‘กาแฟใสเหมือนน้ำ’ แค่มุกมาร์เก็ตติ้ง หรือทำได้จริง?

เคลียร์ข้อสงสัย... กาแฟใสหรือ Clear Coffee มีอยู่จริง ทำขายจริง ใช้กรรมวิธีสกัดกาแฟจนใสไร้สีเหมือนน้ำเปล่า แต่รสชาติและกลิ่นคือกาแฟ ผลิตขายมาแล้วในอังกฤษและญี่ปุ่น
ชวงวันสองวันที่ผ่านมา บรรดาเพื่อนพ้องที่นิยมชมชอบกาแฟเหมือนกัน ถามไถ่กันมาว่า "กาแฟใสเหมือนน้ำเปล่า" แต่ยังคงรสชาติกาแฟเดิม ๆ นั้น เป็นเรื่องจริงหรือ?
เพื่อนยังบอกอีกว่า ไปเห็นมาในเพจของ 'ร้านกาแฟพันธุ์ไทย' เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่โพสต์ข้อความว่า 'กาแฟใส - Crystal Clear Coffee' อาราบิก้า 100% ใสบริสุทธิ์ดุจน้ำแร่ แต่รสชาติเข้มข้นอเมริกาโนแท้ ๆ พอเหลือบไปเห็นวันเปิดตัวกาแฟคือ 1 เมษายน 2658 ก็เลยเข้าใจแจ่มแจ้ง ที่แท้เป็นกลยุทธ์การตลาดในวัน 'April fools' day' เลยเกิดคำถามตามมาว่า แล้วกาแฟใสเหมือนน้ำ ทำได้จริงไหม?
ผู้เขียนก็เห็นครับโพสต์นี้ ตอนแรกก็เกือบหลงเชื่อ แต่บังเอิญไปเห็นวันเปิดตัวเข้าก็แทบกลั้นหัวเราะไม่อยู่ เออ..นี่มันวันโกหกเดย์นี่น่า
จริง ๆ ก็อดนิยมชมชอบไอเดียมาร์เก็ตติ้งนี้ไม่ได้เหมือนกัน เห็นว่ามียอดกดไลค์กดเลิฟกับจำนวนคอมเมนต์เข้ามามากมาย ได้ 'เอนเกจเมนต์' ไปมหาศาล เป็นการตลาดอีกแนวของแบรนด์สมัยใหม่ที่นิยมใช้กัน
กาแฟใสบรรจุขวด ผลิตโดยบริษัทซีแอลอาร์ ซีเอฟเอฟ จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (ภาพ : instagram.com/clrcff)
ช่วงสงกรานต์ปีก่อนก็เล่นมุก 'เสิร์ฟกาแฟในโอ่งมังกร' มาแล้ว ทำเอาเอฟซีออกมารับมุกกันแบบฉ่ำ ๆ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว
บอกเลยว่า 'กาแฟใสเหมือนน้ำ' เป็นเรื่องจริง และทำได้จริงครับ ไม่ต้องรอแบรนด์กาแฟพันธุ์ไทยเปิดตัวในอีก 90 ปีข้างหน้า (ฮา)
แล้วไม่ใช่ไปเอาน้ำเปล่ามาใส่สารแต่งกลิ่นเติมรสชาติกาแฟนะ แต่มีกรรมวิธีสกัดน้ำกาแฟให้ใสจริง ๆ มีธุรกิจกาแฟหลายเจ้าผลิตออกมาจำหน่ายกัน จัดอยู่ในกลุุ่ม 'เครื่องดื่มใสแต่มีรสชาติ' ที่ญี่ปุ่นทำกันเยอะทีเดียวครับ เป็นอีกเทรนด์เครื่องดื่มที่มาแรงมาก ๆ ในแดนปลาดิบ
ประมาณว่าอะไร ๆ ที่ดื่มได้ก็จับมาทำเป็นเครื่องดื่มใสเสียหมด ทั้งชา, ชาเขียว, น้ำผลไม้, โยเกิร์ต, เลมอนโซดา, โคคา-โคลา และเบียร์ กาแฟก็ไม่รอด
กาแฟใสบรรจุขวดของบริษัทซีแอลอาร์ ซีเอฟเอฟ เน้นป้องกันคราบฟันเหลืองจากการดื่มกาแฟ และเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานที่มีแคลอรี่ต่ำ (ภาพ : instagram.com/clrcff)
'กาแฟใส' ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ใช้กันอยู่ 2 คำ คือ Clear Coffee กับ Crystal Clear Coffee แต่คำว่ากาแฟใสนั้นมีอยู่ 2 ความหมาย
ความหมายทั่วไปก็คือ กาแฟที่ผ่านกระบวนการแยกกากหรือผงกาแฟละเอียดและน้ำมันกาแฟออกไป กับอีกความหมายคือ กาแฟที่ผ่านกรรมวิธีที่มักเก็บเป็นความลับ ทำให้น้ำกาแฟใสไร้สีเช่นเดียวกับน้ำเปล่า แต่ยังให้รสชาติกาแฟ แม้จะไม่สมบูรณ์100% เหมือนรสชาติกาแฟทั่วไปก็ตาม
เท่าที่จำได้ ราวปี ค.ศ. 2017 บริษัท 'ซีแอลอาร์ ซีเอฟเอฟ' (CLR CFF) ถือเป็นรายแรกที่ผลิตกาแฟใสออกมาจำหน่ายในแบบบรรจุขวด บริษัทนี้มีออฟฟิศอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้ก่อตั้งเป็นพี่น้องในสกุลนากี้ เป็นชาวสโลวาเกีย ทั้งสองคนเป็นนักดื่มกาแฟตัวยงเลยทีเดียว
กาแฟใสบรรจุขวด เคยได้รับความนิยมสูง ถึงขนาดมีวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตหลายประเทศในยุโรป (ภาพ : instagram.com/clrcff)
ตอนนั้นเป็นข่าวฮือฮามาก ๆ สื่อมวลชนทั่วโลกนำเสนอข่าวกันคักคัก พาดหัวข่าวทำนองว่าเป็นมิติใหม่ของการดื่มกาแฟ แต่จริง ๆ แล้ว สองพี่น้องนากี้มักให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายหลักในการผลิตกาแฟใสออกมาก็เพื่อคนที่ไม่อยากให้ฟันมี 'คราบเหลือง' เกิดขึ้น เพราะสาเหตุจากการดื่มกาแฟ
เป้าหมายรองลงมาคือ อยากทำเครื่องดื่มให้พลังงานที่มีแคลอรี่ต่ำ ดื่มแล้วกระชุ่มกระชวยทั้งวัน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่น ส่วนใครจะเอาไปทำเป็นค็อกเทลหรือผสมอาหาร ก็โอเคนะไม่ว่ากัน
สองพี่น้องนากี้ให้ข้อมูลว่า กาแฟใสที่ผลิตทำจากเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงของ 'เอธิโอเปีย' กับน้ำเปล่าเท่านั้น ไม่ใส่สารกันบูด, วัตถุกันเสีย, สารปรุงแต่งรส หรือสารให้ความหวานใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนระดับคาเฟอีนก็เหมือนกาแฟปกติทั่วไป
สำหรับกรรมวิธีทำกาแฟใสไร้สีนั้นยังคงเป็น 'ความลับ' ว่า ใช้เทคนิคหรือระบบใดในการขจัดสีน้ำตาลเข้ม ๆ ออกจากกาแฟจนทำให้มีความใสเหมือนน้ำเปล่า
ปี 2018 อาซาฮีประกาศเปิดตัวเครื่องดื่มลาเต้ใส ชื่อว่า 'เคลียร์ เอสเพรสโซ่ มิลค์ ลาเต้' เรียกสั้น ๆ ว่า เคลียร์ลาเต้ (ภาพ : Asahi)
เรื่องนี้โดนสื่อถามบ่อย ๆ แต่ผู้บริหารซีแอลอาร์ ซีเอฟเอฟ แค่บอกว่าใช้กรรมวิธีเฉพาะที่ยังไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน(ยกเว้นพวกเขา) เป็นกระบวนการทางกายภาพ (physical processing) ที่ไม่มีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้มากที่สุดคือ 'รสชาติ' ของกาแฟใสนั้นเป็นเช่นไร ผู้ผลิตคือซีแอลอาร์ ซีเอฟเอฟ ให้ข้อมูลว่า รสชาติเหมือนกาแฟ 'โคลด์บรูว์' ว่ากันตามตรง ผู้เขียนเองไม่เคยดื่มกาแฟแบรนด์นี้มาก่อน ก็อยากลองเทสดูว่าจะเหมือนกาแฟมากน้อยขนาดไหน
ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้ากาแฟใสใส่ขวดของแบรนด์นี้ค่อนข้างเป็นกระแสมากเลยตอนนั้น มีวางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อในอังกฤษ และอีกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สเปน และอิตาลี
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนและอีกหลายๆท่านคง 'หมดโอกาส' ชิมกาแฟใสไร้สีตัวนี้เสียแล้วครับ เนื่องจากบริษัทเลิกผลิตไปนานหลายปีแล้ว เว็บไซต์ก็ปิดไปแล้วเช่นกัน ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด ไม่มีข้อมูลปรากฎให้เป็นที่ประจักษ์เลย เหลือเพียงอินสตาแกรมเท่านั้นที่พอจะยังเป็นภาพสะท้อนความทรงจำ ชวนให้หวนรำลึกว่าครั้งหนึ่งเคยมีบริษัทอิสระเล็ก ๆ ผลิตกาแฟใสใส่ขวดออกจำหน่าย
เคลียร์ลาเต้ กาแฟใสจากค่ายอาซาฮี เป็นเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ ตอบโจทย์คนชอบกลิ่นหอม ๆของกาแฟ รักสุขภาพ แต่แพ้คาเฟอีน (ภาพ : Asahi)
ซีแอลอาร์ ซีเอฟเอฟ จากเกาะอังกฤษ ไม่ใช่รายเดียวเท่านั้นที่ทำกาแฟใสไร้สีออกมาขาย แต่ยังรวมถึง 'สตาร์บัคส์' (Starbucks) จากสหรัฐ และ 'อาซาฮี' (Asahi) จากญี่ปุ่น สองผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในตลาดเครื่องดื่มระดับโลก
กลางปีค.ศ. 2023 จังหวะที่เครื่องดื่มใส (clear drink) เป็นเทรนด์เครื่องดื่มที่มาแรงสุด ๆ ในญี่ปุ่น สตาร์บัคส์เปิดตัวเครื่องดื่มกาแฟซีรีส์ใหม่ประจำฤดูร้อนที่อยู่ในไลน์เครื่องดื่มใส เรียกว่า 'คอฟฟี่เอด' (Coffeeade) รวม 3 แบบคือ ไลม์, เลมอน โทนิค และสตรอว์เบอรี่ บรีซ พร้อมอธิบายว่าเป็นกาแฟใสสูตรเย็น เนื่องจากมีส่วนผสมของกาแฟอยู่ด้วย แต่กลับใสอย่างน่าประหลาดใจ โดยเมนูแรกที่เริ่มจำหน่ายคือ คอฟฟี่เอด คูล ไลม์ มีเฉพาะสาขาในญี่ปุ่นเท่านั้น
ตามที่สตาร์บัคระบุนั้น ได้ใช้ 'วิธีพิเศษ' เพื่อสกัดรสชาติกาแฟสำหรับทำเครื่องดื่มใส วิธีผลิตขอเก็บเป็นความลับแต่ก็มีการตรวจสอบและอัพเดทเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสกับรสชาติเครื่องดื่มชนิดนี้
สตาร์บัคส์ เจแปน ก็มีเครื่องดื่มกาแฟใสออกจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ในภาพคือ เมนูคอฟฟี่เอด คูล ไลม์ (ภาพ : Starbucks Japan)
ก่อนหน้านั้น เมื่อกลางปีค.ศ. 2018 อาซาฮี ประกาศเปิดตัวกาแฟลาเต้ใสบรรจุขวด ชื่อว่า 'เคลียร์ เอสเพรสโซ่ มิลค์ ลาเต้' (Clear Espresso Milk Latte) เรียกสั้น ๆ ว่าเคลียร์ลาเต้ ผลิตจากการสกัดเอสเพรสโซ่, เวย์โปรตีนจากนมดิบ และน้ำแร่ธรรมชาติในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ แถมไม่มีคาเฟอีนและไขมัน ตอบโจทย์คนชอบกลิ่นหอม ๆ ของกาแฟ และรักสุขภาพ แต่แพ้ทางคาเฟอีน
เพื่อสร้างความมั่นใจ อาซาฮีได้ทำคลิปสั้น ๆ ขึ้นมาหนึ่งชุด อธิบายวิธีการผลิตแบบง่าย ๆ ผู้เขียนมีความรู้น้อยทางวิทยาศาสตร์ ตอนเรียนได้เกรดไม่ดี ดูแล้วแม้ไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการโดยละเอียด แต่รู้ว่านี่คือ 'วิธีการกลั่น' รูปแบบหนึ่ง
สรุปว่า กาแฟใสมีอยู่จริง ทำได้จริง และขายจริง แต่ยังไม่ถึงขนาดได้รับความนิยมมากจนขึ้นเป็น 'กระแสหลัก'
บางรายผลิตแล้วเลิก บางรายขายแล้วไม่ปัง ก็ไม่ได้ไปต่อ อาจจะถูกใจคนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มไร้สี แต่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ยังคงนิยมดื่มกาแฟที่มีกลิ่นรสและสีโดยธรรมชาติกันมากกว่าครับ
......................................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี