คุณลูกค้าเยอะไปไหม? เคสร้านกาแฟอังกฤษ 'แบน' แล็ปท็อป!
ร้านกาแฟในอังกฤษ 'แบน' แล็ปท็อป ห้ามหิ้วเข้ามาทำงานในร้านอีก หลังรับไม่ได้ เจอเคสลูกค้าบอกให้ทุกคนเงียบเสียงลง กำลังประชุมออนไลน์อยู่
ทุกวันนี้ร้านกาแฟเป็นมากกว่าสถานที่นั่งดื่มกาแฟแล้วสนทนาถึงเรื่องสัพเพเหระต่าง ๆ กันแล้ว ต้องยอมรับว่าลูกค้าจำนวนหนึ่งไม่ได้สนใจเครื่องดื่มเท่าใดนัก แต่ชอบหิ้ว 'แล็ปท็อป' มานั่งแช่ทำงานนาน ๆ ท่ามกลางแอร์เย็นฉ่ำ อาจมีสั่งกาแฟมาสักหนึ่งแก้วพร้อมเค้กหรือเบเกอรี่อีกหนึ่งชิ้น หลาย ๆ ร้านยินดีก็ต้อนรับ แถมมีบริการไวไฟฟรี มีที่เสียบปลั๊กไฟให้อีกต่างหาก นั่งทำงานได้อย่างสบายราวอยู่กับบ้าน
การนั่งทำงานโดยใช้แล็ปท็อปหรือโน๊ตบุ๊คในร้านกาแฟ แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ ร้านกาแฟบางร้านเห็นโอกาสทางธุรกิจ วางคอนเซปต์ร้านเป็น 'คาเฟ่ แอนด์ เวิร์คสเปซ' (Cafe & Workspace) เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์, สตาร์ทอัพ และนักศึกษา เอาแล็ปท็อปเข้ามาทำงานหรือเรียนออนไลน์ได้ ร้านกาแฟคอนเซปต์นี้มีทั่วโลกครับ ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ บางทีก็เรียกกันว่า คาเฟ่ที่ต้อนรับหรือเป็นมิตรกับการทำงาน (Work-Friendly Cafe)
ในหลาย ๆ ประเทศ คาเฟ่แนวนี้เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปอีก เช่น 'ห้องสุขา' และ 'ห้องอาบน้ำ' กระทั่ง 'ปริ้นเตอร์' ก็มีบริการอย่างพร้อมเพรียง เรียกว่านั่งทำงานกันได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่ไม่ฟรีนะ จะมีเก็บค่าใช้จ่ายด้วย มากหรือน้อยขึ้นอยู่จำนวนชั่วโมงทำงาน
อย่างไรก็ตาม ก็มีร้านกาแฟจำนวนไม่น้อยอยู่เหมือนกันที่แรก ๆ ก็เปิดรับ แต่หลัง ๆ มา จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ทำให้ทางร้านประกาศห้ามแล็ปท็อปเข้าร้านเลยทีเดียว ส่วนใหญ่มักติดป้ายไว้หน้าร้านว่า 'No laptop' เท่าที่ผู้เขียนติดตามข่าวมา 2-3 ปีหลัง พบว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลให้เจ้าของร้านตัดใจใช้นโยบายดังกล่าว คือ
การนั่งทำงานโดยใช้แล็ปท็อปหรือโน๊ตบุ๊คในร้านกาแฟ ถือเป็นเรื่องปกติ บางร้านเห็นโอกาสทางธุรกิจ วางคอนเซปต์เป็น 'คาเฟ่ แอนด์ เวิร์คสเปซ' (ภาพ : Orna จาก Pixabay)
1. ร้านมีพื้นที่จำกัด รับรองลูกค้าได้น้อย ต้องการลูกค้าหมุนเวียน ถ้านั่งแช่นาน ๆ มีหวังกระทบต่อรายได้แน่ ๆ
2. ร้านมีคอนเซปต์ชัดเจนว่าเป็นร้านกาแฟชุมชน ต้องการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้คนในชุมชนเข้ามาพบปะสังสรรค์กัน ดื่มกาแฟไป คุยกันไป อย่างที่เรียกกันว่าสภากาแฟนั่นแหละ
3. ร้านทนพฤติกรรมของลูกค้าไม่ไหว พกแล็ปท็อปมานั่งทำงานนาน ๆ แล้วไม่พอ ยังมาทำลายบรรยากาศความเป็นร้านกาแฟไปเสียเลย เจ้าของร้านเลยตัดสินใจแบนแล็ปท็อป โดยไม่แคร์ว่าจะเกิดเรื่องดราม่าหรือไม่
ฟรินจ์+จินจ์ คอฟฟี่ ร้านกาแฟเล็ก ๆ ในอังกฤษ ประกาศแบนแล็ปท็อป หลังเจอลูกค้าบอกให้ทุกคนในร้านเงียบเสียงลง รบกวนการประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรมซูม (ภาพ : instagram.com/fringeandgingecoffee)
ปัจจัยข้อที่ 3 นี้มีเคสล่าสุดเกิดขึ้นในประเทศ 'อังกฤษ' สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมมานี่เอง สื่อมวลชนผู้ดีแห่นำเสนอข่าวกันเกรียวกราวทีเดียว
เหตุเกิดที่ร้านกาแฟเล็ก ๆ ชื่อ 'ฟรินจ์+จินจ์ คอฟฟี่' (Fringe + Ginge Coffee) ในแคนเทอร์เบอรี หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญของอังกฤษ เป็นสถานที่ตั้งของมหาวิหารแคนเทอร์เบอรีนั่นแหละครับ เรื่องมีอยู่ว่า เกิดมีลูกค้ารายหนึ่งบอกให้ทุกคนในร้านลดการใช้เสียงลง เพราะไปรบกวนการทำงานของเขาที่กำลังใช้แล็ปท็อปประชุมออนไลน์ผ่านโปรแกรมซูมอยู่ เจ้าของร้านจึง 'สู้กลับ' นับจากวันนั้นมาจึงตัดสินใจแบนแล็ปท็อป ห้ามนำเข้ามาในร้านอีกต่อไป
สื่ออังกฤษใช้ศัพท์เรียกลูกค้าในข่าวว่า 'รีโมท เวิร์คเกอร์' (remote worker) แปลความในเวอร์ชั่นภาษาไทยก็ประมาณว่า เป็นคนที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ มีสถานภาพเป็นพนักงานบริษัทแต่ทำงานนอกออฟฟิศ จะที่บ้าน, ร้านกาแฟ หรือที่อื่น ๆ ก็ได้ แต่ขอให้มีอินเทอร์เน็ตแรง ๆ เป็นพอ
ร้านกาแฟเวลล์ คอลเล็กทีฟ ในสิงคโปร์ ประกาศชัดในอินสตาแกรม เป็นร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับการทำงานโดยใช้แล็ปท็อป (ภาพ : instagram.com/wellcollective.sg)
ร้านกาแฟฟรินจ์+จินจ์ คอฟฟี่ เปิดเมื่อปีค.ศ. 2020 มีอัลฟี เอ็ดเวิร์ด กับ โอลิเวีย วอลช์ เป็นเจ้าของร่วม โดยอัลฟี เอ็ดเวิร์ด ผู้เป็นบาริสต้าประจำร้านอีกตำแหน่ง เล่าว่า รีโมท เวิร์คเกอร์ รายนี้ เข้ามานั่งทำงานอยู่นานแล้ว โดยสั่งกาแฟเพียงแก้วเดียว อยู่ ๆ ก็บอกให้ทุกคนในร้านเงียบเสียงลง เพราะเขาต้องการความสงบเพื่อประชุมออนไลน์
อัลฟีเล่าต่อว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุกคนในร้านรวมถึงลูกค้าคนอื่น ๆ เจอกับประสบการณ์ 'เลวร้าย' ด้วยการถูกบอกให้เงียบลง เมื่อไม่นานมานี้ก็มีรีโมท เวิร์คเกอร์ เข้ามานั่งทำงานในร้านแล้วบอกให้ลดวอลุ่มเพลงในร้านลงเสียหน่อย เพราะรบกวนการทำงาน
เจ้าของร้านรายนี้ให้สัมภาษณ์เดลี่เมล์ สื่อดังอังกฤษว่า การกระทำแบบนั้นมัน 'ทำลาย' บรรยากาศของร้านกาแฟชัด ๆ ร้านกาแฟทำท่าจะไม่ใช่ร้านกาแฟอีกต่อไปแล้ว แม้เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่หลังจากร้านประกาศข้อห้ามออกไป คนที่เข้ามาดื่มกาแฟในร้านเริ่มพูดคุยกันตามปกติ ไม่ต้องกลัวว่าเสียงจะไปรบกวนใครที่ทำงาน เป็นการสร้าง 'ชุมชน' ขึ้นมาอีกครั้ง
ฟรินจ์+จินจ์ คอฟฟี่ น่าจะเป็นร้านกาแฟแรกของเมืองแคนเทอร์เบอรี ที่ห้ามนำแล็ปท็อปเข้าร้าน ซึ่งนอกจากรับไม่ได้กับพฤติกรรมของลูกค้าแนวรีโมท เวิร์คเกอร์แล้ว ผู้เขียนยังเข้าใจว่าการสั่งเครื่องดื่มแก้วเดียวแล้วนั่งแช่นาน ๆ แบบยึดโต๊ะไปเลย กับร้านกาแฟขนาดเล็ก ย่อมมีผลให้ลูกค้าที่อยากเข้ามานั่งดื่มกาแฟลดจำนวนลง
เอเอ็ม คอฟฟี่ สตูดิโอ ร้านกาแฟกึ่งพื้นที่ทำงานในโตรอนโต เก็บเงินค่าเข้ามานั่งทำงานหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ภายในร้าน มีทั้งแบบรายวันและรายเดือน (ภาพ : facebook.com/amcoffeestudio)
นับจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด บริษัททั่วโลกมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านแทน หลาย ๆ คนเลือกร้านกาแฟเป็นสถานที่ทำงาน เพราะความสะดวกสบายในหลาย ๆ ด้าน แต่เมื่อวิกฤติโควิดยุติลง การพกแล็ปท็อปหรือโน้ตบุ๊คเข้าไปนั่งทำงานในร้านกาแฟก็ยังดำเนินต่อไป บางคนบอกว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของ 'วัฒนธรรมกาแฟ' ไปแล้ว
บางร้านโอเค บางร้านไม่โอเค ขึ้นอยู่กับคอนเซปต์ร้านและปัจจัยอื่น ๆประกอบ บางร้านที่โอเคแต่มีเงื่อนไข ก็ไม่น้อยนะ
อย่างร้านกาแฟ 'ลอสต์ ชีพ คาเฟ่' ที่อยู่ไม่ไกลจากร้านฟรินจ์+จินจ์ คอฟฟี่ เท่าใดนัก ร้านนี้เตรียมไวไฟฟรีไว้ให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรือนักเรียนนักศึกษาก็หิ้วแล็ปท็อปเข้ามานั่งทำงานได้ แต่มีกติกาว่า ต้องไม่เกิน 90 นาที ซื้อเครื่องดื่ม+อาหารประมาณ 3 ปอนด์หรือมากกว่า อ้อ..ร้านนี้ไม่มีปลั๊กไฟนะ จะไปนั่งทำงานต้องชาร์จไฟแล็ปท็อปมาเต็ม ๆ
'การาจ คาเฟ่' ร้านกาแฟอีกแห่งในแคนเทอร์เบอรี มีนโยบายเปิดรับผู้ใช้แล็ปท็อปเข้ามาทำงานได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าที่น่ารักทั้งนั้น ทางร้านมีพื้นที่มากพอที่จะรองรับลูกค้าโดยไม่ต้องมีข้อกังวลใด ๆ แต่อีกร้านในเมืองนี้คือ 'โมต ที รูมส์' เจ้าของร้านบอกว่า ไม่ชอบวัฒนธรรมการใช้แล็ปท็อปในร้านกาแฟเอาเสียเลย แต่ถ้ามีคนหิ้วแล็ปท็อปเข้ามานั่งทำงาน ก็ไม่ได้ห้ามอะไรนะ
เบวี่ คาเฟ่ ร้านกาแฟในแคนาดา กับกติกาใหม่ 3 ข้อ 1. นั่งได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง 2. มีโซนปลอดแล็ปท็อป 3. แชร์โต๊ะนั่งร่วมกัน (ภาพ : instagram.com/bevy.cafe)
ที่โตรอนโต้ ในแคนาดา ร้านกาแฟชื่อย้าวยาว 'แบมพ็อต เฮ้าส์ ออฟ ที แอนด์ บอร์ด เกมส์' ประกาศใช้นโยบาย Anti-Cafe Hours ประมาณว่าลูกค้าเอาแล็ปท็อปมานั่งทำงานได้โดยไม่ต้องซื้อเครื่องดื่มก็ได้นะ แต่ต้องจ่ายเงินค่าสถานที่มา คิดเป็นรายชั่วโมงเลยทีเดียว
ในเบอร์ลิน เยอรมนี มีร้านกาแฟกึ่งร้านขายสินค้าชื่อ 'ฮัลเลสเชส เฮ้าส์' เปิดให้นั่งทำงานพร้อมแล็ปท็อปได้เฉพาะวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนสุดสัปดาห์ ลูกค้าคงเยอะ เลยไม่อนุญาต ร้านนี้มีพื้นที่จัดอีเว้นต์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ร้านกาแฟอีกแห่งในแคนาดาชื่อ 'เบวี่ คาเฟ่' เปิดมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เป็นร้านที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนมานั่งทำงานโดยเฉพาะ จึงเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้พร้อมพรั่ง เช่น ห้องเก็บเสียง, โต๊ะยาว+เก้าอี้พร้อมปลั๊กชาร์จไฟ แต่ล่าสุดเห็นว่าได้รับฟีดแบคมาไม่น้อย จึงออกกติกาใหม่มา 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1.นั่งได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อคน 2.มีโซนปลอดแล็ปท็อป ขอสงวนโต๊ะไว้ให้ลูกค้าอื่นนั่งดื่มกาแฟและสนทนากัน 3. แบ่งปันโต๊ะนั่งร่วมกัน
'เอเอ็ม คอฟฟี่ สตูดิโอ' ในโตรอนโตเช่นกัน เป็นร้านกาแฟกึ่งพื้นที่ทำงาน ไม่ได้ต้อนรับเฉพาะคนทำงานกับแล็ปท็อปเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น พูดคุยกัน, อ่านหนังสือ, เขียนหนังสือ และวาดเขียน ออกแบบห้องเป็นสไตล์เซน กำหนดราคาค่าบริการไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ราคานี้รวมปริ้นเตอร์และห้องน้ำส่วนตัว มีส่วนลด 10% สำหรับอาหารและเครื่องดื่มอีกต่างหาก บางวันก็เปิดพื้นที่ให้มาฝึกเล่นโยคะกันด้วย
ถัาไม่อยากจ่ายรายวัน ก็เหมาจ่ายเป็นรายเดือนได้ เอเอ็ม คอฟฟี่ สตูดิโอ ตั้งราคาไว้ระหว่าง 250 - 350 ดอลลาร์สหรัฐ มีบริหารห้องอาบน้ำ, สตูดิโอโยคะ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ส่วนลดค่าอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้นกว่าแบบรายวัน
บางร้านโอเค บางร้านไม่โอเค บางร้านโอเคแต่มีเงื่อนไข หากต้องการหิ้วแล็ปท็อปไปนั่งทำงานตามร้านกาแฟ ควรเลือกร้านที่เหมาะกับบริบทของเรา (ภาพ : Alejandro Escamilla on Unsplash)
ร้านกาแฟ 'เวลล์ คอลเล็กทีฟ' ในสิงคโปร์ เพื่อนบ้านอาเซียนไทยเรา ประกาศชัดเจนในอินสตาแกรมว่า ถ้าต้องการความเงียบสงบและพื้นที่ทำงานหรือพื้นที่ด้านการเรียนที่แสนสะดวกสบาย เชิญที่ร้านได้เลย ร้านนี้โฆษณาว่าได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยคำนึงถึงการพบปะสังสรรค์ควบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ไวไฟฟรี มีปลั๊กไฟ ตามด้วยโต๊ะขนาดใหญ่สำหรับนั่งทำงานกันเป็นหมู่คณะเลยทีเดียว
เดี๋ยวนี้ทั่วโลกมีร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับคนทำงานพร้อมแล็ปท็อปกันมากมาย ประเทศไทยเราก็มีจำนวนไม่น้อย เห็นรีวิวทางแฟลตฟอร์มออนไลน์กันเยอะทีเดียว ร้านไหนอยู่ใกล้บ้านก็ลองไปดูครับ หาร้านที่ถูกใจกัน ส่วนร้านไหนไม่โอเค ต้องพยายามเข้าใจ ร้านคงมีเหตุผลของเขา อย่าไปว่ากัน เลือกร้านที่โอเคดีกว่า
'การเอาใจเขามาใส่ใจเรา' ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก หิ้วแล็ปท็อปเข้าไปนั่งทำงานแล้ว ได้โต๊ะ ได้เก้าอี้ มีแอร์ มีปลั๊กไฟ เท่ากับได้พื้นที่ส่วนตัวชัด ๆ แถมแอร์เย็นฉ่ำอีกต่างหาก ไม่มีที่ไหนดีไปกว่านี้อีกแล้ว ก็ควรอุดหนุนร้านกันให้สมน้ำสมเนื้อ อย่าให้เสียน้ำใจกันได้ เครื่องดื่มพ่วงอาหารก็ซื้อไปเถอะครับ มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานของเรา อย่าลืมว่าทางร้านก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วยเหมือนกัน
ส่วนพฤติกรรมลูกค้าในร้านกาแฟอังกฤษตามที่เป็นข่าวนั้น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างนะครับ ถามตรง ๆ เลยว่ามันเยอะเกินไปไหม?
.........................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี