'น้ำตาลเยอะ' ใน 'กาแฟเย็น' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้!

'น้ำตาลเยอะ' ใน 'กาแฟเย็น' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้!

กลุ่มผู้บริโภคอังกฤษวิจารณ์หนักการจัดเก็บภาษีความหวาน พุ่งเป้าเฉพาะเครื่องดื่มน้ำอัดลม ไม่ครอบคลุมไปถึงกาแฟเย็นบางเมนู ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

กาแฟเย็นเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงในวันที่อากาศร้อนถึงร้อนมาก เพราะจิบแล้วชื่นใจ ให้ความกระชุ่มกระชวย ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม กาแฟเย็นบางเมนูที่จำหน่ายตามท้องตลาด โดยเฉพาะในร้านดังระดับบิ๊กเนม กลับพบว่ามีปริมาณน้ำตาลในอัตราที่สูงกว่าช็อกโกแลตบาร์หรือน้ำอัดลมตามปกติเสียอีก

เรื่องนี้เริ่มเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมากในเกาะอังกฤษ เกี่ยวโยงไปถึงกฎหมายภาษีน้ำตาล หรือที่เรียกกันว่า 'ภาษีความหวาน' อันเป็นภาษีที่จัดเก็บจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินกว่าเพดานกำหนด เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลน้อยลง ลดปัญหาสารพัดโรคที่จะติดตามมา เช่น โรคอ้วน, โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน

ทว่าภาษีความหวานของรัฐบาลอังกฤษ ถูกวิพากษ์ว่ายังมี 'ช่องโหว่' อยู่ หากตั้งเป้าต้องการประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลง เพราะการบังคับใช้ยังไม่ครอบคลุมไปถึงเครื่องดื่มอีกหลายประเภทที่เสิร์ฟขายให้ลูกค้าตามร้าน

บางเมนูมีระดับน้ำตาลสูงเกินกว่าเพดานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีน้ำอัดลม ยังไงต้องโดนเก็บภาษีแน่นอน จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม

\'น้ำตาลเยอะ\' ใน \'กาแฟเย็น\' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้! ภาษีความหวานอังกฤษ ถูกมองว่าไม่ครอบคลุมเครื่องดื่มกาแฟเย็นที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วในระดับสูง  (ภาพ :  Victor Rutka on Unsplash)

ประเทศไทยเราก็มีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเหมือนกัน เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2017 ก่อนหน้าอังกฤษเสียอีก ครอบคลุมน้ำอัดลม, ชาเขียว, กาแฟ, เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำผลไม้ แต่เหมือนว่าจะ 'พุ่งเป้า' ไปยังเครื่องดื่มที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋องและขวด มากกว่าเครื่องดื่มประเภทเดียวกันนี้ที่เสิร์ฟขายเป็นแก้ว ๆในร้านทั่วไปตามท้องตลาด

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้บริโภคแล้ว อังกฤษถือว่า 'โชคดีมาก' ที่มีองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเข้มข้น คอยสำรวจตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่วางขายว่าเมื่อดื่มกินเข้าไปแล้วมีความปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่/เพียงไร

ล่าสุด 'วิช?' (Which?) กลุุ่มรีวิวสินค้าชื่อดังเมืองผู้ดีที่คราวก่อนออกมาเปิดข้อมูลเรื่องคาเฟอีนในเครื่องดื่มกาแฟ คราวนี้ออกมาเปิดประเด็น 'ปริมาณน้ำตาล' ในเมนูกาแฟของเชนร้านกาแฟใหญ่ ๆ ที่ทำแคมเปญเครื่องดื่มต้อนรับฤดูร้อนในอังกฤษ ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม

วิชฯเจ้าเก่า ให้ข้อมูลในเว็บไซต์ตนเองว่า ปริมาณน้ำตาลในเมนูกาแฟ 'เฟรปเป้' (Frappe) กับ 'เฟรปปูชิโน' (Frappuccino) ที่เสิร์ฟในช่วงหน้าร้อนนี้โดยเชนกาแฟยักษ์ใหญ่ 3 ราย ประกอบด้วย 'สตาร์บัคส์' (Starbucks), 'คอสต้า คอฟฟี่' (Costa Coffee) และ 'คาเฟ่ เนโร' (Caffè Nero) ในแก้วไซส์ปกติ 16-17 ออนซ์ พบว่ามีปริมาณน้ำตาลมากกว่าเกณฑ์แนะนำที่ให้ผู้ใหญ่บริโภคน้ำตาลในแต่ละวัน

\'น้ำตาลเยอะ\' ใน \'กาแฟเย็น\' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้! กาแฟเย็นบางเมนูมีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 40 กรัม หรือ 11 ช้อนชา โดยเฉพาะเมนูที่มีส่วนผสมของไซรัปน้ำเชื่อม  (ภาพ : Kari Shea on Unsplash)

สำหรับคำแนะนำในการบริโภคน้ำตาลสำหรับผู้ใหญ่ของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษนั้น กำหนดให้บริโภคได้สูงสุดไม่เกินวันละ 30 กรัม หรือประมาณ 7 ช้อนชา

ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชาในคนปกติ ตรงกับตัวเลขที่กรมอนามัยบ้านเราแนะนำไว้ คือไม่ควรเกินวันละ 24 กรัม

แล้ว 'วิช?' เป็นใคร ทำไมนำเสนอบทความเกี่ยวกับสุขภาพของผู้บริโภคครั้งใด มักมีสื่อกระแสหลักดัง ๆ ของอังกฤษให้ความสำคัญหยิบมาขยายปมต่อเพื่อเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง รอบนี้ เว็บไซต์ข่าวของบีบีซี, เดอะการ์เดี้ยน, เดลี่เมล์ และเทเลกราฟ ก็มีให้อ่านกันหมด แล้วก็ไม่ได้ตกหล่นข้อวิจารณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของกฎหมายภาษีน้ำตาลแต่อย่างใด

'วิช?' เป็นองค์กรช่วยเหลือผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านการทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม มีประวัติความเป็นมายาวนาน ก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีค.ศ.1957 ปัจจุบัน ถือเป็นแบรนด์ คอนซูเมอร์ กรุ๊ป ขนาดใหญ่ที่สุดในอังกฤษ มีสมาชิกนิตยสาร 680,000 คน และสมาชิกนิตยสารออนไลน์อีกกว่า 335,000 คน

\'น้ำตาลเยอะ\' ใน \'กาแฟเย็น\' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้! องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชาในคนปกติ เช่นเดียวกับกรมอนามัยของไทย  (ภาพ : 旭刚 史 จาก Pixabay)

สำหรับข้อมูลปริมาณน้ำตาลในเมนูกาแฟเย็นของ 3 ร้านใหญ่ข้างต้น กลุุ่มรีวิวสินค้าชื่อดังรายนี้ไม่ได้เอากาแฟไปเข้าห้องแล็บตรวจสอบหาค่าสารกันแต่อย่างใด เพราะมีอยู่แล้วในเว็บไซต์ของร้านกาแฟนั่นเอง ก็เป็นไปตามข้อกำหนดที่ว่า ร้านกาแฟและภัตตาคารที่มีพนักงานมากกว่า 250 คนขึ้นไป ต้องสำแดง 'ข้อมูลโภชนาการ' ด้านอาหารและเครื่องดื่มไว้บนฉลากสินค้าด้วย

วิช? ยกตัวอย่างว่า เมนู เบลเจียน ช็อกโกแลต & เฮเซลนัท เฟรปเป้ ครีม ที่ใช้นมข้าวโอ๊ต ของคาเฟ่ เนโร ขนาด 473 มล. มีปริมาณน้ำตาลในหนึ่งแก้ว 44.5 กรัม หรือ 11 ช้อนชา  ส่วนเมนู เอสเพรสโซ & คาราเมล เฟรปเป้ ครีม ใช้นมกึ่งพร่องมันเนย ของร้านเดียวกันนี้  มีน้ำตาล 44.3 กรัม หรือประมาณ 11 ช้อนชา

