เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’

การพูดคุยเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัล ‘ซีไรต์’ จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์’ ถึงการทำงาน ที่มาของไอเดีย ความคิด และผลงานชิ้นต่อไป

‘จนกว่าโลกจะโอบกอดเราไว้’ ของ ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์’ ได้รับรางวัล ‘ซีไรต์’ ปี 65 หรือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2565 ประเภท กวีนิพนธ์

ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาโท ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีครอบครัวแล้วอยู่ไปที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎ บุรีรัมย์ แล้วลาออกมาเขียนงานเต็มตัว มี 'จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้' เป็นเล่มแรก   

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

ได้รับรางวัลมากมาย เช่น ‘ดำเนินทราย’ รางวัลรองชนะเลิศ วรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 2  ปี 2561, ‘มิได้อุทธรณ์’ รางวัลรองชนะเลิศ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1  ปี 2561, ‘แล้วเธอล่ะเป็นใครในเมืองนี้’ รางวัลชมเชย พานแว่นฟ้า ปี 2561,

‘จนกว่าชีวิตจะนิทรา’ รางวัลชนะเลิศ วรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 3  ปี 2562, ‘คนถางทาง’ รางวัลรองชนะเลิศ พานแว่นฟ้า ปี 2562, ‘เราอยู่ตรงนี้นานเกินไปแล้ว’ รางวัลชมเชย พานแว่นฟ้า ปี 2563

ล่าสุด ในงานเสวนาพบนักเขียนรางวัลซีไรต์ เธอได้มานั่งพูดคุยกับรองศาสตราจารย์ สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ ห้อง Embassy โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

  • มาเป็นนักเขียนได้อย่างไร

สนใจเขียนบทกวีตั้งแต่เรียนประถม-มัธยม ฝึกฝนเขียนกลอนแบบฉันทลักษณ์มาตั้งแต่ในห้องเรียน จากนั้นไปเรียนรัฐศาสตร์ ไมเนอร์วิชาศิลปะการประพันธ์ แล้วไปเรียนต่อปริญญาโทอักษรศาสตร์จุฬา ด้านภาษาศาสตร์

ปี 56 เป็นอาจารย์ที่ราชภัฎบุรีรัมย์ ปี 57 เขียนกลอนส่งนิตยสารสบายดีบุรีรัมย์ และจัดโครงการวรรณกรรม มีนักเขียน กวี นักวิจารณ์ มาบรรยายให้นักศึกษาฟัง ทำให้ได้แรงบันดาลใจ

ปี 61 อาจารย์ที่สอนกวีนิพนธ์เกษียณ เลยได้สอนวิชากวีนิพนธ์ ได้เคี่ยวกรำตัวเองเยอะขึ้น เริ่มส่งประกวดพานแว่นฟ้าได้รางวัลชมเชย, ถนอมไชยวงศ์แก้วได้รางวัลที่สอง ปีเดียวกันได้รางวัลอุชเชนี แล้วรวบรวมบทกวีที่เคยเขียนมาทำเป็นเล่มนี้

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ลีลาของปาลิตา มีลักษณะอย่างไร

หลายคนบอกว่า เป็นกลอนที่เหมือนจะโรแมนติกแต่ก็ไม่โรแมนติก ทั้งหวานทั้งดุ ด้วยจังหวะ ด้วยสารที่ส่งไป ลีลาไม่เคร่งครัดกับฉันทลักษณ์โบราณ ได้รับอิทธิพลจากอาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง ลีลาเท่ ๆ ใช้คำน้อย ๆ สนใจเรื่องเสียงมากกว่าสัมผัสใน อีกท่านคือคุณศิริวร แก้วกาญจน์ 

  • เนื้อหาในเล่มนี้ที่ต้องการจะสื่อถึงผู้อ่านคืออะไร

มีคำสำคัญแค่ 3 คำ โลก-เรา-โอบกอด โลกหมายถึงหมู่มวลมนุษย์ พวกเรา มีประสบการณ์ร่วมกัน มีหัวใจร่วมกัน ในปรากฎการณ์เดียวกัน โอบ คือการเอาแขนอ้อมไว้ สองข้างก็ได้ ข้างเดียวก็ได้

กอด คือตรึงเอาไว้ในอ้อมอกในวงแขน ประคับประคอง เอื้ออาทรต่อกัน เราผู้ซึ่งถูกผลักออกจากอ้อมแขนของโลก เราผู้ซึ่งเผลอผลักไสใครออกไป หรือเราสำคัญผิดคิดว่าได้โอบกอดใครเอาไว้ สุดท้ายแล้วเราต้องโอบกอดกันและกัน ก่อนโอบกอดตัวเอง

เรามองว่านักเขียนกับสังคมแยกกันไม่ออก ต่อให้เราไม่ได้เขียนวรรณกรรมเชิงสังคม แต่เขียนเรื่องรักโรแมนติกก็หนีสังคมไปไม่พ้น ยังไงมันก็มีฉากหลังของสังคม

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. Kanok Shokjaratkul

ตัวเราเองไม่กล้าเคลมว่า เราเขียนงานเพื่อสังคม เพียงแต่ว่าเราใช้ความรู้สึกที่ได้รับจากสภาพสังคม ใจเรามันสั่นสะเทือนจากสังคมที่มันล้อมเราเอาไว้อยู่ 

ตอนที่เขียนกลอนเรื่องนี้ มีมหกรรมบริจาคครั้งใหญ่เกิดขึ้น สังคมแห่ชื่นชม เราอย่าเผลอไผลมองด้วยสายตาที่โรแมนติกเกินจริงว่า เราให้ เราโอบกอด เราช่วยเหลือ เป็นสิ่งที่ดี

เราต้องไม่คิดว่า การบริจาค การให้ เป็นทางออกสำเร็จรูป ไม่งั้นเราจะมีรัฐบาลไว้ทำไม เรากำลังช่วยให้รัฐลอยตัว เคยตัว ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เป็นความเคยชินที่เราช่วยกัน น่าจะทบทวนเรื่องนี้ใหม่

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ในด้านการใช้ภาษา มีลักษณะอย่างไร

กลยุทธ์ทางภาษามีอยู่สองเรื่อง คือ สตอรี่ กับคำที่เลือกใช้ แต่ที่ใหญ่กว่านั้นคือเรื่องความคิด ถ้าเรามีความคิดที่จะสื่อแล้ว คำที่เลือกใช้ มันต้องทำงานทุกคำ แล้วภาษาไทยมีคำศัพท์เยอะ เราต้องเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำนั้น มันสื่อความหมายอะไร  

หลักง่าย ๆ ในการเขียนกลอนคือ คำต้องทำงานของมัน ต้องสื่อความได้ตรงตามใจเรา แล้วมันอ่านง่ายไหม เราเลือกใช้คำที่มันไม่ยากเกินไป ถ้ามันจะยาก ก็ยากตรงสัญญะเท่านั้นเอง

มีบทกวีบทหนึ่งพูดถึงคุณตาคุณยายแร้นแค้นแต่ยังมีความสุข หลายคนมีความคิดสำเร็จรูปที่ว่า ชนบท ความสามัญ ชีวิตเรียบง่าย เท่ากับชีวิตอันน่าอิจฉา

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’

ก็เลยใช้ตัวละครตากับยาย (ชื่อเรื่อง ความสิ้นไร้ไม่สิ้นรัก) เล่าและมองด้วยสายตาโรแมนติก ฉันถนอมความแร้นแค้นเอาไว้ให้เธอแล้ว เป็นการประชดกลับอีกทีหนึ่ง ถ้าดูมีความสุขนักลองมาใช้ชีวิตแบบนี้ดูไหม

จริง ๆ เราก็โกรธนะ เพียงแต่ว่า เราเลือกมุมที่อยากนำเสนอ ไม่ได้ผ่านอารมณ์เกรี้ยวกราด ฉุนเฉียว เลือกเรื่องเล่า เลือกกลวิธี ใช้บทสนทนาของตัวละครที่เผชิญกับชะตากรรม

เช่น ยายกับหลาน เผชิญกับภาวะโรคระบาด แร้นแค้น ความบัดซบของชีวิต เหนื่อยหน่าย หรือบทสนทนาในโลกคู่ขนาน

ตัวละครพ่อลูกชนชั้นกลาง พ่อพยายามนำเสนอคุณค่าในโลกสมัยใหม่ โอบกอดจนแน่นเลย กับอีกโลกหนึ่งพ่อไม่มีแม้แต่จะเอื้อมไปโอบกอดลูก ไม่สมดุลกัน

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • มีวิธีการทำงานหรือการเขียนงานอย่างไร

เริ่มจากหาแนวคิดก่อน ก่อนเขียน เราต้องมีสิ่งที่อยู่ในหัวก่อน เราจะเล่าอะไร ที่มาของแนวคิดก็มาจากหลายทิศทาง บางเรื่องมาจากแค่เราหันซ้ายหันขวาแล้วเจอสิ่งนั้นทุกวัน แต่มันไม่ทำงานกับเรา จนบางจังหวะมันทำงานขึ้นมา

เช่น เราท่องเว็บไซด์อยู่ มันขึ้นว่า 404 not found แล้ววันนั้นเราก็เห็นป้ายเชิดชูเกียรติหน้าโรงเรียน เห็นใบหน้าเด็กหลายคนโชว์ชื่อแสดงความยินดี ชื่อเด็กเหล่านี้เมื่อค้นหาก็จะเจอ แต่ว่ามีเด็กอีกตั้งกี่คนที่อยู่ในเงาดำหลังป้ายนั้น

แล้วก็มีอีกอันหนึ่งมาจากเหตุการณ์ข่าวสารบ้านเมือง สภาพเศรษฐกิจ การแพร่ระบาด คนตายข้างถนน ตายในบ้าน ลูกนั่งเฝ้าศพแม่ ข่าวหุ้นขึ้นหุ้นตก มันกระทบได้หมด  

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’

พอเรามีพล็อตแล้ว ทำยังไงให้เรื่องของเราทั้งสิบบท เล่าเรื่องได้อย่างไม่เลอะเทอะ ไม่ออกทะเล ต้องมีสัมพันธภาพ มีเอกภาพ เราจะเขียนไอเดียความคิดรวบยอดแต่ละบทว่าบทนี้จะเล่าอะไร ถ้าได้วรรคทองก่อนก็ดี

ส่วนหลักการเขียน มาจากจดหมายจางวางหร่ำ พ่อเขียนจดหมายถึงลูกบอกหลักการพูดค้าขายว่ามีอยู่สามเรื่องคือ มีข้อที่จะพูด, พูดออกไป, แล้วก็หยุดพูด

การเขียนก็เหมือนกัน มีเรื่องจะพูด มีเรื่องจะเขียน เขียนออกไป แล้วก็หยุดเขียน หยุดยังไงให้มันพอดี บางทีตอนจบได้มาตั้งแต่บทแรกแล้ว ใช้ความเดียวกัน ล้อกันเลย ช่วยให้การเล่าเรื่องมันง่ายขึ้น

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • บทกวีในเล่มนี้ชอบบทไหนที่สุด

ที่ชอบที่สุด ชอบหมด มีบทกวีอันหนึ่ง... ‘สวัสดีครับคุณครู ผมอยู่ที่นี่ยังนั่งอยู่ตรงนี้ที่มุมเก่า ได้ยินผมไหมครับผมเสียงเบา มองเห็นผมหรือเปล่า ผมตัวน้อย นานแล้วแถวหลังข้างหลังห้อง ผมเพ่งมองลายมือครูอยู่บ่อย ๆ

เขียนกระดานคำใดไม่เห็นรอย แถวสุดท้ายไกลสักหน่อยกระดานนั้น ชื่อของผม เด็กชาย ช่างเถอะครับ ชื่อซ้ำ ๆ คำศัพท์คำสั้น ๆ เชยเกินไปไม่น่าจำไม่สำคัญ... เหมือนว่าไม่เคยปรากฎ ไม่เคยจำจดในยุคสมัย ไม่ถูกพบคุณค่าเจียระไน ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในโลกนี้

สวัสดีครับคุณครู ผมยังอยู่แถวหลังยังอยู่นี่ ชะเง้อมองคุณครูอยู่ทุกที ก็ยังไกลอยู่ดีที่ผมยืน เมื่อไรโลกจะค้นพบผมสักที อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้มิเคยพบ...’

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. Pairoj Kuljaratsutee

  • สิ่งที่ยากที่สุดของผลงานเล่มนี้คืออะไร

คือการแบ่งบทและเรียงพาร์ท แต่ละพาร์ทมีเส้นเรื่องของมันอยู่ มีฉากหลังเป็นสถานการณ์ พาร์ทหนึ่ง ก่นด่า ระบายอารมณ์ พาร์ทสอง พูดถึงความเข้าใจที่จะโอบกอด

เป็นโอบกอดที่แข็งแรงจริงหรือเปล่า ไม่ต้องรักฉันมากก็ได้ แต่โอบกอดฉันไว้ ในการโอบกอดนั้นมีแบบสามัญแล้วก็รัดแน่นเกินไป

พาร์ทที่สาม ใครกันบ้างในโลกนี้ที่ถูกผลักไปจากอ้อมกอด เยาวชนผู้สังเวยวัยเยาว์ให้กับยุคสมัย บัณฑิตจบใหม่ที่โลกยังไม่อ้าแขนรับ ที่ต้องไปจบลมหายใจลงในแม่น้ำ หรือเด็กหลังห้อง

พาร์ทที่สี่ เราควรต้องเติบโตทางจิตวิญญาณ มีความคิดก้าวพ้นความฟูมฟายไปให้ได้ เป็นบทที่คลี่คลาย ให้คำตอบว่า ในเมื่อโลกไม่โอบกอดเรา เราก็โอบกอดโลกเอาไว้เอง โอบกอดตัวเราเอง

เปิดใจกวี ‘ซีไรต์’ ปี 65 ‘ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์\' จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้’ Cr. วันชัย ไกรศรขจิต

  • มีอะไรที่อยากบอกบ้างไหม

สิ่งที่อยากจะบอกคือ ในโลกนี้มีนักเขียนหญิงที่ทำงาน เป็นนักเขียนอุดมการณ์ เป็นนักเขียนมีความเป็นหญิงความเป็นชาย เขียนเรื่องผู้หญิงถูกกดทับความสามารถ ปาลิตาเกรงใจมากกับการใช้คำว่า นักเขียนหญิง กวีหญิง

ในเล่มนี้เราไม่ได้วางบทบาทตัวเองในฐานะของนักเขียนหญิง เราไม่ได้พกพาความเป็นผู้หญิงออกมาเขียนเลย เราเขียนในฐานะเพื่อนมนุษย์

ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจประเด็นผู้หญิง ในงานก่อนหน้านี้เราก็มีประเด็นเรื่องเพศอยู่เหมือนกัน การตระหนักในอำนาจร่างกายเนื้อนมความเป็นหญิงไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย

ในเล่มต่อ ๆ ไป อาจมีประเด็นนี้เข้มข้นมากขึ้น เราอาจจะไม่กระดากอายเวลาถูกเรียกว่า กวีหญิง

..............

คำประกาศผลรางวัลซีไรต์ ของคณะกรรมการตัดสิน ดูได้ที่นี่