หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

เจาะลึกหนังเรื่องไหนมีสิทธิ์ลุ้น “รางวัลสิงโตทองคำ” จาก “เทศกาลภาพยนตร์เวนิส” ประจำปี 2022 กันบ้าง ตามไปอ่านบทวิเคราะห์จาก “กัลปพฤกษ์” คอลัมนิสต์ขาประจำงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับโลกของเรา

ด้วยเหตุที่หนังในสายประกวดหลัก ชิงรางวัลสิงโตทองคำ ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ครั้งที่ 79 ประจำปี 2022 มีจำนวนสูงถึง 23 เรื่อง ทางเทศกาลจึงต้องระดมฉายหนังในสายประกวดให้ได้วันละ 2-4 เรื่อง ในเวลา 10 วัน เพื่อให้ทันกับการประกาศผลรางวัลซึ่งจะมีขึ้นในพิธีปิดงานค่ำคืนวันที่ 10 กันยายนนี้ ตามเวลาท้องถิ่นที่อิตาลี

 

ในช่วงกลางของเทศกาลจึงมีหนังเด่น ๆ ดี ๆ ที่ออกฉายเพื่อขับเคี่ยวชิงรางวัลกันอย่างแน่นขนัด โดยหนังสายประกวดที่เป็นที่จับตารอดูกันมากที่สุดในเทศกาลนี้ ก็ยังมีผลงานใหม่เรื่อง Tár ของผู้กำกับ Todd Field ที่เพิ่งทำเสร็จหลังจากว่างเว้นจากการทำหนังมายาวนานถึง 16 ปีเลยทีเดียว

 

ผู้กำกับ Todd Field ให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวว่า เขาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับนักแสดงหญิง Cate Blanchett โดยเฉพาะเลยทีเดียว และถ้า Cate Blanchett ไม่รับเล่น หนังเรื่องนี้ก็คงไม่มีทางจะสร้างออกมาได้อย่างแน่นอน

 

ชื่อหนัง Tár คือนามสกุลของ Lydia Tár วาทยากรหญิงในแวดวงดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยเพียงรายเดียวที่มีโอกาสได้กำกับวงออร์เคสตราระดับแถวหน้าของโลกอย่างวง Berlin Philharmonic ซึ่งรับบทบาทโดย Cate Blanchett นั่นเอง

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

ในเรื่องผู้กำกับได้ตีแผ่ให้ผู้ชมได้เห็นถึงสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและในอดีตที่สืบทอดกันมานับเป็นร้อย ๆ ปี ที่วาทยกรหรือนักดนตรีในสายคลาสสิกระดับสุดยอดแห่งความเจ๋ง มักจะต้องเป็นผู้ชายเสมอ เมื่อมีตัวละครสมมติอย่าง Lydia Tár ขึ้นมา มันเลยกลายเป็นความพิเศษที่ไม่เคยปรากฏ ซึ่งหนังก็แสดงให้เห็นอย่างดีว่าเมื่อผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสตรี มายืนอยู่ ณ ตำแหน่งนี้ มันจะมีความแตกต่างประการใดบ้าง

 

 

ในช่วงชั่วโมงแรกของหนัง Todd Field ไม่ประนีประนอมเลยที่จะลงรายละเอียดเกี่ยวกับบทประพันธ์และวงการดนตรีคลาสสิกผ่านการให้สัมภาษณ์ การ masterclass ถ่ายทอดประสบการณ์สอน และการควบคุมวงดนตรีของ Lydia Tár ชนิดที่คงต้องเป็นคนที่สนใจอยู่ในวงการนี้เท่านั้น จึงจะสามารถตามทันได้ทุกมุก ในขณะที่ผู้ชมที่ไม่ได้ฟังดนตรีคลาสสิกก็อาจจะไม่สนุกด้วยเลย

 

แต่หลังจากที่ชั่วโมงแรกผ่านไป และหนังเริ่มให้ความสำคัญกับพล็อตชิงรักหักสวาทระหว่างสตรีที่รายล้อม Lydia Tár ผู้ชมทั่วไปก็น่าจะรู้สึกร่วมไปกับหนังได้ อีกทั้งยังได้เห็นว่าผู้หญิงที่จะประสบความสำเร็จในโลกของผู้ชายอย่าง Lydia Tár จะต้องสามารถ ‘ควบคุม’ ชีวิตของผู้อื่นในกำมือกันอย่างไร

 

โดยเฉพาะเมื่อเรื่องของ ‘หัวใจ’ มักจะสำคัญไปกว่า ‘เหตุผล’

 

แถมในช่วงหนึ่งที่ Lydia Tár เดินทางมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซึ่งหนังไม่ได้เจาะจงชัดเจนว่าเป็นประเทศใด) เราจะได้เห็นวงดุริยางค์ของคณะนักดนตรีเยาวชนไทยมาร่วมเล่นอีกด้วย

 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะดูหนังเรื่องนี้ ถ้าจะได้ลองหาฟังบทประพันธ์ที่ Todd Field ใช้ในการเดินเรื่องหลักไปด้วยก็น่าจะดี ซึ่งโปรแกรมที่ Lydia Tár วางไว้ในการแสดงก็ประกอบด้วย Symphony no.5 โดย Gustav Mahler และ Cello Concerto ในบันไดเสียง E minor op.85 โดย Edward Elgar

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

หนังอีกเรื่องที่เป็นที่รอคอยไม่แพ้กันนั่นก็คือ Bardo: False Chronicle of a Handful of Truths ของผู้กำกับเม็กซิกัน Alejandro González Iñárritu

 

แต่หลังจากที่ได้ฉายรอบสื่อไป นักวิจารณ์ก็เสียงแตกกันพอสมควร มีทั้งสื่อที่ยกย่องให้เป็นงานที่ดีที่สุดของผู้กำกับ และที่กล่าวว่าเป็นงานที่หลงตัวเองอย่างที่สุด

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

ผู้กำกับและทีมนักแสดงในวันเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิส Credit : Tiziana FABI / AFP

 

หนังเรื่อง Bardo เล่าเหตุการณ์ทั้งในโลกความจริงและห้วงความฝันของ Silverio นักข่าวและนักทำหนังสารคดีชื่อดังชาวเม็กซิโกที่ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงานในสหรัฐอเมริกาจนได้รับรางวัลที่ลอสแองเจลิส จนบันดาลใจให้เขาและครอบครัวหวนกลับไปยังประเทศบ้านเกิด ซึ่งก็ทำให้ Silverio มีโอกาสได้ย้อนทวนชีวิตในอดีตที่เม็กซิโกอันเป็นมาตุภูมิของเขา

 

ผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานโลกฝันแฟนตาซีที่มีความเป็นส่วนตัวของตัวละครชายหนุ่มหลาย ๆ เรื่องของผู้กำกับอิตาลี Federico Fellini ทำให้ Bardo มีฉากเหนือจริงที่อลังการตระการตาอย่างมากมาย จนชวนให้รู้สึกเสียดายที่หนังค่าย Netflix เรื่องนี้ น่าจะไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในบ้านเรา แม้ว่าผู้กำกับจะเมามันกับการกำกับภาพในระดับที่ไม่อาจจะดื่มด่ำกำซาบได้จากจอขนาดเล็กเลย

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

หนังประกวดเทศกาลเวนิสปีนี้ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตครอบครัวผ่านมุมมองของตัวละครหญิงอยู่หลายเรื่อง

 

เริ่มตั้งแต่ Immensity ของผู้กำกับอิตาลี Emanuele Crialese ที่ย้อนเวลากลับไปยังยุคสมัย 1970s เล่าเรื่องราวของครอบครัวอันประกอบไปด้วยคู่สามีภรรยา Felice และ Clara ซึ่งหมดรักจนต่างฝ่ายต่างระอากันและกัน แต่ก็ยังทนอยู่ด้วยกันเพื่อลูก ๆ ที่ยังเล็ก โดยมี Adriana พี่สาวคนโตที่ชอบทำตัวเป็นเด็กผู้ชาย เริ่มรู้สึกระแคะระคายในความสัมพันธ์อันไม่ปกติของพ่อและแม่

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

หนังเหมือนเป็นเวทีแสดงฝีมือให้ Penelope Cruz ในบท Clara ที่เหมือนจะต้องแบกหนังไว้ทั้งเรื่อง และผู้กำกับ Emanuele Crialese ก็ได้สร้างเซอร์ไพรส์ในงานแถลงข่าว ว่าจริง ๆ แล้วหนังเรื่องนี้เป็นอัตชีวประวัติส่วนตัวของเขา และสาวน้อย Adriana ในหนังก็คืออดีตของเขาก่อนจะเปลี่ยนชื่อและแปลงเพศเป็นหนุ่มทรานส์ ดังในทุกวันนี้ ซึ่งก็ทำให้หลาย ๆ คนที่ไม่รู้มาก่อนต่างรู้สึกตื่นเต้นตกใจไปตาม ๆ กัน เพราะนึกว่าเขามีเพศกำเนิดเป็นชายมาตลอด

 

ส่วนหนังฝรั่งเศสเรื่อง Other People’s Children ของผู้กำกับหญิง Rebecca Zlotowski ก็ตั้งคำถามหัวใจข้อสำคัญเอาไว้ว่า ผู้หญิงวัย 40 ปี คนหนึ่ง สามารถที่จะรักและห่วงใยบุตรสาวของคนอื่น เหมือนเป็นลูกของตนเองได้หรือไม่ หลังจากที่ตัวละครครูสตรีโรงเรียนมัธยม Rachel ซึ่งแสดงโดย Virginie Efira จะพบรักครั้งใหม่กับ Ali วิศวกรออกแบบรถยนต์ที่ยังมีพยานรักจากภรรยาคนเก่าเป็นบุตรสาววัยสี่ขวบปีนาม Leila อาศัยอยู่กับเขาด้วย

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

หนังแสดงบททดสอบทางจิตใจของ Rachel ในครั้งนี้ได้อย่างละเอียดและละเมียดละไมดี ตามแบบฉบับของหนังฝรั่งเศส โดยให้ภรรยาคนเก่าของ Ali กลับเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะมารดาทางชีวภาพของ Leila อีกครั้ง

 

ด้านหนังญี่ปุ่นเรื่อง Love Life ของผู้กำกับ Koji Fukada ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวเช่นกัน โดยเล่าผ่านตัวละครคุณแม่ Taeko กับบุตรชายวัยหกขวบยอดเซียนหมากกระดาน Keita ที่ได้แต่งงานใหม่กับพนักงานหนุ่ม Jiro หนังจากที่ Park สามีเก่าชาวเกาหลีใต้และเป็นใบ้ ทิ้งเธอและลูกไปโดยไร้เบาะแสร่องรอย

 

เคราะห์ร้ายที่ฝ่ายพ่อแม่ของ Jiro ไม่ยอมรับภรรยาลูกติดคนใหม่รายนี้มากนัก กระทั่งเกิดเหตุไม่คาดฝัน ทำให้ Park หวนกลับมาหา Taeko อีกครั้ง เรื่องราวหนหลังทั้งหมดของตัวละครจึงถูกขุดคุ้ยกันอีกคำรบ

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

หนังยังคงลายเซ็นการเขียนบทอันแหลมคมของผู้กำกับ Koji Fukada ที่มักจะเริ่มจากสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วค่อย ๆ ถอยไปเล่าเรื่องราวในอดีตของตัวละครแต่ละรายจนกลายเป็นความเซอร์ไพรส์ที่คาดเดาอะไรไม่ได้ในหลาย ๆ ครั้ง

 

โดยเฉพาะในเรื่องนี้ที่สุดท้ายหนังก็พาเราไปถึงเกาหลีใต้ ไม่ต่างจากที่ผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda เคยแผ้วถางทางเอาไว้ใน Broker (2022) ซึ่งได้ลงโรงฉายในบ้านเราไป ทำให้ Love Life ซึ่งกินเวลาเล่าเรื่องยาวนานถึง 123 นาที มีอะไรชวนให้ต้องติดตามอย่างจดจ่ออยู่ตลอด

 

นอกจากเรื่องราวในครอบครัวแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือดก็ทำให้เทศกาลเวนิสปีนี้เผ็ดร้อนไม่น้อยเลยเหมือนกัน

 

เริ่มตั้งแต่หนังเล่าสงครามกลางเมืองในฝรั่งเศสเรื่อง Athena ของผู้กำกับ Romain Gavras ที่ทำให้พี่น้องท้องเดียวกันต้องมามีปากเสียงใช้กำลังกัน โดยพี่ชายคนโตซึ่งเป็นทหาร ต้องมาเผชิญหน้ากับน้องชายคนกลาง เมื่อน้องคนสุดท้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายจนเสียชีวิตในการปะทะกันครั้งหนึ่ง และน้องชายคนกลางต้องการจับตัวคนลงมือมาลงโทษด้วยวิธีนอกกฎหมายให้สาสม

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

หนังเล่าเรื่องราวความขัดแย้งในครอบครัวตามเวลาจริงตามแบบแผนดั้งเดิมของบทละครโศกนาฏกรรมกรีกได้อย่างหนักแน่นเข้มข้น และทรงพลัง โดยเฉพาะการออกแบบฉากการปะทะปะทั่ง และการหาทางหลบหนีต่าง ๆ ที่ดูแล้วทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนอยู่ร่วมในเหตุการณ์จริง ๆ

 

เพียงแค่ฉากแรกที่ใช้ภาพแบบลองเทคความยาว 12 นาที ไม่มีตัดเลยจากตัวอาคารทะยานขึ้นรถตู้ไปบนท้องถนนที่มีรถมอเตอร์ไซค์ผาดโผนบิดคันเร่งยกล้อ ก็ทำให้ผู้ชมตื่นตะลึงไปทั้งเทศกาลแล้วว่าจะถ่ายออกมาได้อย่างไร

 

 

ยิ่งหนังได้การแสดงสุดเดือดของนักแสดงนำชายทั้งสามรายแล้วก็ชวนให้หวังได้ในทันทีว่าเรื่องนี้คงมีโอกาสคว้ารางวัลด้านการแสดงฝ่ายชายอยู่สูง เมื่อพวกเขาจะต้องมาแข่งกันเองในเรื่องเดียวกัน ถือเป็นเรื่องเด่นอีกเรื่องหนึ่งในสายประกวดของเทศกาลเวนิสปีนี้ที่มีอะไรดี ๆ ออกมาให้ดูอยู่ทุก ๆ วันของการจัดงาน

 

สำหรับ Argentina, 1985 ของผู้กำกับ Santiago Mitre ก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองเช่นกัน แต่เป็นการต่อสู้กันผ่านทางการไต่สวนของศาลและกระบวนการยุติธรรม กรณีที่สองอัยการหนุ่มไฟแรง Julio Strassera กับ Luis Moreno Ocampo ช่วยกันดำเนินคดีกับอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยก่อรัฐประหารในอาร์เจนตินา เมื่อปี ค.ศ. 1985 หลังพวกเขาสิ้นสุดอำนาจและประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ด้วยการเปิดโปงความไม่ชอบธรรมในการก่อรัฐประหาร และยิ่งกว่านั้นคือการใช้อำนาจและอาวุธในการหันมาทำร้ายร่างกายผู้บริสุทธิ์ในประเทศตนเอง ไม่เว้นแม้แต่คุณแม่ลูกอ่อนที่กำลังจะคลอด

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

จากเนื้อหาของหนังที่เน้นฉากการไต่สวนในศาลเป็นหลัก ผู้ชมจะต้องตกใจว่าอาร์เจนตินา เคยตกอยู่ในสภาพบ้านป่าเมืองเถื่อนกันอย่างไร ภายใต้การบริหารงานเบ็ดเสร็จของกองทัพ และทหารที่ก่อรัฐประหารเป็นกลุ่มคนที่ขี้ขลาดตาขาวกลัวความผิดกันขนาดไหน

 

ตั้งแต่การขอให้ไปไต่สวนกันที่ศาลทหารแทน และการไม่กล้าเผชิญหน้ายอมรับการกระทำในอดีตที่ไม่อาจบิดพลิ้วใด ๆ ของตน ซึ่งก็ยิ่งทำให้ทั้งอัยการ Julio Strassera กับ Luis Moreno Ocampo เป็นวีรบุรุษปุถุชนที่แสนจะหาญกล้า เพราะแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งกันแล้ว แต่ทหารกลุ่มนี้ก็ยังคงมีอำนาจในกองทัพข่มขู่ผู้ที่หาญกล้ามาท้าทายป้ายความผิดให้พวกเขาราวเป็นพวกมาเฟีย!

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

ผู้กำกับ Darren Aronofsky (ซ้ายสุด) กับทีมนักแสดง The Whale

Credit : Marco BERTORELLO / AFP

 

หนังอีกเรื่องที่หลาย ๆ คนคอยรอ เพราะเป็นการกลับมาคืนเวทีอีกครั้งของทั้งผู้กำกับ Darren Aronofsky ผู้เคยคว้ารางวัลสิงโตทองคำมาแล้วจากเรื่อง The Wrestler (2008) และนักแสดงหนุ่ม Brendan Fraser ที่จะได้รับบทบาทดี ๆ อีกครั้งในหนังใหม่เรื่อง The Whale ที่ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีชื่อเดียวกันของ Samuel D. Hunter

 

โดยในเรื่องนี้ Brendan Fraser รับบทเป็น Charlie อาจารย์ด้านภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย ที่รับจ๊อบสอนนักศึกษาออนไลน์จากที่บ้านโดยไม่เคยคิดที่จะเปิดกล้องของตนเองเลย เนื่องจากเขาได้ปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้มีน้ำหนักตัวถึง 272 กิโลกรัม ทำให้ความดันโลหิตสูงปรี๊ดจนพยาบาลต้องบังคับให้เขาไปพบแพทย์ แต่ Charlie กลับมิได้อินังใด ๆ เพราะเขากำลังหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต แม้ว่าจะมีมิสชันนารีหนุ่มเข้ามาให้คำปรึกษาพึ่งพา และบุตรสาวที่กลับมาหาเขาอีกครั้ง หลังจากที่ Charlie เปิดตัวว่าเป็นเกย์และทิ้งครอบครัวของตัวเองไปอยู่กับแฟนหนุ่ม

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

Brendan Fraser ได้แสดงให้ผู้ชมเห็นผ่านทุก ๆ อิริยาบทเลยว่า การเป็นคนที่มีน้ำหนักมหาศาลราวกับปลาวาฬที่ 272 กิโลกรัม มันสร้างความลำบากให้กับชีวิตได้มากมายขนาดไหน แต่หนังก็ยังคงความเมโลดรามา ค้นหาสัจธรรมชีวิตแบบเชย ๆ ตามแบบฉบับของผู้กำกับ Darren Aronofsky อยู่อย่างชัดเจน ทำให้เรื่องนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับที่แตกข้างอยู่เหมือนกันว่า สรุปแล้ว Brendan Fraser ทำได้สำเร็จจริง ๆ หรือไม่ในการรับบทบาทเป็นอาจารย์ Charlie ครั้งนี้

 

แต่เรื่องที่ดูจะเป็นเอกฉันท์มากกว่า เพราะมีแต่เสียงชื่นชอบโดยแทบไม่มีใครตำหนิวิจารณ์ นั่นก็คือหนังจากไอร์แลนด์เรื่อง The Banshees of Inisherin ของผู้กำกับ Martin McDonagh ที่ประกาศน้ำเสียงและลีลาของความเป็นหนังประจำชาติไอร์แลนด์ได้หมดจดสะกดครบในทุกมิติ

 

หนังประกวดสายเข้มข้นจาก “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส” ครั้งที่ 79

 

ทั้งในส่วนของฉากหลังที่ปักหลักถ่ายทำกันที่เกาะอินิชมอร์ ทางตะวันตกของไอร์แลนด์ โดยกำหนดให้เป็นช่วงปี 1920s ภาษาที่ใช้ที่ใส่สำเนียงและคำศัพท์ท้องถิ่นแบบชาวไอร์แลนด์อย่างเต็มพิกัด ชนิดที่ทางเทศกาลจะต้องจัดคำบรรยายภาษาอังกฤษเอาไว้ให้ ให้คนต่างพื้นที่ที่แม้จะพูดภาษาอังกฤษเหมือนกันได้เข้าใจ

 

ขณะที่เหล่าดารานักแสดงนำก็เกณฑ์ยอดฝีมือแถวหน้าของประเทศมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Colin Farrell / Brendan Gleeson / Kerry Condon และ Barry Keoghan โดยไม่ต้องจ้างครูฝึกสำเนียงหรือ dialect coach ให้เปลืองงบประมาณกันเลย

 

 

ส่วนเนื้อหาเรื่องราวก็มีความน่ารักเหมือนเป็นวรรณกรรมท้องถิ่น เล่าผ่านคำทำนายของวิญญาณผีสตรีที่ชาวไอร์แลนด์เรียกกันว่า Banshee ที่เข้ามาทำนายว่าจะมีคนในเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ ตายแบบไม่ตายดีในเร็ววัน จากนั้นหนังก็เล่าถึงความสัมพันธ์อันร้าวฉานระหว่างคู่บัดดี้หนุ่มสองนายคือ Padraic กับ Colm ซึ่งรับบทโดย Colin Farrell และ Brendan Gleeson ตามลำดับ

 

เมื่อวันดีคืนดี ฝ่าย Colm ก็สนใจอยากจะหันไปเป็นนักดนตรีและนักประพันธ์ดนตรี จนคิดที่จะเลิกคบหากับ Padraic อย่างเด็ดขาด ฝ่าย Padraic ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าเขาทำผิดอะไรจึงยอมไม่ได้ ยังไงก็ต้องเข้าไปคุยกับ Colm ให้รู้เรื่อง ฝ่าย Colm ก็ให้คำตอบเพียงสั้น ๆ ว่าไม่อยากจะเสียเวลากับคนทึ่ม ๆ อย่างนาย พร้อมทั้งท้าทายว่าถ้า Padraic ยังจะมาคุยกับเขาอีก เขาจะตัดนิ้วมือของเขาเอง โยนใส่หน้า Padraic ทีละนิ้ว ๆ

 

จากเพื่อนที่เคยรักกันดี จึงต้องมาแตกหักด้วยคำพูดที่ช่างเหยียดหยามกันต่อหน้า กลายเป็นงานตลกสุดหรรษาที่หม่นมืดและหดหู่อยู่ในเวลาเดียวกัน สะท้อนบรรยากาศอันขมุกขมัวของเกาะท้องถิ่นเล็ก ๆ แห่งนี้ได้อย่างดี

 

The Banshees of Inisherin จึงเป็นหนังเล็ก ๆ ที่แม้จะไม่ได้มีอะไรวิเศษในระดับเปรี้ยงปัง แต่ก็ยังมีความน่ารักน่าชังแบบพอดีตัว โดยเฉพาะความนัวในแบบไอริชที่ไม่เหมือนชาติอื่นไหนในโลกนี้เลยจริง ๆ!