'สโตลเลนเค้ก' 'ขนมประจำเทศกาลคริสต์มาส' หนึ่งปีกินหนึ่งครั้ง
'สโตลเลนเค้ก' (หรือสโตเลน – Stollen Cake) 'ขนมประจำเทศกาลคริสต์มาส' เป็นขนมอบดั้งเดิม ต้นกำเนิดจากเยอรมนี มีประวัติย้อนหลังไปกว่า 600 ปี เมื่อถึงวันคริสต์มาส ชาวคริสต์จะอบ Christmas Stollen หนึ่งปีกินหนึ่งครั้ง
ขนมประจำเทศกาลคริสต์มาส ที่ทุกบ้านต้องมี คือขนมปังเนื้อนุ่มคล้ายบริยอช ข้างในมีผลไม้เชื่อม ลูกเกด ผิวส้ม ผิวเลมอน ที่หมักในเหล้ารัมข้ามคืน สอดไส้ด้วยมาร์ซิแพน (ขนมเนื้อนุ่มทำจากผงอัลมอนด์ผสมเครื่องเทศชนิดผง เช่น ขิง คาร์ดามอม อบเชย) และถั่วชนิดต่าง ๆ รูปทรงเป็นก้อนกลมยาว โรยไอซิ่งสื่อถึงหิมะ รูปขนมปังสื่อถึงพระเยซูเมื่อแรกเกิดห่อหุ้มด้วยผ้าลินิน จึงได้ชื่อว่า Christstollen หรือ Christmas Stolle
สโตลเลนเค้ก หลังอบเสร็จโรยไอซิ่ง แล้วตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ เสิร์ฟขณะยังอุ่น อร่อยหอมหวาน ในเยอรนีนิยมเสิร์ฟกับกาแฟหรือกลูไวน์ (Gluhwein) หรือมูลล์ไวน์ (Mulled Wine)
สโตลเลนเค้กกับกาแฟขม ๆ เข้ากัน (Cr.recipesmadeeasy.com)
ก่อนจะเป็นสโตลเลนเค้ก
บันทึกไว้ว่า ยุคแรกของ Christstollen เกิดขึ้นในยุคกลาง พระในโบสถ์จะทำขนมปังเพื่อแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน และใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนผสมมีเพียงแป้งสาลี ยีสต์ น้ำ และน้ำมัน
ตามประวัติเล่าว่าเนื้อสัมผัสคือขนมปังยังไม่ใช่เค้ก เพราะสมัยนั้นเนยและเครื่องเทศเป็นสิ่งต้องห้ามในการทำขนมปัง อีกนัยหนึ่งคือเครื่องเทศที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาแพง น้ำตาลก็แพง เนื้อขนมปังจึงมีรสเค็มและแห้ง อบด้วยน้ำมันหมู
สโตลเลนเค้ก ขนมอบของขวัญในเทศกาลคริสต์มาส (Cr.brekabakery.com)
ราวปี 1430 โป๊ปนิโคลาส ได้รับจดหมายจากผู้คัดเลือกแห่งแซกโซนี (Ernst of Saxony) ผู้แทนจากจักรวรรดิโรมัน (ปี ค.ศ.1356-1806) มาปกครองอาณาจักรแซกโซนี หรือซัคเซินในภาษาเยอรมัน ซึ่งรวมเมืองเดรสเดนอยู่ด้วย ในจดหมายระบุว่าอนุญาตให้ใช้เนยแทนน้ำมันได้
(Cr.dresden-magazine.com)
แต่โป๊ปก็ยังไม่ทำจนผู้แทนแห่งแซกโซนี ต้องรอมาจนถึงปี 1490 โป๊ปอินโนเซนต์ที่ 8 ได้ส่งจดหมายเนยฉบับนั้น (Butter Letter) ถึงลูกชายของท่านเอิร์ล เจ้าชายเฟรเดอริคที่ 3 บอกว่าจะเริ่มใช้เนยทำขนมปัง แต่ยุคแรก ๆ นั้นทำให้เฉพาะครอบครัว Saxony เท่านั้น
อีกหลายปีต่อมา ชาวบ้านสามารถใช้เนยและเครื่องเทศทำสโตลเลนเค้ก เมื่อใช้เนย ยีสต์ และส่วนผสมอื่น ๆ ทำให้เนื้อนุ่มจึงเรียกว่า “เค้ก” ไม่ใช่ “ขนมปัง” ซึ่งนอกจากทำ สโตลเลนเค้ก แล้ว ยังใช้ทำคุกกี้ขิง คริสต์มาสพุดดิ้ง และขนมอบประเภทอื่น ๆ ตามมา
(Cr.thekitchenlioness.com)
บางคนบอกว่า สโตลเลนเค้ก ไม่ใช่ทั้งขนมปังและเค้ก ด้วยมีเนื้อสัมผัสรวมกันทั้งสองอย่าง และไม่เหมือนฟรุตเค้กที่เนื้อร่วนและหวานกว่า ไม่เหมือนคริสต์มาสพุดดิ้งที่เนื้อแน่นและมีไส้ผลไม้เชื่อมมากกว่า อีกทั้งยังมีกลิ่นเครื่องเทศหอมอ่อน ๆ มีมาร์ซิแพน (ใส่ก็ได้ไม่ใส่ก็ได้) ที่สำคัญมีรูปร่างและไอซิ่งเหมือนหิมะ สื่อถึงการกำเนิดของพระเยซู
สโตลเลนเค้กกับ Mulled Wine (Cr.restless.co.uk)
ไทม์ไลน์ สโตลเลนเค้ก ขนมอบประจำเทศกาลคริสต์มาส
- ค.ศ.1474 สโตลเลนเค้กเกิดขึ้นครั้งแรก บางตำราบอกว่าเกิดขึ้นก่อนในปี 1329
- เมืองเดรสเดน (Dresden) ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของสโตลเลนเค้ก เมื่อราวศตวรรษที่ 15 ชาวเมืองเรียกว่า Stollenfest
- งานพาเหรดสโตลเลนเค้กยุคแรก ๆ น้ำหนัก 3-4 ตัน ขนใส่รถลากไปตามถนนเมืองเดรสเดนเพื่อไปยังตลาดคริสต์มาส (Striezelmarkt) ตลาดคริสต์มาสเก่าแก่ที่สุดของโลกในเดรสเดน จากนั้นเชฟอบขนมจะตัดแบ่งเค้กเป็นชิ้นยาว ๆ ด้วยมีดเงินหนัก 12 กิโลกรัม แจกจ่ายให้กับประชาชนและผู้บริจาคเข้ากองทุนเพื่อการกุศล
ขบวนแห่สโตลเลนเค้กในเดรสเดน (Cr.christstollen-shop.com)
- ยุค 1560 นักอบขนมนำเสนอสโตลเลนเค้ก น้ำหนัก 36 ปอนด์ ให้ซื้อกลับบ้านไปฉลองเทศกาลคริสต์มาส
- นับแต่ปี 1617 ชาวคริสต์จะจบมื้ออาหารด้วยสโตลเลนเค้ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส บางบ้านก็ทำเอง บ้างก็ซื้อจากร้านเบเกอรี
- ปี 2010 บันทึกว่าสโตลเลนเค้กที่ยาวที่สุด 72.1 เมตร (237 ฟุต) ผลิตโดยบริษัท LidL ร้านค้าปลีกรายใหญ่สัญชาติเยอรมัน จดไว้ในกินเนสส์ บุ๊ค ที่สถานีรถไฟเมืองฮาร์เลม ประเทศเนเธอร์แลนด์
สโตลเลนเค้ก (Cr.matchingfoodandwine.com)
- ปัจจุบัน สโตลเลนเค้ก เป็นส่วนหนึ่งของ ขนมประจำเทศกาลคริสต์มาส ได้รับความนิมในหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะชาวอังกฤษ จะฉลองเทศกาลคริสต์มาสด้วยอาหาร แล้วจบด้วยสโตลเลนเค้ก, มินซ์พาย, คุกกี้ขิงรูปสโนว์แมน และคริสต์มาสพุดดิ้
อ้างอิง: christstollen-shop.com, truegrain.ca