เลาะแม่น้ำโขงไปดูถนนจีน กรงเล็บมังกรสยายปีกครอบคลุมผู้คนริมน้ำ
"ถนนเลาะแม่น้ำโขง" ที่ดูเหมือนเป็นโครงการเล็กๆ ที่แท้ยังมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์การค้าของ"จีน"อย่างน่าจับตา
เพิ่งไปปั่นจักรยานผ่านถนนเลียบแม่น้ำโขงตอนบนจากเมืองต้นผึ้งและเขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมันของกลุ่มทุนจากจีน แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กลับมา
พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแขวง บ่อแก้วตะวันตก ที่ถูกละเลยด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีคนน้อย เป็นแค่หมู่บ้านเล็กๆ สังกัดเมืองเมิง ซึ่งเป็นหน่วยปกครองเทียบเท่าอำเภอของเรา และก็เป็นเขตปกครองที่ห่างไกลกันดาร ไม่เจริญเท่ากับเมือง (district) อื่นของแขวงนี้
แต่ไหนแต่ไรคนละแวกนี้เดินทางติดต่อกันโดยทางเรือ เพราะติดแม่น้ำ ดังนั้นทางถนนจึงเป็นแค่ทางเดินสัญจร หรืออย่างเก่งก็ทางลูกรังหลุมบ่อแบบโบราณ
ทางการจีนได้ให้เงินช่วยเหลือ China Aid โดยกระทรวงการค้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างถนนใหม่ระดับประมาณโลคัลโร้ดของบ้านเรา ระยะทางแค่ 22 กิโลเมตรเศษเลาะแม่น้ำโขงจากเมืองมอมไปถึงบ้านห้วยไคร้ของลาวในเขตเมืองเมิง ซึ่งจะว่าไปมันก็แค่โครงการเล็กๆ เมื่อเทียบกับการช่วยเหลือขนาดใหญ่มูลค่าสูงที่จีนให้กับสปป.ลาว
ถนนเส้นนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี รับมอบเปิดใช้เมื่อปี 2020 ตรงกับช่วงโควิดลาวปิดประเทศพอดี จึงไม่เป็นข่าว ถึงเป็นข่าวก็เป็นแค่ข่าวเล็กๆ โครงการถนนท้องถิ่นเชื่อมอำเภอในแขวงห่างไกลไม่ได้สลักสำคัญอะไร สู้เรื่องโครงการช่วยเหลือใหญ่ ๆ อย่างโรงพยาบาลมโหสถในเวียงจันทน์ หรือ การเปิดใช้รถไฟฟ้าลาวจีนไม่ได้
กรงเล็บมังกรสยายปีก
แม้ว่าโครงการนี้มีสถานะแค่โครงการช่วยเหลือระดับจุลภาค ก็แค่ถนนท้องถิ่นเชื่อมหมู่บ้านตำบลแค่ 22 กิโลเมตร แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงกรงเล็บพญามังกรที่สยายครอบคลุม สปป.ลาว ลึกลงไประดับตำบล หมู่บ้าน ที่น่าจับต่ออย่างที่บอกว่าแต่เดิมพื้นที่แคมโขงของสปป.ลาว ห่างไกลและขาดสาธารณูปโภค
แต่เมื่อทุนจีนได้รับสัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำที่เมืองต้นผึ้ง มีคนจีนเข้าออกมากมายหลักหมื่นคน และกำลังก่อสร้างสนามบินใกล้แล้วเสร็จ
อาณาบริเวณรายรอบรัศมี 30-40 กิโลเมตรจากเมืองใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองบริวารสนับสนุนเขตเมืองใหม่ที่ว่า ปัจจุบันถนนหนทางจากเมืองใหม่คิงส์โรมันไปถึงบ้านมอมทางทิศเหนือ 16 กิโลเมตร สะดวกสบายถนนดี
จีนได้ช่วยเหลือก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านมอมใหม่ให้เป็นท่าเรือสากลไปแล้ว จากนั้นก็เริ่มขยายกรงเล็บขึ้นเหนือเลาะโขงต่อด้วยการสร้างถนนต่อไปอีก 22 กิโลเมตรเศษ ผ่านบ้านห้วยต้าง สีดอนเลือง ดอยงาม ยางคำ หลวงสินไจ ห้วยลม และ ห้วยไค้ร
ถนนที่จีนสร้างเพื่อการท่องเที่ยว
นั่นทำให้อาณาเขตหมู่บ้านเล็กๆ ที่กล่าวพัฒนาขึ้นปุบปับ รถราวิ่งถึงง่าย บางบ้านถึงกับมีอาหารทะเลแช่แข็งขาย..ไหนใครว่าลาวไกลทะเล?
ถนนเส้นนี้ยังนำแรงงานชาวลาวท้องถิ่นตอนเหนือลงไปสนับสนุนกิจกรรมของเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองใหม่คิงส์โรมัน คนท้องถิ่นเดินทางไปกลับสะดวกขึ้น หรือในมิติด้านการท่องเที่ยวโลคัลโร้ดเส้นนี้สวยงามจริง
เลาะน้ำโขงไปเรื่อยๆ เห็นภูมิประเทศฝั่งลาวฝั่งเมียนมาร์ ผ่านวัดครูบาบุญชุ่มฝั่งโน้น ผ่านเกาะแก่งที่สวยงาม มีหมู่บ้านท้องถิ่น ได้ชิมอาหารท้องถิ่นเช่นข้าวซอยลื้อที่บ้านหลวงสินไจ อร่อยมากเพราะเขาทำเส้นเองแบบข้าวซอยโบราณเอาแป้งข้าวเจ้ามานึ่งเป็นแผ่นแล้วตัดเป็นเส้นใหญ่ๆ
นี่ล่ะคือที่มาของศัพท์ข้าวซอย ก็คือ ต้องซอยออกมาเป็นเส้น ส่วนน้ำซุปก็เป็นสูตรลื้อแบบสิบสองปันนา มีหมูบดถั่วเน่าผสมเครื่องปรุงรสเตรียมไว้ก่อน เมื่อจะกินก็ตักซุปก้อนที่ว่า ลงละลายในน้ำเป็นน้ำซุปแบบลื้อที่ไม่เหมือนข้าวซอยทางเหนือของไทย ถนนนำมาซึ่งผลประโยชน์หลายประการ
ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เจ้าถิ่นลาว หรือชาวบ้านสองข้างทางที่ได้ประโยชน์ เพราะอันว่าโครงการช่วยเหลือลักษณะนี้ เป็นที่รู้ว่าจีน-ชาติเจ้าของเงินช่วยเหลือเล็งแล้วว่าจีนจะได้ประโยชน์ด้วย ก็เหมือนประเทศไทยช่วยเมียนมาร์สร้างถนนจากด่านแม่สอด-เมียวดีไปถึงผะอานนั่นล่ะครับ มันช่วยให้การค้าชายแดนไทยดีขึ้น
จีนคุมเส้นทางเดินเรือแม่น้ำโขง
ดังนั้นการที่จีนให้การช่วยเหลือสร้างถนนเลาะแคมโขงขึ้นไปยักษ์ใหญ่ก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะจีนคุมเส้นทางเดินเรือแม่น้ำโขง บ้านเมืองรายทางแม่น้ำควรจะเติบโตเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรการค้าต่างๆ ให้กับเส้นทางเรือ
หรือให้ดีกว่านั้นหากเส้นทางถนนสามารถต่อเชื่อมยาวขึ้นไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นผลดีกับเส้นทางการค้าเชื่อมต่อพรมแดนยิ่งขึ้นไปอีก
หลายท่านคงไม่ทราบว่าปัจจุบันสินค้าจีนที่ขนส่งกับรถบรรทุกผ่านสปป.ลาวเข้ามายังประเทศไทยนั้น นอกจากเส้นทางหลัก R3A ผ่านบ่อเตน หลวงน้ำทา สะพานมิตรภาพเชียงของแล้ว เขายังนิยมให้เส้นทางใกล้กว่าอีกเส้นผ่านเมืองสิงอีกเส้น
หากเชื่อมต่อถนนอีกไม่ถึง 100 กิโลเมตร เลาะโขงไปจนถึงบ้านเชียงกก ท่าเรือสำคัญริมน้ำโขงได้ ก็จะเกิดมีถนนสายยุทธศาสตร์ลาว-จีนเส้นใหม่ จากเมืองลา สิบสองปันนา ที่เชื่อมต่อเมียนมาร์ (ผ่านสะพานข้ามโขงและถนนสาย178) และ ไทย (ผ่านเชียงแสน-เชียงของ) ต่อได้อีกอย่างสะดวกสบาย
ถนนเลาะแม่น้ำโขงที่ดูเหมือนเป็นโครงการเล็กๆ ช่วยเหลือชุมชนระดับหมู่บ้านตำบล ที่แท้ยังมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์การค้าของพญามังกรอย่างน่าจับตา เพราะกิจกรรมที่มากับถนนใหม่ลาดยางมันก็ยื่นขยายไปถึงหมู่บ้านชุมชนอื่นที่เชื่อมต่อแม้จะเป็นลูกรังถนนดินหินกรวดในรัศมีเดินทาง
ระหว่างทางที่ผ่านเส้นทางสายนี้พบว่า เริ่มมีการลงทุนของชาวจีนตลาดตลอดเส้น มีโรงงานปูน มีป้ายกิจการสัมปทานทำสวนทำไร่ของจีนปักไว้ริมถนน รวมถึงการเป็นนายหน้าการค้าอย่างเช่นปลูกยางพาราของชาวบ้าน จะมีทุนจีนมารับซื้อก้อนขี้ยางเดือนละ 2 รอบ
ชาวลาวท้องถิ่นละแวกนี้ปลูกยางพารามาก แต่ก็ไม่เท่าทุนจีนที่เข้ามาขอสัมปทานปลูกทีเป็นพันไร่ ครอบคลุมดอยเป็นลูกๆ ชาวบ้านเล่าว่าแรกๆ พ่อค้าจีนมารับซื้อก็จ่ายเงินคล่องดี แต่ในช่วงสองปีโควิดนี่เริ่มติดค้างไม่จ่ายเงินให้ ส่วนคนงานลูกจ้างในสวนยางพาราก็บอกว่าเขาได้เงินเดือนเทียบเป็นเงินไทยประมาณ 3 พันบาท นี่ไม่ได้รับเงินเดือนมาระยะใหญ่ ไม่ทราบเกิดจากปัญหาอะไร
ตรงจุดสิ้นสุดเขตถนนลาดยางจีน มีถนนดินแดนลูกรังบดอัดของลาวต่อเชื่อม ได้ปั่นจักรยานผ่านบ้านลื้อต่างอ้อ บ้านห้วยส้าน ผาขาว ผาดำ เพื่อข้ามไปเมืองเมิงที่ตั้งตัวอำเภอศูนย์กลางของชุมชนละแวกนี้
ยิ่งได้พบว่ามีกิจกรรมการของทุนจีนในชุมชนหมู่บ้านตลอดเส้นทาง ทั้งปลูกยางพารา ทำเหมือง มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ของจีนจอดอยู่เป็นหลักฐาน ชาวบ้านบอกว่า รถเหล่านี้ข้ามด่านจากสิบสองปันนามาทางเมืองสิง แต่ถ้าช่วงปกติมีเรือวิ่งก็จะมีการขนส่งสินค้าจากทางเรือด้วย นั่นยังไงถนนเลียบแม่น้ำจึงมีความสำคัญต่อกิจกรรมที่ต่อขยายจากการเดินเรือควบคู่กัน
การได้ผ่านสำรวจถนนเลียบแม่น้ำโขงที่รัฐบาลจีนก่อสร้าง ทำให้เห็นว่ากรงเล็บของพญามังกรยื่นขยายครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านลึกกว่าที่คิด แผ่ซึมไปลงถึงระดับหมู่บ้าน ตำบล
และที่สำคัญ ยังสะท้อนฉายภาพใหญ่ในเชิงยุทธศาสตร์อิทธิพลเหนือแม่น้ำโขงที่ไม่ใช่แค่คุมระดับน้ำ หรือคุมการเดินเรือเท่านั้น.... ยังขยายยื่นไปคุมชีวิตกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้คนริมฝั่งน้ำพร้อมกันไปด้วย !