กาแฟมีเสียหรือไม่? หมดอายุแล้วดื่มต่อได้ไหม?
กาแฟก็มีวันเสีย มีวันหมดอายุ เก็บไว้นานมาก ไม่ควรนำมาบริโภคต่อ โดยเฉพาะกาแฟมีเชื้อราปนเปื้อน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ผู้เขียนคิดว่าเวลานี้สมควรหยิบประเด็น 'กาแฟเสีย' มาสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดูบ้าง
- กาแฟมีเสียหรือไม่
- กาแฟเก็บได้นานแค่ไหน
- หมดอายุแล้วยังดื่มต่อได้ไหม
- แล้วดูกันอย่างไรว่าเสียหรือไม่เสีย
- อันตรายหรือเปล่าถ้าเกิดกินเข้าไป
ผู้เขียนลองตั้งคำถามข้างบนนี้ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ดูเหมือนยังไม่มีใครคนไหนตอบแบบเอาจริงเอาจังมากนัก หรือรู้แล้วแต่อมภูมิไม่บอกกล่าวกัน ก็ไม่ทราบได้ เลยคิดว่า เอ...เรา 'มองข้าม' เรื่องนี้ไปกันหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มขวัญใจของหลาย ๆ คน ต้องหามาดื่มกันเป็นประจำทุก ๆ วัน จะชงเองที่บ้าน, หรือมีคนชงให้ หรือซื้อจากร้านกาแฟก็ตามที
-กาแฟมีเสียหรือไม่?
'กาแฟเสีย' ในภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า bad coffee บ่งบอกถึงกาแฟรสชาติแย่ ๆ กลิ่นแย่ ๆ กินไม่ได้อีกต่อไป อันเป็นผลมาจากเก็บไว้นานเกินไปจนเสื่อมคุณภาพ ในคอลัมน์นี้จะขอพูดถึงกาแฟเสียในความหมายที่ครอบคลุมถึงกาแฟอินสแตนท์, กาแฟซอง, กาแฟแคปซูล, เมล็ดกาแฟคั่ว, กาแฟสดที่ชงดื่มกัน รวมไปถึงกาแฟสกัดเย็นที่ต้องมีการนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชงด้วย
เนื่องจากกาแฟที่ผ่านการแปรรูปมาอย่างกาแฟผงสำเร็จรูปและเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุง ได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งใน 'ผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บรักษาได้นาน' (shelf-stable food) ในทางเทคนิคแล้ว สามารถเก็บรักษาไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน โดยไม่ต้องแช่เย็นหรือแช่แข็ง
กาแฟเสียได้จากสาเหตุหลายข้อ เช่น วิธีเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม ทำให้รสชาติและกลิ่นเสื่อมคุณภาพลง บางกรณีอาจเกิดปนเปื้อนเชื้อรา (ภาพ : Charlie Waradee)
แต่คำว่า 'เวลานาน' ไม่ได้หมายถึงตลอดกาลนานนะครับ กาแฟก็มีวันหมดอายุ ไม่ควรนำมาบริโภคอีกต่อไป แล้วแต่ละประเภทแต่ละชนิดของกาแฟก็ระยะเวลาการหมดอายุต่างกันออกไป วิธีเก็บรักษาก็ไม่เหมือนกันด้วย
กาแฟเสียได้จากสาเหตุหลายประการ ไม่เพียงแต่ขึ้นกับประเภทของกาแฟเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับว่ากาแฟสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน เช่น อากาศ, ความชื้น, แสงแดด และความร้อน หรือวิธีเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสมด้วย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้รสชาติและกลิ่น 'เสื่อมคุณภาพ' ลงอย่างมาก บางกรณีอาจเกิดปนเปื้อน 'เชื้อรา' ขึ้นมาก็ได้
- หมดอายุแล้วยังดื่มต่อได้ไหม
เรื่อง วันควรบริโภคก่อน (BB/BBE,Best Before), วันผลิต (MFG/MFD,Manufacturing Date) และ วันหมดอายุ (EXP/EXD,Expiry Date) ของกาแฟก็สับสนกันอยู่พอสมควร เช่น เลยวันดังกล่าวไปแล้ว กินได้หรือทิ้งดี บางคนบอกกินได้นะ บางคนบอกถ้าหมดอายุ แล้วยังกินได้ จะมีวันหมดอายุไปทำไมล่ะ เถียงกันไป-มาเป็นปัญหาโลกแตกอยู่เหมือนกัน
คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยมีคำเตือนมาทำนองว่า ให้สังเกตวันควรบริโภคก่อน และวันหมดอายุ บนฉลากอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ หากล่วงเลยกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ไม่แนะนำให้บริโภค ชี้คุณภาพอาหารเสื่อมลง และเสี่ยงต่อสุขภาพ
กาแฟที่ผ่านการแปรรูปอย่างกาแฟผงสำเร็จรูปและเมล็ดกาแฟคั่ว จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารที่เก็บรักษาได้นาน หรือ shelf-stable food (ภาพ : Robert Shunev on Unsplash)
เขียนมาถึงตรงนี้ อาจมีบางคนแย้งมาว่า อาหารอาจมีเสีย แต่กาแฟไม่ได้เสีย จริงๆแค่ 'หมดอายุ' กินเข้าไปก็ไม่ได้ทำให้เจ็บป่วยเหมือนอาหารหมดอายุอื่น ๆ แล้วฉลากผลิตภัณฑ์กาแฟส่วนใหญ่ก็ประทับตราวันที่ควรบริโภคก่อน ไม่ใช่วันหมดอายุ
คำว่าวันควรบริโภคก่อน ไม่ได้หมายถึงวันหมดอายุ ยังกินได้อยู่แต่รสชาติไม่ได้มาตรฐานเท่าเดิมแค่นั้นเอง บางท่านก็บอกว่าต่อให้หมดอายุแล้วก็ยังกินได้อยู่ดีนั่นแหละ
แล้วต้องหมดอายุนานแค่ไหนถึงกินไม่ได้ บางทีมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ลักษณะทางกายภาพไม่ฟ้อง เลยต้องพิสูจน์ตัดสินกันให้รู้ดำรู้แดงไปเลยก็มี
ผู้เขียนมีประสบการณ์อันเลวร้ายมาแล้ว เคยทดลองดื่มกาแฟกลิ่นรส 'เหม็นหืน' แบบสุด ๆ จากเมล็ดกาแฟเก่าเก็บ 3 ปี จิบเดียวแทบอ้วก รสชาติแบบขม ๆ เปรี้ยว ๆ ผิดปกติ ต้องรีบบ้วนทิ้ง นับแต่นั้นเลยมั่นใจว่ากาแฟมีเสียได้ครับ
ถ้าไม่เคยดื่มกาแฟเก่าเก็บ แต่อยากทราบความรู้สึกตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร แนะนำให้ไปรับชมคลิปวิดีโอของ 'เจมส์ ฮอฟฟ์แมน' ในยูทูบครับ ฮอฟฟ์แมนเป็นอดีตแชมป์โลกบาริสต้าและก็เป็นยูทูบเบอร์สายกาแฟชื่อดัง ราวต้นปี 2020 เขาผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ตั้งชื่อว่า Drinking Coffee From The 1970s หรือดื่มกาแฟจากยุค 1970 ชงจริง ๆ และดื่มจริง ๆ กับกาแฟคั่วบดอายุ 50 กว่าปี
ฮอฟฟ์แมนบรรยายกลิ่นรสไว้อย่างไร โดนหรือไม่โดน ต้องลองไปเปิดดูกันเอง ถ้าบอกออกไปก่อน จะไม่ตื่นเต้นครับ แต่คลิปชุดนี้มี 2 ตอน เพราะดันมีคนไปคอมเมนท์ทำนองมาว่าได้กาแฟรสชาติแบบนั้นเพราะใช้กระดาษกรองเก่า ๆ หรือเปล่า ฮอฟฟ์แมนเลยต้องทำอีกตอน คราวนี้ใช้กระดาษกรองใหม่ แต่กาแฟยังเป็นตัวเดิมอายุครึ่งศตวรรษ
การประเมินระยะเวลาที่กาแฟสามารถรักษาคุณภาพไว้ได้ในระหว่างการเก็บ หรือ Shelf life เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ (ภาพ : Sangga Rima Roman Selia on Unsplash)
-กาแฟเก็บได้นานแค่ไหน?
ข้อมูลโดยทั่วไปในอินเตอร์เน็ตมักบอกว่า 'กาแฟผงสำเร็จรูป' ในแบบบรรจุขวดหรือบรรจุซอง สามารถเก็บได้นาน 2-20 ปี ตราบใดที่ยังไม่เปิดซอง บ้างก็ว่าเก็บได้แค่ปีเดียวเอง ท่านที่ให้ความสำคัญกับวันควรบริโภคก่อน และวันหมดอายุ ก็ใช้หลักนี้เป็นเกณฑ์พิจารณาว่าจะเอามาชงดีหรือไม่
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ ฉีกซองออกมาแล้วลองดมกลิ่นกาแฟดูก่อนครับ กลิ่นโอเคหรือไม่โอเค แต่จะให้ชัวร์ลองเทใส่แก้ว ดูว่ามีเชื้อราหรือไม่ ถ้าผ่าน ก็เทน้ำร้อนลงไป สังเกตกลิ่น ฟองกาแฟ และสีน้ำกาแฟ อาจลองชิมดูก่อน แค่คำแรกเท่านั้น ก็จะสัมผัสได้เองว่าเหม็นหืนหรือเปล่า กินได้หรือไม่ได้
สำหรับ 'เมล็ดกาแฟคั่ว' บรรจุถุงนั้น ระยะเวลามีผลต่อคุณภาพของรสชาติกาแฟ รวมถึงวิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อรักษาเมล็ดกาแฟให้คุณภาพดี สดใหม่ มีกลิ่นหอม และคงรสชาติดังเดิม
การประเมินระยะเวลาที่กาแฟสามารถรักษาคุณภาพไว้ได้ในระหว่างการเก็บ (Shelf life) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อก้าวไปถึงจุดนั้น เมล็ดกาแฟควรได้รับการบรรจุในถุงที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้า และมีวาล์วทางเดียวเพื่อให้เมล็ดกาแฟคายก๊าซ Co2 ที่เกิดจากการคั่ว ระบายออกสู่ภายนอก นอกจากนั้นแล้วควรจัดเก็บให้พ้นจากแสงแดด, ความร้อน, ออกซิเจน และความชื้น
หลังวันหมดอายุแล้ว โดยทั่วไปเมล็ดกาแฟคั่วยังอยู่ได้อีก 6-9 เดือนในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท หลังจากเปิดถุงแล้ว เมล็ดกาแฟสัมผัสออกซิเจนและความชื้น ความสดใหม่จะลดลงอย่าสงเห็นได้ชัด ควรบริโภคให้หมดภายใน 3-5 เดือน ถ้าเป็นกาแฟคั่วแบบบดแล้ว อายุการใช้งานก็จะน้อยลงไป
เมล็ดกาแฟคั่วแบบบดแล้ว การเก็บรักษาเพื่อคุณภาพจะไม่ยาวนานเท่าเมล็ดกาแฟคั่วแบบที่ยังไม่บด (ภาพ : 🇸🇮 Janko Ferlič on Unsplash)
เรื่องนี้อาจมีแตกต่างกันไปบ้างตามความรู้และประสบการณ์ของผู้ผลิต ถ้าเป็นผู้ผลิต 'กาแฟแบบพิเศษ' ที่โฟกัสคุณภาพเป็นสำคัญ ก็จะกำหนดให้อายุการเก็บเมล็ดกาแฟคั่วสั้นลงเหลือ 1-3 เดือน ถ้าเปิดถุงแล้วก็ 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม ถามว่าเก็บนานกว่านี้กินได้ไหม ก็ได้ครับ แต่คุณภาพของกลิ่นและรสชาติจะดร็อปลงไปเยอะมาก
เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุง ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะระบุวันคั่วกาแฟและวันหมดอายุไว้เพื่อให้ผู้บริโภคคำนวณหาอายุเมล็ดกาแฟ บางเจ้าก็ระบุเฉพาะวันที่ควรบริโภคก่อน เน้นไปในด้านกลิ่นและรสชาติของกาแฟที่ดีที่สุด บริษัทผลิตกาแฟรายใหญ่ ๆ มักมีการเติม 'ก๊าซไนโตรเจน' ในถุงกาแฟ เพื่อเพิ่มช่วงวันหมดอายุยาวนานขึ้นเป็น 1-2 ปี
ส่วน 'กาแฟแคปซูล' บางคนบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีวันหมดอายุ เนื่องจากในทางเทคนิคแล้วไม่มีคำว่าเสีย แต่หากเล็งผลเลิศด้านรสชาติ มีการแนะนำให้บริโภคภายใน 6-12 เดือนหลังวันผลิต
แล้วถ้าเป็นกาแฟที่ไม่ใช่ของแห้งแต่เป็นของเหลวล่ะ เครื่องดื่มกาแฟไม่ว่าประเภทไหน เมื่อชงแล้วควรดื่มให้หมดภายใน 12 ชั่วโมง แต่ไม่ว่าจะเป็นเมนูเย็นหรือร้อน แนะนำให้ดื่มทันทีหลังชงเสร็จเพื่อมาตรฐานของรสชาติ หากใส่ภาชนะปิดสนิทแล้วไว้ในตู้เย็น เก็บได้ประมาณ 3-4 วัน ถ้าเป็นกาแฟผสมนมหรือใส่ครีม อายุการเก็บจะสั้นลง ไม่ควรเกิน 2 วัน หรืออย่างกาแฟสกัดเย็นที่บ้านเราเรียกกันติดปากว่า 'โคลบรูว์' เก็บไว้ดื่มได้ไม่น่าจะเกิน 2 สัปดาห์
การเก็บรักษากาแฟในบรรจุภัณฑ์แบบปิดสนิท ไม่สัมผัสออกซิเจนและความชื้น ช่วยให้กาแฟมีอายุการใช้งานยืนยาวขึ้น (ภาพ : Jisu Han on Unsplash)
'กาแฟ RTD' ปกติจะมีอายุการเก็บรักษาสำหรับบริโภคตามมาตรฐานระหว่าง 3- 6 เดือน ผู้ผลิตบางรายอาจบอกเฉพาะวันที่ควรบริโภคก่อน และวันผลิต ผู้บริโภคต้องมานับเลขดูครับว่ากาแฟกระป๋องในมือเป็นของใหม่หรือของเก่าเก็บ และถ้าใช้กาแฟคั่วบดในการผลิต อายุการเก็บก็จะน้อยลง
- แล้วดูกันอย่างไรว่าเสียหรือไม่เสีย
วิธีดีที่สุดที่จะบอกว่ากาแฟเสียหรือไม่/อย่างไร คือ การใช้ประสาทสัมผัสทางการ 'มองเห็น', 'ดมกลิ่น' และ 'รับรู้รส'
เพื่อนผู้เขียนคนหนึ่งบอกว่าเมล็ดกาแฟคั่วนั้นดูยากว่าเสียหรือไม่เสีย กินได้หรือไม่ได้ จริง ๆ แล้ว มี 'เบาะแส' หรือสัญญาณบ่งบอกหลายข้อด้วยกันก่อนนำมาลองชงดื่มเสียด้วยซ้ำไป เช่น เมล็ดหรือผงกาแฟเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีเทาหม่น, เกิดกลิ่นอับหรือเหม็นหืน, มีเชื้อราหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ในถุงกาแฟ, ผงกาแฟจับกันเป็นก้อน แสดงว่าดูดซับความชื้นเข้า และพบแมลงในถุงกาแฟ เป็นต้น
สิ่งปนเปื้อนหรือแปลกปลอม เช่น เชื้อรา, เปลี่ยนสี,เปลี่ยนรสชาติ หรือกลิ่นเหม็น เป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่ากาแฟเสียและควรทิ้งไป
ไม่ว่าจะเป็นเมนูเย็นหรือร้อน ควรดื่มกาแฟทันทีหลังชงเสร็จ เพื่อคงไว้ซึ่งมาตรฐานของรสชาติ (ภาพ : Salomé Watel on Unsplash)
- อันตรายหรือเปล่าถ้าเกิดกินเข้าไป
ในทางเทคนิคแล้ว กาแฟยังคงสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัยแม้ว่าจะสูญเสียรสชาติและกลิ่นไปบ้างแล้ว แต่ถ้าเก็บไว้นานเป็นปี ๆ กาแฟแก้วนั้นอาจให้รสชาติแบบไม่พึงปรารถนาสุด ๆ แต่ใครล่ะอยากดื่มกาแฟที่ไม่สดและรสชาติไม่ดีเข้าไป นั่นก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นเพราะมันสำคัญต่อสุขภาพด้วย คือ ในกาแฟมี 'เชื้อรา' ที่กำลังเจริญเติบโต ไม่ต้องบอกนะครับว่ากินเข้าไปแล้วอันตรายไหม
ผู้เขียนเคยซื้อกาแฟอินสแตนท์แบบบรรจุขวดมาชงดื่ม หลังเปิดแล้วก็ลืมทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน มาดูอีกที อ้าวเกิดมีราสีเทา ๆ ขึ้นบนผงกาแฟเสียแล้ว น่าจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในการจัดเก็บไม่เหมาะสมเท่าใดนัก อาจเป็นจุดที่มีความชื้นสูง ทำให้กาแฟดูดซับความชื้นเข้าไป จนทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขึ้นมาได้
แม้มีคนแนะนำว่ากาแฟหมดอายุแล้วยังดื่มต่อได้ ไม่มีอันตราย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรดื่มนะครับ ไม่ว่าจะมีอายุการเก็บรักษาได้นานแค่ไหนก็ตาเมื่อมาถึงจุด ๆ หนึ่ง กาแฟจะหมดอายุลง สูญเสียกลิ่นและรสชาติ กินไม่ได้อีกต่อไป เมื่อถึงจุดนั้น ก็ไม่คุ้มที่จะเอามาชงกิน เสี่ยงเกินไปที่จะนำมาบริโภค
สำหรับผู้เขียนขอยืนยันว่ากาแฟมีเสียแน่อน ถ้าหมดอายุแล้วก็ไม่ขอเอามาชงดื่มต่อ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพอนามัยเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้วิจารญาณส่วนบุุคคลแต่ประการใด
.....................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี