เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ 'Decaf coffee'

เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ 'Decaf coffee'

กลุ่มองค์กรในสหรัฐเปิดประเด็นตัวทำละลายทางเคมี ชี้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จี้ อย.มะกันห้ามใช้ผลิตกาแฟคาเฟอีนต่ำภายในปีนี้

'กาแฟดีแคฟ' (Decaf coffee) หรือกาแฟที่สกัดคาเฟอีนออกจนมีปริมาณต่ำกว่ากาแฟทั่ว ๆ ไป ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปในแต่ละวัน อาจจะเป็นด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ, แพ้คาเฟอีน หรืออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในสหรัฐอเมริกา เกิดมีกลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหลายองค์กรได้เปิดประเด็นเกี่ยวกับ'ตัวทำละลายทางเคมี' ที่ใช้ในกาแฟสกัดคาเฟอีนว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐบาลกลาง 'สั่งห้าม' ใช้สารเคมีตัวนี้ จนเกิดเป็นกระแสข่าวใหญ่ที่มีการถกเถียงกันระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน

กาแฟคาเฟอีนต่ำปลอดภัยต่อการดื่มการบริโภคหรือไม่? กลายเป็น 'พาดหัวข่าว' ของสื่อออนไลน์แดนลุงแซมที่มักปรากฎขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลัง ตามมาด้วยการไปสอบถามผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ นานาในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความครบถ้วนของเนื้อหาทั้งสองฝ่าย

สำหรับประเทศไทย ตลาดกาแฟดีแคฟยังถือว่าแคบมาก ๆ แต่ในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดใหญ่ทีเดียว คนอเมริกันทั้งหญิงชายดื่มกาแฟดีแคฟในแต่ละวันประมาณ 10% ของประชากรทั้งประเทศ คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็ตกราว 26 ล้านคน

จริง ๆ แล้ว กาแฟดีแคฟ ควรเรียกชื่อภาษาไทยให้ถูกต้องว่า 'กาแฟคาเฟอีนต่ำ' ไม่ใช่กาแฟไร้คาเฟอีนหรือกาแฟปลอดคาเฟอีน เนื่องจากกระบวนการเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถสกัดคาเฟอีนออกจากกาแฟได้ในราว 97-98 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังคำโฆษณาของผู้ผลิตบางราย

เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ \'Decaf coffee\'

กาแฟคาเฟอีนต่ำเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดคาเฟอีน แต่ขณะนี้กำลังตกเป็นจำเลยว่าปลอดภัยต่อการบริโภคหรือไม่  (ภาพ : pexels.com/Pixabay)

สาเหตุที่ผู้เขียนหยิบเรื่องนี้มานำเสนอ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องคนดื่มมากหรือคนดื่มน้อยแต่อย่างใด แต่อยากให้ผู้บริโภคสนใจในแง่มุมที่ว่าสิ่งที่เรากินเราดื่มเข้าไปในร่างกายทุกวันนั้นมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนมากกว่า

สารหรือตัวทำละลายทางเคมีที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาถกเถียงกันให้วุ่นในเวลานี้ก็คือ 'เมทิลีน คลอไรด์' (methylene chloride) เป็นสารประกอบชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นของเหลวที่ไม่มีสี เป็นตัวทำละลายที่มีประโยชน์มากในหลายอุตสาหกรรม ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จะใช้สกัดเอาคาเฟอีนออกจากกาแฟ

สำหรับสารเมทิลีน คลอไรด์ตัวนี้ หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐได้สั่งห้ามใช้ไปแล้วในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ใช้เป็นน้ำยาขัดสี ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ 'อย.สหรัฐ' เอง ก็เคยเสนอให้ห้ามใช้สารดังกล่าวในสเปรย์ฉีดผมและเครื่องสำอาง เนื่องจากอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้หากสูดดมเข้าไป

แต่ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่มยัง 'อนุญาต' ให้ใช้ได้ เพราะเห็นว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ในปริมาณน้อยมาก ๆ จะไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค

เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ \'Decaf coffee\'

กลุ่มองค์กรเอกชนยื่นคำร้องต่อ อย.สหรัฐ FDA ขอให้สั่งห้ามการใช้เมทิลีน คลอไรด์ และสารเคมีอื่น ๆ เป็นตัวทำละลายในการสกัดคาเฟอีนออกจากกาแฟ  (ภาพ : Ibrahim Rifath on Unsplash)

กลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหลายองค์กร ซึ่งมีกองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อม (EDF) เป็นแกนนำ แสดงความกังวลเกี่ยวกับวิธีการกำจัดคาเฟอีนออกจากกาแฟโดยใช้สารเมทิลีน คลอไรด์ ซึ่งทำกันมานานหลายปีแล้ว และก็มีบางงานวิจัยพบว่าสารตัวนี้อาจเป็น 'สารก่อมะเร็ง' และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่ากาแฟดีแคฟถือเป็นทางเลือกที่ 'ปลอดภัย' สำหรับผู้ที่ต้องการลดคาเฟอีน ดังนั้น จงไม่ควรมีสารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ ในกาแฟดีแคฟ

'ประเด็นคำถาม' ของกลุ่มองค์กรเหล่านี้ก็คือ เมื่อเมทิลีน คลอไรด์ เป็นสารที่ถูกแบนในอุตสาหกรรมบางประเภท  แต่ทำไมยังอนุญาตให้ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้แม้ในปริมาณต่ำก็ตาม แล้วอันที่จริง ๆ วิธีสกัดคาเฟอีนออกจากกาแฟก็ทำกันได้ในหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องใช้สารที่เสี่ยงก่อมะเร็ง

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะกลุ่มองค์กรดังกล่าวเห็นว่า เมื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยก็ต้องปลอดภัยจริง ๆ ไม่ใช่แอบมีสารที่อาจเป็นอันตรายรวมอยู่ด้วยโดยที่ผู้บริโภคตระหนักรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

ทางกลุ่มเคลื่อนไหวจึงยื่นคำร้องต่อ อย.สหรัฐ เพื่อขอให้สั่งห้ามใช้สารเมทิลีน คลอไรด์ ในอาหารและเครื่องดื่มภายในปีนี้ รวมไปถึงตัวทำละลายอื่น ๆ อีก 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน, เอธิลีน ไดคลอไรด์ และไตรคลอโรเอทิลีน ที่ใช้ในกระบวนกาแฟสกัดคาเฟอีนออกจากกาแฟที่เรียกว่า 'European Method Decaf'

เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ \'Decaf coffee\'

การผลิตกาแฟดีแคฟมีหลายวิธีด้วยกัน แต่หลัก ๆ คือการนำสารกาแฟไปแช่ในตัวทำละลายหรือผ่านแรงดันน้ำ เพื่อสกัดคาเฟอีนออกจากกาแฟ  (ภาพ : René Porter on Unsplash)

นอกจากนั้นแล้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติรายหนึ่งของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็เพิ่งเสนอ 'ร่างกฎหมาย' ห้ามการใช้สารเมทิลีน คลอไรด์ ในกาแฟทั่วทั้งมลรัฐ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาลกลางศึกษาผลกระทบของสารตัวนี้ที่มีผลต่อสุขภาพอย่างจริงจัง

แจ็คเกอรีน โบเวน กรรมการบริหารของคลีน เลเบิ้ล โปรเจ็คต์ (Clean Label Project) หนึ่งในองค์การที่ร่วมลงนามในคำร้องที่ยื่นต่อ อย.สหรัฐ ให้ความเห็นว่า น่ากังวลมากสำหรับสตรีมีครรภ์และผู้มีปัญหาสุขภาพที่ต้องการลดคาเฟอีน แต่กลับกำลังจิบเมทิลีน คลอไรด์ ปริมาณเล็กน้อยในกาแฟคาเฟอีนต่ำโดยไม่รู้ตัว

จากการสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้ของคลีน เลเบิ้ล โปรเจ็คต์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รณรงค์เรื่องความโปร่งใสของฉลากอาหาร พบว่า แบรนด์ผู้ผลิตกาแฟชั้นนำ 17 ราย ใช้สารเมทิลีน คลอไรด์ เพื่อดึงคาเฟอีนออกจากกาแฟ แต่จากการสุ่มตรวจสอบ 7 ตัวอย่างพบว่า ล้วนมีระดับสารดังกล่าวต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้

แน่นอนเป้าโจมตีทั้งหมดจึงโฟกัสไปยัง 'อย.สหรัฐ' ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่ แต่จะว่าไปแล้ว สำหรับ อย.สหรัฐนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีความเข้มงวดมากในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ชัดเจนว่าจริงจังมากกว่า อย.ในหลาย ๆ ประเทศ

เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ \'Decaf coffee\'

แถลงการณ์ของสมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐ ยืนยันการใช้เมทิลีน คลอไรด์ เพื่อผลิตกาแฟดีแคฟมีความปลอดภัยตามข้อกำหนดของอย.สหรัฐ  (ภาพ : x.com/nationalcoffee)

อย่างไรก็ตาม มาเรีย โดอา ผู้อำนวยการอาวุโสของกองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อมในสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า การพิจารณาตัดสินใจประเด็นการใช้สารเคมีในกาแฟของ อย.สหรัฐ ครั้งล่าสุดบอกเลยว่าเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว ถือว่า'ตกยุค' เอามาก ๆ เลย

จริง ๆ แล้วสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลกลาง ก็พิจารณาเมทิลีน คลอไรด์ ว่าเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง ขณะที่ อย.สหรัฐมีการ 'ควบคุม' ปริมาณของสารตัวนี้เมื่อใช้ขจัดคาเฟอีนในกาแฟทั้งแบบเมล็ดกาแฟคั่วและกาแฟผงสำเร็จรูป กำหนดให้มีได้ในอัตราไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วน หรือ 0.001% หรือเท่ากับน้ำ 10 หยดในน้ำ 10 แกลลอน

กาแฟดีแคฟ เป็นวิธีการผลิตกาแฟที่สกัดเอาคาเฟอีนออกจากสารกาแฟจนเหลือปริมาณเพียงเล็กน้อย ผ่านทางกระบวนการต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการไหนก็ตาม จะต้องทำตอนที่ยังเป็น 'สารกาแฟ' (green bean) การผลิตมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนและยุ่งยากพอสมควร หลัก ๆ คือ การนำสารกาแฟไปแช่ในตัวทำละลาย หรือผ่านแรงดันน้ำ จนกว่าคาเฟอีนจะถูกสกัดออกไป หลังจากนั้นนำไปล้างเพื่อขจัดสารตกค้าง แล้วตากแห้ง ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการคั่วตามปกติเหมือนสารกาแฟทั่วไป

ปัจจุบัน การผลิตกาแฟดีแคฟเชิงพาณิชย์มีอยู่ 4 วิธีด้วยกัน แต่ละวิธีมีความแตกต่างกันทั้งกระบวนการและการใชัตัวทำละลาย

เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ \'Decaf coffee\'

สมาชิกสภานิติบัญญัติจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เสนอร่างกฎหมายห้ามใช้สารเมทิลีน คลอไรด์ ในกาแฟทั่วทั้งมลรัฐไปเมื่อเร็ว ๆ นี้  (ภาพ : John Schnobrich on Unsplash)

1. Swiss Water Process : เป็นกระบวนการสกัดคาเฟอีนออกจากสารกาแฟโดยใช้เฉพาะน้ำและตัวกรองคาร์บอน ไม่มีตัวทำละลายเข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีนี้ได้รับความนิยมสูงสุดและเห็นว่าปลอดภัยที่สุดแล้วในขณะนี้ บางคนยังบอกว่าเป็นวิธีออร์แกนิค ไม่แตะสารเคมีเลย แน่นอนว่าราคาก็สูงกว่ากาแฟดีแคฟที่ผลิตด้วยวิธีอื่น ๆ

2. CO2 Decaffeination : เป็นกระบวนการสกัดคาเฟอีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้ความดันและอุณหภูมิสูง CO2 ทำหน้าที่เหมือนทั้งก๊าซและของเหลวในสถานะนี้ เป็นตัวละลายคาเฟอีนในกาแฟโดยไม่ต้องเพิ่มสารเคมีใด ๆ ลงไปเพิ่มเติม

3. Direct Solvent Extraction : เป็นกระบวนการสกัดคาเฟอีนด้วยตัวทำละลายโดยตรง ตัวทำละลายที่นิยมใช้ได้แก่ 'เมทิลีน คลอไรด์' ซึ่งเป็นข้อกังวลด้านความปลอดภัยอยู่มาตั้งแต่อดีตจนถึงขณะนี้ เพราะอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้หากบริโภคในปริมาณที่สูง ตัวทำละลายอีกตัวในวิธีการนี้ ได้แก่ 'เอทธิล อะซิเตท' (Ethyl Acetate) สารประกอบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งพบได้ในผักและผลไม้บางชนิด แต่การผลิตสารเอทธิล อะซิเตท ตามธรรมชาตินั้น มีต้นทุนสูงเอาการทีเดียว

4. Indirect Solvent Extraction : เป็นการสกัดคาเฟอีนด้วยตัวทำละลายทางอ้อม เริ่มจากแช่สารกาแฟในน้ำร้อน แล้วแยกน้ำที่มีคาเฟอีนและสารต่าง ๆ ในกาแฟออกมา นำน้ำส่วนดังกล่าวผสมกับตัวทำละลาย เช่น เมทิลีน คลอไรด์ หรือเอทธิล อะซิเตท เมื่อตัวทำละลายจับโมเลกุลของคาเฟอีนได้แล้ว ก็จะระเหยออกไปพร้อมกัน เหลือไว้แต่สารต่าง ๆ ที่มีผลต่อรสชาติกาแฟ จากนั้นนำไปฉีดพ่นกลับบนสารกาแฟที่ถูกสกัดคาเฟอีนออกก่อนหน้า เพื่อให้คงกลิ่นรสเดิมไว้

การสกัดคาเฟอีนด้วยตัวทำละลายทางอ้อมนี้ เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า 'วิธีการดีแคฟแบบยุโรป' หรือ European Method Decaf

เรื่องนี้ต้องรู้! สำหรับผู้ดื่มกาแฟ \'Decaf coffee\'

สำคัญยิ่งที่ผู้บริโภคจะต้องรู้ว่าเรากำลังกินหรือดื่มอะไรเข้าไป ปลอดภัยหรืออันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค  (ภาพ : BRUNO CERVERA on Unsplash)

มีคนเห็นด้วย ย่อมมีคนไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมที่เปิดกว้าง เคสนี้ 'บิล เมอร์เรย์' ประธานและซีอีโอของสมาคมกาแฟแห่งชาติสหรัฐ คัดค้านสุดตัว โดยบอกว่า เขาไม่เห็น "หลักฐานใด ๆ" ที่น่าสนใจจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมดังกล่าวที่ระบุว่าการใช้สารเมทิลีน คลอไรด์ เพื่อสกัดคาเฟอีนออกจากกาแฟนั้น เป็นอันตรายและควรถูกห้าม เนื่องจากหลักฐานนั้นไม่มีอยู่จริง

บิล เมอร์เรย์ ระบุในแถลงการณ์ของสมาคมฯว่า อย.สหรัฐ และสภานิติบัญญัติของรัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องปฏิเสธข้อเสนอการห้ามใช้วิธีการดึงคาเฟอีนออกจากกาแฟแบบยุโรป เพราะเสนอโดยไม่มีมูลความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น

เรื่องนี้จะจบอย่างไร... ผู้เขียนตอบตามตรงว่า ไม่รู้เหมือนกันครับ ไม่รู้ว่าในที่สุดแล้ว อย.สหรัฐจะตัดสินใจแบบไหนกัน จะสั่งห้ามใช้สารเมทิลีน คลอไรด์หรือไม่ การตัดสินใจว่าเยสหรือโนน่าจะใช้เวลานานหลายปีทีเดียว

แต่หากว่าท่านผู้อ่านเป็นผู้ที่ชอบดื่มกาแฟคาเฟอีนต่ำ แล้วอยาก 'หลีกเลี่ยง' สารเมทิลีน คลอไรด์ หรือสารอื่น ๆ ที่เห็นว่าไม่โอเค ตอนไปซื้อเมล็ดกาแฟคั่วแบบดีแคฟหรือกาแฟอินสแตนท์ดีแคฟ ให้มองหาข้อความเหล่านี้บนฉลาก เช่น solvent-free, Swiss Water process หรือ certified organic  แต่ถ้าบนฉลากกาแฟ ไม่ให้ข้อมูลว่าใช้วิธีการใดในการผลิต บอกแค่ว่าเป็นกาแฟดีแคฟเฉย ๆ ผู้เขียนแนะนำให้ข้ามไปเลยครับ ไปซื้อจากเจ้าอื่นแทนดีกว่า 

ผู้เขียนบอกกับตัวเองตลอดว่า สำคัญยิ่งที่จะต้องรู้ว่าเรากำลังกินหรือดื่มอะไรเข้าไป ปลอดภัยหรืออันตรายต่อสุขภาพร่างกายหรือไม่ แน่นอนผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบในการให้ข้อมูลรายละเอียดที่เห็นว่าสำคัญและจำเป็นเพื่อการตัดสินใจ เพราะนี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค

แม้ว่ากฎหมายจะยังเพิกเฉยหรือตามไม่ทันโลกก็ตาม

...............................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี