ฮาวายกับเคส 'กาแฟไม่ตรงปก' กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

ฮาวายกับเคส 'กาแฟไม่ตรงปก'  กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

กฎหมายใหม่ฮาวายมีผล 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา แก้ปัญหากาแฟถูกปลอมปน เป็นสินค้าไม่ตรงปก รักษาผลประโยชน์ผู้ปลูกกาแฟท้องถิ่น

กฎหมายใหม่ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับ 'ฉลาก' บนบรรจุภัณฑ์กาแฟที่ปลูกและผลิตบนเกาะฮาวาย มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสความคาดหวังว่าจะช่วยขจัดปัญหากาแฟปลอมปนที่คาราคาซังมานาน ทำนองว่าเตรียมบอกลา 'กาแฟไม่ตรงปก' ไปได้เลย

เนื้อหาของกฎหมายใหม่ที่ออกโดยสภาฮาวาย มลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก โฟกัสไปที่การคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟท้องถิ่น และช่วยปกป้องชื่อเสียงอันโด่งดังของกาแฟฮาวาย โดยเฉพาะ 'กาแฟโคน่า' (Kona Coffee) ซึ่งเผชิญกับปัญหากาแฟ'ปลอมปน'ตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

แน่นอนเพื่อให้มั่นใจว่าคอกาแฟจะได้ดื่มด่ำรสชาติกาแฟฮาวายแท้ ๆ ไม่ใช่เอากาแฟจากที่อื่นมาผสมปนเป เป็นกึ่งแท้กึ่งเทียม หรือมีแท้แค่เศษเสี้ยว แล้วโฆษณาว่าเป็นของแท้ 100%  มุ่งหวังแต่ประโยชน์ทางการตลาด ซึ่งพฤติกรรมทำสินค้าไม่ตรงปกเช่นนี้ เข้าข่าย 'หลอกลวง' ผู้บริโภค บริษัทค้ากาแฟหลายเจ้าเคยโดนชาวไร่กาแฟและเจ้าหน้าที่รัฐฮาวายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมาแล้วเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,100 ล้านบาท)

นับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2024 เป็นต้นไป กฎหมายใหม่ว่าด้วยเรื่องการติดฉลากบนซองบรรจุภัณฑ์ที่ครอบคลุมไปถึงเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุง, กาแฟอินสแตนท์, กาแฟพร้อมดื่ม และกาแฟแคปซูลหรือซิงเกิ้ลเซิร์ฟ มีรายละเอียดดังนี้

ฮาวายกับเคส \'กาแฟไม่ตรงปก\'  กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

กฎหมายใหม่ว่าด้วยเรื่องฉลากบนบรรจุภัณฑ์กาแฟที่ปลูกและผลิตบนเกาะฮาวาย มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา  (ภาพ : Jon Stanford on Unsplash)

 - กำหนดให้ผลิตภัณฑ์กาแฟทุกประเภทที่จำหน่ายบนเกาะฮาวาย ซึ่งมีการอ้างอิง 'ชื่อทางภูมิศาสตร์' (geographic name) ของฮาวาย เช่น โคน่า (Kona) หรือ คาอู (Ka'u) จะต้องเปิดเผยสถานที่ปลูกกาแฟในเกาะฮาวาย และระบุถึงเปอร์เซ็นต์พร้อมปริมาณน้ำหนักของกาแฟที่ปลูกบนเกาะฮาวายกับกาแฟจากแหล่งปลูกอื่น ๆ ไว้บนฉลากด้านหน้าให้ชัดเจน ในกรณีที่เป็นกาแฟเบลนด์ เช่น กาแฟฮาวาย 10% และกาแฟจากต่างประเทศ 90%

- ผลิตภัณฑ์กาแฟที่เคลมว่าเป็น  '100% ฮาวาย' (100% Hawaiian) บนฉลากบรรจุภัณฑ์และทางการตลาดหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ จะต้องเป็นกาแฟที่ปลูกและแปรรูปในฮาวายเท่านั้น 

แล้วในปีนี้ คาดว่าจะมีการประกาศใช้กฎหมายเรื่องการติดฉลากกาแฟอีกฉบับ แต่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2027 หรีออีก 3 ปีข้างหน้าโน่น ไฮไลต์สำคัญ ๆ ก็คือ เมล็ดกาแฟคั่ว, กาแฟสำเร็จรูป และกาแฟพร้อมดื่ม เมื่ออยู่ในรูปกาแฟเบลนด์ จะต้องมีกาแฟที่ปลูกในฮาวายอย่างน้อย 51% หากแพ็คเกจสินค้ามีชื่อทางภูมิศาสตร์ของฮาวายรวมอยู่ด้วย เช่น โคน่า, คาอู, ไวอาลัว, โมโลไก, เมาอิ และคาไว จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ให้มีกาแฟฮาวายเพียง 10%

อันที่จริง กฎหมายฉบับใหม่ล่าสุดนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นรัฐฮาวายมาตั้งแต่เดือนกรฎาคมปีที่แล้ว แต่ได้  'เว้นวรรค' บังคับใช้มา 1 ปีเต็ม เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการปรับปรุงฉลากกาแฟเสียใหม่ให้ถูกต้องตามระเบียบ โดยตัวเนื้อหาของกฎหมายนั้น มี 'สมาคมกาแฟฮาวาย' และ 'สมาคมเกษตรผู้ปลูกกาแฟโคนา' เป็นหัวเรือใหญ่คอยผลักดัน

ฮาวายกับเคส \'กาแฟไม่ตรงปก\'  กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

จากนี้ไป กาแฟที่ระบุบนฉลากบรรจุภัณฑ์ว่า ฮาวาย 100%  จะต้องเป็นกาแฟที่ปลูกและแปรรูปในฮาวายเท่านั้น  (ภาพ : facebook.com/konacoffeefest)

การออกแบบบรรจุภัณฑ์กาแฟฮาวายส่วนใหญ่ มักจะเป็นภาพธรรมชาติอันสวยงามของหมู่เกาะสวรรค์อันเป็นสมญานามของเกาะ ตั้งแต่วิวทิวทัศน์ภูเขาไฟ, ชายหาดสวยงาม, ต้นมะพร้าวที่พลิ้วไหว, สาวน้อยนักเต้นระบำฮูลา หรือกระทั่งดอกชบาแสนสวย อันเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของเกาะ ตามแต่บรรดาผู้ผลิตกาแฟจะดีไซน์กัน

แล้วบนฉลากด้านหน้ามักจะสร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ด้วยการใช้คำว่า '100% Hawaiian' หรือ 'Pure 100% Kona' บ่งบอกว่านี่คือกาแฟฮาวายหรือกาแฟโคน่าแท้ๆ หรือไม่ก็ 'Kona blend' อันเป็นกาแฟโคน่าเบลนด์เข้ากับกาแฟจากแหล่งอื่น ๆ ในต่างประเทศ

เดิมที ฮาวายถูกเรียกว่า 'หมู่เกาะแซนด์วิด' ชื่อนี้ตั้งโดยเจมส์ คุก หลังล่องเรือมาพบเกาะเมื่อปี ค.ศ. 1778 ปัจจุบันเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แล้วกาแฟไม่ใช่พืชพันธุ์ท้องถิ่นของหมู่เกาะฮาวาย แต่มีการนำเข้าไปปลูกเป็นครั้งแรกเมื่อเกือบ 300 ปีก่อน ประวัติการปลูกกาแฟครั้งแรกบนหมู่เกาะสวรรค์แห่งนี้มีหลากหลายแง่มุม แต่ก็ยังพอมีข้อมูลให้สืบสาวได้ว่า ต้นกำเนิดของกาแฟโคน่าที่โด่งดังในระดับตำนานและเคยมีราคาแพงที่สุดตัวหนึ่งของโลก เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1825

ปีนั้น 'หัวหน้าโบกิ' ผู้ปกครองเกาะโอวาฮู หนึ่งในเกาะสำคัญของหมู่เกาะฮาวาย ได้นำกาแฟสายพันธุ์ 'ทิปปิก้า' จากบราซิล มาปลูกในพื้นที่หุบเขามาโนอา (Manoa Valley) บนเกาะโอวาฮู ในอีกหนึ่งปีต่อมา มิชชั่นนารีชาวอเมริกันได้นำกาแฟจากหุบเขาดังกล่าวไปปลูกยังบริเวณย่าน 'โคน่า' บนเกาะหลักฮาวาย หรือเกาะบิ๊กไอส์แลนด์

ฮาวายกับเคส \'กาแฟไม่ตรงปก\'  กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

ว่ากันว่าสภาพอากาศและภูมิประเทศของเกาะฮาวาย ส่งผลให้กาแฟมีคุณภาพทางรสชาติ โดยเฉพาะกาแฟโคน่า  (ภาพ : Braden Jarvis on Unsplash)

สำหรับต้นกำเนิดกาแฟโคน่านั้น อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ปีค.ศ.1892 กาแฟทิปปิก้าจากกัวเตมาลาถูกนำไปยังฮาวาย ซึ่งสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มกลายพันธุ์และปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศใหม่ไม่ว่าจะปลูกที่ไหนก็ตาม จนมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในย่านโคน่า ปัจจุบันถือว่าเป็นสายพันธุ์กาแฟของเกาะฮาวาย เรียกว่า 'โคน่า ทิปปิก้า' (Kona Typica)

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ไร่กาแฟแห่งแรกของฮาวายก็เกิดขึ้นที่โคน่า ในบริเวณที่ลาดชันของภูเขาไฟฮูอาลาไล และภูเขาไฟเมานาโลอา กินพื้นที่ปลูกราว 6 ตารางไมล์ ระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ 800- 2,500 ฟุตจากระดับน้ำทะเล กอปรด้วยสภาพภูมิประเทศและอากาศอันเป็นที่ชื่นชอบของกาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิมทิปปิก้า แดดจ้ายามเช้า มีฝนในช่วงฤดูร้อน ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดทั้งปี อุดมด้วยแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟ

ต่อมา มีเรียกขานแถบนี้กันว่า 'โคน่า คอฟฟี่ เบลท์' (Kona Coffee Belt) และเรียกกาแฟทิปปิก้าที่ปลูกในพื้นที่นี้ว่า โคน่า ทิปปิก้า หรือโคน่า

ก่อนหน้ายุคทองของตลาดกาแฟพิเศษนั้น เช่นเดียวกับกาแฟบลูเมาเท่นจากจาเมก้า กาแฟโคน่าเป็นที่แสวงหาของคอกาแฟทั่วโลก เนื่องจากมีคุณภาพรสชาติสูง กรดเปรี้ยวต่ำ บอดี้หรือเนื้อกาแฟค่อนข้างหนักแต่นุ่ม โปรไฟล์กลิ่นรสประกอบด้วยน้ำผึ้ง, น้ำตาลทรายแดง, ผลไม้ และช็อกโกแลตนม

ฮาวายกับเคส \'กาแฟไม่ตรงปก\'  กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

ต้นกาแฟโคน่า หรือโคน่า ทิปปิก้า จากแหล่งปลูกย่านโคน่า บนเกาะหลักของฮาวาย หรือเกาะบิ๊กไอส์แลนด์  (ภาพ : commons.wikimedia.org/Ekrem Canli)

ที่หมูเกาะฮาวาย นอกจากกาแฟโคน่าแล้ว กาแฟที่มีชื่อเสียงอีกตัวคือ 'กาแฟคาไว' (Kauai coffee) ซึ่งเติบโตบนที่ลาดชันของภูเขาไฟเมานาโลอา นอกนั้นก็ปลูกกาแฟสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย เช่น คาทุย, มุนโด โนโว และเยลโล่ เบอร์บอน รวมพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 8,000 เอเคอร์ ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟโคน่า

ปัจจุบันโคน่า นอกจากเป็นชื่อกาแฟ และชื่อแหล่งปลูกกาแฟแล้ว ยังเป็นเสมือนชื่อ 'เครื่องหมายการค้า' อีกด้วย แต่ชื่อเสียงอันโด่งดังและการผลิตที่มีจำนวนน้อยในแต่ละปี ก่อให้เกิดด้านมืดขึ้นมาจากปัญหากาแฟปลอมปน สร้างผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ปลูก แถมบั่นทอนชื่อเสียงของกาแฟฮาวายอีกต่างหาก จนเกิดเป็นคดีฟ้องร้องที่ต้องมีการพิสูจน์กันถึงขั้น 'สารประกอบทางเคมี' เพื่อระบุตัวตนของกาแฟโคน่าให้ชัดเจนกันเลยทีเดียว

โจชัว มอนต์โกเมอรี่ จากฟาร์มกาแฟ 'การ์ด เวลล์ ฟาร์ม' (Guard Well Farm) ในโคน่า ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ว่า ฮาวายเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งเดียวในโลกที่เคยอนุญาตให้ใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์กับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาจากภูมิภาคฮาวายแบบ 100% มันก็ไม่ต่างจากมีคนเอาเบาะเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไปใส่ในฟอร์ด เฟียสต้า แล้วขายเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือว่าไม่ซื่อสัตย์ และสร้างความเสียหายให้กับแบรนด์

การ์ด เวลล์ ฟาร์ม เป็นหนึ่งในไร่กาแฟที่มีพื้นที่อยู่ในโซนโคน่า คอฟฟี่ เบลท์ ซึ่งยืนยันผ่านทางแฟลตฟอร์มออนไลน์ของตนเองว่า เป็นไร่ที่ปลูก, คั่ว และขายกาแฟโคน่า 100% 

ฮาวายกับเคส \'กาแฟไม่ตรงปก\'  กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงของการ์ด เวลล์ ฟาร์ม หนึ่งในไร่กาแฟจากโซนโคน่า คอฟฟี่ เบลท์  (ภาพ : facebook.com/guardwellfarm)

เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน 'กาแฟเบลนด์' ได้รับความนิยมสูงมากในฮาวาย และแม้ว่ากฎหมายใหม่อาจช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับกาแฟเบลนด์ที่ขายภายใต้แบรนด์ฮาวายก็จริง แต่จะส่งผลต่อราคาด้วยหรือไม่นั้นยังคงต้องติดตามกันต่อไป  ตัวอย่างเช่น กาแฟโคน่า 100% บรรจุถุงขนาด 4 ออนซ์ขายในราคา 17.99 ดอลลาร์ (662 บาท) ขณะที่กาแฟเบลนด์ที่ผสมโคน่า 10% ขนาด 7 ออนซ์ ขายในราคา 9.49 ดอลลาร์ (350 บาท)

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่าฟอร์บส์ไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้) พูดถึงผลพวงที่จะตามมาหลายข้อด้วยกัน เช่น จะส่งผลให้ราคากาแฟเบลนด์สูงขึ้น, ลดทางเลือกให้กับผู้บริโภค และอาจส่งผลให้ยอดขายโดยรวมของผู้ปลูกกาแฟตกลงอีกด้วย

เอาเข้าจริงๆ ความพยายามปกป้อง 'ชื่อเสียง' ของกาแฟฮาวายดำเนินการมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2003 ครั้งนั้นรัฐบาลท้องถิ่นออกกฎหมายมาหนึ่งฉบับเพื่อควบคุมการนำชื่อกาแฟโคน่าไปใช้หลอกลวงผู้บริโภค จนกระทั่งมาถึงกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ที่มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงกาแฟที่ปลูกและแปรรูปในฮาวายทั้งหมด

หน่วยงานราชการที่ดูแลภาคการเกษตรของมลรัฐฮาวาย มองว่า กฎหมายใหม่ว่าด้วยเรื่องฉลากกาแฟนั้นถือว่าเป็นความท้าทายเลยทีเดียว เพราะแม้มีงานใหม่รออยู่เบื้องหน้า แต่จำนวนข้าราชการของหน่วยงานนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการเพิ่มการตรวจตรากาแฟบนชั้นวางขายตามร้านค้าทั่วทั้งรัฐให้บ่อยมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ได้ให้เมล์และเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานเอาไว้บนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนมาแจ้งเบาะแสผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบใหม่

ฮาวายกับเคส \'กาแฟไม่ตรงปก\'  กฎหมายใหม่ช่วยได้แค่ไหน?

สมาคมกาแฟฮาวาย หัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายแก้ปัญหากาแฟปลอมปน  (ภาพ : facebook.com/hawaii.coffees)

โดยภาพรวมแล้ว กฎหมายใหม่ว่าด้วยการติดฉลากกาแฟของฮาวาย มองได้ว่าเป็น 'ชัยชนะ' ครั้งใหญ่ของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟท้องถิ่น, ช่วยสร้างคุณภาพของแบรนด์ขึ้นมาใหม่, สร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟ และปกป้องผลประโยชน์ของคนในรัฐโดยตรง

อย่างไรก็ดี การบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่าย 'ห่วงกังวล' กันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการแก้ปัญหากาแฟฮาวายถูกปลอมปนเป หรือถูกแอบอ้างเอาไปใช้ประโยชน์ ก็เป็นเคสที่คาราคาซังมานานแล้ว แก้ไขกันไม่ได้เสียที การบอกลากาแฟไม่ตรงปกจึงอาจต้องรอติดตามผลกันต่อไป

ที่หยิบเอาแง่มุมกาแฟฮาวายมาเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้ ไม่แน่นักว่าในอนาคตอาจเป็นประโยชน์สำหรับวงการกาแฟไทย รวมไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านเรา หากว่าปัญหากาแฟไม่ตรงปกมันรุนแรงจนรับไม่ไหวขึ้นมากันเสียแล้ว

......................................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี