ดราม่า 'Fake Coffee' เหตุเกิดที่ 'บราซิล' ยักษ์ใหญ่กาแฟโลก

ดราม่ากาแฟปลอมกลายเป็นไวรัลร้อนทั่วโซเชียลแดนแซมบ้า หลังสมาคมกาแฟบราซิลโวยแหลก เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสกาแฟทำแพคเกจจิ้งเลียนแบบกาแฟแท้ ร้องอย.ตรวจสอบความถูกต้อง
บราซิลจัดว่ายิ่งใหญ่มาก ๆ ในด้านอุตสาหกรรมกาแฟ ครองแชมป์แบบผูกขาดประเทศผู้ส่งออกสูงสุดในโลกชนิดไร้คู่แข่งมานานมากแล้ว กาแฟที่ผลิตในประเทศแทบจะมีขายตามร้านกาแฟทุกประเทศเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้เกิดกรณีดราม่าที่เป็นไวรัลทั่วโซเชียลมีเดียอย่างครึกโครม นั่นคือ 'กาแฟปลอม' (fake coffee)
เป็นข่าวใหญ่ทั่วบราซิลเลยก็ว่าได้ที่สื่อแทบทุกค่ายสำนักหยิบมานำเสนอกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หลังจากผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมกาแฟบราซิล (ABIC) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อแสดงความกังวลประมาณว่า ตอนนี้มีการทำกาแฟปลอมออกมาขายกันมากขึ้นผิดปกติ เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ 'เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสชาติกาแฟ' โดยอาจะมีกาแฟจริง ๆ ผสมอยู่เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยก็ได้
นอกจากนั้น ผู้บริหารสมาคมอุสาหกรรมกาแฟบราซิล ยังได้ติดต่อไปอย.และกระทรวงเกษตรฯเพื่อสอบถามว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้จำหน่ายอย่างถูกกฎหมายหรือไม่-อย่างไร
สื่อในประเทศบราซิลก็พาดหัวข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า กาแฟปลอมกำลัง 'คุกคาม' ตลาดกาแฟบราซิล รวมไปถึงการขายกาแฟปลอมสร้างความวิตกขึ้นในอุตสาหกรรมบราซิล จากนั้น เซเลบริตี้ที่มียอดฟอลโล่สูง ๆ ในโซเชียลมีเดียก็หยิบเอาไปผลิตเป็นคอนเทนต์กันหลายเจ้า พร้อมมีการเล่นคำ cafake ที่มาจาก cafe+fake
สมาคมอุตสาหกรรมกาแฟบราซิลระบุมีกาแฟปลอมออกมาขายกันมากขึ้น ในรูปแบบเครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสกาแฟแบบดั้งเดิม หลังราคากาแฟทะยานสูงลิ่ว (ภาพ : Charlie Waradee)
ผู้ที่ออกมาให้ข่าวนี้เป็นคนแรกคือ นายเซลิริโอ อินาซิโอ ดา ซิลวา ตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของสมาคมอุตสาหกรรมบราซิล ที่ผู้เขียนเห็นว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบแล้วในความพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจกาแฟในประเทศที่องค์กรกำกับดูแลอยู่
คือถ้าใครหรือสินค้าอะไรมาทำให้ไขว้เขว้หรือบิดเบี้ยวไปจนกระทบต่อผลประโยชน์ของธุรกิจกาแฟ ก็ต้อง 'เคลียร์' กันสักหน่อยแล้ว
นักข่าวรอยเตอร์ สื่อใหญ่อังกฤษ เป็นผู้ไปสัมภาษณ์เปิดประเด็นนี้ออกไปทั่วโลก แล้วบอกว่านายเซลิริโอเป็นผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมนักคั่วกาแฟบราซิล ผู้เขียนลองดับเบิลเช็คดูแล้วพบว่า เขาทำงานอยู่ที่สมาคมอุตสาหกรรมกาแฟบราซิล
นอกจากเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว บราซิลยังติดอันดับต้นๆในทำเนียบคนดื่มกาแฟมากที่สุดอีกด้วย (ภาพ : Charlie Waradee)
นายเซลิริโอ ชี้ชัด ๆ ลงไปว่า ราคากาแฟที่พุ่งสูงทั่วโลก ทำให้กาแฟในบราซิลปรับราคาขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟคั่วและกาแฟผงสำเร็จรูปที่ขายกันตามซูเปอร์มาร์เก็ต เลยมีคนทำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแต่งกลิ่นกาแฟออกมาขายกันมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่ากาแฟแท้ ๆ ถึง 20-30% แถมออกแบบแพคเกจจิ้งเหมือนกับผลิตภัณฑ์กาแฟเปี๊ยบเลย แต่ไม่ได้ทำจากเมล็ดกาแฟแท้ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความ 'เข้าใจผิด' คิดว่าเป็นกาแฟจริง ๆ
"ชัดเจนว่าเป็นความพยายามหลอกผู้บริโภค" นายเซลิริโอ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ พร้อมกับเสริมว่า เครื่องดื่มแต่งกลิ่นกาแฟเหล่านี้เป็นชนิดผง เป็นไปได้ว่าอาจทำขึ้นจาก 'ของเหลือ' ภายหลังการโปรเซสกาแฟ เช่น เปลือกกาแฟหรือใบไม้จากต้นกาแฟ และมีการใช้สารสังเคราะห์เพื่อแต่งกลิ่น
ทางสมาคมอุตสาหกรรมบราซิล ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อว่า 'ออฟฟิศเชียล ออฟ บราซิล' ที่ทำบรรจุภัณฑ์คล้ายคลึงกับเมล็ดกาแฟคั่วบดที่ขายในประเทศ โดยมีรูปกาแฟร้อนหนึ่งแก้ว พร้อมคำอธิบายบนบรรจุภัณฑ์ว่า "เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสกาแฟแบบดั้งเดิม" (traditional coffee flavored beverage) ตัวอักษรตัวเล็กด้านล่างเขียนว่า "รสกาแฟเทียม" (artificial coffee flavor)
สมาคมอุตสาหกรรมกาแฟเป็นผู้ให้ข้อมูลสื่อในประเด็นกาแฟปลอม พร้อมร้องให้อย.และกระทรวงเกษตรฯเข้าไปตรวจสอบความถูกต้อง (ภาพ : facebook.com/abiccafe)
ทั้งนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า 'รสกาแฟเทียม' หรือ artificial coffee flavor ก็คือ การแต่งกลิ่นรสให้เหมือนกาแฟโดยใช้สารสงเคราะห์ที่มีหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่กลิ่นรสกาแฟโดยธรรมชาติ อาจอยู่ในรูปแบบไซรัปหรือผงก็ได้ บ้านเราก็มีขายเรียกกันว่า 'สารแต่งกลิ่นกาแฟ'
ส่วนกาแฟที่นำไปแต่งกลิ่นรสต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปโดยใช้สารสงเคราะห์ คือ flavored coffee บางทีก็เรียก infused coffee...หวังว่าคงไม่งงกันนะครับ
บราซิลก็เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกาแฟแท้ ๆ กับผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นรสกาแฟ จัดจำหน่ายอย่างถูกต้องตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แต่เพื่อความชัดเจน ในบราซิลจะใช้คำว่า 'เทรดดิชั่นนัล คอฟฟี่' ในความหมายถึงกาแฟแท้ ๆ หรือกาแฟแบบดั้งเดิมที่ทำจากเมล็ดกาแฟ เพื่อแยกออกจากผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นกาแฟที่ส่วนใหญ่นิยมเอาไปใช้ทำเบเกอรี่และไอศรีมกัน
พอข่าวนี้กระจายไปทั่วประเทศ ร้อนถึงเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ตกเป็นข่าวต้องรีบออกมาจากชี้แจง โดยมาสเตอร์ เบลนด์ส ระบุในแถลงการณ์ว่า เราไม่เคยพูดว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นกาแฟ แพจเกจจิ้งก็เคลียร์นะ มีคำว่าเครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสกาแฟแบบดั้งเดิมอยู่ด้วย ชัดเจนแล้ว และย้ำว่าบริษัทไม่ได้ 'หลอกลวง' ผู้บริโภคแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ราคากาแฟในบราซิลถือว่าร้อนแรงมากกว่าราคากาแฟตลาดโลกเสียอีก โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคากาแฟแดนแซมบ้าทะยานลิ่วไปแล้ว 50% (ภาพ : Dang Cong on Unsplash)
มาสเตอร์ เบลนด์ส ยังบอกว่า บริษัทอยู่ในวงการกาแฟมา 32 ปีแล้ว ทำผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ต้องเดือดร้อนจากราคากาแฟที่สูงขึ้น นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ของบริษัทก็ได้รับการอนุมัติจากอย.บราซิลแล้ว ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตกระทรวงเกษตรฯอีก
ในการให้สัมภาษณ์สื่อรอยเตอร์เช่นเดียวกัน มาสเตอร์ เบลนด์ส บอกอีกว่า บริษัทได้สร้างสินค้าในกลุ่ม 'ผลิตภัณฑ์พลอยได้' (byproduct) หลังการแปรรูปกาแฟ มีส่วนประกอบจากกาแฟและเปลือกผลกาแฟที่นำไปคั่วและบดเป็นผง กลายเป็นเครื่องดื่มที่มีฐานจากกาแฟ (coffee-based drink) บอกกล่าวกันชัดเจนทั้งด้านหน้าและด้านหลังซองบรรจุภัณฑ์ หากมีคนมาบอกว่าบริษัทหลอกลวงผู้บริโภค เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เด็ดขาด
"สิ่งที่เราทำก็ไม่ต่างไปจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทใหญ่ ๆ ดัง ๆ ที่ทำขายกันอยู่ในเวลานี้ เมื่อก่อนมีเฉพาะนมข้น เดี๋ยวนี้มีนมผสมแบบแดรี่มิกซ์ หรืออย่างขนมเคลือบช็อคโกแลต เดี๋ยวนี้ก็มีการทำขนมเคลือบกลิ่นช็อคโกแลต" มาสเตอร์ เบลนด์ส ยกตัวอย่างประกอบ
แล้วขายกันผลิตภัณฑ์เลียนแบบกลิ่นกาแฟของมาสเตอร์ เบลนด์ส ขายกันในราคาเท่าไหร่ล่ะ
หลาย ๆ ประเทศ มีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกาแฟแท้ ๆ กับผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นรสกาแฟ จัดจำหน่ายอย่างถูกต้องตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป (ภาพ : Charlie Waradee)
สื่อบราซิลบอกว่า ขนาดซองบรรจุภัณฑ์ขนาด 500 กรัม ในซูเปอร์มาร์เก็ตขายกันอยู่ที่ราคา 13.99 เรียล หรือราว 82 บาท ต่ำกว่าราคากาแฟแท้ ๆ ในปริมาณเท่ากัน ซึ่งมีราคาประมาณ 30 เรียล หรือ 176 บาท
อันที่จริงเครื่องดื่มแต่งกลิ่นเลียนแบบรสกาแฟก็มีขายกันอยู่ในแดนแซมบ้า แต่ช่วงหลังผลิตออกมาขายออกมาทำตลาดกันเยอะขึ้น หลังจากราคากาแฟแท้ ๆ ที่คนท้องถิ่นเรียกว่าเทรดดิชั่นนัล คอฟฟี่ แพงเอา ๆ แบบไม่เกรงใจใคร
แต่ประเด็นที่สมาคมอุตสาหกรรมกาแฟบราซิลเป็นห่วงก็คือ อาจมีคนขี่กระแส ฉกฉวยประโยชน์จากกรณีราคากาแฟพุ่ง แล้วออกมาพูดว่า "ฉันกำลังประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด"
ปัญหาภัยธรรมชาติในบราซิลจนผลผลิตกาแฟตกต่ำลง ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคากาแฟทั่วโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ราคากาแฟในบราซิลเองจัดว่า 'ร้อนแรง' มากกว่าราคากาแฟตลาดโลกเสียอีก โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคากาแฟทะยานลิ่วไปแล้ว 50%
แน่นอนว่าเรื่องนี้สร้างปัญหาให้กับคอกาแฟแดนแซมบ้าโดยทั่วหน้า เพราะบราซิลนั้นนอกจากจะเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว ยังติดอันดับต้น ๆ ของโลกในทำเนียบคนดื่มกาแฟมากที่สุดอีกด้วย
ในบราซิล เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสกาแฟนิยมทำเป็นผงละเอียดคล้ายกาแฟสำเร็จรูป ภาพนี้เป็นผงกาแฟสำเร็จรูป (ภาพ : commons.wikimedia.org/Editor at Large)
กรณีซองบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสกาแฟ จากบริษัทมาสเตอร์ เบลนด์ส ถูก 'ตั้งคำถาม' เอาแบบแรง ๆ จากผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมบราซิลว่า เลียนแบบบรรจุภัณฑ์กาแฟแท้ ๆ เสี่ยงทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด จนนำไปสู่การถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างดุเดือด
แม้ว่าผู้ผลิตจะอ้างว่าปฏิบัติตามข้อกำหนดและโปร่งใส แต่หน่วยงานภาครัฐบราซิลยังไม่ได้ให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จึงยังไม่มีข้อสรุปว่าใครถูก-ใครผิด
กระนั้นก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าผลประโยชน์นั้นตกแก่ผู้บริโภคเต็ม ๆ
ข้อมูลจากข่าวและเนื้อหาเชิงโต้ตอบกัน สามารถนำไปใช้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ 'สินค้าตรงปก ไม่จกตาลูกค้า' เพราะขณะนี้ในเว็บไซต์หลาย ๆ แห่งของบราซิลเริ่มทำคอนเทนต์แนะแนวกันมากขึ้น ในทำนองว่า "แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันซื้อกาแฟปลอมหรือเปล่า?"
มีข้อมูลชุดหนึ่งจากการสำรวจของบริษัทซาลา ดิจิทัล แบนด์ กูเกิ้ล ระบุว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ความสนใจค้นหาคำว่า 'เครื่องดื่มแต่งกลิ่นรสกาแฟ' และ 'กาแฟปลอม' เพิ่มขึ้นถึง 5,000% ทีเดียว
...................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี