'พายุฤดูร้อน' ลมหลวงล้านนา กับปัญหาภัยพิบัติยุค pm2.5

'พายุฤดูร้อน' ลมหลวงล้านนา กับปัญหาภัยพิบัติยุค pm2.5

พายุฤดูร้อนลูกล่าสุด ทำให้มลพิษฝุ่น pm2.5 ของเชียงใหม่บรรเทาเบาบางลงบ้าง แต่ที่น่าตั้งคำถามคือ การจัดการของภาครัฐที่มีต่อปรากฎการณ์ธรรมชาติ ทั้งๆ ที่รู้ล่วงหน้าจากพยากรณ์อากาศ

'พายุฤดูร้อน' เพิ่งพัดถล่มเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา พื้นที่ประสบภัยใหญ่เป็นแนวตะวันตก เชิงดอยสุเทพกวาดมาทาง ต.ฟ้าฮ่าม แยกเทพปัญญา แยกรวมโชค ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชานเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พัดเอาบ้านเรือนป้ายโฆษณาเสาไฟฟ้าล้มเสียหายจำนวนมาก

ในคืนนั้นมีพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ตลอดทั้งคืนอยู่หย่อมหนึ่ง ในทางเศรษฐกิจเสียหายไม่น้อยทั้งรายเล็กรายใหญ่ เช้าวันที่ 20 มีนาคมอีกสองวันถัดมา ยังมีร้านค้ารายเล็กรายน้อยขายอาหารในตลาดสามแยกสันทรายยังไม่สามารถตั้งขายได้ก็มี

มีคนตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นเพราะธรรมชาติผิดเพี้ยนล่ะหรือ ? นั่นเพราะความทรงจำของคนพื้นเมืองเชียงใหม่จำนวนหนึ่งผูกปรากฏการณ์ลมหลวง หรือที่กรมอุตุฯ เรียกว่าพายุฤดูร้อน กับ เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่เมืองเป็นสำคัญ

 

  • ความเชื่อเรื่องลมหลวง

ความเชื่อว่าปีใหม่เมืองมาถึงจะมีลมหลวง มีฝนฟ้าตกสืบทอดมายาวนาน ครั้นปีนี้มีพายุใหญ่พัดตอนกลางมีนาคมก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้

ข้อเท็จจริงจากสถิติย้อนหลังก็คือ ลมหลวง หรือ พายุฤดูร้อนที่พัดถล่มพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือนั้นที่จริงเกิดได้ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางพฤษภาคม เหตุที่เกิดครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นความผิดปกติของเทพเจ้าพญาแถนหลวงใดๆ นี่คือช่วงเวลาปกติที่พายุฤดูร้อนจะอาละวาดสาดใส่

\'พายุฤดูร้อน\' ลมหลวงล้านนา กับปัญหาภัยพิบัติยุค pm2.5

ย้อนไปดูเหตุพาดหัวข่าวเก่าๆ กันสักหน่อยเพื่อยืนยัน :-

  • 25 กุมภาพันธ์ 2559 – ลำพูน พะเยา พายุฤดูร้อนถล่มหนัก หลังคาปลิว ต้นไม้หักโค่น
  • 5 มีนาคม 2556 – พายุฤดูร้อนพัดถล่มหลายพื้นที่ภาคเหนือ เชียงรายเสียหายกว่า 800 หลัง
  • 18 มีนาคม 2562 – พายุฤดูร้อนพัดถล่ม อ.ลี้ ลำพูน
  • 14 เมษายน 2563 – พายุฤดูร้อนถล่มเชียงราย 9 อำเภอ 19 ตำบลเสียหาย
  • 11 พฤษภาคม 2563 – เชียงรายได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อนหลายพื้นที่

ตัวอย่างเหตุการณ์พาดหัวข่าวที่ค้นมาเป็นตัวอย่างบ่งบอกว่า พายุฤดูร้อนสามารถเกิดในช่วงเดือนใดก็ได้ระหว่าง กุมภาพันธ์จนถึงฤดูฝน ชาวล้านนาดั้งเดิมรู้จักความร้ายกาจของ “ลมหลวง” พายุฤดูร้อนมานมนาน ขนาดมีพิธีกรรมความเชื่อสำหรับไล่ลมหลวงโดยเฉพาะ

บทความเรื่อง ห้ามลม ห้ามฝน ของ สนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมล้านนา ระบุว่า คนพื้นเมืองมีวิธีห้ามลมหลวงพายุแรงลูกเห็บตก ด้วยพิธีกรรม “ขัดลม-แทงลม” โดยใช้มีดเสียบเหน็บขัดที่ฝาเรือนหรือกลอนประตู บ้างก็เสียบที่ร่องรอยแตกของฝาเรือน หรือ ไปเสียบต้นกล้วย เป็นการแทงลม นัยของความเชื่อนี้เพื่อห้ามไม่ให้ลมเข้ามาเป็นอันตราย

กรณีที่เกิดพายุแรงเริ่มเข้ามา จะใช้พิธี “ม้าเหล็กไล่ม้าลม” ใช้อุปกรณ์ที่มีในครัวเรือน คือ เขียง มีด และเหล้าโรง รวมทั้งสมัครพรรคพวกผู้คนจำนวนหนึ่งคอยส่งเสียงอื้ออึง

  • พิธีกรรมห้ามลมหลวง

ผู้ประกอบพิธีจะเอาเขียงวางไว้กลางลาน กลั้นลมหายใจสับมีดลงไปที่เขียงอย่างแรง ปลายมีดชี้ตามทิศทางที่ลมมา เสกเหล้าด้วยคาถาม้าเหล็ก อมแล้วพ่นที่ตัวมีด พร้อมๆ กับเสียงของผู้คนสมัครพรรคพวกทำพิธีส่งเสียงอื้ออึงสนับสนุน โห่ร้องว่าเอาม้าเหล็กไปไล่ม้าลม โดยเชื่อว่า เมื่อประกอบพิธีนี้ฟ้าฝนลมใหญ่ที่กำลังพัดตกจะสงบลง

พิธีกรรมความเชื่อเรื่องการห้ามลมหลวงลมใหญ่ของล้านนายังมีอีกหลายประการ เช่นพิธีตั้งหม้อหนึ้งไหข้าว (สะกด หนึ้ง) พิธีห้อยจ๊อย ฟ้อนป้าก (ป้าก คือ ทัพพี) พิธีเผาดินขอ ฯลฯ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ธรรมชาติลมหลวงที่เป็นภัยพิบัติผิดปกติจากเหตุธรรมชาติทั่วไป ที่บังเกิดขึ้น

ตัวอย่างความเชื่อและพิธีกรรมล้านนาเรื่องการพยายามต่อสู้กับลมหลวง/ พายุฤดูร้อนที่ยกมา บ่งบอกประการหนึ่งว่าลมหลวงเป็นเรื่องของความเสียหาย ไม่พึงปรารถนา เป็นที่มาของภยันตราย

ดังนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมเพื่อต่อสู้หรือจัดการมันให้สงบลงไป อีกประการหนึ่ง ก็บ่งบอกว่า อย่างไรเสียพายุฤดูร้อนก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติประจำถิ่นภาคเหนือมายาวนาน เช่นเดียวกับ ไต้ฝุ่นที่มักจะไปเยือนญี่ปุ่น เวียดนามในฤดูกาลของมัน

\'พายุฤดูร้อน\' ลมหลวงล้านนา กับปัญหาภัยพิบัติยุค pm2.5

  • ข้อดี ข้อเสีย พายุฤดูร้อน 

ข้อเสียของพายุฤดูร้อน มีแน่นอน ดั่งได้ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์แต่อดีตมาถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามอีกด้านของเหรียญ ฝนฟ้าพายุรอบนี้ได้พัดกระหน่ำช่วยดับไฟป่าและพัดพาฝุ่นควันไฟ pm2.5 ที่สะสมปกคลุมภาคเหนือทั้งภาคเป็นอันตรายต่อสุขภาพลดลงมาอย่างชัดเจน

บางพื้นที่อากาศอยู่ในระดับมาตรฐานปลอดโล่ง บางพื้นที่มีเกินมาก็ไม่มากระดับสาหัส ยังสามารถใช้ชีวิตปกติประจำวันได้ ซึ่งมันก็ดีมากแล้วสำหรับฤดูฝุ่นควันเดือนมีนาคม

มีด้านลบก็มีด้านบวก-นี่เป็นผลด้านที่พายุฤดูร้อนช่วยบรรเทาวิกฤตมลพิษ

สิ่งที่เป็นโจทย์ให้จัดการก็คือ ผลกระทบด้านลบของปรากฏการณ์นี้ทำอย่างไรให้เหลือน้อยที่สุด หรือให้อยู่ระดับพอท้วมๆ สามารถเยียวยาจัดการได้

พายุฤดูร้อนนั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พยากรณ์ล่วงหน้าได้ ไม่เหมือนแผ่นดินไหวที่จู่ๆ ปุบปับก็เกิดไม่ทันตั้งตัว ในยุคนี้ความสามารถในการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศล่วงหน้าแม่นยำขึ้น และไม่ใช่วิชาการเทคนิคเฉพาะที่ซับซ้อนยุ่งยากเช่นแต่ก่อน

คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งพยากรณ์ หรือ แอพพลิเคชั่นบนมือถือ รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดพายุลูกเห็บใหญ่ได้ แม้ไม่ลึกซึ้งเหมือนหน่วยงานเฉพาะทาง แต่ก็เพียงพอให้เตรียมตัว เตรียมพร้อมอาคารสถานที่ต้นไม้ใหญ่รองรับผลกระทบล่วงหน้าได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนของภาคเหนือ คือ ความกดอากาศต่ำปกคลุม มีอากาศร้อนจัดเป็นพื้น ประกอบเข้ากับการเคลื่อนของความกดอากาศสูงแผ่ลงมากระทบ

และมีลมตะวันตกในระดับบนที่นำความหนาวเย็นมาทางชายเทือกหิมาลัยด้านพม่า สองสามปัจจัยที่ว่ามาเจอะกันเมื่อไหร่ พายุฤดูร้อนมักจะปรากฏในครานั้น

  • วิธีสังเกตพายุฤดูร้อนง่ายๆ

สำหรับประชาชนทั่วไป นอกจากฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาให้ระวังพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง เพื่อเตรียมตัดกิ่งก้านไม้ใหญ่ เอาของที่หอบปลิวไปเก็บเสียเป็นเบื้องต้นแล้ว

ให้สังเกตว่าวันไหนที่อากาศตอนสายๆ เที่ยง ๆ ร้อนจัด ก็มีแนวโน้มสูงที่ช่วงบ่ายจะมีลมฝน เพราะอากาศร้อนมันยกไปกระทบกับความกดและกระแสลมหนาวเย็นข้างบน มันก็แปรปรวนกลั่นตัวเป็นลูกเห็บ เป็นลมเป็นฝนได้ –

อันนี้เป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับประชาชนภาคเหนือ ที่อย่างไรเสีย ต้องเจอะกับพายุฤดูร้อนเป็นประจำปีอยู่แล้ว พร้อมๆ กับฝุ่นควันไฟ ต่อไป ควรจะมีวิชาความรู้เป็นคู่มือไปเลยก็ดี สำหรับชาวบ้านชาวช่องเตรียมตัวเองรับมือฤดูร้อน ที่มีทั้งฝุ่นควันไฟและลมฟ้าพายุ เป็นภัยพิบัติประจำถิ่น ประจำฤดูที่พระเจ้าบังคับให้เจอะกัน

แต่สำหรับหน่วยงานรัฐนั้น ในยุคนี้เทคนิควิชาการองค์ความรู้เรื่องลมฟ้าอากาศพัฒนาแม่นยำขึ้นมาก สามารถรู้ล่วงหน้าถึงการก่อตัวของพายุฤดูร้อน แนวโน้มของการเกิดลูกเห็บบนชั้นเมฆได้เลย

และก็มีเทคนิคที่จะไปช่วยสลายบรรเทาการก่อตัวดังกล่าวล่วงหน้า เช่น เมื่อวันที่เกิดพายุถล่มเชียงใหม่ ได้มีปฏิบัติการร่วมระหว่างกรมฝนหลวงกับกองทัพอากาศ ส่งอัลฟ่าเจ็ตบินขึ้นไปยิง พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อให้เมฆยุบตัวไม่ก่อเป็นลูกเห็บ คือ ยังตกมาเป็นฝนแต่ไม่อันตรายบ้านเรือน

ซึ่งนั่นก็เป็นอีกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหนึ่ง ที่จะมาช่วยเกลี่ยบรรเทาสภาพหนักหน่วงของภัยพิบัติ 2 เด้ง /ประเดี๋ยวฝุ่นไฟ /ประเดี๋ยวลมฝน / ให้กับพื้นที่ภาคเหนือ

เอาล่ะ มนุษย์น่ะไม่เคยเอาชนะธรรมชาติได้อย่างแท้จริงหรอก แต่สำหรับกรณีนี้ ยังไงๆ ก็ต้องเจอะฤดูฝุ่นไฟ และ ภาวะลมหลวงในทุกปีอยู่แล้ว ให้มีความก้าวหน้าของการเตือน การเตรียม และการบรรเทาไว้บ้าง – ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

ปี 2566 นี้ฝนฟ้าพายุมาช่วยดับไฟในภาครวม แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตมลพิษฝุ่นควันภาคเหนือยังไม่จบหรอก ประสบการณ์บอกว่า ทันทีที่ฝนหมด ไฟและฝุ่นก็จะยังอยู่ต่อ จนกว่าโน่น...ฤดูฝนที่แท้จริงมาถึง .