เมื่อเมืองคลุกฝุ่น PM 2.5 วิกฤติที่ทุกคนต้องช่วยกัน

เมื่อเมืองคลุกฝุ่น PM 2.5 วิกฤติที่ทุกคนต้องช่วยกัน

สานพลังร่วมปกป้องสุขภาพคนกรุง เมื่อเมืองคลุก "ฝุ่น PM 2.5" ตัวการสร้างปัจจัยเสี่ยงโรคระบบทางเดินหายใจ วิกฤติร้ายแรงทางสุขภาพที่ทุกคนต้องช่วยกันอย่างจริงจัง

หลายสัปดาห์มานี้ "ฝุ่น PM 2.5" เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก กลายเป็นความวิตกกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพตามมา ซึ่งแน่นอนว่า ด่านแรกที่รับผลกระทบจากฝุ่นคือ ระบบทางเดินหายใจ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมหลายคนร่างกายมีปฏิกิริยาตอบรับทันที ทั้งคันหูคันตา จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ภูมิแพ้กำเริบ ที่น่าห่วงคือ ฝุ่นจิ๋ว สามารถผ่านระบบดักจับฝุ่นในจมูกเข้าสู่ปอดได้โดยตรง และยังสร้างผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ ทั้งระบบการไหลเวียนโลหิต ส่งผลร้ายแรงจนกระทั่งสามารถสร้างความเสียหายกับสมองไปจนถึงก่อโรคร้ายทางสุขภาพได้

สุขศึกษาวิชาฝุ่น 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีผลกระทบต่อสุขภาพหลายเรื่อง ทั้งระบบทางเดินหายใจที่ส่งผลเรื้อรังต่างๆ จนปัจจุบันประเด็นเรื่องฝุ่น นับเป็นภัยต่อสุขภาพระดับโลก โดยนอกเหนือจากสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยจะมาจาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ทั้งเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ฯลฯ สาเหตุอันดับต้นๆ มาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ บุหรี่ เหล้า อาหาร และการไม่ออกกำลังกาย แต่ตอนนี้มีปัจจัยที่ 5 เพิ่มขึ้นมาคือ มลพิษทางอากาศ และฝุ่น ซึ่งตอนนี้อัตราการเสียชีวิตคนไทยที่มีสาเหตุอันเนื่องจากฝุ่น พบปีละ 6,000 กว่าราย

เมื่อเมืองคลุกฝุ่น PM 2.5 วิกฤติที่ทุกคนต้องช่วยกัน

ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. ให้ข้อมูลเสริมว่า ตั้งแต่ปี 2556 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดให้ ฝุ่น PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ยังพบการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเสียชีวิตจาก มะเร็งปอด ร้อยละ 21 โรคหัวใจ ร้อยละ 14 ตามลำดับ โดยอันตรายของฝุ่น PM 2.5 นั้น มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อ โรคระบบทางเดินหายใจ แบบเรื้อรังและโรคมะเร็ง ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่างๆ ในปี 2559 องค์การอนามัยโลก ประมาณการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งมีสาเหตุมาจาก มลพิษอากาศ ถึง 6,330 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร 

"สสส. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งและเร่งสานพลังภาคีเครือข่าย เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอื่นๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยเน้นหนุนเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาควิชาการ และการสื่อสารสาธารณะ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ตามยุทธศาสตร์ไตรพลัง คือ พลังสังคม พลังความรู้ และพลังนโยบาย" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

เมื่อเมืองคลุกฝุ่น PM 2.5 วิกฤติที่ทุกคนต้องช่วยกัน

คนเมืองคลุกฝุ่น

เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญกับ ปัญหาฝุ่น อย่างหนักหน่วง เรื่องนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ ยอมรับว่า ฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงฤดูหนาวช่วงต้นเดือน พ.ย. - ปลายเดือน เม.ย. ของทุกปี ซึ่งแหล่งของฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรหรือการเดินทางทางบกของประชาชนในเมืองกรุง ทำให้ทาง กทม. สสส. และภาคีเครือข่าย มองเห็นปัญหา โดยตั้งเป้าลดควันดำ และฝุ่นตั้งแต่ต้นตอ

"พอเราทราบผลกระทบ วิธีจัดการขณะนี้อาจยังไม่สามารถออกกฎหมายบังคับอะไรได้มากนัก แต่ปัจจุบันภาคีเครือข่ายกำลังร่างและเสนอกฎหมายอากาศสะอาดไปยังภาคนโยบาย ในขณะเดียวกันในระดับพื้นที่ ยังมีมาตรการดำเนินการจริง เป็นรูปธรรม อาทิ เขตปทุมวันที่เป็นย่านการค้า หลังมีการติดตั้งเซนเซอร์วัดค่าฝุ่นในพื้นที่ก็เกิดการตระหนัก จึงมีการรณรงค์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในหลายด้าน อาทิ สนับสนุนให้งดการขับรถมาให้พื้นที่มากขึ้น การที่ชาวบ้านในพื้นที่จัดการทำความสะอาดบ้านเรือนชุมชนเพื่อลดฝุ่น ปรากฏว่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงจริง จึงเกิดการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ใน กทม. ต่อเนื่อง รวมถึงโครงการ โรงเรียนสู้ฝุ่น ที่ สสส. ร่วมมือกับ กทม. มีการติดเซนเซอร์เตือนค่าฝุ่นในโรงเรียน การให้ความรู้ข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อเตือนให้ประชาชนคอยระวังและดูแลสุขภาพ เป็นต้น" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

เมื่อเมืองคลุกฝุ่น PM 2.5 วิกฤติที่ทุกคนต้องช่วยกัน

แม้ทางออกเรื่องฝุ่นยังไม่ชัดเจน แต่หลายเสียงสะท้อน "ยืนยัน" การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ทำได้แน่นอน ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ล่าสุด ทาง สสส. จึงร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 25 องค์กร จัดกิจกรรม Action Day PM 2.5 BKK "กทม. ชวนภาคีขยับเรื่องฝุ่นเมืองด้วยกัน" เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเสนอแนะ แนวทางแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้เครือข่าย Earth hour แสดงพลัง Work From Home ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 จากการเดินทางและการใช้ยานพาหนะ รวมทั้งปกป้องสุขภาพประชาชนจาก PM 2.5 

แก้ฝุ่นคนเมือง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่น กทม. จะทำเองคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหลายภาคส่วนร่วมมือกัน จึงเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้เพื่อสานพลังภาคีเครือข่าย ร่วมกันแสดงพลังแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละออง สร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ พิษภัยของการปล่อย มลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งผู้ปล่อยมลพิษและคนรอบข้าง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

"ปัญหาเรื่องฝุ่น อาจไม่ใช่แค่การใช้กฎหมาย แต่คือวิถีชีวิต ความร่วมมือกัน การเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็น Work From Home ในวันที่มีค่าฝุ่นสูง การเหลื่อมเวลาทำงาน การใช้รถขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปริมาณการเดินทาง การปล่อยควันเสียจากรถยนต์ การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้พนักงานในหน่วยงานลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง การเลือกเดินทางด้วยวิธีทางเลือก เช่น ใช้รถไฟฟ้าหรือขี่จักรยาน" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงอีกปัจจัยที่ยากสำหรับการแก้ปัญหาฝุ่น กทม. คือการเผาชีวมวลต่างๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ไปจนถึงการใช้รถยนต์ โดยเฉพาะรถดีเซลที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์หรือรถเครื่องยนต์เก่าที่ยังมีจำนวนมาก ปัญหาคือ สำหรับคนมีรายได้น้อย ควรจะมีมาตรการช่วยเขาอย่างไรที่จะสามารถเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าหรือรถที่สร้างมลพิษน้อยลง รวมไปถึงปัจจัยอย่างเรื่องสภาพอากาศที่ปิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากคาดการณ์และควบคุมได้โดยสิ้นเชิง

"ขณะนี้เริ่มมีการเผาชีวมวลรอบนอกที่มากขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แม้ฟางข้าวจะลดลงเพราะสงครามยูเครนทำให้อาหารสัตว์ขาดแคลน จึงใช้ฟางเลี้ยงสัตว์ทดแทนมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน อาจมีการเผาอ้อยมากขึ้น เนื่องจากแรงงานตัดอ้อยน้อยลง รวมถึงพฤติกรรมการเผาของเพื่อนบ้านเราก็มีมากขึ้น เมื่อประกอบกับลมที่เปลี่ยนทิศพัดเข้ามาก็อาจนำพาควันจากการเผาชีวมวลเข้ามาในเมืองหลวงได้ แม้ปลายทางการแก้ปัญหาฝุ่นจะยังขุ่นมัวไม่ชัดเจนมากนักในแง่กฎระเบียบ แต่อย่างน้อยการที่ กทม. มีข้อมูลในการวิเคราะห์มากขึ้น สามารถคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้สามารถเตรียมตัว รับมือ หรือแก้ปัญหา ไปจนถึงการตักเตือนประชาชนให้ป้องกันตัวเอง หรือทำกิจกรรมลดฝุ่นที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอมาตรการภาครัฐ" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า การมีภาคีเครือข่ายร่วมมือกัน ทำให้ กทม. มีข้อมูลเยอะในการวิเคราะห์สามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ดีขึ้น อาทิ การทำจดหมายถึงจังหวัดใกล้เคียง เพื่อขอความร่วมมือช่วยสอดส่องหรืองดเผา การขอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานเพื่อนบ้านขอให้แสดงเจตจำนงช่วยเหลือกัน เป็นต้น ดังนั้น เราต้องมีการคาดการณ์ฝุ่นได้อย่างแม่นยำ ให้ภาคประชาชนและเอกชนเชื่อใจได้ก็จะวางแผนแก้ปัญหาได้มากขึ้น รวมถึงการมีภาคีเครือข่ายที่นำความเข้มแข็งและประสบการณ์ร่วมกันขับเคลื่อน ถ้าเกิดเราร่วมมือจริงจังและหาภาคีเครือข่ายขยายให้ต่อเนื่องก็จะดีขึ้นได้ในระยะยาว ซึ่งในหลายเมืองพิสูจน์มาแล้วว่าทำได้จริง

เมื่อเมืองคลุกฝุ่น PM 2.5 วิกฤติที่ทุกคนต้องช่วยกัน

"ซอฟต์พาวเวอร์" แก้ปัญหาฝุ่น 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังกล่าวถึงกลุ่มเปราะบางที่ กทม. ต้องเข้าไปดูแลในการสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย โดยตอนนี้เราเปิดคลินิกให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพและป้องกันฝุ่นแล้วใน กทม. ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ในความโชคดีของวิกฤติโควิดคือ ทำให้คุ้นเคยกับการ Work From Home ขณะเดียวกันอาจต้องคุยกับขนส่งสาธารณะหรือคุยกับห้างฯ เรื่องการเพิ่มที่จอดมากขึ้น รวมถึงการบริการสาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่า กทม. มีอำนาจกฎหมายจำกัด เราคงไม่มีฮาร์ดพาวเวอร์บังคับในทุกเรื่อง แต่เชื่อว่าเราใช้ "ซอฟต์พาวเวอร์" ในการทำความเข้าใจและขอความร่วมมือร่วมกัน นี่คือมิติที่จะขยับเมืองได้

"สำหรับภาคประชาชนในการรับมือปัญหาฝุ่นและดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานที่สุดคือ การสวมหน้ากากอนามัย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหน้ากาก N95 เพราะอาจหายใจยากและมีราคาแพง แต่สามารถใช้หน้ากากที่สวมป้องกันโควิดเพียงชั้นเดียวก็สามารถป้องกันฝุ่นได้ถึง 60% จากข้อมูลที่ทำวิจัยมา ถือว่าช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. แนะนำทิ้งท้ายถึงแผนที่ Bangkok Health Map ที่เป็นตัวเชื่อมสำหรับชุมชนรายงานสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ โดยรายงานจะโชว์ข้อมูลใน Google Map ในแอปฯ Bangkok Health Map หลังจากนั้นโรงพยาบาลที่มีคลินิกดูแลสุขภาพปัญหาฝุ่นที่ กทม. จัดตั้งนำร่อง 5 แห่งในกรุงเทพฯ ส่งข้อมูลให้ประชาชนเพื่อให้ความรู้สุขภาพ วิธีป้องกันและดูแลตนเองและกรณีฝุ่นเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลมีการเข้าไปพื้นที่ สอบถามจนถึงสนับสนุนการจัดการ เช่น อาจให้คนในชุมชนเดินไปบอกคนเผาให้หยุดเผาในช่วงเวลานั้น เป็นต้น 

เมื่อเมืองคลุกฝุ่น PM 2.5 วิกฤติที่ทุกคนต้องช่วยกัน