EUDR เจอโรคเลื่อนหนึ่งปี! ยุโรปเร่งปรับพอร์ต 'สต็อกกาแฟ'
เผยกลุ่มการเมืองขวากลางในสภายุโรป อยู่เบื้องหลังข้อเสนอเลื่อนบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดทำลายป่าของ 'อียู' ออกไปอีกหนึ่งปี
สด ๆ ร้อน ๆ กลางเดือนพฤศจิกายนนี้เอง รัฐสภายุโรปลงมติ 'เลื่อน' การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation: EUDR) ออกไปเป็นช่วงสิ้นปีหน้า จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มมีผลในช่วงสิ้นปีนี้ ทำเอาบรรดา 'บริษัทค้ากาแฟ' ระดับบิ๊กเนมของยุโรปพากันดีใจยกใหญ่
ตรงกันข้ามกับเครือข่าย 'องค์กรเอ็นจีโอ' ที่เป็นห่วงเป็นใยประเด็นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างเรียงแถวออกมาแสดงท่าทีคัดค้านอย่างรุนแรง
ถือว่าโหวตรับกันค่อนข้างท่วมท้นทีเดียว เพราะมีเสียงโหวตเห็นชอบให้เลื่อนกฎหมาย EUDR ออกไปหนึ่งปีจำนวน 371 เสียง, โหวตคัดค้าน 240 เสียง และงดออกเสียง 30 เสียง
อยู่ดี ๆ ไฉนกฎหมายฉบับสำคัญ พลันมาเจอ 'โรคเลื่อน' ก่อนหน้าจะมีผลบังคับใช้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น
กลุ่มผู้ค้ากาแฟของยุโรปจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้อียูชะลอการบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดทำลายป่าออกไปก่อน (ภาพ : Charlie Waradee)
เดอะ เดลี่ คอฟฟี่ นิวส์ เว็บไซต์ข่าวธุรกิจกาแฟชั้นนำให้ข้อมูลเอาไว้ว่า 'พรรคประชาชนยุโรป' ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองขวากลางที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภายุโรป อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายสินค้าปลอดการทำลายป่าออกไปอีกหนึ่งปี
ไม่แต่เพียงเท่านั้น กลุ่มการเมืองนี้ได้เสนอให้เลื่อนออกไปถึงสองปีด้วยซ้ำ และยังเสนอให้มีการปรับเนื้อหาความเข้มข้นของกฎหมายให้ผ่อนคลายลงอีกต่างหาก แต่ถูกถอนออกไปก่อนที่จะมีการโหวต
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ของอียู ระบุเอาไว้ว่า หากกฎหมายตัวนี้ล่าช้าไปอีก 12 เดือน อาจส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าประมาณ 2,300 ตารางกิโลเมตร และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 49 เมกะตัน
กฎหมาย EUDR มีระยะเปลี่ยนผ่านอยู่ 2 สเต็ป สเต็ปแรกสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนสเต็ปถัดไปคือกลุ่มเอสเอ็มอี ต่างกันประมาณ 6 เดือน (ภาพ : Kevin Butz on Unsplash)
เมื่อกลางปี 2023 อียูได้ประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า กำหนดให้การส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่มของอียู ได้แก่ กาแฟ, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, วัว, ไม้, โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ถุงมือยาง กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาของสินค้าว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม ขณะนี้ EUDR ยังอยู่ในระยะ 'เปลี่ยนผ่าน' ก่อนเริ่มมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในสิ้นปีนี้
การลงมติครั้งนี้ หมายความว่ากฎหมาย EUDR ที่มีระยะเปลี่ยนผ่านอยู่ 2 สเต็ป จะเลื่อนเวลา 'นับหนึ่ง' ออกไปอีก 12 เดือน โดยสเต็ปแรกจะเริ่มมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งกลุ่มผู้ผลิต, ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก ในวันที่ 30 ธันวาคม 2025 ส่วนสเต็ปถัดไปสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2026
ในส่วนของธุรกิจกาแฟนั้น นับตั้งแต่เห็นเนื้อหาของกฎหมาย ปรากฎว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟจำนวนมากเรียกร้องให้อียูชะลอการบังคับใช้กฎหมาย อย่าง 'สหพันธ์ผู้ค้ากาแฟยุโรป' หรืออีซีเอฟ ชี้ลงไปว่าเกษตรกรรายย่อยตามแหล่งปลูกกาแฟทั่วโลก ยังไม่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงภายในสิ้นปี 2024 นี้ พร้อมเตือนว่าหากกฎหมายมีการบังคับใช้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ปลูกกาแฟรายย่อยหลายล้านรายที่ส่งออกกาแฟเข้าสู่ตลาดยุโรป
กลุ่มพันธมิตรกาแฟสากลโพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊ค แสดงความเป็นห่วงเกษตรกรรายย่อยที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย EUDR (ภาพ : facebook.com/InternationalCoffeePartners)
กลุ่มอีซีเอฟถือเป็นกลุ่มธุรกิจกาแฟที่มี 'อิทธิพลสูง' ในยุโรป สมาชิกล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น เช่น ลาวาซซา, อิลลี่, เจดีอี พีทส์, เนสท์เล่ และสตาร์บัคส์ รวมไปถึงบริษัทนำเข้าสารกาแฟรายสำคัญอย่าง อีคอม, โอฟี, หลุยส์ เดรย์ฟัส และซูคาฟิน่า
ขณะเดียวกัน 'กลุ่มพันธมิตรกาแฟสากล' หรือไอซีพี แถลงว่า สมาชิกในกลุ่มสนับสนุนเป้าหมายของกฎหมาย EUDR แต่ถึงกระนั้น เกษตรกรรายย่อยก็ต้องมีเวลาในการปรับตัว และเพิ่มความสามารถทางเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับข้อบังคับของกฎหมาย
ชื่อกลุ่มไอซีพีอาจจะฟังไม่คุ้นหูเท่าไหร่นะครับ แต่บอกเลยว่าสมาชิกแต่ละบริษัทไม่ธรรมดาเลย ในจำนวนนี้ มีตระกูลโรงคั่วกาแฟเก่าแก่ฝั่งยุโรปถึง 7 บริษัทรวมเป็นสมาชิกอยู่ คือ นอยมันน์ คาเฟ่ กรุ๊ปเป (เยอรมนี), ลาวาซซา (อิตาลี), ล็อฟเบิร์ก (สวีเดน), ทชิโบ (เยอรมนี), เดลต้า คาเฟ่ (โปรตุเกส), แฟรงค์ (โครเอเชีย) และ โจห์. โจฮันน์สัน (นอร์เวย์)
หรืออย่าง 'องค์กรแฟร์เทรดสากล' ที่ปกติเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการค้าที่เป็นธรรม ถึงกับออกแถลงการณ์เตือนว่า เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายเล็ก ๆ อาจถูก 'ตัดขาด' ทางการค้ากับตลาดสหภาพยุโรป หรือถูกผู้ผลิตรายใหญ่ผลักดันให้ออกจากห่วงโซ่อุปทาน ไม่ใช่เพราะชาวสวนชาวไร่เหล่านี้ทำฟาร์มบนพื้นที่ทำลายป่าหรอก แต่เป็นเพราะยังขาดความศักยภาพในการปฏิบัติตามระเบียบของ EUDR ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล, การจัดการ และการจัดส่งข้อมูลที่จำเป็นผ่านทางแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน
กราฟฟิกของยูโรสแตทแสดงตัวเลขนำเข้ากาแฟของสหภาพยุโรปในปี 2023 โดยนำเข้าจากบราซิลมากที่สุดถึง 34% (ภาพ : ec.europa.eu)
ท่าทีขององค์กรแฟร์เทรดสากลนั้น ออกจะเห็นด้วยหากมีการเลื่อนออกไปหนึ่งปี แต่ในกรณีสองปี ไม่เห็นชอบอย่างแรง
คำถามที่มักเกิดขึ้นก็คือกติกาเข้ม ๆ ของอียู อาจทำให้พ่อค้ากาแฟรายใหญ่ 'ถอยห่าง' จากไร่กาแฟที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า หันไปซื้อจากแหล่งปลูกอื่น ๆ แทนหรือไม่
ถ้าเป็นเช่นนั้น จึงน่าคิดอย่างยิ่งว่าราคาสารกาแฟที่ซื้อ-ขายกันในตลาดต่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แล้วผู้บริโภคทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของราคากาแฟหรือไม่
ผู้เขียนออกจะไม่อินกับมุมมองที่ว่ายุโรปอาจต้องเผชิญกับปัญหา 'ขาดแคลนกาแฟ' จากผลกระทบของกฎหมาย EUDR เพราะเห็นว่าไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นนั้น เทรดเดอร์ค้ากาแฟสามารถจัดหากาแฟจากแหล่งอื่น ๆ มาทดแทนได้ นั่นหมายความสัดส่วนการนำเข้ากาแฟจากแหล่งปลูกทั่วโลกหรือพอร์ต 'สต็อกกาแฟ' ที่เข้าสู่ยุโรปอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
อียูมียอดนำเข้ากาแฟ 2.7 ล้านตันในปี 2023 คิดเป็นมูลค่า 10,600 ล้านยูโร โดยเยอรมนีนำเข้ากาแฟรายใหญ่ที่สุด ตามด้วยอิตาลี และเบลเยียม (ภาพ : pexels.com/cottonbro studio)
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งอียูหรือยูโรสแตท ระบุว่า การผลิตกาแฟเพื่อจำหน่ายทั่วสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 15% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นี่ไม่ได้หมายความว่ายุโรปปลูกกาแฟเองได้นะ แต่เป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตขายต่อ เช่น เมล็ดกาแฟคั่ว,กาแฟดีแคฟ,กาแฟอินสแตนท์ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกาแฟ
ตัวเลขของปี 2023 บอกว่า การผลิตกาแฟโดยรวมของยุโรปมีปริมาณ 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 13,000 ล้านยูโร และประชาชนในอียูมีอัตราบริโภคกาแฟประมาณ 5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ขณะที่ปริมาณการ 'นำเข้ากาแฟ' ของอียูตกในราว 2.7 ล้านตันในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 10,600 ล้านยูโร แม้อิตาลีเป็นชาติที่มีชื่อเสียงมานมนานเมื่อเอ่ยถึงเครื่องดื่มกาแฟ แต่เยอรมนีคือประเทศผู้นำเข้ากาแฟรายใหญ่ที่สุดของอียูในสัดส่วน 33% ตามด้วยอิตาลี 23%, เบลเยียม 10%, สเปน 9% และฝรั่งเศส 7%
อียูนำเข้ากาแฟจากบราซิลมากที่สุด 921,900 ตัน หรือ 34% ของยอดนำเข้านอกอียูทั้งหมด ตามมาด้วยเวียดนามในสัดส่วน 24%, ยูกันดา 8%, ฮอนดูรัส 6%, อินเดีย 4%, โคลอมเบีย 4%, เปรู 3% และอินโดนีเซีย 2%
ทว่าผลของกฎหมายใหม่ที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องพิสูจน์ว่ากาแฟที่นำเข้ามานั้นไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งยังไม่ชัวร์ว่าจะมีผล ณ สิ้นปีนี้หรือสิ้นปีหน้ากันแน่ บรรดาบริษัทค้ากาแฟก็เริ่มมีการสต็อกกาแฟเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปรากฎว่าช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขนำเข้ากาแฟจาก 'บราซิล' ของอียูพุ่งขึ้นเป็น 65% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
เทรดเดอร์ค้ากาแฟยุโรปเริ่มเพิ่มพอร์ตสต็อกกาแฟมานานหลายเดือน รองรับกฎหมายสินค้าปลอดทำลายป่าของอียู (ภาพ : Battlecreek Coffee Roasters on Unsplash)
นอกจากนั้น อียูยังเพิ่มการนำเข้ากาแฟโรบัสต้าจากแอฟริกาตะวันออก ส่งผลให้การส่งออกกาแฟของ 'ยูกันดา' ที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าเป็นหลักถึง 80% ทำสถิติสูงสุดใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แน่นอนส่วนใหญ่ส่งไปยังยุโรป
ในทางกลับกัน อียูมีตัวเลขนำเข้ากาแฟโรบัสต้าจาก 'เวียดนาม' ลดลง แต่ผู้เขียนคิดว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการปรับพอร์ตกาแฟของผู้ค้ารายใหญ่ น่าจะมีสาเหตุจากภัยแล้งในเวียดนามเองเสียมากกว่า
เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมฝรั่งเศสได้เปิดเผยข้อมูลชุดหนึ่ง ระบุว่า กาแฟเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในการตัดไม้ทำลายป่า แม้จะมีพื้นที่ปลูก 11 ล้านเฮกตาร์ในกว่า 50 ประเทศเขตร้อนก็ตาม และในฐานะผู้นำเข้ากาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก สหภาพยุโรปต้องมีส่วน 'รับผิดชอบ' ถึง 44% ด้วยกันต่อปัญหาตัดไม้ทำลายป่าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกาแฟ
ไม่ว่ากฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่าของอียู จะเลื่อนออกไปอีกหนึ่งปีหรือสองปีข้างหน้า อย่างไรเสียในไม่ช้าก็เร็ว ก็คงต้องมีผลบังคับใช้แน่นอน
อย่างที่เห็นกัน บริษัทค้ากาแฟเริ่มนับเวลาถอยหลังกันมานานหลายเดือน การปรับพอร์ตสต็อกกาแฟก็เดินเครื่องกันไปแล้ว!
...................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี