ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

เปิดบันทึก ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ อาคารประวัติศาสตร์โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย มรดก 103 ปี ของชาวมาแตร์ฯ สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6

Keypoints :

  • เรือนวัดน้อย อาคารเรียนหลังแรกของ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6
  • สำรวจ ฐานรากดั้งเดิม พบเสาเรือนถูกตัดไป 2 ต้น เดิมเสาเรือนทำด้วย ปูนหมัก สมัยรัชกาลที่ 6 มีคุณสมบัติระบายความชื้นได้
  • เสริมความแข็งแรงโดยไม่รื้อฝ้าเพดานไม่รื้อพื้น ตามหลักการ adaptive reuse  และ addition 
  • สิ่งที่หายากที่สุดใน ‘เรือนวัดน้อย’ และหาที่อื่นไม่ค่อยได้แล้วคือ กระจกสีสมัยรัชกาลที่ 6 และ ลวดลายบนฝ้าเพดาน มีลักษณะเป็นเหล็กชุบดีบุก

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

พ.ศ.2471 คณะนักบวชอุร์สุลินโดยมาแมร์ยุคบุกเบิกได้จัดซื้อที่ดินย่านหลังสวนในกรุงเทพฯ โดยมีเรือนหลังหนึ่งติดมาด้วยกับที่ดิน เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนและอารามแห่งแรกของคณะอุร์สุลินในประเทศไทย เรือนหลังนี้ซึ่งติดมากับที่ดินถือเป็นอาคารเรียนหลังแรกของ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

อาคารเรียนซึ่งมีอารามอยู่ภายในเรือนหลังเดียวกันนี้ รวมเรียกว่า เรือนวัดน้อย หรือที่ชาวมาแตร์ฯ เรียกสั้นๆ ติดปากกันว่า ‘วัดน้อย’

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ภาพประวัติศาสตร์โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

2 ก.พ. พ.ศ.2471 สังฆราชแปร์โรสได้เดินทางมาเสกตัวอาคารวัดน้อยและที่ดิน และประกอบพิธีมิสซาแรกบนวัดน้อย วันดังกล่าวจึงถือเป็นวันสถาปนาโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

‘เรือนวัดน้อย’ มีความสำคัญยิ่งทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และความรักความผูกพันของชาวมาแตร์เดอีฯ เนื่องจากเคยใช้เป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียน เป็นโบสถ์คาทอลิก และเป็นที่พักอาศัยของคณะมาแมร์ 

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ รูปแม่พระหินอ่อน หนึ่งในเอกลักษณ์ของ 'วัดน้อย'

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ คณะมาแมร์ นักเรียนมาแตร์ฯ กับเรือนวัดน้อยในอดีต

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ บริเวณหลังคาที่เคยถูกทำลายจากระเบิด

มีหลักฐานพบว่าบ้านติดที่ดินหลังนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2463 นับจากเปลี่ยนเป็น ‘เรือนวัดน้อย’ ก็ผ่านการต่อเติมปรับเปลี่ยนรูปแบบมาหลายยุคหลายสมัย บางส่วนถูกทำลายจากระเบิดสมัยสงครามโลก และเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

ในโอกาสวันสถาปนาโรงเรียนเวียนมาครบรอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และสมาคมนักเรียนเก่ามาแตร์เดอีวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดงาน Wat Noi 103 Years .. The Legacy Continues เพื่อเปิด ‘เรือนวัดน้อย’ ที่มีอายุ 103 ปี หลังได้รับการบูรณะเสร็จเรียบร้อย จากการนำทีมศึกษาข้อมูล วางแผนและดำเนินงานบูรณะโดย ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ และศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ รูปนักบุญเทเรซา ในเรือนวัดน้อย

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ เรือนวัดน้อย สถาปัตยกรรมสมัย รัชกาลที่ 6 ภายหลังการบูรณะ

‘เรือนวัดน้อย’ อดีตบ้านปทุมวัน 

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน หรือคุณ ‘โก้’ กล่าวถึงประวัติ เรือนวัดน้อย ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับ ‘สถาปัตยกรรม’ อันสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัยว่า เรือนหลังนี้เคยเป็นบ้านข้าราชการท่านหนึ่ง ต่อมาได้ขายให้กับนายห้างชาวอินเดียซึ่งทำธุรกิจนำเข้าม้าในสมัยรัชกาลที่ห้า

ก่อนคณะนักบวชอุร์สุลินจะซื้อที่ดินตรงนี้ เรือนหลังนี้เคยเป็นสำนักงานชื่อ แองโกลสยาม ของชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้หนึ่งในห้าของประเทศไทยก่อนมีการตั้งกรมป่าไม้ มีหลักฐานซื้อขายบ้านหลังนี้อยู่ในบัญชีของบริษัทที่ประเทศอังกฤษ

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ความสวยงามของสถาปัตยกรรมเรือนวัดน้อย

“เรือนวัดน้อยมีรูปแบบอาคารสมัยรัชกาลที่ 6 ตามบันทึกหลักฐานเก่าสุดที่หาเจอคือสร้างในปี 2463 ในโฉนดระบุว่าชื่อ ‘บ้านปทุมวัน’ ถึงระบุได้ว่าอายุประมาณ 103 ปีเมื่อถึงปี 2566

รูปแบบอาคารสมัยรัชกาลที่ 6 คือยกใต้ถุนสูง ครึ่งล่างเป็นปูน ครึ่งบนเป็นงานไม้ คือพวกบานประดับตกแต่ง ลายฉลุ หลังคาปั้นหยามีหน้าจั่ว มีระเบียงหันไปรับลม มีความเป็นบ้านตากอากาศ เพราะอยู่ชานเมือง ข้าราชการส่วนใหญ่มีบ้านหลักอยู่กลางเมืองในเขตพระนคร แล้วมาสร้างบ้านใหม่ตามถนนสุขุมวิท ถนนวิทยุ คลองเตย พระรามสี่ ศาลาแดง”

ดร.ยุวรัตน์เริ่มงานบูรณะปี 2563 คือในปีที่ ‘เรือนวัดน้อย’ มีอายุครบ 100 ปี ใช้เวลาบูรณะ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ ‘เน้นการซ่อมและเสริมความแข็งแรง’ ตามหลักการอนุรักษ์เรือนโบราณ

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ภายในเรือนวัดน้อย ฝั่งทิศตะวันตก

โครงสร้างทรุดตัว ปัญหาความชื้น 

ดร.ยุวรัตน์กล่าวว่า เรือนวัดน้อยได้รับการต่อเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่มากขึ้น เรือนฝั่งทิศตะวันตกถัดจากโบสถ์ซึ่งอยู่กลางเรือน ต่อเติมเพิ่มเป็น 3 ชั้น เป็นที่พักมาแมร์และซิสเตอร์

เรือนฝั่งทิศตะวันออก ได้รับการต่อเติมเป็นเรือนพักสำหรับนักเรียน ห้องสมุด ห้องนอนมาแมร์สูงอายุและหอคอยระฆัง

การต่อเติมใหญ่โดยเฉพาะ ‘หลังคา’ ทำให้ความเสื่อมสภาพลุกลาม เนื่องจากโครงสร้างที่ทรุดตัวไม่เท่ากัน เกิดรอยแยก น้ำฝนจึงรั่วซึมเข้าใต้หลังคา นำมาซึ่งปัญหาใหญ่คือความชื้นและไม้ที่ผุพัง

รอบ ‘เรือนวัดน้อย’ ยังมีการถมที่ดินเพื่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม น้ำจึงไหลเข้าใต้ถุนเรือน ความชื้นขึ้นจากเสาปูนไปสร้างความเสียหายถึงไม้ข้างบนได้อีกทาง

 

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ โบสถ์คาทอลิก ตั้งอยู่กึ่งกลางภายในเรือนวัดน้อย

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ตู้ศีลและโคมตะเกียงแสงไฟที่ส่องสว่างตลอดเวลาของเรือนวัดน้อย

บูรณะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ระหว่างสำรวจพื้นที่และศึกษาข้อมูล ดร.ยุวรัตน์กล่าวว่า จากเหตุผลแรกที่คิดว่าแค่มาช่วยซ่อมหลังคากับทำให้ตัวอาคารดูเรียบร้อยขึ้นเมื่อมองจากฝั่งถนนหลังสวนที่เพิ่งเปิดทางเข้าใหม่ กลับพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่มากมาย

“เราพบว่ามีการรื้อเรือนนอนทิ้ง ตรงที่เป็นสนามเด็กเล่นปัจจุบัน อาคารโดนตัด เราเจอว่าหน้าตาบ้านเก่าไม่ได้ถูกปิดทึบ แต่มีระเบียง

ภาพถ่ายเก่าที่เราเจอ พบว่าทางทิศตะวันออกมีลายประดับตกแต่ง มีระเบียง มีบันทึกของมาแมร์ว่าซื้อที่ดินตรงนี้เพราะมีระเบียงเหมือนบ้านตากอากาศริมทะเล เพราะลมที่พัดจากคลองทำให้อยู่สบาย จากหลักฐานนี้เราจึงซ่อมกลับไปให้เป็นออริจินัลที่สุด ตรงตามตำแหน่งในภาพ”

จุดกึ่งกลางเรือนที่เป็นโบสถ์มาตั้งแต่แรกก่อตั้งโรงเรียน บูรณะโดยเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้าง และเพิ่มความสะดวกสบาย เช่นงานระบบเสียงและระบบไฟให้ดีขึ้น แต่ยังเก็บรักษาบรรยากาศเดิม โดยเฉพาะสีบนผนังห้อง

ดร.ยุวรัตน์เล่าว่า สมัยที่เธอเป็นนักเรียนมาแตร์ฯ สีบนผนังโบสถ์เป็นสีชมพู-ครีม ส่วนยุคที่คุณแม่เรียนเห็นเป็นสีน้ำเงินเข้ม-ขาว และยุคคุณทวดเห็นสีฟ้า-เขียว

“เราเจอชั้นของสีที่เขาซ่อมโดยไม่เปลี่ยนวัสดุ แต่ปะสีเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ พอเราลอกสีแต่ละชั้นออกมา เราจึงเจอหลักฐานซ่อนอยู่แต่ละยุค ผนังเดิมคือสีฟ้า-เขียว คือสีปัจจุบันที่เห็นซึ่งเราบูรณะกลับไปให้เหมือนเดิม”

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ห้องลงทะเบียนนักเรียนใหม่ เคยรับเสด็จรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน หน้าเรือนวัดน้อย

เสาที่ถูกตัด ระบบปั๊มน้ำ 

ดร.ยุวรัตน์ให้สัมภาษณ์ว่า การเสริมความแข็งแรงทางโครงสร้างให้กับเรือนโบราณ ต้องสำรวจ ‘ฐานรากดั้งเดิม’ และพบว่าเสาของเรือนวัดน้อยถูกตัดออกไป 2 ต้น เพื่อให้ใต้ถุนเรือนตรงนั้นกว้างมากขึ้น เนื่องจากใช้เป็นทั้งที่เข้าแถวของนักเรียนและโรงอาหาร

“สิ่งที่เราเจอใต้ดิน คือฐานรากจริงๆ สมัยรัชกาลที่ 6 ยุคก่อนซ่อมเสาด้านล่างเป็นทรายล้างสีชมพู ซึ่งเป็นยุคที่โก้เรียน

เรานำรูปแบบพร้อมวิธีการก่อสร้างเดิม ซึ่งเป็นปูนหมักสมัยรัชกาลที่ 6 มีคุณสมบัติระบายความชื้นได้ ซ่อมแซมกลับเข้าไป

การที่เราเอาทรายล้างแปะเข้าไป เป็นการกักความชื้น โครงสร้างก็จะพัง เราก็เลยใช้วิธีเอาทรายล้างออกทั้งหมด เสริมความแข็งแรงด้วยสเตนเลสข้างใน แล้วแปะกลับด้วยการทำปูนหมักโบราณแปะเข้าไปเหมือนเดิม”

ขณะที่พื้นใต้ถุนเรือนวัดน้อยถูกถมมาเรื่อยๆ แต่เนื่องจากตัวเรือนยาวมาก ไม่สามารถยกขึ้นได้ การบูรณะจึงใช้วิธีขุดพื้นออกลงไปในระดับเดิม แล้วป้องกันน้ำขังน้ำท่วมด้วยการใส่ระบบปั๊มน้ำอัตโนมัติ

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

เรือนทิศตะวันออก พบบันไดวนขึ้นไปส่วนต่อเติมเป็นหอระฆัง ชั้น 3 และลวดลายฝ้าเพดานอีก 1 ลาย

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ บนหอระฆัง พบห้องนอนเล็กๆ พร้อมอ่างล้างมือขนาดจริง

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ การปรับปรุงห้องน้ำเรือนทิศตะวันตก

เพิ่มลิฟต์และห้องน้ำชาย 

เรือนทิศตะวันตก เดิมมีการต่อเติมมากที่สุด จากเรือนสองชั้นเป็นสามชั้น แต่มีการตัดเสาออกและใส่ของเข้าไปหนักมาก จนพื้นมีความแอ่นถึง 30 เซนติเมตร

อย่างแรกที่ดร.ยุวรัตน์ทำ คือเสริมความแข็งแรงโดยไม่รื้อฝ้าเพดานไม่รื้อพื้น แต่ใช้วิธีเสียบคานเหล็กเข้ามาจากต้นไม้ข้างนอก และเอาสิ่งไม่จำเป็นออกไปเป็นจำนวนมาก เพื่อลดและระวังไม่ให้น้ำหนักเพิ่ม ป้องกันไม่ให้ทรุดต่อไปในอนาคต ตามหลักการ adaptive reuse (ปรับเปลี่ยนการใช้สอย) และ addition (ส่วนที่เพิ่มเข้าไป)

“เราเพิ่มระบบแอร์ ระบบห้องน้ำ เสริมโครงสร้าง ทำให้ห้องข้างบนพักอาศัยได้จริง เดิมห้องน้ำอยู่กระจัดกระจาย เราจัดระเบียบให้ห้องน้ำไปอยู่โซนเดียวกัน

เพิ่มระบบให้คนใช้งานได้กว้างขึ้น คือลิฟต์และห้องน้ำที่วีลแชร์เข้าไปใช้ได้ เพิ่มห้องน้ำชายข้างล่าง สมัยนั้นไม่มีความครบถ้วนแบบนี้

ในอนาคตพื้นที่ส่วนนี้สามารถใช้จัดงาน เล่นคอนเสิร์ต คือเห็นศักยภาพในการใช้งานได้มากขึ้นจากการซ่อมและเพิ่มระบบ”

 

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ความสวยงามของฝ้าเพดานดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 6

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ กระจกสีและลวดลายในสมัยรัชกาลที่ 6

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ สีบนกระจกเปลี่ยน ลวดลายเปลี่ยน

‘เรือนวัดน้อย’ คุณค่าในเชิงสถาปัตย์

“อย่างแรกคือเป็นบ้านตากอากาศยุคแรกที่พัฒนาจากบ้านไทยธรรมดากลายเป็นบ้านที่มีอิทธิพลตะวันตกทั้งในเรื่องของฝีมือและรูปแบบ ใช้รูปแบบฝรั่งก็จริง แต่ตั้งใจให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ คือให้ได้ลม ให้บังแดด

จะเห็นว่าองค์ประกอบที่ยังเก็บไว้และแสดงตัวตนของยุคนั้น คือการยกใต้ถุนสูง ป้องกันน้ำท่วม ให้ลมพัดผ่าน

ตัวระเบียง เรียกเวอรันดา (veranda) เป็นอิทธิพลจากคนอังกฤษที่มาอยู่อินเดียและพัฒนาองค์ประกอบนี้ คือชานที่มีหลังคาคลุม คล้ายเรือนไทยที่มีชานกับนอกชาน ชานคือเวอรันดา เรามีองค์ประกอบนี้ครบ คนที่นั่งในห้องจะรู้สึกเย็นสบายเสมอ ประตูทุกบานของเรือนวัดน้อยเปิดตรงข้ามกันหมด ลมก็จะยิ่งหมุนเวียน

องค์ประกอบในการตกแต่ง ลายประดับบางอย่าง ช่วยการไหลระบายของน้ำ ช่องแสงทั้งหมดคือช่องระบายอากาศ ความร้อนจะเข้าจากด้านล่างแล้วระบายออกไปข้างบน เป็นการดึงลมเข้ามาให้คนที่นั่งอยู่รู้สึกสบายมากขึ้น

มีประตูแบบ Dutch door เปิดบนหรือเปิดล่างก็ได้ ใส่กลอนให้เป็นบานประตูก็ได้ เป็นวิธีการรับลมข้างล่าง หรือสร้างความเป็นส่วนตัวเปิดเฉพาะด้านบนก็ได้ เป็นพัฒนาการของบ้านสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เราเห็นและยังเหลืออยู่

สิ่งที่หายากที่สุดใน ‘เรือนวัดน้อย’ และหาที่อื่นไม่ค่อยได้แล้วคือ กระจกสีสมัยรัชกาลที่ 6 มีส่วนคล้ายกับที่วังพญาไท แต่มีลวดลายต่างกันไป และ ลวดลายบนฝ้าเพดาน มีลักษณะเป็นเหล็กชุบดีบุก ปั๊มแล้วสั่งนำเข้ามาจากยุโรป มีด้วยกัน 5 ลาย ซึ่งไม่เจอที่อื่น”

 

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ หีบโบราณเก็บของใช้ส่วนตัวของมาแมร์ยุคบุกเบิก

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

ต้นมะม่วงอกร่อง คู่เรือนวัดน้อยที่ชาวมาแตร์จำได้

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ‘เรือนวัดน้อย’

องค์ความรู้-การเผยแพร่

ดร.ยุวรัตน์กล่าวด้วยว่า การทำงานบูรณะ ‘เรือนวัดน้อย’ นอกจากความรู้ที่ใช้ซ่อมแซมเรือนโบราณตามหลักวิชาการ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่พบพานระหว่างทาง ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าควรซ่อมแซมอย่างไรจึงจะคงรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม อาทิ เอกสาร ภาพถ่าย วัสดุดั้งเดิมที่ผุพัง สิ่งของเครื่องใช้ในกาลก่อน ควรนำมาจัดทำเป็นองค์ความรู้และนิทรรศการที่สามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวอาคารเอง กับเล่าเรื่องด้วยการให้มีผู้นำชมโดยศิษย์เก่าทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อย ให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้มากขึ้น

“นี่คือการต่อยอดสุดท้ายของงานอนุรักษ์ ไม่ควรซ่อมแล้วเก็บไว้อย่างเดียว แต่คือการตีความแล้วต่อยอดเป็นโพรดักต์อื่น หรือเล่าเรื่องเป็นการศึกษาให้คนในและนอกโรงเรียนมาเรียนรู้คุณค่าที่เราเจอจริงๆ”

ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต