ไข่ให้ชีวิต! เมื่อ “ไข่ไก่” ธรรมดาทำให้คนลืมตาอ้าปากได้
จากชุมชนที่ถูกปิดกั้นทั้งความเจริญและโอกาส สู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วย “ไข่ไก่” แสนธรรมดา แต่ทำให้กลุ่มสตรีและชาวบ้านบ้านห้วยวาดลืมตาอ้าปากได้ จึงไม่ผิดนักหากบอกว่า “ไข่ให้ชีวิต”
ความทุรกันดารกลายเป็นกำแพงขวางกั้นให้บ้านห้วยวาด อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ถูกตัดขาดจากการพัฒนา ไม่ใช่เพียงการพัฒนาเชิงวัตถุ แต่ยังหมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน บ้านห้วยวาด ด้วย
วิถีชีวิตแบบ ชาวลาหู่ ยังคงดำเนินไป แต่ด้วยความที่เป็นชุมชนตั้งใหม่จึงมีความย้อนแย้งระหว่างวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ กับความไม่พร้อมของสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะสภาพดิน ปัญหาขาดแคลนน้ำ ถนนหนทาง จากที่ควรจะมีวิถีเกษตรแบบชาวลาหู่จึงเหลือเพียงการทำเกษตรได้เพียงปีละหนเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายการทวงคืนผืนป่าทำให้ที่ทำกินของชาวบ้านลดลงอย่างน่าใจหาย เหตุผลหนึ่งคือที่ผ่านมารัฐจัดสรรให้เฉพาะที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้รวมถึงที่ทำกิน นอกจากอาชีพที่พอจะทำได้ยามหน้าฝน อย่างเพาะปลูกข้าวโพด ข้าว จึงต้องดิ้นรนด้วยวิชาชีพอื่นๆ เช่น การทอผ้า การจักสาน ทว่ารายได้จากทุกอาชีพดังกล่าวได้ช้า และไม่พอ จนกลายเป็นปัญหาด้านรายได้
ชาลิตา แสงคำ ประธานกลุ่มสตรีบ้านห้วยวาด เปิดเผยว่าถึงจุดที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจถึงจุดวิกฤตสุดของชีวิตพวกเขา ซึ่งประจวบเหมาะกับ วรรณิษา กันทา ครูกศน. อำเภอแจ้ห่ม แนะนำให้รู้จักทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซี่งเงื่อนไขโครงการ คือ อาชีพต้องมาจากความต้องการของชุมชน
ตอนนั้นชาลิตาเสนออาชีพ เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งก็ตรงใจกับทุกคนที่มารวมกลุ่มกัน เพราะถึงแม้ชุมชนจะเลี้ยงไก่อยู่แล้ว แต่เป็นไก่พื้นเมือง เลี้ยงแบบปล่อย อีกประการคือ ชาวบ้านต้องซื้อ ไข่ไก่ ทุกวันฟองละ 5 บาท ถ้าเลี้ยงเองได้น่าจะลดรายจ่ายและอาจสร้างรายได้
โดยที่ครูวรรณิษาลองพูดคุยกันว่าทำไมจึงต้องเป็นการเลี้ยงไก่ไข่ เหตุผลที่ได้นับว่าลงตัวกับทั้งความต้องการของชุมชนรวมถึงบริบทของชุมชน
"ถามว่าเลี้ยงไก่แล้วชาวบ้านได้ประโยชน์อะไรบ้าง ชาวบ้านบอกว่าใช้ไก่ในพิธีกรรม ใช้ไก่เพื่อการบริโภค ซึ่งในการทำพิธีกรรมเขาใช้ไก่จำนวนมาก พอผู้หญิงท้องก็ต้องบำรุงด้วยไข่และกินไก่วันละตัว"
เมื่อได้ข้อสรุปว่าอาชีพเสริมคือการเลี้ยงไก่ไข่ จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่พื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ โดยศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง กระบวนการถัดไปคือรวบรวมกลุ่มสตรีในชุมชนกว่า 60 คน แบ่งออกเป็น 7 ทีม สำหรับรับผิดชอบ และดูแลไก่จนครบ 7 วัน
“พอได้ทีมครบ คณะทำงานและกลุ่มเป้าหมาย ก็เดินทางไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ สาขาสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง โดยการไปศึกษาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ระบบฟาร์ม เพื่อนำกลับไปพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ของชุมชน
หลังจากนั้นทดลองเลี้ยงก่อน 20 ตัว เพื่อหาจุดบกพร่อง และสิ่งที่เรายังไม่รู้ เพราะปกติเราเลี้ยงไก่แบบปล่อย ไม่ได้ดูแลอะไรมาก แต่เลี้ยงไก่แบบฟาร์มต้องดูเรื่องเล้าไก่ อาหารไก่ สภาพแวดล้อม และเวลาไก่ป่วยหรือไม่สบาย พอมั่นใจก็เพิ่มจาก 20 ตัว เป็น 100 ตัว”
แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น พวกเขาต้องผ่านด่านบทพิสูจน์มากมาย หนึ่งในนั้นคือปัญหาไก่ตายทั้งจากสุขภาพและการดูแลสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นการเริ่มต้นศึกษาเรียนรู้
“ช่วงหนึ่งไก่เราตายหลายตัว แต่จากความรู้ที่เราได้มา คือ เล้าไก่อยู่ในที่ชื้นมากเกินไป ความชื้นทำให้ไก่ป่วยและตาย เราเลยแก้ปัญหาด้วยการย้ายเล้าไก่ไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ตอนนี้ไม่มีไก่ตายแล้ว”
ชาลิตาเล่าว่ากลุ่มได้แบ่งเวรยามกันดูแล ทำความสะอาดเล้า ให้อาหาร และเก็บไข่ไก่ในตอนเย็นวันละ 60-70 ฟอง โดยไข่ไก่ที่ได้มา ส่วนหนึ่งขายให้สมาชิกกลุ่ม บางส่วนขายในชุมชน โดยจะมีรายได้จากการขายไข่วันละไม่น้อยกว่า 300 บาท รายได้ทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในบัญชีรายรับรายจ่าย และเมื่อครบ 3 เดือนจึงจะนำรายได้ออกมาปันผลให้กับสมาชิก 60 คน ซึ่งรอบที่ผ่านมาสมาชิกได้เงินปันผลคนละไม่น้อยกว่า 300 บาท เงินส่วนที่เหลือเก็บเป็นเงินสะสม ซึ่งปัจจุบันในกลุ่มมีเงินสะสมราวๆ 20,000 บาท
“เหตุผลที่เราปันผลทุกๆ 3 เดือน เพราะอยากให้สมาชิกได้มีกำลังใจในการทำงาน เพราะทำแล้วเราเห็นผลผลิต เห็นรายได้ เราก็อยากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะได้น้อย แต่ถ้าเราช่วยๆ กัน อนาคตเราอาจจะได้เงินปันผลมากกว่า 300 บาท เราคิดว่าเป็นอาชีพเสริมดีกว่าการปักผ้า จักสาน เพราะกว่าจะได้เงินต้องรอให้ของเราขายได้ก่อน และเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะขายได้”
ถึงแม้รายได้จากการขายไข่ไก่ของกลุ่มสตรีบ้านห้วยวาด จะไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ลดรายจ่ายค่ากับข้าว และเมื่อระยะเวลาผ่านไป ไข่ไก่ที่เพิ่มปริมาณ ก็กลายเป็นรายรับให้แก่กลุ่มสตรีได้มีเงินเก็บเข้ากลุ่ม
“นอกจากเรามีไข่เป็นอาหาร และมีรายได้จากเงินปันผล การเลี้ยงไก่ยังทำให้เรามีโอกาสมาทำกิจกรรมด้วยกัน เมื่อก่อนคือต่างคนต่างอยู่ ไม่รู้จักกัน ไม่เคยคุยกัน เพราะพวกเราแยกตัวมาจาก 4 หมู่บ้านมาตั้งหมู่บ้านใหม่ ก็จะมีความแตกต่างเรื่องความคิดหลายเรื่อง และถึงแม้เราจะมาอยู่หมู่บ้านเดียวกันแต่ก็เคยไม่มีโอกาสที่จะทำกิจกรรมอะไรด้วยกัน เพราะต่างคนต่างทำมาหากินของตัวเอง ถึงจะรู้จักกัน สนิทกัน แต่ก็ไม่รู้จะมาทำอะไรกัน ต่างกับตอนนี้ พอเราได้รวมกลุ่ม เราก็พยายามหากิจกรรมมาทำร่วมกัน เช่น พัฒนาหมู่บ้าน ทำความสะอาดใหญ่ ซ่อมแซมอะไรหลายๆ อย่างในชุมชน บางครั้งก็มีกลุ่มผู้ชายเข้ามาร่วมด้วย” ชลิตา อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน
หลังจากที่มีการเลี้ยงไก่ไข่ มีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มสตรี นอกจากเกิดความความสามัคคีมากขึ้น ยังนำไปสู่การต่อยอดทางอาชีพอีกหลายอาชีพที่ไม่ใช่การ “เลี้ยงไก่ไข่” หรือแค่มี “ไข่ไก่” กิน ด้วยความที่ชุมชนนี้เกิดจากคนย้ายถิ่นฐานมาจากหลายหมู่บ้าน การจะรวมตัวกัน คิดแบบเดียวกัน เป็นเรื่องยากมาก ทว่ากลุ่มเลี้ยงไก่ 60 คนทลายข้อจำกัดนี้ไปอย่างราบคาบ ถึงจะเป็นการรวมกลุ่มครั้งแรก แต่ก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ทั้งจำนวนคนและผลลัพธ์ที่ได้คือเกิดกลุ่มที่เข้มแข็ง มีชาวบ้านให้ความร่วมมือ ทั้งเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่และต่อยอดสู่กิจกรรมอื่นๆ ด้วย