นักต่อสู้เหยื่อ"ค้ามนุษย์"ทางทะเล"อภิญญา ทาจิตต์"เจ้าของรางวัลทิป ฮีโร่

นักต่อสู้เหยื่อ"ค้ามนุษย์"ทางทะเล"อภิญญา ทาจิตต์"เจ้าของรางวัลทิป ฮีโร่

"อภิญญา ทาจิตต์"เป็นที่รู้จักในวงกว้างสำหรับองค์กรระหว่างประเทศ แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เธอทำงานช่วยเหลือเหยื่อ"ค้ามนุษย์"ในอุตสาหกรรมเดินเรือ เพื่อให้พวกเขาได้กลับบ้าน

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์แค่ในเรือประมง ยังรวมถึงเรือสินค้าขนาดใหญ่กลางทะเล ทั้งเรือคอนเทนเนอร์ เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น ฯลฯ ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย 

อภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella maris) สังฆมณฑลจันทบุรี คริสตจักรคาทอลิกในไทย คือคนที่ทำงานหลักเรื่องนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เธอได้รับรางวัลทิป ฮีโร่(TIP Heroes 2022 ) จากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเป็น 1 ใน 6 จากบุคคลทั่วโลกที่ถูกคัดเลือกให้รับรางวัลนี้

คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้จักอภิญญา แต่คนในองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ทางทะเลทั้งในไทยและต่างชาติ รู้จักเธอเป็นอย่างดี

เธอทำงานช่วยเหลือลูกเรือในเรือเดินทะเลที่มีปัญหาเรื่องแรงงานผ่านสเตลลา มาริส มานานกว่า 18 ปี เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเล และมีประสบการณ์การช่วยเหลือลูกเรือต่างชาติมากมาย 

และนี่คือบทสนทนาที่"จุดประกาย- กรุงเทพธุรกิจ"พูดคุยกับเธอ...

 

นักต่อสู้เหยื่อ\"ค้ามนุษย์\"ทางทะเล\"อภิญญา ทาจิตต์\"เจ้าของรางวัลทิป ฮีโร่ (อภิญญา ทาจิตต์ รับรางวัลทิป ฮีโร่(TIP Heroes 2022 ) จากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่อเมริกา เมื่อเดือนกรกฏาคม 65)

  • เป็นอาสาสมัครทำงานในโบสถ์มาก่อน ?

เมื่อก่อนทำงานบริษัทกำจัดปลวกและจัดสวน มีศรัทธาในคริสต์ศาสนา ไปนั่งฟังพระเทศน์ ทำมิสซา เข้าเงียบสงบจิตใจเกือบทุกวัน จนวันหนึ่งบาทหลวงใหม่ย้ายมา อยากให้ช่วยงานสภาภิบาล ทำงานเพื่อสังคมนอกพื้นที่

เราก็บอกว่า เราเป็นคาทอลิกคนเดียวในบ้าน ไม่มีญาติพี่น้องที่ชลบุรี ถ้ามีการเลือกตั้งสภาภิบาล เราคงไม่ได้ แต่คุณพ่อสามารถมีสภาภิบาลสายแต่งตั้งได้

จึงถูกแต่งตั้งเป็นสภาภิบาลวัด อยู่ฝ่ายศึกษาอบรม เราก็เลือกทำงานที่สำนักงานสเตลลา มารีสในตลาดชลบุรีดูแลผู้เดินทางทางทะเล

ตอนนั้นคุณพ่อถามว่า รู้จักเรื่องเรือหรือทะเลไหม เราไม่รู้เรื่องเลย ก็ไปนั่งทำงานในสำนักงาน ได้เรียนภาษาอังกฤษ สื่อสารไปมาก็พัฒนาทักษะ ลูกเรือที่ลงมาจากเรือสินค้าก็ชอบเล่าโน้นนี่ให้ฟัง

  • คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักสเตลลา มาริส อยากให้เล่าสักนิด ? 

สเตลลา มาริส สำนักงานใหญ่อยู่ที่วาติกัน กรุงโรม อิตาลี ตั้งมา102 ปีมีสำนักงานกว่า 360 แห่งทั่วโลกใน 53 ประเทศ  ในเมืองไทยตั้งมา 30 ปีแล้ว ตอนนี้มีสำนักงานที่ศรีราชา จ.ชลบุรี ดูแลทั้งชลบุรี จันทบุรี ตราด , ท่าเรือคลองเตย ดูแลทั้งคลองเตย สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และสำนักงานสงขลา ดูแลทั้งสงขลา ปัตตานี และอ่าวไทย

  • ลูกเรือที่มากับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ขอความช่วยเหลือเรื่องอะไรบ้าง

สมัยก่อนลูกเรือมุสลิมชาวอิหร่าน 20-30 คนขึ้นจากเรือช่วงเย็นต้องละหมาดที่ถนน เราก็จัดห้องละหมาด มีที่ล้างมือล้างเท้า ห้องพัก ที่สำนักงานของเราในตลาดชลบุรี แม้เราจะเป็นคาทอลิค เขาเป็นมุสลิม 

และเมื่อก่อนลูกเรือทั่วโลก ถ้าขึ้นฝั่งที่เกาะสีชังตอนกลางวันไม่มีที่พักก็มานอนพักที่สเตลลา มาริส เรามีเตียงนอนแบบทหาร บริการฟรีทุกอย่าง นักต่อสู้เหยื่อ\"ค้ามนุษย์\"ทางทะเล\"อภิญญา ทาจิตต์\"เจ้าของรางวัลทิป ฮีโร่

(เรือสินค้าขนาดใหญ่จากประเทศอื่นที่เข้ามาในน่านน้ำไทย)

  • ตอนนั้นเป็นข่าวดังในอิหร่าน?

ถ้าลูกเรือเข้ามาทางน่านน้ำเกาะสีชัง คนมุสลิมจะขึ้นมาทำกิจทางศาสนาที่สำนักงานสเตลลา มาริส เรื่องนี้ไปดังในต่างประเทศ สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศในอังกฤษ ก็เชิญเราไปสอบ เพื่อให้มีสิทธิขึ้นไปเยี่ยมเรือใหญ่ทางทะเลตามท่าเรือได้

เพราะเรือสินค้าและเรือชักธงต่างประเทศ กฎหมายทางทะเลให้ลูกเรือพบปะบุคคลภายนอกที่มีตำแหน่งผู้เยี่ยมเรือ เพื่อสันทนาการหรือเยียวยาบำบัด เพราะเวลาออกทะเลจะเห็นน้ำกับฟ้า คนในเรือ 20 กว่าคน ก็เกิดความเครียด 

เราได้รับเลือกจากอังกฤษ ให้เข้าอบรมเรื่องกฎระเบียบการเดินทางเรืออย่างละเอียด ทั้งในลอนดอน อาฟริกาใต้ ฯลฯ อบรมมาเป็นครูฝึก จึงมีโอกาสเป็นวิทยากรให้กองทัพเรือ ในเรื่องการตรวจเรือให้กระทรวงการต่างประเทศ

  •  เงินที่ใช้ช่วยเหลือลูกเรือต่างชาติมาจากไหนคะ

สเตลลา มาริส อาจไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย เพราะเป็นองค์กรศาสนาที่ทำงานเงียบๆ ไม่ได้รณรงค์ขอทุน

สเตลลา มาริสมีโรงเรียนคาทอลิก สังฆมณฑลจันทบุรี มีเงินค่าเช่าที่ดิน มีเงินบำรุงของเรา ไม่เคยขอบริจาคจากที่ไหน นอกจากช่วยเหลือ ยังรับเรื่องร้องเรียน และทำงานกับต่างประเทศ 

  • การช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ที่เข้ามาน่านน้ำไทยเป็นอย่างไรบ้าง

 มีช่วงหนึ่งประเทศไทยมีวิกฤติเรื่องใบเหลืองประมงของสหภาพยุโรป(อียู) เตือนไทยอย่างเป็นทางการในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย เมื่อ7-8 ปีก่อนเรื่องการค้ามนุษย์ ทางสหรัฐบอกว่า ทำไมประเทศไทยไม่ทำงานกับอภิญญา สเตลลา มาริส ทางกระทรวงการต่างประเทศไม่รู้จักอภิญญา จึงเชิญไปคุยขอให้ช่วยทำงาน เราก็เขียนโครงการเข้าไป แต่ไม่มีงบ

เมื่อทางสหภาพยุโรป (อียู)รู้ว่า เรามาคุยและเขียนโครงการ 7 สำนักงานสเตลลา มาริสในไทยที่ทำงานด้านนี้ ก็คว้าเราไปเซ็นสัญญาระหว่างสเตลลา มาริส อียู องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ตอนนั้นทำสองปีประสบความสำเร็จ

ซึ่งข้อบ่งชี้การค้ามนุษย์คือ ไม่จ่ายค่าแรงค่าจ้าง ยึดพาสปอร์ต ยึดใบอนุญาตทำงาน ชั่วโมงการทำงานยาว สัญญาจ้างไม่มี ฯลฯ ถ้าร้องเรียนเข้ามา มีข้อบ่งชี้การค้ามนุษย์ ก็ส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเราเปิดสำนักงานหลายแห่ง ดักทุกท่าเรือ 

นักต่อสู้เหยื่อ\"ค้ามนุษย์\"ทางทะเล\"อภิญญา ทาจิตต์\"เจ้าของรางวัลทิป ฮีโร่

  • เป็นลูกเรือชาติไหนบ้างคะ

มีทุกสัญชาติทั่วโลก เวลาพูดถึงค้ามนุษย์ อย่าพูดแค่เรือประมงจับปลา แต่เป็นอุตสาหกรรมเดินเรือทั้งหมด 

อย่างข่าวที่ออกมาว่า อภิญญา ได้รางวัล TIP Her ฮีโร่ 2020 ในแรงงานประมง คนเข้าใจผิด จึงกลัวว่าอุตสาหกรรมประมงจะเสียหาย เพราะค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมนี้ลดลงแล้ว หลังจากประเทศไทยทำงานเข้มข้นมา 5-6 ปี

  • คนส่วนใหญ่นึกแค่ว่าเป็นการค้ามนุษย์ในเรือประมง อยากให้ขยายความเรื่องนี้สักนิด?

ข่าวที่ออกมาก็เข้าใจแค่อภิญญาทำการช่วยเหลือแค่ค้ามนุษย์เรือประมง แต่ยังรวมถึงอุตสากรรมเดินเรือ มีทั้งเรือขนถ่ายสินค้า เรือน้ำมัน เรือคอนเทนเนอร์ เรือสินค้าห้องเย็น เรือจับปลาขนาดใหญ่ ทั้งเรืออวนลาก อวนลอย อวนเขียว ฯลฯ 

ต้องแยกให้ออกมาว่าคดีมาจากเรืออะไร เพราะการกระทำความผิด และเครื่องมือทำประมงไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเรือสินค้า เราจะตรวจสอบเลขที่เรือ ใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเล

นักต่อสู้เหยื่อ\"ค้ามนุษย์\"ทางทะเล\"อภิญญา ทาจิตต์\"เจ้าของรางวัลทิป ฮีโร่ ร่วมแสดงความยินดีกับรางวัลที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ (ภาพจากเฟซบุ๊ค : Stellamaristhailand) 

  • ช่วยยกตัวอย่างกรณีการช่วยเหลือลูกเรือต่างชาติสักเรื่องได้ไหม 

เรือสินค้าห้องเย็นขนปลาทูน่ากลางมหาสมุทรอินเดีย เป็นเรือสัญชาติปานามา ลูกเรือเป็นวิศวกรชาวอินเดียจบจากอังกฤษ ร้องเรียนมาว่าทำงานผิดวัตถุประสงค์ ถูกบังคับให้ขนปลาลังละ 18 กิโลกรัมลงไปในห้องเย็น -30 องศา ไม่มีถุงมือ น้ำแข็งกัดนิ้วมือจะกุด

แล้ววันหนึ่งเขาถูกคานไหล่หลุด จึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าของเรือให้ส่งไปโรงพยาบาล เมื่อเรือผ่านจีน และมัลดีฟ ร้องเรียนผ่านสถานทูตอินเดียประเทศนั้นๆ แม้สถานทูตจะช่วยเหลือ แต่เจ้าของเรือไม่ส่งตัวขึ้นไปรักษาในโรงพยาบาล พอมาเมืองไทย เขาส่งเมลถึงอภิญญาให้ช่วยเหลือ เราก็ติดต่อไปที่เอ็นจีโออินเดีย

แล้วเขาส่งสัญญาจ้างมา ตรวจสอบแล้วเป็นคดีนอกราช  กฎหมายเราไม่ได้รับรอง ต้องเชิญอัยการสูงสุดมาร่วมสอบ ปรากฎว่าเป็นคดีค้ามนุษย์ ในที่สุดเจ้าของเรือถูกจำคุก 9 ปี ตอนนั้นวิศวกรต่างชาติที่ร้องเรียนมามี 9 คน ช่วยเหลือเหยื่อได้ ขึ้นศาลไทย แล้วส่งกลับบ้าน เรียกค่าสินไหมทดแทนได้

อีกอย่างการค้ามนุษย์ไม่ใช่การถูกหลอกให้มาลงเรือ แต่ด้วยเอกสารที่ให้กรอกตอนสมัคร มาต้องเต็มใจมาทำงาน แต่พอไปทำงานจริง ไม่ตรงตามสัญญาจ้าง

  • ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือลูกเรือต่างชาติที่มีปัญหาในน่านน้ำไทยเยอะไหม

ทั้งลูกเรือไทยและต่างชาติ แต่ลูกเรือไทยที่ทำงานน่านน้ำประเทศอื่น ถูกบังคับใช้แรงงานคล้ายๆ กรณีแรก จะไม่กล้าร้องเรียน กลัวนายจ้าง กลัวตกงาน จึงถอนฟ้อง 

ถ้าเป็นลูกเรือเขมร เวียดนาม พม่า เอาเรื่องถึงที่สุด ไม่กลัว พวกเขาก็ได้เงินกลับบ้าน ในอนาคตเราก็อยากให้ลูกเรือไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มาตรฐานสากล เพราะทำงานในเรือต่างประเทศ กลับได้รับมาตรฐานแบบไทยๆ