‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี 'ย่านทรงวาด'

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี 'ย่านทรงวาด'

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี อร่อย ใน ‘ย่านทรงวาด’ มีความพิเศษตรงเนื้อแป้ง ‘ซาลาเปาสีเหลือง’ มีความหวานหอมของ ‘มันเทศ’ ปัจจุบันสืบทอดโดยรุ่นที่ 5 หมูหวานชวนชิม ชอบ ‘ซาลาเปาไส้หมูสับไข่เค็ม’ เป็นที่สุด รองลงมา ‘ซาลาเปาไส้หมูแดง’

ทายาท กู่หลงเปา รุ่นที่ 5 เล่าว่าเดิมร้านนี้ไม่มีชื่อ เขาต้องการสร้างแบรนด์ให้คนจดจำ และรู้จัก จึงคิดชื่อขึ้นมา เมื่อ 4 ปีก่อน คำว่า ‘กู่’ เป็นภาษาแต่จิ๋ว แปลว่า ‘โบราณ’  ส่วนคำว่า ‘หลง’ คือ ‘เข่งไม้ไผ่’

และคำว่า ‘เปา’ ก็คือการห่อ พอสามคำนี้อยู่รวมกันมีความหมายว่า ‘ซาลาเปาโบราณ’  อภินัทธ์ พิริยะกุลวงศ์ เจ้าของร้านเล่าว่า

“ผมเป็น รุ่นที่ 5 รุ่นแรกๆก็คือคนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีนทางตอนใต้ ก็คือซัวเถา สมัยก่อนคนจีนจะมาอยู่ที่นี้แล้วก็จะเอาประสบการณ์ ความรู้ของตัวเองที่ติดตัวมาหาเลี้ยงชีพที่นี่

ซาลาเปา นี่ก็เป็นหนึ่งในองค์ความรู้  เดิมเราขายซาลาเปาอยู่ในสำเพ็ง ไม่ได้มีชื่อเป็นทางการ  ก็จะขายให้กับคนในชุมชน ขายให้คนรู้จักในเทศกาลต่างๆ ตรุษจีน สารทจีน สมัยก่อนจริงๆก็จะหาบขาย  ใส่รถเข็นขายในชุมชน”

 ‘กู่หลงเปาซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี มีสูตรแป้งที่แตกต่างจากสูตรอื่น  ตรงที่ เป็น ซาลาเปาแป้งเหลือง เพราะมีส่วนผสมของมันเทศ ทำให้ตัวแป้งมีความเหนียวนุ่ม แตกต่างจากบางสูตรที่อาจจะกลืนยาก ติดคอ ติดฟัน ทายาท ‘รุ่นที่ 5อภินัทธ์ พิริยะกุลวงศ์ เล่าต่อไปว่า ตัวแป้งของ ซาลาเปา จะมีรสชาติหวานตามธรรมชาติ จากมันเทศ นึ่งที่ใส่ลงไปคลุกเคล้ากับแป้ง  คุณนัท เล่าให้ หมูหวานชวนชิม ฟังต่อไปว่า

“ผมเรียนมาทางด้านวิศวกรรม ยานยนต์ ที่จุฬาฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมยังทำงานประจำอยู่  และมีความคิดว่าอยากทำธุรกิจส่วนตัว ก็มาดูว่าเราจะขายอะไรดี ก็เลยหันกลับมามอง ซาลาเปาแป้งเหลือง ที่ อร่อย มีเอกลักษณ์ แต่คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก

มาทำ Branding ให้คนรู้จัก ความจริงบรรพบุรุษไม่ได้ทำซาลาเปาอย่างเดียว มี ซาลาเปาซิ่วท้อ  ขนมเปี๊ยะ ด้วย ซิ่วท้อ ตลาดต้องการน้อยลง ผมมองว่าซาลาเปา ยังไปได้เพราะหลายเจ้าก็พยายามสร้างแบรนด์ ทำซาลาเปาทรัฟเฟิล ซาลาเปาไส้ไหล ผมว่าเทรนด์นี้ยังไปได้เรื่อยๆครับ”

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\'

ภาพโดย : ศุกร์ภมร เฮงประภากร 

กู่หลงเปาซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี จากรุ่นที่ 4 คุณอา มาสู่ รุ่นที่ 5 อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสูตรดั้งเดิมบ้าง ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' 'ทายาทรุ่นที่ 5' อภินัทธ์ พิริยะกุลวงศ์

“ยกตัวอย่างสมัยก่อนเราอาจจะใช้ฟืน ในการจุดไฟ สมัยนี้ ถ้าจะมาใช้ฟืนก็คงหายาก เราเลยต้องมามองว่ามีความคุ้มค่าไหม มีความเร็ว มีความผิดพลาดไหม เพราะเราไม่ได้ทำคนเดียว ตื่นเช้ามานวดแป้ง ปั้นซาลาเปา ลุยคนเดียว เรามีลูกน้อง มีคนช่วยเรา

ไม่ใช่ว่าเราอยากจะทำอะไรตามได้โดยไม่คำนึงถึงคนทำงาน รสชาติเราอยากให้เหมือนเดิม รสชาติดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นที่ 1 เลยก็คือ ซาลาเปาหมูสับไข่เค็ม เป็นซิกเจเจอร์ของ กู่หลงเปา ถ้าเป็นไส้หวาน ก็จะเป็น ไส้ถั่วหวานงาขาว เราจะทำถั่วกวนแล้วใส่งาขาวลงไป อันนี้ อร่อย ครับ แล้วก็มี เผือกกวน และ หมั่นโถว ทั้งหมดนี้เป็น ซาลาเปา ไส้ดั้งเดิม”

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' เทคนิคการนวดแป้งซาลาเปาแบบแต้จิ๋ว มีแป้งและมันเทศ 

ถั่วหวานงาขาว และเผือกกวน ครั้งแรกมีความกังวลใจ เพราะคิดว่าเป็นเมนูสำหรับคนที่มีอายุ ทว่าที่ไหนได้ วัยรุ่นชอบ ทางทีมแอดมินถามลูกค้าวัยรุ่นว่าทำไมถึงชอบ คำตอบก็คือ ซาลาเปา ร้านกู่หลงเปา เหมือนขนมมากกว่าซาลาเปา กลายเป็นขวัญใจของคนทุกรุ่น

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' 'ซาลาเปา' ปั้นเสร็จแล้วพักไว้ก่อน รอการนึ่ง 

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\'

'ซาลาเปาไส้หมูแดง' แป้งแบบแต้จิ๋ว ไส้หมูแดงแบบกวางตุ้ง 

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' ซาลาเปาไส้ถั่วหวานงาขาว

“ไส้งาดำเพิ่งมี เพราะเห็นว่า วัยรุ่นก็ทานครับ และเรามี ซาลาเปาไส้หมูสับ Plant-Based  ผมมองว่าเดี๋ยวนี้เทรนด์คนที่ชอบกินมังสวิรัติ เพิ่มขึ้น และมีกลุ่มคนที่ยังทานเนื้อสัตว์อยู่ แต่ในหนึ่งอาทิตย์เขาต้องการลดการบริโภคลง อาทิตย์หนึ่งอาจจะทานเนื้อสัตว์ 4 วัน งดทานเนื้อสัตว์ 3 วัน

ผมเห็นช่องทางธุรกิจตรงนี้ก็เลยทำ ซาลาเปาหมูสับวีแกน ขึ้นมา ฟีดแบคค่อนข้างดี รุ่นผมยังทำ ซาลาเปาไส้หมูแดง ด้วยนะครับ ทำไมเพิ่งมีไส้นี้ เหตุผลก็คือ หมูแดง จะเป็นอาหารของกวางตุ้ง แต่ซาลาเปาของเราเป็นแต้จิ๋ว แรกๆลูกค้าก็ถามเยอะมากว่าทำไมไม่มีไส้หมูแดง ตอนนั้นยอมรับว่าเราก็อีโก้ ก็บอกว่าเราเป็นแต้จิ๋ว

ในที่สุดก็ทนกระแสไม่ไหว้ อะลองดูๆ ปรากฏว่าฟีดแบคดี อนาคตอาจจะทำไส้อื่นๆอีก เรามีทั้งซาลาเปาแบบนึ่ง และแบบอบ เกรียมๆข้างนอก มีความนุ่มของเนื้อแป้ง ไม่อมน้ำมัน ซาลาเปาเราแป้งเด่น ก็เลยไม่อยากเอาไปทอดจนเกรียม จนลบความเด่นไป”

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' จิตรกรรมฝาผนังสวยงาม นักท่องเที่ยวเดินผ่านไปมา อดใจไม่ไหว มักจะถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก คุณนัท เล่าว่า เป็นผลงานของ อาจารย์ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฎ์ บรรจงวาดชามใส่ซาลาเปา 2 ชามที่ให้อารมณ์แตกต่างกัน เนื่องจาก ย่านทรงวาด แห่งนี้ มีหลากหลายวัฒนธรรม มีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งคนไทย จีน อินเดีย ฝรั่ง และมุสลิม

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' ภาพวาดมีชามใบแรกที่มีลวดลายแบบราชวงศ์หมิง ใส่ซาลาเปาสีเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าของร้าน ‘กู่หลงเปา’ บ่งบอกความเป็นจีน ชามถัดมาไม่มีลวดลาย เพราะต้องการสื่อให้เห็นถึงความอิสระทางวัฒนธรรม ทว่าในชามมีทั้งซาลาเปาและขนมลูกเฟือง ของชาวมุสลิม เนื่องจากด้านในเป็นชุมชนมุสลิม มีมัสยิดเก่าแก่ชื่อ หลวงโกชา อิศหาก 

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' อีกความหมายหนึ่งก็คือถ้วยชามไม่มีลายเพราะไม่อยากเอาวัฒนธรรมอะไรไปครอบงำ ต้องการให้ภาพสื่อออกมาว่ามีความเป็นจีนอยู่ข้างนอก มุสลิม อยู่ข้างใน สื่อถึงความปรองดองกัน มีอักษรภาษาจีนเขียนว่า ‘กู่หลงเปา’ และอีกด้านเขียนว่า ‘เปาจือเตี้ยน’ แปลว่าร้านซาลาเปา ไปเช็คอินถ่ายภาพ ชิมซาลาเปาอร่อยๆ กันได้

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' กู่หลงเปา ถนนทรงวาด ร้านนี้ซื้อกลับบ้านอย่างเดียว 

‘กู่หลงเปา’ ซาลาเปาแต้จิ๋ว สูตร 100 ปี \'ย่านทรงวาด\' 'ร้านกู่หลงเปา' เลขที่ 983 ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ เปิดบริการวัน จันทร์ – อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. สาขาสามแยกหมอมี เปิด จันทร์-เสาร์ 09.00-17.00 น. และมีจำหน่ายที่ชั้น G กูร์เมต์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้าสยามพารากอน โทร. 09-5797-5747