ครั้งแรกของกาแฟ แปะฉลาก ''Healthy'' ได้
อย.สหรัฐไฟเขียวกาแฟได้สิทธิ์ติดฉลากหรือสติกเกอร์ 'Healthy' บนบรรจุภัณฑ์เป็นครั้งแรก ตั้งเป้าชูอาหารดีต่อสุขภาพ ห่างไกลโรคอ้วนถามหา
ครั้งแรกอย่างเป็นทางการครับท่านผู้อ่านที่เครื่องดื่มยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง 'กาแฟ' จะได้รับไฟเขียวให้ติดฉลากหรือสติกเกอร์คำว่า 'healthy' บนบรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้งได้ แต่ไม่ใช่ในประเทศไทยของเรานะ เป็นในประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจยิ่ง จึงขอนำมาบอกเล่าเก้าสิบกันเป็นบทความชิ้นแรก ต้อนรับเปิดศักราชใหม่
เมื่อปลายปีที่แล้วนี้เองครับ สำนักอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ที่เรียกกันง่ายๆว่า 'อย.สหรัฐ' มีการอัพเดตนิยามความหมายใหม่ของคำว่า 'healthy' สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐอเมริกา จะเรียกว่าเป็นกฎกติกาใหม่ก็ได้นะ เพราะทุกแบรนด์ทุกผู้ผลิตต้องรับไปปฏิบัติเหมือนกัน หากว่าต้องการแปะฉลากและสติกเกอร์คำดังกล่าวบนหีบห่อบรรจุภัณฑ์ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดไว้
โดยทั่วไป healthy นั้นมีความหมายประมาณว่า ดีต่อสุขภาพ เพื่อสุขภาพ หรือ สุขภาพดี ถ้าพูดถึงอาหาร ก็น่าจะหมายถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพคนเรา กินหรือดื่มเข้าไปแล้วมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บติดตามมา
ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา เครื่องดื่มกาแฟได้รับไฟเขียวให้ติดฉลาก 'healthy' บนบรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้งได้ (ภาพ : Engin Akyurt from Pixabay)
ตามการอัพเดตใหม่นั้น อาหารที่ดีต่อสุขภาพตามนิยามใหม่ของอย.สหรัฐ จะเพิ่มเติมกลุ่มอาหารเหล่านี้เข้าไปด้วย ได้แก่ น้ำดื่ม, ชา และกาแฟ ที่สามารถติดฉลากดีต่อสุขภาพได้โดย 'อัตโนมัติ' และก็มีอาหารบางจำพวกที่ครั้งหนึ่งเคยติดป้ายว่าดีต่อสุขภาพ จะไม่เข้าเกณฑ์ใหม่อีกต่อไป ซึ่งหลักในการพิจารณานั้นโฟกัสไปยังอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล, โซเดียม และไขมันอิ่มตัว เป็นสำคัญ
เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีทีเดียวที่อย.สหรัฐที่มีการปรับนิยามใหม่ของคำว่า 'ดีต่อสุขภาพ' เป้าประสงค์ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการบริโภคอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการตามร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต และต้องการลดจำนวนคนอเมริกันที่เป็นโรคดังต่อไปนี้ คือ โรคอ้วน, โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง
หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าสหรัฐอเมริกานี่แหละเป็นประเทศที่มีคนเป็น 'โรคอ้วน' มากที่สุดในโลก เสียเงินเสียทองจำนวนมากมายมหาศาลในการรักษาพยาบาลในแต่ละปี อันที่จริงหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเรา ก็ประสบปัญหานี้อยู่เช่นกัน
คำจำกัดความใหม่ 'ดีต่อสุขภาพ' ของ อย.สหรัฐ ใช้กับกาแฟที่ให้แคลอรี่ต่ำกว่า 5 แคลอรี่ต่อปริมาณ 12 ออนซ์ (355 มล.) (ภาพ : Vadim Artyukhin on Unsplash)
ในคอลัมน์นี้จะขอพูดถึงเฉพาะกาแฟเท่านั้น สำหรับท่านที่สนใจกลุ่มอาหารอื่น ๆ สามารถเข้าไปหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ อย.สหรัฐ www.fda.gov บอกกันตรงนี้เลยครับว่ามีทั้งสิ้น 318 หน้า
อย่างที่เกริ่นกันไปแล้ว ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ที่ อย.สหรัฐ กำหนดให้กาแฟมีสิทธิ์ติดป้ายกำกับว่าดีต่อสุขภาพโดยอัตโนมัติ ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับ 'ข้อแนะนำด้านโภชนาการสำหรับชาวอเมริกัน' ที่ระบุว่าเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำ รวมทั้งกาแฟดำ (Black coffee) ด้วย จัดอยู่ในประเภทอาหารเพื่อสุขภาพที่ได้รับคำแนะนำให้บริโภค
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่าไม่เห็นตื่นเต้นอะไรเลย เมืองไทยเราก็เห็นมีขายมีจำหน่ายกันเยอะแยะไปหมด โฆษณากันไปทั่วว่าเป็น 'กาแฟเพื่อสุขภาพ' ที่ในบางประเทศอาจเป็นแค่คำโฆษณา ไม่ใช่อย่างที่เห็น ไม่เป็นอย่างที่คิด ก็อยากจะเรียนว่าเป็นคนละเคสคนละคดีกันกับคำว่า healthy ในทีนี้เลยก็ว่าได้ครับ
แล้วก็ไม่ง่ายเลยนะที่จะได้ติดฉลากหรือป้ายดีต่อสุขภาพของอย.สหรัฐ ต้องมีกติกามี 'เงื่อนไข' กันสักหน่อย
กาแฟดำถูกจัดให้เป็นหนึ่งในอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ตามข้อแนะนำด้านโภชนาการสำหรับชาวอเมริกัน (ภาพ : Charlie Waradee)
คำจำกัดความใหม่ 'ดีต่อสุขภาพ' ของอย.สหรัฐ ใช้กับกาแฟที่ให้แคลอรี่ต่ำกว่า 5 แคลอรี่ต่อ 12 ออนซ์ (355 มล.) และต่อหนึ่งเสิร์ฟ
หมายความว่าถ้าเราชงกาแฟแล้วเอาไปชั่งได้น้ำหนัก 12 ออนซ์ จะเพิ่มเติมสารแต่งกลิ่นรสต่าง ๆ , สารให้ความหวานที่ไม่มีหรือมีแคลอรี่ต่ำ, วิตามิน และน้ำแร่ ไปด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่กาแฟนั้น ๆ ต้องมีปริมาณแคลอรี่น้อยกว่า 5 แคลอรี่
หรือถ้าเป็นกรณีหนึ่งเสิร์ฟ ปริมาณแคลอรี่ก็ต้องเป็นไปตามกติกา คือต่ำกว่า 5 แคลอรี่ต่อปริมาณ 12 ออนซ์ จึงจะมีสิทธิ์ตามเกณฑ์ใหม่
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลสารอาหารของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปกติกาแฟที่ไม่เติมอะไรลงไปจำนวน 12 ออนซ์ จะมีแคลอรี่ในปริมาณ 3.55 แคลอรี่
กาแฟจัดเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในสหรัฐอเมริกา บางเมนูเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคอื่นๆ หากบริโภคเป็นประจำทุกวัน (ภาพ : pexels.com/Cihan Yüce)
อย่างที่ทราบกัน กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มี 'บทบาทสูง' มากในวิถีชีวิตชาวอเมริกัน เคยมีการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของคนอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่ ดื่มกาแฟกันทุก ๆ วัน ปัจจุบันประเทศนี้มีประชากรทั้งสิ้น 340 ล้านคน ในจำนวนนี้ 260 ล้านคนเป็นผู้ใหญ่ ลองคิดดูครับปริมาณกาแฟที่ดื่มจะมีมากน้อยขนาดไหน
แน่นอนว่าเมนูกาแฟยอดนิยมในเมืองลุงแซมมีทั้งดีต่อสุขภาพและไม่ดีต่อสุขภาพ และก็ต้องยอมรับความจริงในข้อที่ว่าบางเมนู 'เสี่ยง' ต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ หากบริโภคเข้าไปเป็นประจำทุกวัน
กลุ่มกาแฟดำที่ไม่ได้เพิ่มตัวปรุงรสหรือส่วนผสมใด ๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล, นม, ครีมเทียม, วิปครีม หรือไซรัปน้ำเชื่อม อย่างเมนู 'เอสเพรสโซ' ช็อตเดียวมีปริมาณ 2 แคลอรี่ต่อน้ำกาแฟ 1 ออนซ์ (30 มล.) ถ้าสองช็อตก็เพิ่มเป็น 5 แคลอรี่ ถือว่าต่ำมากและน้ำตาลเป็นศูนย์ ส่วน 'อเมริกาโน่' , 'กาแฟดริป' , 'กาแฟโคลด์บรูว์' และ 'กาแฟอินสแตนท์' ก็จัดอยู่ในประเภทที่ให้แคลอรี่ไม่สูง
เมนู 'คาราเมล มัคคิอาโต' ที่ได้รับความนิยมสูงทั้งสูตรร้อนและเย็น ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ช็อตเอสเพรสโซ+นมสด+ไซรัปคาราเมล+ซอสคาราเมล โดยเฉลี่ยหนึ่งเสิร์ฟขนาดแก้ว 16 ออนซ์ ให้พลังงานราว 250-300 แคลอรี่
ตราสัญลักษณ์ 'healthy' ของอย.สหรัฐ อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะมีคำ FDA และ Healthy อยู่ในวงกลมสีเขียว (ภาพ : Charlie Waradee)
ทว่ากาแฟที่หนึ่งแก้วมี 300-400 แคลอรี่ ก็ยังไม่ถือว่ามากที่สุดในสหรัฐ กาแฟเย็นบางเมนูที่อัดแน่นไปด้วยวิปครีมและซอสน้ำเชื่อมของร้านกาแฟและร้านฟ้าสต์ฟู้ดใหญ่ ๆ บางแห่ง แคลอรี่ปาเข้าไป 700 กว่า ๆ
ขณะที่ความต้องการ 'แคลอรี่' ต่อวันของแต่ละคนต่างกันออกไป แยกเป็นเพศหญิงอยู่ที่ประมาณ 1500 – 2000 แคลอรีต่อวัน เพศชายประมาณ 2000 – 2500 แคลอรี แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่เกี่ยวข้องมาประกอบ เช่น อายุ, น้ำหนัก, ไลฟ์สไตล์, การออกกำลังกาย และโรคประจำตัว
ก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยให้ชาวอเมริกันพิจารณาตัดสินใจเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น อย.สหรัฐ ตรากฎข้อบังคับว่าด้วยการกำหนดให้ร้านอาหารและร้านกาแฟแจกแจงข้อมูลโภชนาการโดยละเอียด ล่าสุดก็มาอัพเดตนิยามใหม่ของคำว่าดีต่อสุขภาพ ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ฉลากดีต่อสุขภาพของอย.สหรัฐ ต้องการลดจำนวนคนอเมริกันที่เป็นโรคอ้วนมากขึ้น ทำให้มีค่ายาค่ารักษาจำนวนมหาศาลในแต่ละปี (ภาพ : pexels.com/Helder Quiala)
นอกจากนี้แล้ว อย.สหรัฐยังได้ร่วมมือกับดาวรุ่งพุ่งแรงด้านพัฒนาระบบบริการสั่งซื้อของชำอย่าง 'อินสตาคาร์ต' (Instacart) เพื่อสร้างแฟลตฟอร์มออนไลน์และหน้าร้านเสมือนจริง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาสินค้าที่ติดตรา 'สุขภาพดี' ได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
ส่วนตราสัญลักษณ์ที่จะให้ผู้ผลิตนำไปใช้ติดเป็นฉลากหรือสติกเกอร์ อยู่ระหว่างการพัฒนา ผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่าน่าจะมีคำว่า FDA และ Healthy อยู่ในวงกลมสีเขียว
อ้อ...เกือบลืมไปครับ กฎกติกาว่าด้วยนิยามใหม่ของคำว่าดีต่อสุขภาพในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสหรัฐอเมริกา จะมีผลบังคับใช้ภายใน 2 เดือน ประมาณวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ และให้เวลาบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2028 เพื่อปรับปรุงฉลากให้สอดคล้องกับกฎกติกาใหม่
................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี