‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก

เมื่อต้นเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่จับไวน์อเมริกาที่ลักลอบเข้าเมืองไทยมากว่า 100 ขวด ราคาตลาดขายขวดละกว่า 20,000 บาท คือไวน์ ‘โอปุส วัน’ หลังตรวจสอบแล้วพบว่าเป็น ‘ไวน์ปลอม’

ข่าวจับ ไวน์ปลอม เป็นข่าวใหญ่แต่ไม่เปิดเผย คือไวน์ดังจาก นาปา แวลลีย์ (Napa Valley) ในแคลิฟอร์เนีย ไวน์โอปุส วัน (Opus One)

หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าทั้งหมดเป็น ไวน์ปลอม ขวดภายนอกดูเหมือนจริงมาก ถ้าไม่เชี่ยวชาญจริงแทบจะแยกไม่ออก ขณะที่ข้างในเป็นน้ำไวน์แคลิฟอร์เนียคุณภาพดีพอสมควร แต่ไม่ใช่น้ำเนื้อของ โอปุส วัน จริง ๆ เรียกว่าซื้อไวน์ขวดละ 2,000 กว่าบาท มาเติมในขวดที่ทำเสมือนโอปุส วัน แล้วขายราคากว่า 10,000 บาท

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก

   ไวน์ปลอมที่แทบแยกไม่ออก

ที่ผ่านมา โอปุส วัน เป็นหนึ่งในไวน์ที่มิจฉาชีพอยากจะปลอมมากที่สุด มี ไวน์ปลอม วนเวียนอยู่ในตลาดมากมาย ทางผู้ผลิตก็พยายายามหาทางป้องกันมาโดยตลอด

ล่าสุด ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยทางตราสารการเงินแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ ใช้หมึกชนิดพิเศษพิมพ์ลงบนแคปซูลที่ปิดขวดไวน์ ซึ่งมองด้วยตาเปล่าจะเหมือนไวน์ทั่วไป ต้องมองผ่านอุปกรณ์พิเศษจึงจะรู้ เริ่มทดลองใช้วินเทจ 2010 เป็นบางส่วน และใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วินเทจ 2011 เป็นต้นมา

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก

   ใช้หมึกพิเศษพิมพ์บนแคปซูลที่ปิดขวดไวน์

ย้อนตำนานและไทม์ไลน์ของ โอปุส วัน

โอปุส วัน เกิดจากการจับมือกันของ 2 เจ้าพ่อไวน์ตัวจริงเสียงแท้ บาฮรง ฟิลิปป์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baron Philippe de Rothschild) เจ้าของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ (Chateau Mouton Rothschild) แห่งฝรั่งเศส กับ โรเบิร์ต มอนดาวี (Robert Mondavi) เจ้าพ่อไวน์นาปา แวลลีย์ ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในวงการไวน์ในช่วงทศวรรษที่ 1980

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก     ไร่โอปุส วัน

ประวัติศาสตร์ของโอปุส วัน เริ่มบนเกาะฮาวาย ซึ่ง มอนดาวี กับบาฮรง ฟิลลิป เดอ ร็อธส์ไชลด์ บังเอิญได้พบกันเป็นครั้งแรกในปี 1970 ท่านบาฮรงเป็นผู้ยื่นข้อเสนอให้ มอนดาวี มาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นการมองเกมอันเฉียบขาดของท่านในฐานะตระกูลนายธนาคารยักษ์ใหญ่ ที่มองเห็นเส้นทางเศรษฐกิจของอเมริกา

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก      กิจกรรมไวน์เทสติ้งในไร่โอปุส วัน

ปี 1978 ท่านบาฮรงเชิญ มอนดาวี ให้ไปเยือนอาณาจักรมูตอง ร็อธชิลด์ ในเมืองบอร์กโดซ์ ใช้เวลา 25 นาที ทุกอย่างก็ลงเอยด้วยการถือหุ้น 50-50 ท่านบาฮรองออกทุนและความรู้ในการผลิตไวน์ ส่วนมอนดาวีหาที่ดิน สำนักงานและคนงาน

ปี 1979 ลูเซียน ซิอองโน (Lucien Sionneau) ไวน์เมกเกอร์คนแรกของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ ไปที่ไร่โรเบิร์ต มอนดาวี ในนาปา แวลลีย์ (Napa Valley) เพื่อดูแลการผลิตไวน์วินเทจเเรก

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก     หน้าไร่โอปุส วัน

ปี 1980 การร่วมมือของสองเจ้าพ่อเมรัยอมตะ ประกาศออกมาเป็นทางการ สร้างความฮือฮาสะท้านสะเทือนวงการไวน์โลก โดย มอนดาวี ขายไร่องุ่นโต การอน (To Karon) ขนาด 35 เอเคอร์ (ประมาณ 87.5 ไร่) ใน Oakville AVA ให้บริษัทร่วมทุน (ปี 1983 ซื้อไร่เพิ่มที่ Oakville อีก 125 ไร่) ซึ่งขณะนั้นไวน์ยังไม่ได้ตั้งชื่อและยังไม่ได้ออกแบบฉลาก

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก     ทิวทัศน์ในไร่องุ่น

กว่าจะได้ชื่อ โอปุส วัน ครั้งแรกท่านบาฮรงเสนอชื่อ Gemini มอนดาวี รีบตีกลับทันทีพร้อมบันทึกแนบท้ายว่า คงไม่ได้อย่างแน่นอน ท่านอยู่แต่ที่ฝรั่งเศส คงไม่รู้ว่า Gemini เป็นบาร์เกย์ชื่อดังในซานฟรานซิสโก...

ท่านบาฮรงเสนออีกครั้งว่า Opus (ภาษาละตินแปลว่า พลังแห่งการทำงาน) มอนดาวีก็ค้านอีกเล็กน้อยว่า ความหมายก็ดีอยู่ แต่มันก็แปลว่าการแสดงดนตรีด้วย ดูไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร...

ท่านบาฮรงต้องกลับไปทำการบ้านอีกครั้ง คราวนี้เติมคำว่า One ลงไปด้วยเป็น Opus One มอนดาวี ปิ๊งทันที

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก

   โรเบิร์ต มอนดาวี กับท่านบาฮรง

ฉลากของโอปุส วัน เป็นภาพเขียนรูปหน้าของทั้งคู่ สังเกตง่าย ๆ ท่านบาฮรงหันหน้าไปทางขวามีผมชี้เด่ ส่วน มอนดาวีหันหน้าไปทางซ้าย พร้อมชื่อและลายเซ็นต์ของทั้งคู่

อย่างไรก็ตามเนื่องจากท่านบาฮรองอายุมากแล้ว การเดินทางไม่สะดวกจึงมอบหมายให้ บาฮรงเนส ฟีลิปปีนส์ เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Baroness Philippine de Rothschild) ลูกสาวเป็นผู้ดูผลประโยชน์

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก

     โอปุส วัน 1979

โอปุส วัน วินเทจแรก ปี 1984 โอปุส วัน ล็อตแรก เปิดบริสุทธิ์สู่ท้องตลาดพร้อมกัน 2 วินเทจคือ 1979 และ 1980 ในราคาขวดละประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ ซึ่งในตอนนั้นถือว่าราคาแพงมาก แต่ก็ไม่มีใครปริปากบ่นสักคำ อย่างน้อยกับการมีส่วนได้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการไวน์โลก

ปี 1984 ซื้อไร่อีกแห่งชื่อบัลเลสเตอร์ (Ballestre) เนื้อที่ 122.5 ไร่ ในโอ๊ควิลล์เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินทองของการปลูกองุ่น ทำให้โอปุส วัน มีไร่องุ่น 3 แห่ง เนื้อที่รวมกันราว 335 ไร่ ปลูกองุ่น 5 พันธุ์หลักจากบอร์กโดซ์คือ กาแบร์เนต์ โซวีญยอง 84% แมร์โลต์ 6% กาแบร์เนต์ ฟรอง 5% มาลเบค 3% และเปติต์ แวร์กโดซ์ 2% ขณะที่ส่วนผสมของไวน์แต่ละวินเทจจะแตกต่างกัน แต่พันธุ์หลักคือกาแบร์เนต์ โซวีญยอง ผลผลิตจากวินเทจแรก 1979 แค่ 12,000 ลัง

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก

    โอปุส วัน 1980

กระบวนการผลิตไวน์ โดยคร่าว ๆ องุ่นจะเก็บด้วยมือล้วน ๆ แล้วนำไปหมักในถังสแตนเลส 21 – 37 วัน ก่อนจะถ่ายไปบ่มในถังไม้โอ๊คขนาดเล็กจากฝรั่งเศส 18 เดือน สุดท้ายบรรจุขวดและบ่มในขวด อีกประมาณ 18 เดือน ก่อนนำไปออกจำหน่ายให้กับคอไวน์ได้ชิมกัน ...กระบวนการเหล่านี้ล้วนมีเหตุและผลอันก่อให้เกิดรสชาติของไวน์

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก     ห้องบ่มไวน์

ช่วงแรก โอปุส วัน ทำตลาดในอเมริกาเท่านั้น กระทั่งปี 1988 จึงส่งออกไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก เป็นวินเทจ 1985 โดยส่งไปยัง สวิตเซอร์แลนด์อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยเฉพาะในฝรั่งเศสแรก ๆ ก็ถูกต่อต้านบ้าง ปัจจุบันลดลงไปเยอะ

นับเป็นเรื่องเสียดายที่ท่านบาฮรงไม่ทันได้ดูความยิ่งใหญ่ของโอปุส วัน เพราะเสียชีวิตในวันที่ 20 มกราคม 1988 ด้วยวัย 86 ทิ้งมรดกให้บาฮรงเนส ฟิลิปปีนส์ ลูกสาว สานต่อความสำเร็จ ขณะที่ มอนดาวี ได้ชื่นชมความสำเร็จก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 16 พฤษภาคม 2008

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก      ไร่โอปุส วัน

ในเมืองไทย Opus One ก็เป็นที่หมายปองของคอไวน์เช่นกัน แต่เนื่องจากราคาที่สูงทำให้บางคนหันไปใช้บริการของพ่อค้าของเถื่อน ซึ่งไม่รู้ที่มาที่ไปและที่สำคัญคือการเก็บรักษาและการขนส่ง ที่ส่งผลต่อคุณภาพของไวน์อย่างมหาศาล เป็นเรื่องที่ต้องระวัง

‘โอปุส วัน’ แห่ง ‘นาปา แวลลีย์’ ถูกมิจฉาชีพทำ ‘ไวน์ปลอม’ จนแทบแยกไม่ออก     โอปุส วัน ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย

ในโลกนี้ไม่มีของดี ราคาถูก โดยเฉพาะไวน์ ที่แน่ ๆ ไม่มีทางปราบ ไวน์ปลอม ได้หมด ตราบใดที่ความต้องการมากกว่าการผลิต