ทีเด็ด "ไทยเด็ด" โออาร์ หนุนสินค้าชุมชน สร้างรายได้หลัก 100 ล้านบาท
"ไทยเด็ด" โครงการต้นแบบ ส่งเสริมสังคมที่ยั่งยืน มุ่งเน้นส่งเสริมบทบาทคนตัวเล็ก ให้มีโอกาสทางการตลาด เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
"ไทยเด็ด" หนึ่งในโครงการของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ที่มีเจตนารมณ์ในการเติมเต็มคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีให้แก่ชุมชนและสังคม โดยคัดเลือกสินค้าดี สินค้าเด็ดมาจำหน่ายที่ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน สืบสานผลงานอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อให้สังคมไทยเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
โครงการไทยเด็ด ได้ช่วยสร้างการเติบโตให้กับวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศกว่า 300 ราย จากการจำหน่ายสินค้ามูลค่ารวมกว่า 150 ล้านบาท ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 สร้างรายได้รวมกว่า 50 ล้านบาท และในโอกาสการก่อตั้งครบรอบ 5 ปี ของทั้ง โออาร์ และโครงการไทยเด็ด โออาร์ ได้ตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นและมีกิจกรรมที่เข้มข้นกว่าเดิม โดยจะขยายช่องทางจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไทยเด็ดผ่าน พีทีที สเตชั่น เป็น 300 แห่งทั่วประเทศ จากเดิมที่มีอยู่กว่า 100 แห่ง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนที่ร่วมโครงการอีกเท่าตัว เป็น 100 ล้านบาท ในปีนี้
ไทยเด็ด : ช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน
โออาร์ ก่อตั้งโครงการ ไทยเด็ด เมื่อปี 2561 เป็นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรสนับสนุนการเปิดร้านและมุมไทยเด็ด ให้เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชนสู่ผู้บริโภคและลูกค้าที่มาใช้บริการหลายล้านรายต่อวัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ล่าสุด "ดิษทัต ปันยารชุน" ซีอีโอ โออาร์ เปิดประเดิมแนวทางขับเคลื่อนการสร้างโอกาสเพื่อ "คนตัวเล็ก" โดยนำทีมงานลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำประมง อ.พรรณานิคม ที่ จ.สกลนคร หนึ่งในชุมชนตัวอย่างที่ผลงานผ้าฝ้ายทอย้อมครามได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ "ไทยเด็ด Select" ที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น และเปิดงานตลาดเติมสุข ที่จัดขึ้นใน พีทีที สเตชั่น สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
สร้างรายได้สู่ชุมชน
การได้เข้าร่วมโครงการ ไทยเด็ด นำโอกาสและความสำเร็จมาสู่ชุมชนบ้านคำประมงในหลายมิติ นอกจากสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ยังสร้างชื่อเสียงสู่ชุมชนจากการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้มีลูกค้ามากขึ้น ทำให้ช่างทอผสมผสานวัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองให้คงอยู่ต่อไป และยังเป็นหนทางทำมาหากินสู่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องอพยพย้ายมาทำงานในต่างถิ่น
จินตนา พงพานิชย์ ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมง กล่าวว่า ชุมชนเรามีอาชีพทำนาและปลูกพริก รายได้ไม่ค่อยพอเพียงต่อการส่งลูกหลานได้เล่าเรียน ผู้ใหญ่บ้านจึงได้สร้างโรงทอผ้าย้อมครามขึ้น บุกเบิกชักชวนแม่บ้านและช่างทอสูงวัยที่มีฝีมือถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ตกทอดมานานให้รวมกลุ่มกัน และแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด จึงได้ผลงานผ้าย้อมคราม บ้านคำประมงที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
"บ้านคำประมง มีลวดลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายกลีบมะเฟืองและลายโค้งภูพาน เรามีสูตรเด็ดการย้อมสีธรรมชาติ ทั้งจากใบคราม เปลือกมะม่วง และฝาง ผ้ามีสีสวยงามหลากหลายกว่าเดิม ให้สัมผัสที่นุ่มนวล นิยมนำไปตัดชุดไทยและชุดที่ทันสมัย โดยเฉพาะผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ก็สวยอบอุ่นเป็นสินค้าขายดีตลอดปี" จินตนา กล่าว
จินตนา กล่าวต่อไปว่า โออาร์ ให้โอกาสเรานำผ้าทอย้อมครามเข้าร่วม โครงการไทยเด็ด เมื่อปลายปี 2564 เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนซื้อผ้าพันคอจำนวนมากเพื่อไปใช้ในงานกิจกรรมเทศกาลส่งความสุข จากนั้นผลักดันให้ทดลองเปิดตลาดจำหน่ายในร้านไทยเด็ด 17 แห่ง และมุมจำหน่ายสินค้า 80 แห่ง ใน พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ ตอนนี้เราต้องเร่งทอผ้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทันการสั่งซื้อทั้งจากโครงการไทยเด็ด และจากผู้สนใจที่เริ่มรู้จักผลงานของชุมชนเรามากขึ้น
"ภายใน 1 ปี โครงการไทยเด็ดได้พลิกผันคุณภาพชีวิตในครอบครัวสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านคำประมง ช่างทอผ้าทุกคนมีรายได้ที่สม่ำเสมอและเท่าเทียมกัน คนละ 15,000 บาทต่อเดือน ทุกคนมีกำลังใจในการทำงาน มีการพัฒนาลวดลายใหม่ๆ สม่ำเสมอ ช่วยให้มีระบบจัดการที่ดีขึ้น มีการจัดหาบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สะดวกในการจัดส่งทั่วประเทศ กลุ่มทอผ้ายังสามารถสะสมทุนสำรองไว้เพื่อขยายงานในอนาคต และเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนก็สนใจมาร่วมสืบสานงานผ้าทอย้อมคราม ฟื้นฟูคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสกลนครให้ยั่งยืนต่อไป" จินตนา กล่าว
ตลาดเติมสุข สืบสานหัตถศิลป์ถิ่นสกลนคร
นอกจากชมการสาธิตของกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคําประมงแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมเติมเต็มทุกความสุขของ โออาร์ ที่จังหวัดสกลนครคือ การจัดงาน ตลาดเติมสุข ภายใต้แนวคิด "สืบสานหัตถศิลป์ถิ่นสกลนคร" เป็นโมเดลตลาดท้องถิ่นไทย ที่นำวิถีชีวิตชุมชนและผลผลิตจากเกษตรกรมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง
ดิษทัต ปันยารชุน ซีอีโอ โออาร์ กล่าวในพิธีเปิดตลาดเติมสุขว่า นอกเหนือจากความสำเร็จในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ไทยเด็ด การจัดงานตลาดเติมสุขขึ้นที่ พีทีที สเตชั่น สกลนคร เป็นอีกกิจกรรมต้นแบบในการสร้างโอกาสให้กับชุมชนใกล้เคียงได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างเต็มที่ ตอบโจทย์ความเป็นศูนย์กลางชุมชน (Living Community) ที่สร้างประสบการณ์ในการเกื้อหนุนกันภายในชุมชน
"ในงานนี้เรานำผ้าทอจากบ้านคำประมงเข้ามาให้เลือกซื้อพร้อมกับงานหัตถศิลป์ งานจักสาน เครื่องประดับจากผ้า และผ้าทอจากอีกหลายหมู่บ้าน รวมถึงมีผลงานกิจกรรมจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และสินค้าจากโครงการไทยเด็ดทั่วประเทศมาจำหน่ายในราคาประหยัด" ดิษทัต กล่าว
ดิษทัต กล่าวต่อว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา โออาร์ ประสบความสำเร็จในการจัดตลาดเติมสุขที่ พีทีที สเตชั่น ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น สุพรรณบุรี และเชียงใหม่ มีประชาชนซื้อสินค้าและร่วมเติมเต็มความสุขให้ผู้ผลิตจากชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก โดยความมุ่งมั่นของ โออาร์ ในการสนับสนุน โครงการไทยเด็ด และกิจกรรมตลาดเติมสุข ได้รับการพัฒนาต่อยอดตลอด 5 ปี ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจให้ชุมชน เปิดตลาดเข้าถึงผู้บริโภคได้มากและสะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ทุกคนในสังคมไทยมีส่วนร่วมสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการสืบสานงานหัตถศิลป์ และส่งต่อมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ดีให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป
สามารถร่วมสนับสนุนผลงานผ้าย้อมครามบ้านคําประมงและช้อป "สินค้าดี สินค้าเด็ด" จากโครงการ ไทยเด็ด ได้ที่ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ หรือเว็บไซต์ thaidet