เมนู คาราเมล เฟรปปูชิโน ซึ่งใช้นมกึ่งพร่องมันเนย ของร้านสตาร์บัคส์ แก้วไซส์แกรนเด 16 ออนซ์ หรือ 473 มล. มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 48.5 กรัมหรือ 12 ช้อนชา ขณะที่ จาวา ชิพ เฟรปปูชิโน ใช้นมถั่วเหลือง ไซส์เดียวกัน มีน้ำตาล 46 กรัม หรือ 11.5 ช้อนชา

ส่วนคอสต้า คอฟฟี่ นั้น เมนู ช็อกโกแลต ฟัดจ์ บราวนี่ ฟรับเป้ ม็อคค่า ใช้นมข้าวโอ๊ต ขนาดแก้ว 495 มล. มีปริมาณน้ำตาล 42.6 กรัม หรือ 10.5 ช้อนชา

\'น้ำตาลเยอะ\' ใน \'กาแฟเย็น\' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้! น้ำตาลในกาแฟไม่ได้เกิดจากนมวัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากส่วนผสมอื่นๆ เช่น ไซรับน้ำเชื่อม ,น้ำผึ้ง และน้ำผลไม้  (ภาพ :  Paul Einerhand on Unsplash)

โดยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว วิช?ชี้ให้เห็นว่า  ช็อกโกแลตบาร์ของแบรนด์มาร์ ขนาด 51 กรัม มีน้ำตาล 31 กรัม หรือ 7.5 ช้อนชา และโค้กแคนขนาด 330 มล. มีน้ำตาล 35 กรัม หรือ 8.5 ช้อนชา

เชฟาลี ล็อธ นักโภชนาการของวิช? ระบุว่า ประชาชนอาจบริโภคน้ำตาลเข้าไปแบบ 'โดยไม่รู้ตัว' ในจำนวนมากกว่าที่คาดคิดเอาไว้ ดังนั้น เชนกาแฟใหญ่ ๆ จำเป็นต้องมี ความรับผิดชอบให้มากกว่านี้ และลดปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไปในเครื่องดื่มประจำร้าน เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค

ผู้เขียนเองตอนสั่งกาแฟเย็นมาดื่ม เห็นบาริสต้าใช้นมพืชแทนนมวัว ก็สบายใจคิดว่าคงมีปริมาณน้ำตาลในกาแฟน้อยลง แต่ลืมคิดไปว่า น้ำตาลไม่ได้มาจากนมวัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากส่วนผสมอื่น ๆ ด้วย เช่น ไซรับน้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง และน้ำผลไม้ตามธรรมชาติ

สังเกตว่าถ้าเมนูไหนมีส่วนผสมเพิ่มเติมเข้ามาเยอะ เมนูนั้นน่าจะมีระดับน้ำตาลมากขึ้น

\'น้ำตาลเยอะ\' ใน \'กาแฟเย็น\' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้! นักโภชนาการแนะนำให้เลือกดื่มกาแฟเย็นสูตรมาตรฐาน เช่น ไอซ์ คาปูชิโน ที่ใส่นมพร่องมันเนย เพราะมีปริมาณน้ำตาลไม่สูงนัก  (ภาพ : Demi DeHerrera on Unsplash)

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลต่อวันมากเกินความจำเป็น นักโภชนาการของวิช? จึงแนะนำให้เลือกดื่ม 'กาแฟเย็นสูตรมาตรฐาน' เพราะไม่มีการเพิ่มน้ำตาลหรือไซรัปเข้าไปเสริมมากเหมือนในเมนูเฟรบเป้และเฟรปปูชิโน อย่างเมนูของสตาร์บัคส์ เช่น ไอซ์ คาปูชิโน ที่ใช้นมพร่องมันเนย มีน้ำตาล 8.5 กรัม หรือ 2 ช้อนชาเอง หรือ ไอซ์ อเมริกาโน่  ก็มีน้ำตาลเพียง 0.2 กรัม

ขณะที่เมนู ไอซ์ แฟล็ต ไวท์  ซึ่งใช้นมกึ่งพร่องมันเนย ของคอสต้า คอฟฟี่ มีน้ำตาล 11.2 กรัม หรือ 2.5 ช้อนชา ส่วน ไอซ์ คาปูชิโน ใช้นมพร่องมันเนย ของคาเฟ่ เนโร  ก็มีน้ำตาล 8.5 กรัม หรือ 2 ช้อนชา

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกพาดพิงมีโอกาสได้เคลียร์ข้อสงสัยต่าง ๆ เว็บไซต์วิช?จะลงคำชี้แจงของโฆษกบริษัททั้งสตาร์บัสค์ และคอสต้า คอฟฟี่  ที่มีข้อความในทำนองเดียวกันว่า ทางร้านมี 'อ็อปชั่น' ให้ลูกค้าเลือกอยู่แล้วในการบริโภคน้ำตาลระดับต่ำ ๆ ในทุกขนาดไซส์แก้ว ลูกค้าสามารถพิจารณาตัดสินใจเลือกได้ว่าจะใช้นมประเภทไหน มีท็อปปิ้งด้วยหรือไม่ แล้วข้อมูลโภชนาการทั้งหมดก็มีการเสนออย่างครบถ้วนไว้ในแอพพลิเคชั่น, เว็บไซต์ และเมนูบอร์ดภายในร้าน

\'น้ำตาลเยอะ\' ใน \'กาแฟเย็น\' อีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรรู้!

ร้านกาแฟสามารถช่วยดูแลสุขภาพของลูกค้าได้ ด้วยการนำเสนอเมนูเครื่องดื่มที่มีผลดีต่อสุขภาพ  (ภาพ : Michał Parzuchowski on Unsplash)

ทว่าประเด็นที่วิชฯต้องการชี้ให้เห็นชัด ๆ ก็คือ เมื่อปีค.ศ. 2018 รัฐบาลอังกฤษประกาศจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม บังคับใช้กับอุตสาหกรรมน้ำอัดลม หวังลดการบริโภคน้ำตาลโดยรวมของภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ในเครื่องดื่มบางประเภทถูก 'ยกเว้น' จากภาษีนี้ เช่น น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่เสิร์ฟใส่แก้วจำหน่ายตามร้านทั่วไป แม้ว่ากาแฟเย็นบางเมนูที่มักนิยมใส่ไซรัปอย่างเฟรบเป้ จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าเพดานขั้นต่ำที่ภาษีความหวานกำหนดไว้ก็ตาม

ก็อย่างที่คาเฟ่ เนโร คอมเมนท์ตอบกลับไปยังบทความของวิชฯนั่นแหละ ...เมนูที่ถูกเอ่ยอ้างถึงของร้านนั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาษีความหวานเลย

บรรดาสื่อมวลชนอังกฤษก็ออกจะเห็นด้วยเหมือนกันว่า นี่คือ 'ช่องโหว่' ของกฎหมายจัดเก็บภาษีน้ำตาลที่ขณะนี้โฟกัสไปเฉพาะน้ำอัดลมเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงเครื่องดื่มในเซกเมนต์อื่น ๆ ด้วย ทั้ง ๆ ที่กฎหมายนี้ออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป และสามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลได้เป็นจำนวนมาก

สถานการณ์จากอังกฤษ อาจเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนเรื่องราวในบ้านเรา...  ปริมาณน้ำตาลเยอะในเครื่องดื่มกาแฟเย็น จึงเป็นอีกประเด็นที่ผู้บริโภคควรตระหนักรับรู้ เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง

........................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี