1 ตุลาคม 'วันกาแฟสากล' กับความหมายที่ซ่อนอยู่ก้นแก้ว!
1 ตุลาคมของทุกปี เป็น 'วันกาแฟสากล' คิกออฟครั้งแรกเมื่อปีค.ศ 2015 เพื่อแสดงถึงความสำคัญและความหมายในมิติต่าง ๆ ของเครื่องดื่มแก้วโปรดที่เรียกว่า 'กาแฟ'
นับตั้งแต่มีการค้นพบ กาแฟ ในป่าของประเทศเอธิโอเปียเมื่อศตวรรษที่ 9 แล้วกาแฟก็ผ่านเข้าสู่เยเมน,โลกอาหรับ, ตุรกี และยุโรป ก่อนแพร่กระจายความนิยมไปทั่วโลก ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการบริโภคที่ฝังรากลึกในหลาย ๆ ประเทศ กลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตตลอดกาล เมนูเอสเพรสโซ่, อเมริกาโน่, คาปูชิโน่ และลาเต้ ได้รับความนิยมอย่างสูง จวบจนมีการก่อตั้ง 'วันกาแฟสากล' หรือ 'วันกาแฟโลก' (International Coffee Day) ขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อแสดงถึงความสำคัญและความหมายในมิติต่าง ๆของเครื่องดื่มกาแฟในเชิงการผลิตและการบริโภค
วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี คือวันกาแฟสากล คิกออฟครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ 2015 ที่มิลาน ประเทศอิตาลี โดย 'องค์กรกาแฟสากล' (ICO) เพื่อเป็นกิจกรรมร่วมในงานเวิลด์ เอ็กซ์โป 2015 ที่มิลานนั่นเอง ในครั้งนั้น มีการจัดงานอีเวนต์อย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเชิญชวนให้ชาวโลกร่วมกันดื่มกาแฟแก้วโปรด ตั้งใจให้เป็น 'วันพิเศษ' ของคนรักกาแฟทั่วโลก นับจากนั้นมาเวลาใครพูดถึงวันกาแฟสากลก็มักนึกไปถึงงานปาร์ตี้หรืองานเฉลิมฉลองการดื่มกาแฟร่วมกันอย่างสนุกสนาน
แต่นั่นเป็นเพียงคำพูดหรือข้อเขียนตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ตั้งใจให้ดูสวยและหรูหราเท่านั้น เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้มีงานเฉลิมฉลองใหญ่โตอะไรนัก ในวันนั้นผู้คนก็ยังดื่มกาแฟกันตามปกติ จะมีให้ตื่นเต้นอยู่บ้างก็ตรงที่ธุรกิจร้านกาแฟทั่วโลกถือเป็น 'โอกาสทอง' ในการจัดงานอีเว้นต์ เสนอโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถมเพื่อดึงลูกค้าเข้าร้าน โดยเฉพาะร้านกาแฟในอเมริกาเหนืออย่างสหรัฐและแคนาดา
นอกจากดึงคนมาดื่มกาแฟกันแล้ว 'ความหมาย' ที่ซ่อนอยู่ก้นแก้วที่ผู้คนไม่ค่อยจะพูดถึงกันของวันกาแฟสากลนั้นคืออะไร? ต้องการเชิญชวนให้คนมาร่วมดื่มกาแฟแก้วโปรดเพียงประการเดียวกระนั้นหรือ?
วันกาแฟสากลตั้งขึ้นมาเพื่อแสดงถึงบทบาทที่สำคัญของเครื่องดื่มกาแฟทั้งในเชิงการผลิตและการบริโภค (ภาพ : pexels.com/Georgi Petrov)
องค์กรกาแฟสากลหรือที่บางท่านเรียกว่าองค์กรกาแฟระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1963 ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายใต้การอุปถัมภ์ของ 'สหประชาชาติ' (ยูเอ็น) เนื่องจากเห็นว่ากาแฟมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างสูง สมาชิกประกอบด้วยผู้แทนของรัฐบาลแต่ละประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นชาติจากแหล่งปลูกกาแฟตามทวีปต่าง ๆ นั่นเอง ประชุมกันปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคมกับกันยายน
นอกจากมีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในระดับโลกแล้ว ยังเป็นเวทีปรึกษาหารือเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ภาคธุรกิจกาแฟเผชิญอยู่จากต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ระดับผู้ปลูก, นักโปรเซส, มือคั่ว, บาริสต้า, ผู้จัดการร้าน และเจ้าของธุรกิจ ไปจนถึงผู้บริโภค ผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ
เป้าหมายแรกเริ่มของการจัดตั้งวันกาแฟโลกนั้น องค์กรกาแฟสากลโฟกัสความสำคัญไปที่เรื่องการส่งเสริมให้มีการยกระดับ 'คุณภาพชีวิต' ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ, ผลักดันการค้าที่ 'เป็นธรรม' ในอุตสาหกรรมกาแฟ และขับเคลื่อนให้กาแฟเป็น 'เครื่องดื่มสากล' ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก
สำหรับผู้หลงใหลการดื่มกาแฟทั่วโลกนั้น วันกาแฟสากลถูกใช้เพื่อ 'สื่อความหมาย' ไปในแง่มุมของการแบ่งปันความรักในตัวเครื่องดื่มและสนับสนุนเกษตรกรนับล้านคนที่วิถีชีวิตขึ้นอยู่กับพืชเศรษฐกิจหอมหวลชวนดื่มอย่างกาแฟ อย่างไรก็ตาม วาระหลัก ๆ ในการขับเคลื่อนขององค์กรนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และปัญหาที่มองกันว่ากำลังส่งผลกระทบและต้องรีบเข้าไปช่วยกันดูแลแก้ไข
วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันกาแฟสากล ใช้ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ 2015 ที่มิลาน ประเทศอิตาลี โดยองค์กรกาแฟสากล (ภาพ : www.ico.org)
อย่างปีค.ศ. 2022 องค์กรกาแฟสากลโฟกัสเรื่องธุรกิจกาแฟจาก 'เศรษฐกิจแบบเส้นตรง' (Linear Economy) สู่ 'เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน' (Circular Economy) ต้องการสื่อสารออกไปว่า การนำทรัพยากรมาผลิตสินค้านั้น เมื่อเลิกใช้แล้วจะถูกทิ้งโดยไม่นำกลับมาใช้อีก เศรษฐกิจแบบเส้นตรงจึงส่งผลกระทบต่อโลก โลกจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด มีการวางแผนให้สิ่งของที่ใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำไปรีไซเคิลเพื่อกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
พอพูดถึงประเด็นนี้ ผู้เขียนนึกถึง 'กากกาแฟ' ก่อนเป็นสิ่งแรก ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกทิ้งให้เป็นขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ดังนั้น การนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทิ้งลงถังขยะแล้วฝังกลบหรือเผาทำลาย ไม่จำเป็นเลยสำหรับการตั้งคำถามว่าขยะจากกากกาแฟมีมากน้อยขนาดไหนกันเชียว หากทราบว่ายอดบริโภคกาแฟทั่วโลกในปัจจุบันนั้น มีตัวเลขสูงกว่า 10 ล้านตัน
ไม่ใช่กากกาแฟเท่านั้นที่เป็นความท้าทายของโลก แต่ 'แก้วพลาสติก' แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งก็เป็นปัญหาใหญ่ในเชิงระบบ ที่ผ่านมาธุรกิจร้านกาแฟตกเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่หลาย ๆ ฝ่ายช่วยกันผลักดันให้ลด-ละ-เลิกการเสิร์ฟเครื่องดื่มด้วยแก้วพลาสติก หวังเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกในสภาพแวดล้อม
ในปีค.ศ. 2023 นี้ ธีมวันกาแฟสากลประจำปี พุ่งเป้าไปที่ 'ความยั่งยืน' ในกาแฟทุก ๆแก้วที่ชงดื่มกัน ตอกย้ำถึงความสำคัญของการผลิตและการบริโภคกาแฟที่ยั่งยืน
เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งขององค์กรกาแฟสากลคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ และพัฒนาให้ธุรกิจกาแฟมีความยั่งยืน (ภาพ : Gerson Cifuentes on Unsplash)
ถ้าคลิกเข้าไปชมในเว็บไซต์ขององค์กรกาแฟสากล www.ico.org จะพบว่ามีการรณรงค์แคมเปญ #CoffeePeople และมีการเปิดประเด็นขึ้นมาในหัวข้อ 'การส่งเสริมสิทธิที่จะมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพในซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานกาแฟ' เพื่อให้คนทั่วโลกได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน
องค์กรกาแฟสากลระบุอีกว่า เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลาย, คุณภาพ และความทุ่มเทในทุก ๆ ภาคส่วนธุรกิจกาแฟ ดังนั้น วันกาแฟสากลจึงเป็นโอกาสสำหรับคนรักกาแฟในอันที่จะแบ่งปันความหลงใหลในตัวเครื่องดื่ม(กาแฟ) ตลอดจนตระหนักถึงและสนับสนุนการทำงานของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหลายล้านคน รวมถึงทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในการผลิต, จำหน่าย, ขายปลีก และให้บริการเสิร์ฟกาแฟ
แต่เนื่องจากคนอเมริกันเป็นผู้ชื่นชอบการจดบันทึกสถิติอะไร ๆ ที่เป็นครั้งแรกบนโลกใบนี้เอามาก ๆ เช่น สร้างหรือผลิตเป็นครั้งแรกดังนั้น คำว่าวันกาแฟสากลหรือวันกาแฟโลก ย่อมหนีไม่พ้นที่ถูกเว็บไซต์ในลักษณะที่เป็นสารานุกรมและเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารเครื่องดื่มกาแฟ ขุดค้นหาข้อมูลในอดีตมายืนยันการันตีกันว่า เคยมีการนำมาใช้เป็นครั้งแรกก่อนหน้าองค์กรกาแฟโลกหรือไม่ แล้วก็ไปเจอข้อมูล 'ครั้งแรก' ของวันกาแฟสากลอยู่หลายชุดด้วยกัน
เช่น ชื่อ 'วันกาแฟสากล' ถูกใช้ครั้งแรกโดยพิพิธภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มภาคใต้ ในนครนิวออร์ลีนส์ มลรัฐหลุยเซียน่า ซึ่งจัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปีค.ศ. 2009 เพื่อเฉลิมฉลองและเพื่อประกาศเทศกาลกาแฟนิวออร์ลีนส์เป็นครั้งแรก
วันกาแฟสากลถูกใช้สื่อความหมายด้านการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่ที่วิถีชีวิตขึ้นอยู่กับรายได้จากพืชเศรษฐกิจหอมหวลชวนดื่มอย่างกาแฟ (ภาพ : Joel Friedrich on Unsplash)
ไต้หวันก็เคยจัดงานวันดังกล่าวเป็นครั้งแรกเช่นกันในปีค.ศ. 2009
ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดูเหมือนองค์การกาแฟสากล สาขาประเทศจีน เคยจัดงานอีเว้นต์วันกาแฟสากลในรูปแบบของตนเองมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 เข้าใจว่ามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ชาวจีนหันมาเพิ่มการดื่มกาแฟแทนชา
นานไปกว่านั้น พบข้อมูลว่า ต้นกำเนิดของวันกาแฟสากลอาจย้อนหลังไปถึงปีค.ศ. 1983 เมื่อสมาคมกาแฟแห่งญี่ปุ่น จัดงานเทศกาลในประเทศแล้วประกาศว่าเป็นวันกาแฟสากล
จะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม 'วันพัมพ์กิ้นสไปซ์แห่งชาติ' (National Pumpkin Spice Day) ยอดเมนูประจำฤดูใบไม้ร่วงสุดป๊อปปูล่าร์ของสตาร์บัคส์ ก็ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเช่นเดียวกัน และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2015 เช่นเดียวกับวันกาแฟสากลเป๊ะ ๆ โดยมิได้นัดหมาย
นอกเหนือจากวันกาแฟสากลแล้ว ยังมี 'วันกาแฟแห่งชาติ' (National Coffee Day) เข้ามาเพิ่มเติมอีก เรียกว่ามีทั้งระดับโลกและระดับประเทศกันเลยทีเดียว ประเทศที่ประกาศจัดตั้งวันกาแฟแห่งชาติจนถึงวันนี้ก็มีร่วม ๆ 50 ประเทศ การกำหนดวันก็ให้ประเทศนั้น ๆ เป็นผู้ตัดสินใจกันเอาเอง
ส่วนหนึ่งของแคมเปญส่งเสริมการขายรับวันกาแฟแห่งชาติวันที่ 29 เดือน 9 ของร้านทิม ฮอร์ตันส์ ภาพ : timhortons.com
ส่วนใหญ่นิยมใช้วันที่ 29 กันยายน เช่น สหรัฐ, แคนาดา, สวีเดน, นอร์เวย์, อินเดีย, เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ส่วนวันที่ 1 ตุลาคมวันเดียวกับวันกาแฟสากลก็มีไม่น้อย เช่น ออสเตรเลีย,ญี่ปุ่น,มาเลเซีย,สิงคโปร์,เม็กซิโก,อังกฤษ และนิวซีแลนด์
สำหรับวันกาแฟแห่งชาติในประเทศไทย ผู้เขียนเข้าใจว่ายังไม่ได้มีการกำหนดขึ้นมาแต่อย่างใด ถ้าผิดพลาดเรื่องข้อมูลตรงนี้ไป ก็ขออภัยด้วยครับ
ในตลาดสหรัฐ ร้านกาแฟ, ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด นิยมทำแคมเปญ 'ส่งเสริมการขาย' แบบควบรวม 3 วันติด ตั้งแต่ 29 กันยายน-1 ตุลาคม แบรนด์ใหญ่น้อยต่างแข่งขันกันจัดโปรโมชันเครื่องดื่มกาแฟกันแบบคึกคักสุด ๆ เป็นประจำทุกปี ทั้งลดราคาเครื่องดื่มหน้าร้าน, แจกคูปองส่วนลดตามแอพพลิเคชั่น และแจกฟรี(แบบมีเงื่อนไข) ถ้าเป็นสมาชิกแบบผูกขาดของทางร้าน ก็ยิ่งได้ส่วนลดแหลกแจกแถมมากยิ่งขึ้น สุดแล้วแต่จะคิดแคมเปญดึงเงินลูกค้ากันขึ้นมาได้
ธีมวันกาแฟสากลประจำปีนี้ โฟกัสไปที่ความยั่งยืนในกาแฟทุกๆแก้วที่ชงดื่มกัน ตอกย้ำถึงความสำคัญของการผลิตและการบริโภคกาแฟที่ยั่งยืน (ภาพ : Nathan Dumlao on Unsplash)
รายใหญ่ ๆ ก็ประกอบไปด้วย ดังกิ้น โดนัท, แมคโดนัลด์, คริสปี้ ครีม, เวนดี้ส์, ทิม ฮอร์ตันส์, เคอริก, เซอร์เคิล เค และอื่น ๆ อีกมาก รวมไปถึงร้านกาแฟพิเศษอย่างบลู บอทเทิ่ล และพีสท์ คอฟฟี่ ก็ไม่พลาดเช่นกัน
ที่คึกคักไม่แพ้กันก็คือกลุ่มรีวิวเครื่องดื่มทางออนไลน์และสื่อท้องถิ่นประจำรัฐต่าง ๆ กลุ่มนี้มีภารกิจที่จะต้องรายงานว่า ร้านหรือคาเฟ่แห่งไหนเสนอส่วนลดแบบจัดหนักจัดเต็มอย่างไรให้ลูกค้ากันบ้าง แล้วก็นำไปเปรียบเทียบว่าโปรโมชั่นของค่ายใดคุ้มค่ามากที่สุดที่จะเดินเข้าไปซื้อเครื่องดื่มเพื่อเฉลิมฉลองวันกาแฟดังกล่าว เรียกว่าเป็น 'ข่าวไฮไลต์' ที่สามารถเรียกยอดไลค์ยอดแชร์ได้มากทีเดียว
จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวันกาแฟสากล, วันกาแฟแห่งชาติ หรือวันไหน ๆ ก็ตาม ก็ขอเพียงมีโอกาสได้ดื่มกาแฟกันอย่างมีความสุข ที่สำคัญขอให้มีการผลิตและการดื่มกาแฟอย่างยั่งยืนตลอดไป ตามคำขวัญคำประกาศขององค์กรกาแฟสากลครับ
.....................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี