"สี จิ้นผิง" แขกพิเศษประชุม"เอเปค 2022 " อีกโอกาสทางการค้าไทย
การเดินทางมาของ "สี จิ้นผิง" ผู้นำจีนในการประชุม "เอเปค 2022" ครั้งนี้ จะมีบทบาทต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ลองอ่านมุมคิดคร่าวๆ ของผู้เชี่ยวชาญจีน
ตอนสี จิ้นผิง เดินทางมาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2554 ในครั้งนั้นผู้นำจีนท่านนี้ยังเป็นรองประธานาธิบดี ส่วนการเดินทางมาร่วมประชุมเอเปค 2022 ครั้งนี้ในฐานะประธานาธิบดีจีนซึ่งนับเป็นครั้งสอง แต่มีบทบาทสำคัญกว่าครั้งแรก
สี จิ้นผิง นอกจากเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังรั้งตำแหน่ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง สมัยที่ 3
ผู้นำจีนจะเดินทางมาร่วมประชุมเอเปค วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน 65 มีกำหนดหารือข้อราชการกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล
การเดินทางมาครั้งนี้ นอกจากสัมพันธภาพระหว่างสองประเทศ ยังรวมถึงการเจรจาการค้า รองศาสตราจารย์ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านจีน กล่าวถึง บทบาทผู้นำจีนบนเวทีเอเปคว่า
"น่าจับตาว่าการเดินทางมาไทยรอบนี้ สี จิ้นผิง คงใช้เวทีเอเปคในการประกาศสิ่งที่จีนตั้งใจจะนำโลก แผนริเริ่มพัฒนาโลกที่สี จิ้นผิงได้พูดเกริ่นไว้ในเดือนกันยายน ปี 2021 เพื่อจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป"
ส่วน เรื่องการค้ากับไทย ผู้นำจีนน่าจะมาผลักดันเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าจีนค่อนข้างชื่นชมนโยบายแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ของรัฐบาลไทย
"ตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนมาขยายฐานการลงทุนในไทยเยอะ BYD รถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของจีนก็มาลงทุนในไทย เข้าใจว่าจีนจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ดิฉันมองว่าเป็นโอกาสที่ไทยจะผลักดันรถยนตร์ไฟฟ้าให้สุด และจีนคงไม่ได้ทำแค่รถยนต์ไฟฟ้า ยังมีแบตเตอรี่ เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถ้ารัฐบาลไทยดึงจีนมาทั้งซับพลายเชน ก็จะเสริมให้ไทยเป็นฮับของรถยนต์ไฟฟ้า เหมือนที่ไทยเคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาป รถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นโอกาสของไทย
อีกเรื่องที่สี จิ้นผิงมาคราวนี้ คาดว่าในเรื่องความร่วมมือวิจัยและพัฒนาที่เป็นเทคโนโลยีล้ำหน้าและต่อไปจีนจะเป็นผู้นำพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศ ถ้าพัฒนาไปด้วยกันจะวิ่น ๆ
ส่วนในเรื่อง ดิจิทัลหยวน อาจารย์อักษรศรี บอกว่า จีนมีนโยบายลดการพึ่งพิงโลก แต่พยายามดึงให้โลกพึ่งพิงจีน แต่เดิมเศรษฐกิจจีนพึ่งพิงภาคส่งออก ตอนนี้จีนปรับโครงสร้างจนภาคส่งออกมีสัดส่วนไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์รวมของประเทศ GDP (Gross domestic product)
"ดิฉันกำลังมองว่า จีนจะส่งออกดิจิทัลหยวนให้โลกทั้งใบใช้เมื่อไร ถ้านอกประเทศใช้ดิจิทัลหยวน ก็มีโอกาสสูงมากที่ดิจิทัลหยวนจะกลายเป็นเงินตราสำคัญของโลก
ถ้าจีนเอาดิจิทัลหยวนมาใช้ทั้งโลก จีนต้องมั่นใจว่าระบบธุรกรรมจะไม่ล่ม อยู่ที่ว่าระบบของเขารองรับข้อมูลได้ไหม และระบบความปลอดภัยไม่ให้ถูกแฮก"
โดยก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยกล่าวถึงเป้าหมายในการพัฒนาของจีนในปีค.ศ. 2035 ว่า จะต้องเป็นประเทศที่มีความทันสมัยภายใต้ระบอบสังคมนิยมและวัฒนธรรมอันงดงาม ซึ่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีการพัฒนาแบบวัฏจักรคู่ ทั้งในรูปแบบนอกประเทศและในประเทศ
“ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดตลอด เรื่องเน้นการพัฒนาในประเทศและการบูรณาการระหว่างประเทศ ลดการพึ่งพาต่างประเทศ เน้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยขณะนี้ชนชั้นกลางในจีนที่มีมากขึ้นสามารถรับมือกับสถานการณ์ภายนอกได้แล้ว”
เหตุใดจีนถึงพัฒนาอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ ผศ.ดร.หลี่ บอกไว้ว่า ช่วง 40 ปีที่จีนเปิดประเทศและปฎิรูปเรื่องต่างๆ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในเส้นทางที่วางนโยบายไว้ โดยใช้แนวคิดว่า เปิดประเทศ เปิดการลงทุน ส่งเสริมสินค้าจีน
“จีนเรียนรู้การผลิตสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี และมีการส่งเสริมการลงทุนในจีนมากขึ้น รวมถึงลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสงครามการค้าเป็นแค่เสี้ยวหนึ่ง แต่จีนจะเน้นศักยภาพของคนในประเทศเพื่อพัฒนาประเทศ”
ทั้งหมดจึงน่าจับตามองว่า การเดินทางมาของผู้นำจีนครั้งนี้ จะมีข้อแลกเปลี่ยนทางการค้าและการลงทุนอย่างไร