุกระป๋องชื่อ 'Draft Latte' ให้รสสัมผัสและรูปโฉมไปต่างไปจากกาแฟไนโตร ด้วยความแปลกใหม่ ภายในระยะเวลา 18 เดือนเท่านั้น เมนูตัวนี้ก็กลายเป็นกาแฟพร้อมดื่มที่มีอัตราเติบโตรวดเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็ผลิตกาแฟพร้อมดื่มออกมาอีกเป็นจำนวนมาก

เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’ การจับมือเป็นพันธมิตรกับเคอริกฯ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของลา โคลอมบ์  (ภาพ : wikipedia.org/wiki/Peetlesnumber1)

สำหรับลา โคลอมบ์ แล้ว การจับมือเป็นพันธมิตรกับเคอริกฯ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเชนกาแฟพิเศษลา โคลอมบ์ ไปยังผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น

แม้จะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้น 1 ใน 3 ไม่ใช่ซื้อหรือควบรวมกิจการ แต่ในมุมมองเคอริกฯก็ถือว่าได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ ในแง่มุมการยกระดับผลิตภัณฑ์เข้าสู่เกรดกาแฟพิเศษ เพราะลา โคลอมบ์ ที่ก่อตั้งในปีค.ศ. 1994 มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีกับสถานะหนึ่งในธุรกิจร้านและโรงคั่วกาแฟพิเศษผู้บุกเบิกคลื่นกาแฟลูกที่ 3 ของโลก และเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ชำนาญการด้านการจัดหาเมล็ดกาแฟจากแหล่งปลูกทั่วโลก

ดังนั้น การที่เคอริกฯ นำกาแฟพิเศษจากลา โคลอมบ์ มาขายในแบบแคปซูลกาแฟ K-cup จึงเสมือนเป็นการส่งสัญญาณชักธงรบ เปิดศึกอย่างชัดเจนไปยัง 'สตาร์บัคส์' (starbucks) ที่เล่นอยู่ในตลาดนี้เช่นกัน

กระแสความคลั่งไคล้อย่างต่อเนื่องแบบแรงดีไม่มีตกต่อกาแฟพิเศษที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก รวมไปถึงธุรกิจกาแฟเกรดพรีเมี่ยมด้วย ทำให้กลุ่มการค้าบิ๊ก ๆ กระโดดเข้าสู่สนามแข่งขัน ทุ่มเงินเข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจเพื่อเป็นทางลัด เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประเทศไทยเราก็มีอยู่หลายเคส ซึ่งหลังบรรลุข้อตกลงกันแล้ว 'เจ้าบุญทุ่ม' มักปล่อยให้แบรนด์ที่ถูกซื้อยังคงใช้ชื่อ, โลโก้ และรูปแบบร้านดังเดิม แต่จะเข้าไปเสริมทัพในช่องทางการจัดจำหน่ายและการขยายตลาดให้กว้างขึ้น

เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’ ผลิตภัณฑ์กาแฟแคปซูล K-cup ของแบรนด์ในเครือเคอริก ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์  (ภาพ : facebook.com/GreenMountainCoffeeRoasters)

ย้อนกลับไปในปีค.ศ. 2015 พีทส์ คอฟฟี่ ธุรกิจกาแฟในเครือเจเอบี โฮลดิ้ง ซื้อกิจการเชนกาแฟพิเศษสหรัฐ สตัมป์ทาวน์ คอฟฟี่ โรสเตอร์ส (Stumptown Coffee Roasters) ในวงเงินที่ไม่เปิดเผย โดยสตัมป์ทาวน์ฯ นั้น โด่งดังกับกาแฟผสมนมพร้อมดื่ม เป็นเจ้าแรกที่ทำกาแฟโคลด์บรูว์บรรจุขวดออกสู่ตลาดในปีค.ศ. 2011

ในปีเดียวกันนั้นเอง พีทส์ คอฟฟี่  ยังเทคโอเวอร์ธุรกิจโรงคั่วกาแฟพิเศษในชิคาโกอย่าง อินเทลลิเจ้นท์เซีย คอฟฟี่ (Intelligentsia Coffee)

ค.ศ. 2017 เนสท์เล่ ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของโลก เข้าถือหุ้นใหญ่ 68% ใน บลู บอทเทิ่ล คอฟฟี่ (Blue Bottle Coffee) หนึ่งในผู้บุกเบิกตลาดกาแฟพิเศษระดับไฮเอนด์ที่มีฐานอยู่ในแคลิฟอร์เนีย มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงอย่างกาแฟโคลด์บรูว์บรรจุกระป๋อง โดยวงเงินซื้อกิจการอยู่ที่ 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปีเดียวกันนี้ คิ๊กกิ้ง ฮอร์ช คอฟฟี่ (Kicking Horse Coffee) โรงคั่วกาแฟชั้นนำของแคนาดา ตัดสินใจขายหุ้น 80% เป็นจำนวนเงิน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับลาวาซซ่า บิ๊กเนมวงการกาแฟจากอิตาลี

เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’ สตัมป์ทาวน์ คอฟฟี่ โรสเตอร์ส เป็นเจ้าแรกที่ทำกาแฟโคลด์บรูว์พร้อมดื่มออกสู่ตลาดในปี 2011  (ภาพ : facebook.com/stumptowncoffee/photos)

ค.ศ. 2018 เจเอบี โฮลดิ้ง เทคโอเวอร์ เพรท ตะ มองเช (Pret A Manger) เชนกาแฟควบแซนด์วิชบวกเบเกอรี่จากอังกฤษ ในวงเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ค.ศ. 2019 โคคา-โคล่า ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอัดลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุ่มเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ซื้อกิจการ คอสต้า คอฟฟี่ (Costa Coffee) แบรนด์กาแฟชั้นนำของอังกฤษ และโคคา-โคล่า เอชบีซี เข้าซื้อหุ้น 30% ใน คัฟเฟ่ เวิร์กนาโน่ (Caffè Vergnano) หนึ่งในโรงคั่วกาแฟที่เก่าแก่ที่สุดในอิตาลี

ค.ศ. 2022 บริษัทด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตร โอแลม ฟู้ด อินเกรเดี้ยนส์ ในเครือของโอแลม กรุ๊ป แห่งสิงคโปร์ ควักเงิน 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าครอบครองกิจการ คลับ คอฟฟี่ (Club Coffee) โรงคั่วกาแฟขนาดใหญ่ที่สุดในแคนาดา  ที่นอกจากทำกาแฟแล้วยังผลิตแพคเกจจิ้งอีกด้วย

จะเห็นว่าร้านและโรงคั่วกาแฟพิเศษชั้นแนวหน้าของสหรัฐหลายแห่งด้วยกันที่กระโดดเข้าร่วมวงตลาดกาแฟพร้อมดื่ม ในจำนวนนี้พวกโรสเตอร์อย่าง สตัมป์ทาวน์, บลู บอทเทิ่ล, อินเทลลิเจ้นท์เซีย และลา โคลอมบ์ ในเวลาต่อมาต่างก็ถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทที่มีทุนหนากว่าทั้งสิ้น กลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อธุรกิจระหว่างประเทศแทบทั้งนั้น

เคอริกฯ ซื้อหุ้น 30% ลา โคลอมบ์ ลุยขยายตลาด ‘กาแฟพร้อมดื่ม’ บลู บอทเทิ่ล คอฟฟี่ ถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทเนสท์เล่ ผ่านทางการถือหุ้นใหญ่ 68% ในปี 2017  (ภาพ :  Changyoung Koh on Unsplash)

เหลียวดูรายชื่อบรรดาค่ายกาแฟอิสระที่อยู่ในกลุ่มผู้บุกเบิกธุรกิจกาแฟพิเศษในสหรัฐ แทบจะถูก 'เทคโอเวอร์' ไปจนหมดแล้ว นอกจากตลาดสหรัฐที่ตกเป็นเป้าหมายแล้ว แบรนด์กาแฟพิเศษที่มีชื่อเสียงจากยุโรป, ออสเตรเลีย และเอเชีย ก็ตกอยู่ในลิสต์รายชื่อของกลุ่มการค้าข้ามชาติด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่การเข้าซื้อกิจการในเชิงยุทธศาสตร์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมกาแฟพิเศษของโลกเข้าเสียแล้ว ไม่มีใครรู้ว่ากระแส 'ปลาใหญ่กลืนปลาเล็ก' นี้จะยุติลงหรือไม่

ข้อมูลจากศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ไอทีซี) ระบุว่า โรงคั่วกาแฟขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 10 แห่ง ที่กินส่วนแบ่งยอดขายกาแฟมากกว่า 35% ทั่วโลก บริษัทยักษ์เหล่านี้พร้อมที่จะเข้าซื้อกิจการแบรนด์กาแฟพิเศษ เพื่อขยับขยายธุรกิจให้เข้าสู่ตลาดกาแฟคุณภาพสูง

.............................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี