พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต 'ลุมพินีสถาน' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น
ผศ.ดร. พินัย สิริเกียรติกุล นักวิชาการสถาปัตยกรรม ย้อนอดีตจุดกำเนิด-ความสำคัญ 'ลุมพินีสถาน' ฉากละครทางการเมืองยุคสงครามเย็น หลังพ.ศ.2488 สร้างความมั่นคงชาติ
สถาปัตยกรรม นอกจากความสวยงาม ยังเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงของชาติได้อีกด้วย เหมือนดังที่อาคาร ลุมพินีสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ ‘ลุมพินี’ หรือที่เรียกกันว่า สวนลุมพินี เคยรับบทบาทนี้เมื่อแรกเริ่มก่อสร้าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พินัย สิริเกียรติกุล อาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงอาคาร ‘ลุมพินีสถาน’ ว่า จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ อาคารหลังนี้ก็ปรากฏอยู่ในสวนลุมพินีพร้อมสระน้ำรูปวงกลม ตั้งแต่ปีพ.ศ.2495
แต่บริเวณโดยรอบ ‘ลุมพินีสถาน’ ยังไม่ได้พัฒนาเต็มรูปแบบ สันนิษฐานว่ามีการพัฒนาช่วงใดช่วงหนึ่งหลังปี 2495 เป็นต้นมา และแล้วเสร็จก่อนปีพ.ศ.2499
อาคารลุมพินีสถาน ภายในสวนลุมพินี
วัฒนธรรมความบันเทิงกับ ‘สงคราม’
ผศ.ดร.พินัยกล่าวว่า หลังทศวรรษปี 2490 เป็นช่วงที่การเมืองระดับโลกเรียกว่า ยุคสงครามเย็น สถานการณ์การเมืองของโลกแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ ‘โลกทุนนิยม’ นำโดยสหรัฐอเมริกา และ ‘โลกคอมมิวนิสต์’ นำโดยสหภาพโซเวียต
อย่างที่ทราบกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทำตามข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อญี่ปุ่นบุก ยอมให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังพลผ่านประเทศเพื่อไปทำสงครามกับพม่าที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ
แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ด้วยการทำงานของขบวนการ ‘เสรีไทย’ ประเทศไทยจึงมิเสียเอกราช โดยได้รับการรับรองจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศฝ่ายทุนนิยม
ผศ.ดร. พินัย สิริเกียรติกุล นักวิชาการสถาปัตยกรรม
“สถานะของประเทศไทยขณะนั้น ต้องดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายนโยบายของประเทศที่ดำเนินคู่ขนานกันไปในทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วัฒนธรรมความบันเทิง เรามีนโยบายที่จะสนับสนุนวัฒนธรรมความบันเทิงเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงของชาติด้วย ซึ่งดำเนินการใน 2 รูปแบบด้วยกัน
หนึ่งคือ วัฒนธรรมความบันเทิงแบบจารีต เช่น โขน นาฏศิลป์ ละครดึกดำบรรพ์ รับผิดชอบโดยกองการสังคีต กรมศิลปากร
สองคือ วัฒนธรรมความบันเทิงแบบสมัยใหม่ เช่น การเต้นลีลาศ ดนตรีแจ๊ส ได้รับอิทธิพลจากอเมริกัน เป็นคุณค่าที่รัฐบาลปรารถนาได้มาครอบครอง แม้ไม่ใช่มาจากรากของเราเอง แต่ว่ามีค่านิยมแบบก้าวหน้า ที่รัฐอยากได้มา เพื่อความทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาที่กำลังก้าวขึ้นมาอยู่ในสถานะสูง และกำลังจะกำหนดระเบียบโลกใหม่”
อาคาร Royal Festival Hall ณ กรุงลอนดอน
สถาปัตยกรรมกับ ‘ขั้วการเมือง’
อาคาร ‘ลุมพินีสถาน’ สร้างขึ้นเพื่อรองรับวัฒนธรรมความบันเทิงสมัยใหม่ ในสถานการณ์ที่การเมืองโลกเผชิญหน้ากันในรูปแบบ ‘สงครามเย็น’
ในฐานะผู้ศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ผศ.ดร.พินัยสันนิษฐานว่า ‘ลุมพินีสถาน’ อาจได้รับอิทธิพลจากอาคาร Royal Festival Hall ในประเทศอังกฤษ สร้างขึ้นในปีค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) 7 ปีก่อนหน้าอาคารลุมพินีสถาน
“ข้อสังเกตของผมคือ Royal Festival Hall เป็นอาคารพิเศษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รัฐบาลอังกฤษต้องการใช้เป็นโครงการขับเคลื่อนเยียวยาประชาชนที่ประสบความยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยใช้โปรแกรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์เยียวยาจิตใจประชาชน”
Royal Festival Hall เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตขนาด 2,700 ที่นั่ง จัดงานเต้นรำ งานเสวนา ปัจจุบันตัวอาคารขึ้นทะเบียนอนุรักษ์
อาคารลุมพินีสถาน
ลุมพินีสถาน เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นที่ใช้สอยภายในราว 5,500 ตารางเมตร พื้นที่ชั้น 1 ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นฟลอร์เต้นรำลีลาศและจัดกิจกรรมต่างๆ มีขนาดพื้นที่ราว 764 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่ชั้น 2 ออกแบบเป็นลักษณะชั้นลอยยาวตลอดโดยรอบอาคาร ปัจจุบันตัวอาคารอยู่ในสภาพร้าง
“การที่เราหยิบยืมรูปแบบลักษณะอย่างนี้จากอังกฤษ ช่วยแสดงจุดยืน แทนที่คุณจะไปหยิบยืมสถาปัตยกรรมจากขั้วคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีงานสถาปัตยกรรมสมัยเช่นกัน แม้ไม่ใช่จากอเมริกาโดยตรง แต่ในเรื่องความก้าวหน้าทางความคิดก็ใช้แทนกันได้”
เวทีดนตรีภายในอาคารลุมพินีสถาน
ด้านหลังของเวทีดนตรีภายในอาคารลุมพินีสถาน
กลไกชั้นใต้ดิน ทำหน้าที่หมุนพื้นเวทีดนตรีด้านบน
อีกหนึ่งความโดดเด่นของลุมพินีสถานคือ ‘เวทีดนตรี’ ที่ดูเหมือนมีเพียงครึ่งวงกลม แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกครึ่งวงกลมซ่อนอยู่หลังฉาก และสามารถหมุนเข้าออกได้
เมื่อวงดนตรีที่กำลังบรรเลงอยู่หน้าฟลอร์เต้นรำ วงดนตรีอีกวงสามารถเตรียมความพร้อมอยู่ด้านหลังของฉาก เมื่อวงดนตรีหน้าฉากทำหน้าที่ใกล้เสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถบังคับกลไกที่ติดตั้งอยู่ใต้เวทีลึกลงไปยังชั้นใต้ดิน เพื่อหมุนวงดนตรีหลังฉากออกมาหน้าฉากได้ทันที
การเล่นดนตรีจึงทำได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน ไม่ต้องเสียเวลาหยุดเพื่อเตรียมและทดสอบเสียงเครื่องดนตรีเมื่อจะเปลี่ยนวง การเต้นรำก็กระทำได้ต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลงเช่นกัน
เบนนี่ กู๊ดแมน เป่าคลาริเน็ตประชันเสียงขลุ่ยของครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์
วัฒนธรรมบันเทิง ‘ฉากละครการเมือง’
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ อาคาร ลุมพินีสถาน คือการมาเยือนของราชาเพลงแจ๊สชาวอเมริกัน เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) เมื่อปีพ.ศ.2499 และได้รับการบันทึกไว้โดยสำนักข่าวสารอเมริกัน
ในปีนั้น เบนนี่ กู๊ดแมน เดินทางบรรเลงเพลงกับ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ (วงสุนทราภรณ์) ควบคุมวงโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยเบนนี่เป่าคลาริเน็ตประชันกับเสียงขลุ่ยของครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์
ระหว่างพำนักในกรุงเทพฯ เบนนี่และคณะได้เล่นดนตรีการกุศลเพื่อหาเงินสมทบทุนการก่อสร้างโรงพยาบาล และยังบรรเลงไทยสากลหลายเพลงในงานลีลาศการกุศล ณ อาคารลุมพินีสถาน ซึ่งมีผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
พื้นที่ฟลอร์เต้นรำขนาดใหญ่ภายในอาคารลุมพินีสถาน
“ความจริงก็เหมือนกับเหตุการณ์ทั่วไปที่มีนักดนตรีมีชื่อเสียงมาเปิดการแสดง แต่ผมคิดว่านัยของการเยือนของเบนนี่ กู๊ดแมน มีมากกว่านั้น คือมีความเป็นฉากละครทางการเมือง” ผศ.ดร.พินัย กล่าว
ในเชิงวิชาการระบุว่า ยุคสงครามเย็น เป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขั้วอำนาจมีความเป็น ฉากละครทางการเมือง มากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่คนซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐจะต้องระแวดระวังในการแสดงท่าทีซึ่งมีนัยทางการเมืองอยู่เสมอ
“ผมอยากให้เราไปดูเหตุการณ์ที่เป็นฉากละครทางการเมืองคลาสสิก เป็นเหตุการณ์ในงานแสดงนิทรรศการของสหรัฐ รองประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (ค.ศ.1959) เป็นผู้นำชมให้แก่นายกรัฐมนตรีโซเวียต นิกิตา ครุชชอฟ”
เหตุการณ์ Kitchen Debate (credit : Nixon Presidential Library and Museum)
อาจารย์พินัยเล่าว่า นิทรรศการครั้งนั้นแสดงเกี่ยวกับบ้านในชนบทที่นิกสันอ้างว่าชนชั้นกลางของอเมริกาทุกคนเข้าถึงได้ และนิกสันจงใจนำครุซซอฟไปยังพื้นที่ครัวของอเมริกัน ซึ่งมีการจัดแสดงแบบผ่าครึ่ง และมีช่างภาพอยู่ตรงนั้น
พอไปถึงก็ debate (แลกเปลี่ยนความเห็น) กันเรื่องเครื่องซักผ้าของอเมริกันและโซเวียต ทั้งสองคนก็รู้ว่าตัวเองอยู่ต่อหน้ากล้อง
เมื่อดีเบตกันเสร็จ ครุซซอฟก็บอกว่าวิดีโอเมื่อสักครู่ขอให้แปลเป็นภาษารัสเซีย เพื่อเอาไปออกอากาศให้ประชาชนโซเวียตได้ดู นิกสันก็บอกจะทำเช่นเดียวกัน
เหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแสดงความชิงไหวชิงพริบในหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อใหม่ มีความสำคัญมากในยุคสงครามเย็น การดีเบตครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือในประวัติศาสตร์ มีบันทึกไว้ด้วยคำว่า Kitchen Debate
อาคาร 'ลุมพินีสถาน' ภายในสวนลุมพินี
“โทรทัศน์เข้ามาในประเทศไทยปี 2498 ก่อนหน้า เบนนี่ กู๊ดแมน มาเยือน 1 ปี ภาพที่เบนนี่มาเยือนลุมพินีสถานและรวมถึงได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักดนตรีชาวไทยไม่ใช่การเดินเฉยๆ แต่มีนัยทางการเมืองช่วงสงครามเย็นด้วย แต่ละมุนละม่อมกว่าคิทเช่นดีเบตตรงที่ว่า ไม่ใช่เป็นขั้วอำนาจสองขั้วมาเจอกัน แต่เป็นไทยกับมหามิตรอย่างอเมริกา
และสาสน์หนึ่งที่สำนักข่าวอเมริกันต้องการจะสื่อคือ ถ้าคุณคบกับอเมริกา นี่คือความทันสมัย ความก้าวหน้า ที่คุณจะได้”